Skip to main content

 

สตรีมุสลิมกับการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้ตามหลักการอิสลาม

 

เรียบเรียงโดย อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์  (อับดุลสุโก  ดินอะ) [1]

 

ขอบคุณภาพจาก www.psu10725.com

 

            ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และผู้เจริญรอยตามท่าน

 

บทนำ

นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต[2]  อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)ให้ทัศนะว่า “จากการศึกษาของ UN Women (องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ) พบว่า ในกระบวนการสันติภาพ 31 ครั้งที่สำคัญๆที่ผ่านมา ตั้งแต่ช่วงปี 2542 ถึง 2554 มีผู้หญิงที่มีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพน้อยมาก คือมีจำนวนผู้หญิงที่เป็นผู้ลงนามในข้อตกลงสันติภาพเพียงร้อยละ 4 และเป็นผู้นำในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งร้อยละ 2.4 เป็นพยานในกระบวนการสันติภาพร้อยละ 3.7 และเป็นผู้เจรจา ร้อยละ 9 ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยมาก”

           นายเลิศปัญญา กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของประเทศไทยถึงแม้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน แต่จากการพิจารณาและผ่านสื่อต่างๆ จะเห็นได้ว่าผู้หญิงมีโอกาสเจรจาความขัคแย้งน้อยมาก ไม่ค่อยมีประเด็นผู้หญิงหรือไม่ค่อยมีปากเสียงมาก ซึ่งประชาคมโลกรวมถึงประเทศไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมให้ผู้หญิงมีบทบาทในการมีส่วนร่วมจัดการความขัดแย้งและกระบวนการสร้างสันติภาพในทุกระดับ

      อย่างไรก็แล้วแต่การขับเคลื่อนต่อเรื่องนี้ของสตรีชายแดนใต้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิมก็จะต้องคำนึงหลักการอิสลามด้วยเช่นกันเพื่อสามารถการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพปตานี/ชายแดนใต้

 

สตรีมุสลิมตามทัศนะอิสลาม [3]

            สตรีมุสลิมตามทัศนะอิสลามมีหลายสถานภาพขึ้นอยู่สถานการณ์บางครั้งทำงานเหมือนผู้ชาย บางครั้งแตกต่าง  บางครั้งได้รับการยกเว้นแต่ทั้งหมดสามารถหนุนเสริมหรือเป็นหุ้นส่วนของกันและกันสอดคล้องกับธรรมชาติของสตรีเช่นอัลกุรอานกำหนดให้ชายและหญิงการส่งเสริมความดีและยับยั้งความชั่ว

 

            ความว่า "อันผู้ศรัทธาทั้งชายและหญิงนั้นต่างเป็นผู้ช่วยเหลือของกันและกันในหน้าที่ส่งเสริมความดียับยั้งความชั่ว ดำรงรักษาละหมาดจ่ายซะกาตและการภักดีต่ออัลลอฮ์และศาสนทูตของพระองค์"(เตาบะฮ์อายะฮ์ 71)

            ท่านศาสนฑูตมุฮัมมัดก็ได้กล่าวไว้ว่า "การแสวงหาความรู้เป็นหน้าที่จำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคน" (ประมวลวจนะฉบับอิบนุมาญะฮ์ลำดับที่ 224)

            นักวิชาการอิสลามต่างเห็นพ้องต้องกันว่าหน้าที่ดังกล่าวถูกกำหนดไว้สำหรับสตรีเช่นเดียว กับบุรุษสตรีจึงจำเป็นต้องแสวงหาความรู้เพื่อให้มีหลักอุดมคติที่ถูกต้อง ประกอบอิบาดะฮ์ได้อย่างสมบูรณ์ มีบุคลิกภาพที่เหมาะสมทั้งในด้านการแต่งกาย เครื่องประดับ และอื่น ๆ รู้จักสิ่งที่หะลาลและสิ่งที่หะรอม (ต้องห้าม) เข้าใจถึงสิทธิและหน้าที่ของตน รวมทั้งสตรีสามารถเพิ่มพูนความรู้ได้จนถึงขั้นอิจติฮาด (การวินิจฉัยปัญหาด้วยตนเอง)ในขณะที่สามีไม่มีสิทธิห้ามภรรยาในเรื่องการศึกษาที่จำเป็นหากตัวสามีเองไม่สามารถสอนภรรยาได้ ทั้งนี้ สตรีในสมัยศาสนูต ต่างก็เดินทางไปหาท่านเพื่อแสวงหาความรู้และขอคำชี้แจงจากท่านในประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับพวกนาง แม้จะมีความอายอยู่บ้าง แต่ความอายก็ไม่สามารถขัดขวางพวกเธอในการทำความเข้าใจกับศาสนาได้

            ในอดีต สตรีคนหนึ่งได้ทักท้วงข้อผิดพลาดของคอลีฟะฮ์(ผู้นำสูงสุด)ท่านอุมัรอิบนุคอฎฎอบ  ขณะที่คอลีฟะฮ์กำลังกล่าวปราศรัยกับสาธารณชน ทำให้คอลีฟะฮ์ล้มเลิกความตั้งใจและกล่าวยอมรับว่า "ผู้หญิงคนนั้นพูดถูกและอุมัรผิด"

            สำหรับการละหมาดญะมาอะฮ์(รวมที่มัสยิด)สตรีได้รับการยกเว้นว่าไม่จำเป็นสำหรับนางซึ่งบางครั้งการละหมาดที่บ้านประเสริฐกว่าการละหมาดที่มัสยิด แต่ถึงเช่นนั้นสามีก็ไม่มีสิทธิห้ามภรรยาหากเธอประสงค์จะไปละหมาดญะมาอะฮ์ที่มัสยิด ท่านศาสนฑูต กล่าวไว้ความว่า"พวกท่านอย่าได้ห้ามบ่าวหญิงของอัลลอฮ์มิให้ไปมัสยิดของอัลลอฮ์" (ประมวลวจนะฉบับมุสลิม)

            สตรีมุสลิมสามารถออกจากบ้านได้หากนางมีกิจธุระของตนเองหรือของสามีหรือ ของลูก ๆ ท่านหญิงอัสมาอ์บุตรสาวของอบูบักร  เคยออกจากบ้านไปยังถ้ำอันเป็นที่ซ่อนตัวของศาสนฑูตและอบูบักรพ่อของเธอ เพื่อนำอาหารไปให้กับบุคคลทั้งสอง

            สตรีมุสลิมสามารถร่วมไปในกองทัพได้เพื่อทำหน้าที่พยาบาลและภารกิจอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพของนาง

            ในประมวลจนะฉบับบุคอรีย์ระบุว่า รุไบยิอ์ บินติ มุเอาวัซ  เคยร่วมออกไปกับกองทัพของศาสนฑูต โดยทำหน้าที่ให้น้ำแก่ทหาร พยาบาลคนเจ็บ และนำคนตายกลับสู่เมืองมดีนะฮ์

            ในประมวลวจนะฉบับมุสลิมก็ระบุว่า อุมมุอะตียะฮ์ ก็เคยทำหน้าที่อย่างเดียวกับรุไบยิอ์ โดยอุมมุอะตียะฮ์เข้าร่วมสงครามถึงเจ็ดครั้ง

            ภารกิจเหล่านี้ถือเป็นภารกิจที่เหมาะสมกับธรรมชาติของสตรี หากให้นางต้องแบกอาวุธเข้าฟาดฟันอริศัตรูหรือเป็นผู้บังคับบัญชากองทัพย่อมเป็นการมอบหมายหน้าที่ที่ขัดแย้งกับธรรมชาติของความเป็นผู้หญิง แต่หากสถานการณ์อยู่ในภาวะจำเป็น ผู้หญิงก็ต้องร่วมรบกับผู้ชายเท่าที่สามารถทำ ได้ ซึ่งเรื่องนี้อุมมุสะลีม ก็เคยทำมาแล้วในสงครามหุนัยน์ ส่วนในสงครามอุฮุด อุมมุอิมารอฮ์  ก็ได้ประกอบวีรกรรมอันห้าวหาญจนได้รับการยกย่องจากศาสนฑูต และในสงครามริดดะฮ์ อุมมุอิมารอฮ์ก็ได้ร่วมรบอีกครั้ง นางกลับมาเมื่อมุซัยละมะฮ์ถูกสังหารแล้ว โดยที่ เนื้อตัวของนางมีบาดแผลถึงสิบแห่ง

            แม้ในบางยุคสมัย สตรีมุสลิมจะถูกกักกันมิให้แสวงหาความรู้และต้องอยู่แต่ในบ้านเหมือนเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่ง ทั้งสามีก็มิได้ให้การศึกษาแก่นาง และไม่อนุญาตให้นางออกไปเพื่อหาความรู้ แม้กระทั่งการละหมาดที่มัสยิดก็เป็นเรื่องต้องห้าม ปรากฏการณ์เช่นนี้เราต้องเข้าใจว่าเกิดจากความ อวิชา ความโง่เขลา และความเบี่ยงเบนจากแนวทางของศาสนฑูต เป็นประเพณีที่ปฏิบัติต่อสตรีอย่างสุดโต่ง ซึ่งอัลลอฮ์มิได้ทรงบัญญัติให้ทำเช่นนั้นและอิสลามไม่มีส่วนรับผิดชอบใด ๆ ต่ออุตริกรรมที่คนบางกลุ่มนำมาใช้ปฏิบัติต่อสตรี

 

            อิสลามวางมาตรการอันเหมาะสมไว้สำหรับปฏิบัติต่อสตรี ซึ่งมาตรการดังกล่าวอาจสรุปได้ดังนี้

ปกป้องสถานภาพความเป็นสตรีเพศที่พระเจ้าทรงสร้างไว้

 คุ้มครองสตรีจากชายโฉดที่เห็นเธอเป็นเครื่องบำเรอกาม

ปกป้องเธอมิให้ตกเป็นเครื่องมือในการแสวงหากำไรของผู้ละโมบ

            อิสลามให้ความเคารพต่อภารกิจอันสูงส่งของเพศแม่ ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบความพิเศษต่าง ๆ ให้มากกว่าเพศชายในแง่ความห่วงหาอาทร ความละเอียดอ่อน และการตอบสนองที่รวดเร็ว ทั้งนี้ เพื่อภารกิจอันยิ่งใหญ่ คือ การสร้างอนุชนแห่งอนาคต

            อิสลามถือว่า "บ้านคืออาณาจักรอันยิ่งใหญ่ของสตรี" เธอคือราชินีและเป็นเสาหลักของอาณาจักรนี้ อิสลามถือว่าภารกิจของสตรีในการดูแลบ้านเรือน การเอาใจใส่สามี และการอบรมเลี้ยงดูลูกเป็น อิบาดะฮ์ร่บและเป็นการญิฮาด อิสลามจึงต่อต้านระบบทุกระบบที่จะทำให้อาณาจักรของสตรีแห่งนี้ พังทลายลง

            อิสลามประสงค์จะสร้างครอบครัวแห่งความสุขซึ่งก่อตัวจากความเชื่อมั่นในกันและกัน มิใช่ครอบครัวที่สามีภรรยาต่างระแวงแคลงใจอีกฝ่ายอยู่ตลอดเวลา

            อิสลามอนุญาตให้สตรีทำงานนอกบ้านได้ ภายใต้กฎเกณฑ์และเงื่อนไขที่เหมาะสมกับความเป็นสตรีเพศของนาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตัวนางหรือครอบครัวของนางมีความจำเป็นต้องอาศัย น้ำพักน้ำแรงของนางหรือสังคมกำลังมีความต้องการการเสียสละของนาง เช่น ต้องการครูที่จะช่วยสอนนักเรียน หรือคนเจ็บต้องการพยาบาลดูแล เป็นต้น

 

สำหรับเงื่อนไขการทำงานนอกบ้านสำหรับสตรีมุสลิม

ต้องเป็นงานที่หะลาล(ได้รับอนุมัติ)ตามหลักศาสนา มิใช่งานที่ศาสนาห้ามหรือเป็นงานที่ชักนำไปสู่สิ่งต้องห้าม เช่น การเป็นเลขานุการกรณีส่วนตัวของผู้จัดการชาย ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้เวลาสองต่อสองกับนายจ้างอยู่เสมอ

ต้องประพฤติตนตามแบบฉบับของสตรีมุสลิมยามที่ต้องอยู่นอกบ้าน เช่น ในการแต่งกายซึ่งอัลลอฮ์ทรงตรัสไว้ในซูรอฮ์อันนูร อายะฮ์ 31 ว่า ต้องไม่เปิดเผยเครื่องประดับใด ๆ ยกเว้นบางส่วนที่อนุญาตเท่านั้น (ที่ใบหน้าและฝ่ามือ) การเดินซึ่งอัลลอฮ์ทรงรับสั่งไว้ในที่เดียวกันว่า อย่าพยายามเดินในท่าระทดระทวยหรือเดินแบบกระทืบเท้าเพื่อให้ได้ยินเสียงประดับในร่างกายของตน การพูดจาซึ่งอัลลอฮ์ทรงรับสั่งว่า ให้พูดจาดี ๆ อย่าใช้สุ้มเสียงยั่วยวนชาย (อัลอะห์ซาบ : 32)

ต้องเป็นงานที่ไม่ทำให้ภารกิจอื่นของสตรีซึ่งจำเป็นมากกว่างานนอกบ้านต้องเสียหาย เช่น การทำงานนอกบ้านทำให้ภารกิจการดูแลสามีและงานในบ้านทุกอย่างเสียหาย ถ้าเป็นเช่นนี้สตรีก็ควรงดงานดังกล่าวเสีย

                จากกรอบดังกล่าวเพื่อสันติภาพ และความมั่นคงปลอดภัยของนางเอง

 

3.สตรีมุสลิมชายแดนใต้กับการหนุนเสริมสันติภาพ  

3.1 แนวโน้มทั่วโลก

            แนวโน้มทั่วโลกพบว่า ความขัดแย้ง ความรุนแรงกระจายตัว   การป้องกันความขัดแย้ง   บทบาทของประเทศสมาชิกสหประชาชาติในการสร้างกรอบและเสริม  ขีดความสามารถของประเทศในการจัดการความขัดแย้ง ความไม่สงบ  ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ    กระบวนการสันติภาพและความมั่นคงปลอดภัยที่คำนึงถึงมิติหญิงขายและความเสมอภาคระหว่างเพศไปให้ไกลกว่าการบริหารจัดการคู่ขัดแย้งโดยเสริมพลังของผู้หญิงในฐานะพลังและทรัพยาการเพื่อสันติภาพและสันติสุขเพราะความขัดแย้ง ความรุนแรงและความไม่สงบส่งผลต่อผู้หญิงและผู้ชายต่างกัน   ผู้หญิงและเด็กหญิงมึความต้องการและบทบาทที่แตกต่างจึงต้องการการจัดการแบบใหม่   ผู้หญิงนำพามุมมองและขีดความสามรถที่แตกต่าง   การป้องกัน  การ สร้าง และดำรงไว้ ซึ่งสันติภาและสันติสุข

 

3.2 การฟื้นฟูหลังความขัดแย้ง

            การมีส่วนร่วมของผู้หญิงทำให้การทำงานประเด็นดังกล่าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้กรอบบรรทัดฐานนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง สันติภาพ และความมั่นคงปลอดภัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งมติสมัชชาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องกับ WPS  เมื่อวันที่  18  ตุลาคม  พ.ศ.2556 ได้เรียกร้องดังนี้

-          เพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการแก้ไขความขัดแย้งความไม่สงบ

-          ปรับปรุงงวิธิการของสมัชชาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเรื่องผู้หญิง สันติภาพ และความมั่นคง และเตรียมการประเมินผล ๑๕ ปี

-          อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี ตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ และเป็นภาคีของพิธีสารแรกรับ ปี ๒๕๔๓ซึ่งมีหลักการและเนื้อหาสำคัญดังนี้

1. ความเสมอภาคที่แท้จริง 2. ความเสมอภาคในผลลัพธ์  3. การไม่เลือกปฏิบัติทั้งทางตรงและทางอ้อมพันธกรณีของรัฐ 4. มิติในชีวิตผู้หญิง ทั้งพื้นที่ส่วนตัว และพื้นที่สาธารณะ ค่านิยมสังคม วัฒนธรรม ประเพณี[4]

 

3.4  สตรีมุสลิมชายแดนใต้กับการหนุนเสริมสันติภาพในภาคปฏิบัติในพื้นที่

               สตรีมุสลิมชายแดนใต้มีหลายองค์กรที่ขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพแต่ขอยกตัวอย่างองค์กรทีมีบทบาทสูง  3 องค์กรดังนี้

3.4.1 เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้นางโซรยา จามจุรี[5] นักวิชาการฝ่ายส่งเสริมและเผยแพร่ สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง ม.อ.ปัตตานี/เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้  ได้บอกเล่าประสบการณ์การจัดกระบวนการเรียนรูู้ให้ผู้หญิงในเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมฯ ในพื้นที่ความขัดแย้งชายแดนใต้ หลักใหญ่ใจความมี 3 ประการคือ

ประการที่ 1. จัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้หญิงนำไปปฏิบัติการ ขยับขับเคลื่อนงานเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสันติภาพในพื้นที่ ไม่ใช่รู้ เพียงเพื่อรู้ เช่น เมื่ออบรมผู้หญิงเป็นวิทยากรกระบวนการสานเสวนาแล้ว ผู้หญิงที่ผ่านการอบรมก็ต้องกลับไปยังชุมชน เพื่อนำทักษะความรู้ที่ได้ไปจัดสานเสวนาเพื่อแก้ปัญหาในชุมชน จากนั้นเผยแพร่เรื่องราวจากการปฏิบัติการสู่สังคมผ่านสื่อสาธารณะ และสรุปบทเรียนจากการลงมือปฏิบัติ

ประการที่ 2. จัดกระบวนการเรียนรู้ ที่ไปเสริมพลังอำนาจและศักยภาพ (empowerment)ให้ผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อ ทีมักคิดว่าตนเองอ่อนแอ ไร้สิทธิไร้เสียง ให้มีตัวตน ให้สามารถส่งเสียงเรียกร้องสันติภาพสู่สาธารณะ และตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง ที่แม้เป็นคนตัวเล็กตัวน้อย แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง ชุมชน และสังคมได้

ประการที่ 3. เชื่อมโยงการเรียนรู้กับเครือข่ายอื่น เช่น กับเครือข่ายนักเคลื่อนไหวผู้หญิงจากส่วนกลาง เพื่อแสวงหามิตรและภาคีให้ได้มากที่สุด เนื่องจากมีความเชื่อว่าสันติภาพชายแดนใต้ ไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยลำพังจากคนใน แต่ต้องมาจากความร่วมมือของคนนอกด้วย

       ผู้เขียนยังได้ทราบว่าเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้(ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากจังหวัดชายแดนภาคใต้)  ยังได้ร่วมกับกลุ่มองค์กรภาคี มูลนิธิเอเชีย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ฝ่ายส่งเสริมและเผยแพร่ สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และกลุ่มเอฟที มีเดีย ร่วมกันจัดงาน “ร่วมสร้างและตามหาสันติภาพ” ในงานเปิดตัวรายการวิทยุ เสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ “ We Voice ตามหาสันติภาพ”

      เป็นที่ทราบกันดีว่า เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทำให้มีผู้หญิงเสียชีวิตกว่า 500 คน บาดเจ็บกว่า 1,500 คน ไม่นับผลกระทบที่เกิดขึ้นที่มีมากกว่าการรวบรวมเป็นตัวเลขได้ “ทางเครือข่ายฯ ได้ชวนผู้หญิงธรรมดาที่มีจิตอาสาในพื้นที่ที่ไม่เคยจัดรายการวิทยุมาก่อน มาเรียนรู้ อบรมจนสามารถจัดรายการวิทยุได้  จากเดิมเป็นการเล่าเรื่องของตนเอง มาสู่การนำเสนอเรื่องราวของเพื่อนในชุมชนและท้องถิ่นมาออกอากาศ   จากเสียงเงียบที่ไม่มีใครได้ยินมาบอกเล่าให้สังคมได้รับรู้ และมีการพัฒนานักจัดรายการวิทยุมือสมัครเล่นมาเป็นนักจัดรายการวิทยุแบบมืออาชีพ

      สำหรับรายการวิทยุเสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ในปี2558  เป็นการนำเรื่องราวของผู้อื่นที่เป็นเสียงเงียบมาออกอากาศทาง 15 คลื่นวิทยุในพื้นที่ชายแดนใต้และนักข่าวพลเมืองทางไทยพีบีเอส ซึ่งเชื่อว่าสื่อนี้จะเป็นกระบอกเสียงสำคัญในการเข้าถึงแหล่งชุมชนรวมทั้งผู้คนในประเทศได้เป็นอย่างดี ท่ามกลางกระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้และการขับเคลื่อนงานเพื่อสันติภาพ

 

3.4.2 กลุ่ม “ด้วยใจ” [6]

      กลุ่มนี้มีแกนนำหลักจากสตรีมุสลิม 2 ท่านคือ 1.  น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ

2.   น.ส.ปัทมา หีมมิหน๊ะในขณะที่มีวัตถุประสงค์หลัก 4 ประการด้วยกันดังนี้

1.เพื่อจัดหาทุนให้ความช่วยเหลือในด้านการศึกษาแก่บุตรผู้ต้องหาคดีความมั่นคง 2. เพื่อจัดหาทุนในการประกอบอาชีพแก่สตรีม่าย , ภรรยาผู้ต้องหาคดีความมั่นคง 3. เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุในครอบครัวผู้ต้องหาคดีความมั่นคง 4. เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างสังคมและครอบครัวผู้ต้องหาคดีความมั่นคง

 

3.4.3 สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ We Peace[7]

             สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ ( We  Peace ) มีนางสาวปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ เป็นนายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพเกิดจากการรวมกลุ่มของผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิด้านต่างๆอันส่งผลกระทบต่อผู้หญิง และเด็กทั้งร่างกายและจิตใจ ตลอดจนการได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมที่ขาดมุมมองและความเข้าใจในมิติความแตกต่างทางเพศ สมาชิกส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มเพื่อนๆอาสาสมัครที่ทำงานรณรงค์ให้เกิดการยุติความรุนแรง ต่อผู้หญิงและเด็กในพื้นที่  จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดนเน้นการมีส่วนร่วมของผู้หญิง และเด็กรวมถึงบางส่วนจากกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่  จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

สำหรับวัตถุประสงค์ขององค์กรมีดังนี้

1.เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้หญิงให้มีความมั่นคงด้านจิตใจ ความเป็นผู้นำในทางที่สร้างสรรค์ และไม่ตกเป็นเครื่องมือในการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดจังหวัดชายแดนภาคใต้

2.เพื่อเพิ่มความเป็นผู้นำและความมีคุณภาพของผู้หญิงในการเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการตัดสินใจและการปกครองส่วนท้องถิ่น

3.เพื่อช่วยลดการแก้ปัญหาใช้ความรุนแรงมาเป็นการตัดสินของกลุ่มเด็กและผู้หญิง อีกทั้งลดการละเมิดสิทธิต่อเด็กและผู้หญิง

4.เพื่อให้เด็กและผู้หญิงใน จังหวัด ชายแดนใต้ทราบถึงสิทธิของตัวเอง เพื่อเป็นเกราะเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิในเด็กและผู้หญิง

5.เพื่อสร้างความปรองดองกลุ่มเป้าหมายที่มาจากครอบครัวผู้ก่อการ และครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงเพื่อการทำงานร่วมกันในอนาคต

ในขณะที่รูปแบบกิจกรรม/การทำงาน

กิจกรรม

1.โครงการรับเรื่องราวร้องทุกข์

เพื่อให้ในชุมชนเป้าหมายมีอาสาสมัครที่เข้าใจถึงความซับซ้อนและความละเอียดอ่อนของปัญหาความรุนแรงที่ผู้หญิงในสังคมที่มีมิติความเชื่อทางวัฒนธรรมที่แตกต่างโดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดน   เพื่อให้กลุ่มอาสาสมัครสามารถช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความรุนแรงได้อย่างมีมิติที่เข้าใจทั้งปัญหาความรุนแรงและสอดคล้องกับวัฒนธรรม และการถอดสรุปบทเรียนจากการทำงานอาสาสมัครที่ผ่านมาของกลุ่ม  เพื่อให้สามารถเห็นข้อดีข้อด้อยของกลุ่มและนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพอย่างเหมาะสม

รับเรื่องราวร้องทุกข์

 -    ให้คำปรึกษา

 -    ติดตามและช่วยเหลือ

 2. โครงการ เสวนาผู้หญิงในกระบวนการสร้างสันติภาพ

สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพได้ดำเนินการจัดกระบวนการสานเสวนาเพื่อเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้กับกลุ่มผู้หญิงได้ ‘ฟัง’ ความรู้สึก ความทุกข์ ความต้องการของกันและกันอย่างต่อเนื่อง และได้ค้นพบว่ากระบวนการสานเสวนาสามารถทำให้ผู้ร่วมกระบวนการสามารถก้าวข้ามความรู้สึก “เป็นอื่น” ของกันและกัน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเชื่อ อุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน สามารถร่วมมือกันเพื่อ “คิดร่วมกัน” ในการหาทางออกของข้อจำกัดและอุปสรรคทั้งหลายได้ในระดับหนึ่ง

เปิดพื้นที่“การฟัง”เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านความมั่นคง และสตรีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

กระตุ้นให้เกิดการค้นหาศักยภาพในการเป็นผู้ร่วมสร้างสันติภาพของผู้หญิงในสถานการณ์ความรุนแรง

     ค้นหาปัจจัยที่ทั้งส่งเสริมและเป็นอุปสรรคในการร่วมสร้างสันติภาพของผู้หญิงในสถานการณ์ความรุนแรง รวมทั้งอาจพบหนทางออกของปัญหาเพื่อ ร่วมเสนอ “การเปลี่ยนแปลง” ที่อาจเป็นหนทางสู่สันติภาพร่วมกัน

3. หยุดพรากชีวิตผู้หญิงและเด็ก

ในการจัดกิจกรรมในวันนี้ยังได้มีการจัดเวทีเสียงของเหยื่อโดยมีกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงทั้งที่เป็นผู้หญิงและเด็กและที่เป็นทั้งคนไทยพุทธและมุสลิมได้มาเล่าประสบการณ์ความสูญเสีย

4. การเยียวยา การให้กำลังใจ (Meeting  Empowerments)

      เปิดพื้นที่ให้กลุ่มผู้หญิงได้แสดงความรู้สึกและความต้องการ และเสนอทางเลือกในการสร้างสถานการณ์ที่ดีกว่าสำหรับชีวิตตัวเองและสังคมโดยรวม จะทำให้สังคมเข้าใจมุมมองของผู้หญิงผู้มีประสบการณ์ตรงในพื้นที่ความรุนแรงในประเด็นที่เกี่ยวกับการสร้างสันติภาพ เหนือสิ่งอื่นใด พลังกลุ่มและความเข้าใจและความไว้วางใจระหว่างผู้ได้รับผลกระทบและผู้ทำงานตามหน้าที่เพื่อสร้างสันติภาพจะช่วยให้ผู้หญิงทั้งสองกลุ่มได้ค้นพบศักยภาพของตนในการเป็นผู้สร้างสันติภาพโดยผ่านกระบวนการพูดคุย  เปิดพื้นที่“การฟัง”เพื่อสร้างความเข้าใจ ผู้หญิง ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ กระตุ้นให้เกิดการค้นหาศักยภาพในการเป็นผู้ร่วมสร้างสันติภาพของผู้หญิงในสถานการณ์ความรุนแรง

ค้นหาปัจจัยที่ทั้งส่งเสริมและเป็นอุปสรรคในการร่วมสร้างสันติภาพของผู้หญิงในสถานการณ์ความรุนแรง รวมทั้งอาจพบหนทางออกของปัญหาเพื่อ ร่วมเสนอ “การเปลี่ยนแปลง” ที่อาจเป็นหนทางสู่สันติภาพร่วมกัน

 

4.  อิสลามกับการทำงานของสตรีมุสลิมในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ

            การหนุนเสริมหรือเป็นหุ้นส่วนของกันและกันต้องสอดคล้องกับธรรมชาติของสตรีเช่นอัลกุรอานกำหนดให้ชายและหญิงการส่งเสริมความดีและยับยั้งความชั่ว การหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพก็คือส่วนหนึ่งของการร่วมมือในการทำดีละเว้นความชั่ว

     ความว่า "อันผู้ศรัทธาทั้งชายและหญิงนั้นต่างเป็นผู้ช่วยเหลือของกันและกันในหน้าที่ส่งเสริมความดียับยั้งความชั่ว ดำรงรักษาละหมาดจ่ายซะกาตและการภักดีต่ออัลลอฮ์และศาสนทูตของพระองค์"(เตาบะฮ์อายะฮ์ 71)

 

          แต่สตรีมุสลิมก็ยังมีกรอบโดยเฉพาะการทำงานนอกบ้านกล่าวคือ

1.ต้องเป็นงานที่หะลาล(ได้รับอนุมัติ)ตามหลักศาสนา มิใช่งานที่ศาสนาห้ามหรือเป็นงานที่ชักนำไปสู่สิ่งต้องห้าม เช่น การเป็นเลขานุการกรณีส่วนตัวของผู้จัดการชาย ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้เวลาสองต่อสองกับนายจ้างอยู่เสมอ

2.ต้องประพฤติตนตามแบบฉบับของสตรีมุสลิมยามที่ต้องอยู่นอกบ้าน เช่น ในการแต่งกายซึ่งอัลลอฮ์ทรงตรัสไว้ในซูรอฮ์อันนูร อายะฮ์ 31 ว่า ต้องไม่เปิดเผยเครื่องประดับใด ๆ ยกเว้นบางส่วนที่อนุญาตเท่านั้น (ที่ใบหน้าและฝ่ามือ) การเดินซึ่งอัลลอฮ์ทรงรับสั่งไว้ในที่เดียวกันว่า อย่าพยายามเดินในท่าระทดระทวยหรือเดินแบบกระทืบเท้าเพื่อให้ได้ยินเสียงประดับในร่างกายของตน การพูดจาซึ่งอัลลอฮ์ทรงรับสั่งว่า ให้พูดจาดี ๆ อย่าใช้สุ้มเสียงยั่วยวนชาย (อัลอะห์ซาบ : 32)

3.ต้องเป็นงานที่ไม่ทำให้ภารกิจอื่นของสตรีซึ่งจำเป็นมากกว่างานนอกบ้านต้องเสียหาย เช่น การทำงานนอกบ้านทำให้ภารกิจการดูแลสามีและงานในบ้านทุกอย่างเสียหาย ถ้าเป็นเช่นนี้สตรีก็ควรงดงานดังกล่าวเสีย

                      จากกรอบดังกล่าวเพื่อสันติภาพ และความมั่นคงปลอดภัยของนางเองที่ทำงานเรียกร้องสันติภาพ

                    สำหรับประเด็นท้าทายในการทำงานที่ปตานี/ชายแดนใต้คือเจตคติหรือการยอมรับในบทบาทการทำงาน การมีส่วนร่วมหรือการตัดสินใจของผู้หญิงในการสร้างสันติภาพ จากผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา คนในชุมชน/สังคม และหน่วยงานภาครัฐแต่ที่สำคัญที่สุดคือผู้นำศาสนาจะช่วยหนุนเสริมอย่างไรและสามารถแยกแยะระหว่างหลัการศาสนา กับประเพณีที่ไม่สอดคล้องกับหลักการศาสนาอิสลามให้ได้มิฉะนั้นสตรีมุสลิมจะถูกตีตราจากสังคมมุสลิมอง

 

สรุป

     อิสลาม ส่วนหนึ่งถือว่า มนุษย์ไม่ว่าชายหรือหญิงเท่าเทียมกันจะเลื่อมล้ำอยู่ที่การยำเกรงต่อพระเจ้าโดยการทำดีละเว้นความชั่ว

            อัลลอฮฺ ทรงสร้างมนุษย์ทั้งชายและหญิงซึ่งพระองค์  ตรัสในคัมภีร์อัลกุรอานความว่า :“โอ้มนุษยชาติทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชายและเพศหญิง  และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่าและตระกูลเพื่อจะได้รู้จักกันแท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ ที่อัลลอฮฺนั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า”( อัล-หุญุรอต : 13)

            ในขณะเดียวกันพระองค์ทรงให้ผู้ชายที่นับถือศาสนาเรียกว่ามุสลิม สำหรับสตรีเรียกว่ามุสลิมะฮฺ โดยพระองค์ตรัสไว้ความว่า  แท้จริงบรรดามุสลิมและมุสลิมะฮฺ  บรรดาผู้ศรัทธาชายและหญิง บรรดาผู้ภักดีชายและหญิง บรรดาผู้สัตย์จริงชายและหญิง บรรดาผู้อดทนชายและหญิง บรรดาผู้ถ่อมตัวชายและหญิง บรรดาผู้บริจาคทานชายและหญิง บรรดาผู้ถือศิลอดชายและหญิง บรรดาผู้รักษาอวัยวะเพศของพวกเขาที่เป็นชายและหญิง บรรดาผู้รำลึกถึงอัลลอฮฺอย่างมากที่เป็นชายและหญิงนั้น อัลลอฮฺได้ทรงเตรียมไว้สำหรับพวกเขาแล้ว ซึ่งการอภัยโทษและรางวัลอันใหญ่หลวง(อัล-อะหฺซาบ: 35)

            ดังนั้นไม่ว่าชายหรือหญิงสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสันติภาพภายใต้หลักการอิสลามมิใช่ประเพณี   สตรีชายแดนใต้มีส่วนอย่างมากต่อการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพปตานี/ชายแดนใต้  ในขณะที่นโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพรวมทั้งค้านความมั่นคงระดับนานาชาต  ชาติ ต้องสามารถปรับปรนให้เข้ากับหลักการศานบัญญ้ติ

 

บรรณานุกรม

คัมภีร์อัลกุรอาน

กลุ่มด้วยใจ. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2559.จาก https://duayjaisupport.wordpress.com/

ยูซุฟ ก็อรฎอวีย์.สตรีในสังคมมุสลิม.แปลและเรียบเรียงโดยฏ็อบรอนีย์ บิลล่าเต๊ะ. สืบค้นเมื่อ 25 ตุลาคม 2559.จาก http://www.cicot.or.th/2011/main/content.php?page=&category=24&id=743

สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2559.จาก http://thaigiving.org/organization/detail/5968/info

ประชุม/สัมมนา

กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ประชุมสัมมนา ร่างนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพรวมทั้งค้านความมั่นคงผ่านกรอบมติสมัชชาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เมิอวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 ที่โรงแรมหรรษาเจบี หาดใหญ่ จ.สงขลา

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ คณะรัฐศาสตร์ สถาบันสันติศึกษา วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.สงขลานครินทร์ ได้ร่วมกับศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ วิทยาลัยประชาชน และสถาบันอัสสลาม ม.ฟาฏอนี (มฟน.) ได้จัดการประชุมวิชาการนานาชาติ ว่าด้วยไตรสันติภาพบนเส้นทางสังคมมุสลิมอาเซียน ภายใต้หัวข้อ “สังคมมุสลิม, ความรู้ และการสร้างสันติภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เมื่อ 30 ก.ย.2558   ณ วิทยาลัยอิสลามนานาชาติ ม.อ.ปัตตานี

 

[1] กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้, ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา

 [email protected], http://www.oknation.net/blog/shukur                   

[2] เมิอวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 ที่โรงแรมหรรษาเจบี หาดใหญ่ จ.สงขลาผู้เขียนได้มีโอกาสเสวนาและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อร่างนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพรวมทั้งค้านความมั่นคงผ่านกรอบมติสมัชชาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ โดยมีผู้เข้าร่วม 120 คน ส่วนใหญ่ตัวแทนองค์กรสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งนายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

 [3] ผู้เขียนคัดลอกเนื้อหาส่วนใหญ่ขาก ยูซุฟ ก็อรฎอวีย์.สตรีในสังคมมุสลิม.แปลและเรียบเรียงโดยฏ็อบรอนีย์ บิลล่าเต๊ะ. สืบค้นเมื่อ 25 ตุลาคม 2559.จาก http://www.cicot.or.th/2011/main/content.php?page=&category=24&id=743

[4] สำหรับข้อ3.1-3.3 ผู้เขียนนำมาจากเวที เสวนาและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อร่างนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพรวมทั้งค้านความมั่นคงผ่านกรอบมติสมัชชาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เมิอวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 ที่โรงแรมหรรษาเจบี หาดใหญ่ จ.สงขลา

[5] เมื่อ 30 ก.ย.2558   ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ คณะรัฐศาสตร์ สถาบันสันติศึกษา วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.สงขลานครินทร์ ได้ร่วมกับศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ วิทยาลัยประชาชน และสถาบันอัสสลาม ม.ฟาฏอนี (มฟน.) ได้จัดการประชุมวิชาการนานาชาติ ว่าด้วยไตรสันติภาพบนเส้นทางสังคมมุสลิมอาเซียน ภายใต้หัวข้อ “สังคมมุสลิม, ความรู้ และการสร้างสันติภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ณ วิทยาลัยอิสลามนานาชาติ ม.อ.ปัตตานี โดยมีนักวิชาการทั้งใน และต่างประเทศ ผู้แทนหน่วยงานรัฐ ภาคประชาสังคม นักศึกษา จำนวน 400 คนเข้าร่วม(รวมทั้งผู้เขียน)

[6] กลุ่มด้วยใจ. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2559.จาก https://duayjaisupport.wordpress.com/

[7] สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ.. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2559.จาก http://thaigiving.org/organization/detail/5968/info