Skip to main content

เมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซต์ประชาไทนำเสนอข่าว ‘รุ่งรวี’ เผยคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง 3 จังหวัดชายแดนใต้ พบอย่างน้อย 5 กรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็นกับการสังหารนอกกฎหมาย แต่การตรวจสอบมุ่งเยียวยาเหยื่อมากกว่านำคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม พ.ร.ก.ฉุกเฉินเอื้อให้เกิดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นำเสนอหัวข้อ "เมื่อความจริงคือจุดเริ่มต้นของความเป็นธรรม: กรณีศึกษาคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในบริบทความขัดแย้งชายแดนใต้"

8 ต.ค. 2559 ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มีการจัดเสวนาวิชาการในโอกาสครบรอบ 40 ปี 6 ตุลาคม 2519 ในหัวข้อ ความขัดแย้งและวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด (impunity) ในสังคมไทย จัดโดย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะกรรมการจัดงาน 40 ปี 6 ตุลาคม 2519

ในงานดังกล่าวมีการนำเสนองานวิชาการหลายเรื่อง ในช่วงบ่ายแบ่งเป็น 1.เมื่อความจริงคือจุดเริ่มต้นของความเป็นธรรม: กรณีศึกษาคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในบริบทความขัดแย้งชายแดนใต้ โดย รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช 2.ใบอนุญาตให้ลอยนวลพ้นผิด: องค์กรอิสระกับการสลายการชุมนุมปี 2553 โดยพวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3. บททดลองเสนอว่าด้วยนิติรัฐแบบไทยๆ กับอภิสิทธิ์ปลอดความผิด (Impunity) และความเข้าใจสิทธิมนุษยชนอย่างผิดเพี้ยนในสังคมไทย โดยธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยวิสคอลซิล แมดิสัน

ประชาไทนำเสนอการบรรยายของรุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช

หะยีสุหลง กรือเซะ ตากใบ รอยแผลในใจชาวมลายูมุสลิม

เหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เริ่มปะทุขึ้นอีกครั้งจากเหตุการณ์ปล้นปืนปี 2547 นำไปสู่การสูญเสียชีวิต ทั้งฝ่ายประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะเดียวกันการนำกำลังทหารเข้าไปในพื้นที่จำนวนมาก บวกกับอำนาจตามกฎหมายพิเศษต่างๆ ที่รัฐบาลประกาศใช้ ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นรากเหง้าหนึ่งของปัญหาในพื้นที่

รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิชาการอิสระ ทำการศึกษาในหัวข้อ ‘เมื่อความจริงคือจุดเริ่มต้นของความเป็นธรรม: กรณีศึกษาคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในบริบทความขัดแย้งชายแดนใต้’ เพื่อค้นหาว่าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงมีผลอย่างไรต่อวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

รุ่งรวี เริ่มต้นด้วยการฉายภาพในอดีต ว่าการละเมิดสิทธิใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นในหลายรูปแบบ ทั้งการทำลายความเป็นมนุษย์ การซ้อมทรมาน การใช้กำลังที่เกินกว่าเหตุ การอุ้มฆ่า ไปจนถึงการเก็บ ซึ่งเหตุการณ์หนึ่งที่ยังอยู่ในใจของคนมลายูมุสลิมในภาคใต้หลายๆ คน ก็คือการหายตัวไปหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ในปี 2497 ผู้เป็นประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานีและผู้นำศาสนาที่มีบทบาทสำคัญมากในการเรียกร้องการปกครองตนเองในยุคนั้น โดยก่อนที่จะหายตัวไป หะยีสุหลงได้เสนอข้อเสนอ 7 ข้อ ซึ่งยังสามารถนำมาปรับใช้ได้ในปัจจุบัน ประกอบด้วย

1.ให้มีผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งที่ทำหน้าที่ปกครอง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมลายูมุสลิม

2.ให้มีข้าราชการร้อยละ 80 เป็นคนมลายูมุสลิมในพื้นที่

3.ให้มีการใช้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการควบคู่กับภาษาไทย

4.ให้มีการเรียนการสอนภาษามลายูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

5.ให้มีศาลที่มีการพิจารณาคดีตามกฎหมายอิสลามที่แยกขาดจากศาลยุติธรรมของทางราชการ

6.ให้นำภาษีและรายได้มาใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

7.ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีอำนาจในการออกกฎระเบียบเกี่ยวกับศาสนาได้

“ทั้งเจ็ดข้อนี้ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลไทยในช่วงนั้นแต่อย่างใด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีการจับกุมและดำเนินคดีหะยีสุหลงในข้อหากบฏ หะยีสุหลงอยู่ในคุก 3 ปีครึ่งก็ได้รับการปล่อยตัวออกมา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น คือ 5 ปีต่อมาได้รับการเรียกให้ไปพบตำรวจสันติบาลที่จังหวัดสงขลา ท่านก็ไปพร้อมกับลูกชาย และนั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ออกจากบ้านและไม่ได้กลับบ้านอีกเลย เรียกว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ได้รับการชำระ ทางครอบครัวของฮัจยีสุหลงก็ทราบว่ามีบุคคลใดที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินคดีใดๆ

“หลังจากที่หะยีสุหลงหายตัวไป ในช่วงประมาณปี 2503 เป็นต้นมา ก็เริ่มมีการก่อตัวของขบวนการติดอาวุธในภาคใต้ มีกลุ่มบีเอ็นพีพี-แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติปัตตานี กลุ่มพูโล-องค์กรปลดปล่อยสหปัตตานี และกลุ่มบีอาร์เอ็น-แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี สามกลุ่มนี้เป็นกลุ่มหลักๆ ยังมีกลุ่มเล็กๆ อีกจำนวนหนึ่ง การต่อสู้ด้วยอาวุธนี้ไม่ใช่แค่เรียกร้องการปกครองตนเองแล้ว แต่เป็นการเรียกร้องเอกราช ซึ่งดำเนินมาเรื่อยๆ มีช่วงที่มองเผินๆ เหมือนเป็นช่วงขาลงของการต่อสู้ก็ไม่ค่อยมีเหตุการณ์เท่าไหร่ในช่วงหลังปี 2530 เรื่อยมา ดูเหมือนกับว่าสถานการณ์เริ่มจะคลี่คลายแล้ว ขบวนการต่างๆ จะค่อยๆ ลดลงจนมลายหายไป ช่วงนั้นเป็นช่วงกระแสขาลงของขบวนการคอมมิวนิสต์ด้วย พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็เริ่มล่มสลายลง

"พนักงานสอบสวน ตำรวจ ก็มักจะหวาดเกรงว่าถ้าขุดคุ้ยมากๆ จะทำให้ตัวเองมีปัญหา บางทีก็มีใบสั่งมาให้ไม่คุ้ยต่อ หลายคดีจึงยุติลงด้วยเหตุผลว่าเป็นคดีที่ยังไม่รู้ผู้กระทำผิด ฉะนั้น การจะทำให้กรณีเหล่านี้นำไปสู่การพิจารณาของศาลจึงเป็นเรื่องยากมาก”

“แต่จริงๆ แล้วภายใต้ความเงียบมีความเคลื่อนไหวที่อยู่ใต้น้ำ เราก็กลับมาเห็นการเคลื่อนไหวอีกครั้งภายหลังการปล้นปืนที่จังหวัดนราธิวาสในปี 2547 สำหรับกลุ่มบีอาร์เอ็นก็คิดว่านั่นเป็นการเริ่มต้นอีกครั้งหนึ่งของการต่อสู้อย่างเต็มรูปแบบของตน”

หลังปี 2547 เป็นต้นมามีการนำทหารจำนวนมากลงไปในพื้นที่ มีข้อร้องเรียนต่างๆ มากมายเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมีเหตุการณ์สำคัญคือกรณีตากใบและกรือเซะ ซึ่งเป็นสองเหตุการณ์ใหญ่ที่ได้รับการพูดถึงและนำไปใช้ในการชักชวนคนเข้าสู่กระบวนการ และก็มีเหตุการณ์เล็กๆ อีกหลายเหตุการณ์

“สิ่งที่งานวิจัยชิ้นนี้ทำคือลงไปดูว่า กลไกเล็กๆ กลไกหนึ่งที่มีการทำในพื้นที่คือการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง จะมีส่วนอำนวยความยุติธรรมได้มากน้อยแค่ไหนและกลไกแบบนี้มีประโยชน์หรือไม่ อย่างไร”

อย่างน้อย 5 กรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องหรือรับรู้การสังหารนอกกฎหมาย

รุ่งรวีอธิบายเบื้องต้นว่า คณะกรรมการค้นหาความจริงที่มีการตั้งขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก พอจะแบ่งได้ 2 แบบ คือ Fact Finding Mission เป็นการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาค้นหาข้อเท็จจริงในกรณีเฉพาะและมีขนาดที่เล็กกว่า มีการตั้งในหลายระดับ มีทั้งระดับนานาชาติที่สหประชาชาติเป็นผู้ตั้ง หรือระดับภูมิภาค หรือระดับประเทศ อีกประเภทคือ Truth Commission มักจะเป็นการตั้งขึ้นหลังการสิ้นสุดของความขัดแย้ง เป็นส่วนหนึ่งของกลไกที่เรียกว่าความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งก็มีการตั้งขึ้นในหลายๆ ประเทศ งานของรุ่งรวีจะกล่าวถึง Fact Finding Mission ที่มีการตั้งขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

“การทำงานเกี่ยวกับการค้นหาข้อเท็จจริงก็มีปัญหาในเรื่องของมาตรฐานของคณะกรรมการแบบนี้ในหลายที่ทั่วโลก แม้ว่าจะมีการทำเรื่องนี้มากว่า 50 ปีแล้ว แต่ยังไม่เคยมีใครเคยทำมาตรฐานว่า คณะกรรมการในลักษณะแบบนี้ควรจะมีวิธีวิทยา วิธีเก็บข้อมูลอย่างไร และการเขียนรายงานที่จะให้มีความเป็นมืออาชีพ ในเดือนมีนาคม 2556 จึงได้มีการประชุมผู้เชี่ยวชาญขึ้นที่ประเทศอิตาลี เพื่อจัดทำเกณฑ์เกี่ยวกับการค้นหาความจริง ก็ออกมาเป็นหนังสือเล่มหนึ่งในการไกด์ว่ามีข้อสรุปอะไรบ้างที่อาจสามารถใช้เป็นแนวทางในการตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริง

“กลับมาดูภาคใต้ ดิฉันก็พยายามอ่านงานในระดับสากลและดูสิ่งที่เกิดขึ้นในภาคใต้ งานในภาคใต้ที่ดูคือดูคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีการตั้ง ทั้งหมด 11 ชุด ไล่มาตั้งแต่ 2553 คณะกรรมการส่วนใหญ่อยู่ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ก็มีคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาก่อนหน้านั้นด้วยเช่นกัน”

ทั้ง 11 กรณีที่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง มีดังนี้

1.คณะกรรมการตรวจสอบการเสียชีวิตของสุไลมาน แนแซ ปี 2553 ที่ผูกคอตายในห้องควบคุมในค่ายอิงคยุทธบริการ จังหวัดปัตตานี แต่ญาติคิดว่าอาจไม่ได้ผูกคอตายและอาจถูกทรมานก็เสียชีวิต

2.คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตำบลปุโล๊ะปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ปี 2555 ชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่ทหารและอาสาสมัครทหารพานยิงเสียชีวิต 4 คนและบาดเจ็บ 4 คน โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า ชาวบ้านมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ

3.คณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธปืนยิงชาวบ้านเสียชีวิต 5 รายในพื้นที่หมู่ที่ 6 บ้านสะเอะ อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2555 โดย 3 คนที่เสียชีวิตเป็นเยาวชนอายุ 17 และ 19 ปี

4.คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการเสียชีวิตของนายอับดุลลาเต๊ะ โต๊ะเดร์ ปี 2555 รุ่งรวีกล่าวว่า อับดุลลาเต๊ะเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีอื่นอยู่ด้วย แต่ก็ถูกยิงเสียชีวิต มีข้อมูลจากทางการว่าเขาเป็นแนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบ แต่ก็ทำงานร่วมกับภาครัฐในหลายๆ บทบาท

5. คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการเสียชีวิตและพยายามฆ่าครู ครูสอนศาสนา และบุคลากรทางการศึกษา ปี 2555

“ข้อค้นพบหลักจากงานชิ้นนี้คือ ดิฉันได้อ่านตัวรายงานที่คณะกรรมการทำออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร แต่บางครั้งก็ไม่ได้เผยแพร่ต่อสาธารณะ หลายเคสข้อมูลบอกว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐได้เข้าไปเกี่ยวข้องหรือรับรู้การสังหารนอกกฎหมายอย่างน้อย 5 กรณีที่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา"

6.คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์กราดยิงราษฎรบริเวณหน้าร้านน้ำชา หมู่ที่ 1 ตำบลตันหยงลิมอง อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส รุ่งรวีกล่าวถึงการลงพื้นที่คุยกับชาวบ้าน และชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่า ทางนั้นก็ฐานทหาร ทางนี้ก็ฐานทหาร แต่ทำไมพอเกิดเหตุก็สามารถหนีไปโดยจับใครไม่ได้

7.คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนายมายูดิน สาหมะ เสียชีวิต ปี 2556 ภรรยาของมายูดินร้องเรียนว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุเพราะสามีของตนยอมจำนนแล้ว ขณะที่ทางการก็ยืนยันว่ามีการต่อสู้จึงจำเป็นต้องยิง

8. คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ความรุนแรงภายหลังการเปิดพื้นที่กับกลุ่มผู้มีความเห็นต่างจากรัฐ

9.คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการเสียชีวิตของผู้นำศาสนาและประชาชนในห้วงเดือนรอมฎอนปี 2556

10.คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์ลอบทำร้ายครอบครัวนายเจ๊ะมุ มะมันถึงแก่ชีวิตในพื้นที่ตำบลบาเจาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส

11.คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์ยิงปะทะพื้นที่บ้านโต๊ะชูด ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี ปี 2558 เป็นเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงวิสามัญชาวมลายูมุสลิม 4 คน ในระหว่างเข้าตรวจค้นจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าเป็นแนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบ โดย 2 คนที่เสียชีวิตเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยฟาฏอนี จังหวัดยะลา อธิการบดีของมหาวิทยาลัยบอกว่า ลูกศิษย์ของตัวเองไม่เกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบแน่นอน

“ข้อค้นพบหลักจากงานชิ้นนี้คือ ดิฉันได้อ่านตัวรายงานที่คณะกรรมการทำออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร แต่บางครั้งก็ไม่ได้เผยแพร่ต่อสาธารณะ หลายเคสข้อมูลบอกว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐได้เข้าไปเกี่ยวข้องหรือรับรู้การสังหารนอกกฎหมายอย่างน้อย 5 กรณีที่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เช่น กรณีการเสียชีวิตของนายอับดุลลาเต๊ะ กรณีลูกชาย 3 คนของนายเจ๊มุ และการกราดยิงที่ร้านน้ำชาที่ระแงะ เป็นต้น เป็นการใช้อำนาจนอกกฎหมาย อีก 2 กรณีเป็นลักษณะการสังหารที่เป็นการสำคัญผิดสังหารผู้บริสุทธิ์คือกรณีของปุโล๊ะปุโยและที่โต๊ะชูด นอกจากนั้นก็มีกรณีที่เป็นกลุ่มก่อความไม่สงบ การสังหารครูและการกราดยิงชาวพุทธในพื้นที่ ส่วนอีก 2 กรณีมีหลักฐานไม่ชัดเจน ไม่สามารถวินิจฉัยได้ในทางใดทางหนึ่ง”

แค่เยียวยา แต่ไม่นำคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

“คณะกรรมการเหล่านี้มีปัญหาเรื่องอะไรบ้าง ส่วนหนึ่งคือเป็นปัญหาที่ไม่มีอำนาจบังคับให้มาให้ข้อมูลได้ เป็นปัญหาของคณะกรรมการในหลายๆ แห่งทั่วโลก สอง-กลไกนี้อิงกับระบบราชการทำให้มีปัญหาความเป็นอิสระในการทำงานและปัญหาความเป็นมืออาชีพในการทำงาน

“ในการทำงานบางครั้งจะมีภาคประชาสังคมในพื้นที่ได้รับการคัดเลือกเข้าไปเป็นกรรมการอยู่ด้วย ซึ่งภาคประชาสังคมค่อนข้างจะตั้งคำถามมากกับข้อมูลจากฝ่ายราชการ แต่ปัญหาของภาคประชาสังคม ซึ่งมีทั้งทนายความ กลุ่มสตรี ผู้นำศาสนา ก็มีปัญหาว่าไม่สามารถหาข้อมูลที่หนักแน่นเพียงพอที่จะคัดง้างที่ฝ่ายราชการเสนอมา ซึ่งในหลายครั้งผลสรุปก็ไปขึ้นอยู่กับผลการตรวจสอบนิติวิทยาศาสตร์เป็นหลัก ถ้าข้อมูลนิติวิทยาศาสตร์ชี้ไปทางไหน ผลสรุปก็มักจะวางอยู่ข้อมูลนิติวิทยาศาสตร์”

“จะเห็นว่าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงส่วนใหญ่จะจบที่การเยียวยาเป็นหลัก แต่ไม่ได้มุ่งไปที่การนำผลรายงานที่ทำออกมาไปสู่การนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ รายงานกับกระบวนการยุติธรรมปกติเป็นสิ่งที่แยกขาดจากกันและไม่มีความพยายามที่จะเชื่อมโยงสองสิ่งนี้เข้าด้วยกัน รายงานจึงจบอยู่แค่นั้น และไม่ได้ถูกนำมาใช้เป็นฐานในการนำคนผิดไปสู่การดำเนินคดีอาญา"

อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีข้ออ่อนในการทำงาน แต่ก็เห็นได้ว่ากลไกเช่นนี้ก็มีประโยชน์อย่างมากในการทำให้ความจริงปรากฏ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำ เป็นความรุนแรงนอกกฎหมาย ซึ่งรุ่งรวีเห็นว่า ถ้าเป็นกระบวนการปกติที่ตำรวจดำเนินการเอง ก็แน่นอนว่าไม่มีใครกล้าไปขุดเรื่องเหล่านี้ขึ้นมา

“แต่ข้ออ่อนอย่างหนึ่งคือทางคณะกรรมการหลายๆ คณะไม่ได้นำผลสรุปเหล่านี้มาเผยแพร่กับสาธารณะ มีแค่เฉพาะกรณีปุโละปุโยกับโต๊ะชูดที่มีการแถลงผลการตรวจสอบกับสาธารณะ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นปัญหาที่ทาง ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ไม่อยากชนกับทหาร ก็เลยไม่แถลง แต่เอาผลนี้ไปเป็นฐานในการเยียวยาให้กับผู้สูญเสีย เพราะเขาก็เชื่อว่าการเยียวยาช่วยลดความรู้สึกอยุติธรรม ซึ่งก็ได้ในระดับหนึ่ง แต่ปัญหาในการกำหนดอัตราค่าเยียวยาก็เป็นปัญหาในตัวเองด้วยเหมือนกัน อย่างช่วงที่มีการให้เงิน 7.5 ล้าน มีการใช้เกณฑ์นี้ในภาคใต้กับกรณีที่เป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงเหตุการณ์ตากใบ กรือเซะ และกรณีอื่นๆ

“การให้เงินเยียวยาที่แตกต่างกันอย่างมากกรณีทั่วไปในภาคใต้ คือถ้ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่เป็นการก่อความไม่สงบ ก็จะได้คนละ 5 แสน กลายเป็นประเด็นที่รู้สึกว่าเป็นความไม่เท่าเทียมกัน ก็เป็นประเด็นที่ต้องพิจารณา”

แต่เงินก็ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้ผู้สูญเสียรู้สึกได้รับความเป็นธรรม รุ่งรวี กล่าวถึงบิดาของสุไลมานที่ได้รับเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาท ที่ทุกวันนี้ก็ยังคงอยู่ในบ้านหลังเก่าหลังเดิม ซึ่งก็ไม่ได้รู้สึกดีขึ้นกับเม็ดเงินที่ได้รับ แต่อยากได้ชีวิตของลูกชายกลับคืนมามากกว่า แต่ก็เป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้คดีเหล่านี้นำไปสู่ขบวนการพิจารณาคดีอาญาได้

“จะเห็นว่าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงส่วนใหญ่จะจบที่การเยียวยาเป็นหลัก แต่ไม่ได้มุ่งไปที่การนำผลรายงานที่ทำออกมาไปสู่การนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ รายงานกับกระบวนการยุติธรรมปกติเป็นสิ่งที่แยกขาดจากกันและไม่มีความพยายามที่จะเชื่อมโยงสองสิ่งนี้เข้าด้วยกัน รายงานจึงจบอยู่แค่นั้น และไม่ได้ถูกนำมาใช้เป็นฐานในการนำคนผิดไปสู่การดำเนินคดีอาญา

“ดิฉันไปค้นว่าตั้งแต่ปี 2547 มีกรณีไหนบ้างที่เจ้าหน้าที่กระทำผิดและมีการนำผู้กระทำผิดไปดำเนินคดีอาญาบ้าง ซึ่งมีอยู่เคสหนึ่งที่ไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมการ เป็นการยิงคนมลายูมุสลิมคนหนึ่งกลางเมืองยะลา เผอิญผู้เสียชีวิตเป็นลูกของทนายความ เจ้าหน้าที่คิดว่าผู้ตายเป็นผู้ก่อความไม่สงบ แต่พอสืบพบว่าไม่ใช่ ผิดคน พ่อเขาเป็นทนายให้กับลูกตัวเอง คดีนี้ดำเนินมาอย่างยาวนานมาก คดีจบเมื่อประมาณปีหรือสองปีที่แล้ว จนถึงศาลฎีกา มีการตัดสินจำคุกอาสาสมัครทหารพรานที่เป็นผู้ยิง 10 ปี สำหรับนายทหารชั้นประทวนอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาในวันนั้น ศาลพิพากษาให้รอลงอาญา 2 ปี นอกจากเคสนี้ ดิฉันก็ค้นไม่เจอว่ามีกรณีใดที่นำไปสู่การตัดสินลงโทษ”

พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ เอื้อวัฒนธรรมลอยนวนพ้นผิด

ส่วนในบรรดาคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นใน 11 กรณี มีแค่กรณีเดียวที่เรื่องไปสู่ศาลอาญา คือกรณีของเจ๊มุ ที่มีการดำเนินคดีกับอดีตทหารพราน 2 คนเมื่อปีที่แล้ว แต่ศาลชั้นต้นยกฟ้องเพราะหลักฐานไม่เพียงพอ ขณะนี้เรื่องอยู่ในศาลอุทธรณ์ รุ่งรวี อธิบายต่อว่า

“เงื่อนไขทางกฎหมายที่สำคัญอันหนึ่งที่เกื้อหนุนให้เกิดวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดก็คือการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 17 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ระบุว่า พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิด ทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ หรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น มาตรานี้เรียกว่าเป็นเกราะที่แข็งแรงในทางกฎหมายที่ช่วยป้องกันการดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดในพื้นที่

“ข่าวร้ายก็คือว่าหลังรัฐประหาร 2557 ข้อความนี้ถูกนำมาใช้ในมาตรา 44 คำสั่งของ คสช. แทบจะลอกมาใช้เพื่อปกป้องเจ้าหน้าที่จากการกระทำผิด คำสั่งนี้ทำให้การปกป้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้อยู่แค่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้แล้ว แต่ขยายพื้นที่ไปทั่วประเทศ

“ในกรณีอื่นๆ ที่มีการเสียชีวิตและเชื่อว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ แต่ไม่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบก็เป็นเรื่องยากมากๆ ที่จะนำคดีไปสู่ศาลอาญา อุปสรรคใหญ่ที่ทำให้ไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษหรือนำมาสู่การพิจารณาของศาลได้ เพราะไม่สามารถระบุตัวผู้กระทำผิดได้อย่างชัดเจน พนักงานสอบสวน ตำรวจ ก็มักจะหวาดเกรงว่าถ้าขุดคุ้ยมากๆ จะทำให้ตัวเองมีปัญหา บางทีก็มีใบสั่งมาให้ไม่คุ้ยต่อ หลายคดีจึงยุติลงด้วยเหตุผลว่าเป็นคดีที่ยังไม่รู้ผู้กระทำผิด ฉะนั้น การจะทำให้กรณีเหล่านี้นำไปสู่การพิจารณาของศาลจึงเป็นเรื่องยากมาก”

กล่าวโดยสรุป ในงานชิ้นนี้สิ่งที่ค้นพบคือคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในลักษณะนี้ ดำเนินไปในช่วงที่ความขัดแย้งทางอาวุธยังดำเนินอยู่ และในบริบทเช่นนี้ ประโยชน์ของกลไกเช่นนี้คือการป้องกันหรือยับยั้งไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยฝ่ายรัฐ และนำไปสู่การเยียวยาการสูญเสียของเหยื่อ การดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ผ่านมา สิ่งที่ทำได้คือทำความจริงให้ปรากฏ ซึ่งหลายๆ กรณียากที่จะเกิดขึ้นในกระบวนการสอบสวนปกติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

“เงื่อนไขทางกฎหมายที่สำคัญอันหนึ่งที่เกื้อหนุนให้เกิดวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดก็คือการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 17 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ...เรียกว่าเป็นเกราะที่แข็งแรงในทางกฎหมายที่ช่วยป้องกันการดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดในพื้นที่ ข่าวร้ายก็คือว่าหลังรัฐประหาร 2557 ข้อความนี้ถูกนำมาใช้ในมาตรา 44 คำสั่งของ คสช. ...คำสั่งนี้ทำให้การปกป้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้อยู่แค่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้แล้ว แต่ขยายพื้นที่ไปทั่วประเทศ"

แต่วัตถุประสงค์หลักของการตรวจสอบมักจะนำไปสู่การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อลดความรู้สึกไม่เป็นธรรม แต่รายงานเหล่านี้บางชิ้นก็มีข้อเสนอในระดับนโยบายอยู่ แต่ข้อเสนอในทางนโยบายไม่ได้ถูกผลักดันอย่างจริงจังให้เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ ฉะนั้น ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการจึงไม่สามารถนำไปสู่การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายเพื่อระงับยับยั้งการละเมิดสิทธิ์ได้ นอกจากนี้ ตัวรายงานเองก็ไม่ได้เผยแพร่ต่อสาธารณะมากนัก เพื่อจะเลี่ยงการกระทบกระทั่งกับกองทัพ ทำให้ไม่มีโอกาสให้ใช้กรณีเหล่านี้เป็นบทเรียนสำหรับอนาคต

รุ่งรวี เห็นว่า แม้ว่ากลไกนี้จะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมปกติ แต่ถ้าต้องการป้องกันหรือยับยั้งความรุนแรงในลักษณะนี้ ก็ควรที่จะรณรงค์ให้มีการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดต่อไป เพื่อขจัดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

“เรื่องนี้เกี่ยวกับ 6 ตุลาอย่างไร ก่อนหน้าเหตุการณ์ 6 ตุลาและการเสนอข้อเรียกร้องของหะยีสุหลงก่อนจะหายตัวไป มันเป็นการต่อสู้ทางการเมืองอย่างสันติวิธี แต่หลังจากมีการปราบปรามอย่างรุนแรง ก็ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้รู้สึกว่า นี่ไม่ใช่เส้นทางที่จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือดำเนินการเช่นนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว ก็จะต้องลงใต้ดิน ในกรณีภาคใต้ก็นำไปสู่การก่อตัวของขบวนการติดอาวุธ ซึ่งก็คือสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในทุกวันนี้”

เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://prachatai.com/journal/2016/10/68274