Skip to main content

 

 

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และกลุ่มช่างภาพข่าวชายแดนใต้ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม ”ชุมนุมช่างภาพชายแดนใต้ ครั้งที่ 1” ที่ห้องจาบังติกอ โรงแรม ซี.เอส. จังหวัดปัตตานี เพื่อเปิดโอกาสให้ช่างภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็น ช่างภาพข่าว ช่างภาพอิสระ รวมถึงประชาชนผู้สนใจในการถ่ายภาพ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อการใช้ภาพถ่ายบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อนำเสนอให้สังคมได้มองเห็นภาพสะท้อนที่แตกต่างหลากหลายไปจากภาพความรุนแรงที่ปรากฎอยู่ตามพื้นที่สื่อกระแสหลัก

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ได้เริ่มต้นวงสนทนาโดยนำเสนอผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกี่ยวกับการบริโภคสื่อว่า สื่อที่ประชาชนเข้าถึงมากที่สุด ได้แก่ โทรทัศน์ รองลงมาคือ วิทยุ, มัสยิด, ชุมชน, ร้านน้ำชา, เพื่อน, หนังสือพิมพ์ และอินเตอร์เน็ท ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การเห็น การฟัง และการพูดคุย เป็นกลไกการสื่อสารหลักในพื้นที่ ขณะที่การอ่านเป็นสื่อที่ประชาชนบริโภคน้อยกว่าสื่อที่เข้าถึงตัวบุคคล
 
”ถ้าเป็นทีวี คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะดูช่อง 7 ช่อง 3 ช่อง 9 ช่อง 5 ช่อง 11 เเละทีวีไทย เรียงความนิยมตามลำดับ สะท้อนว่า สื่อที่เน้นการบันเทิงจะเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมมากกว่าสื่อสารคดี ซึ่งก็สอดคล้องกับการบริโภคสื่อในพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทยเช่นกัน ขณะที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, เดลินิวส์, มติชน, ข่าวสด, คมชัดลึก ก็ล้วนเป็นหนังสือพิมพ์ที่เน้นภาพ เน้นสีสัน จึงอาจกล่าวได้ว่า ‘ภาพ’เป็นกลไกสำคัญในการยกระดับการรับรู้เเละการเรียนรู้ เพราะสอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคสื่อของคนในพื้นที่" 
 
ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ อธิบายความหมายและความสำคัญของ 'ผู้สื่อข่าวภาพ' ด้วยว่า พัฒนาการสื่อสารกระเเสหลักควบคู่มากับพัฒนาการของผู้สื่อข่าวภาพ ผู้สื่อข่าวภาพมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงความเข้าใจของสังคมเเละความรับรู้ของสังคมอย่างมาก ในฐานะที่เป็นผู้บันทึกความทรงจำของสังคม เเละบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่เป็นข่าวและให้ความสำคัญของมนุษย์ ทำให้มนุษย์เข้าใจเเละรู้จักตนเองผ่านภาพถ่าย ”ภาพถ่าย คือ การเอาชนะขีดความสามารถในการเป็นมนุษย์ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เเละเครื่องมือคือ ‘กล้อง’ ตลอดจนการสื่อสารกับมนุษย์ด้วยกัน ถึงอารมณ์ความรู้สึกในสถานการณ์ต่างๆ ที่เเสดงให้เห็นธรรมชาติของความเป็นมนุษย์” 
 
ทั้งนี้ ผศ.ดร.ศรีสมภพ ยังได้ชี้ให้เห็นโอกาสของช่างภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะได้พัฒนาทักษะ ฝีมือ แนวคิด และมุมมอง จากสถานภาพที่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่จริง จนความรุนแรงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเเละการทำงาน และเป็นโอกาสที่สำคัญในการพัฒนาเครือข่าย ถ่ายทอดบทเรียนให้คนรุ่นหลัง นักข่าวพลเมือง หรือผู้สนใจต่อไป 
 
 
 
นอกจากนี้ ในงานยังได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานและบทบาทของกลุ่มช่างภาพในพื้นที่ 
 
มูฮำมัดอายุป ปาทาน บรรณาธิการข่าวอาวุโส ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาเครือข่าย ซึ่งจะทำให้เกิดพื้นที่ตรงกลางเพื่อเป็นพลังในการต่อรอง โดยเครือข่ายต้องมีทั้งจากเทคโนโลยีเเละจากเครือข่ายความเป็นมนุษย์ อย่างไรก็ดี เครือข่ายที่มีความเป็นมนุษย์จะยั่งยืนกว่า 
 
“คนที่นี่มีความหวัง ช่างภาพก็ต้องมีความหวังเช่นกัน สื่อต้องไปเคลื่อนตรงกลาง ไปขยับตรงที่ใช้ความรุนเเรง คือ รัฐกับกระบวนการ ถ้าตรงกลางขยับทั้งภาพและเสียง รากหญ้าก็อยากมาดู ทำอย่างไรให้ภาพไปโผล่ในพื้นที่ต่างๆ เรื่องนี้พวกเราต้องคิดต่อในอนาคต อย่าไปติดว่าถ้าไม่มี Deep South เเล้วทำไม่ได้ ประเด็นที่จะทำต่อไป อย่างเพื่อนนักศึกษาต้องไปคิดต่อว่า จะไปขับเคลื่อนกับเพื่อนนักศึกษาด้วยกันอย่างไร ประเด็นหลากหลายจะเดินได้ดีกว่ามุมเดียว เป็นการเเลกเปลี่ยนมุมมองกัน” 
 
”วันนี้เราจะมีจุดร่วมที่จะเคลื่อนต่อไปอย่างไร ต้องมีพื้นที่สื่อสาร ต้องไปทำงานขยายต่อจากเครือข่าย ต้องคิดว่าจะใช้พื้นที่กลางอย่างไร เชื่อมกับใครอย่างไร จะเดินต่อไปข้างหน้าอย่างไร เช่น ถ้าเอาภาพไปเเสดง จะทำอย่างไร ต้องไปคิดทางที่จะเดินต่อ ต้องอาศัยการติดต่อสื่อสารในกลุ่มคนที่มาวันนี้ด้วยกันด้วย เครือข่ายพร้อมจะเป็นตัวกลางช่วยเหลือ แต่อยากให้คิดเอง ไม่ต้องให้คนอื่นคิดเเทนเรา”บรรณาธิการข่าวอาวุโสกล่าว 
 
ด้าน ฟูอัด แวสะแม ช่างภาพอิสระ จังหวัดปัตตานี กล่าวถึงกลุ่มSeed ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มช่างภาพอิสระในพื้นที่เพื่อทำกิจกรรมถ่ายภาพร่วมกัน ระบุว่า ช่างภาพมักจะถ่ายรูปได้แต่เขียนบรรยายไม่ได้ สิ่งนี้เป็นอุปสรรคข้อใหญ่ แต่ยิ่งไปกว่านั้น การถ่ายภาพในสถานการณ์ที่มีความหวาดระแวงต่อกัน บางครั้งอาจถูกเจ้าหน้าที่เรียกตรวจสอบ ทั้งที่ตัวช่างภาพเองมีเจตนาดี อยากจะถ่ายภาพเพื่อถ่ายทอดแง่มุมงดงามที่มีอยู่ในพื้นที่ การมีเครือข่ายจะช่วยตรงนี้ได้ 
 
ตูแวดานิยา มือรีงิง บรรณาธิการศูนย์ข่าวอามาน และช่างภาพสำนักข่าว AFP กล่าวเสริมว่า จำเป็นต้องใช้ความรู้จักเเละความเป็นนักข่าวเจรจาต่อรองกับเจ้าหน้าที่ นี่คือประโยชน์อย่างหนึ่งของเครือข่าย ถ้ามีปัญหาเจ้าหน้าที่ห้ามถ่ายก็ให้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงขึ้นไปที่มีอำนาจตัดสินใจได้ อย่างไรก็ดี ตูแวดานิยา กล่าวว่า ช่างภาพประเทศไทยยังถือว่าค่อนข้างมีอิสระ ขณะที่ประเทศมุสลิมอย่าง อิหร่าน ช่างภาพไม่สามารถถ่ายภาพในที่สาธารณะได้เลย ”ที่อิหร่าน ดาร์ฟูร์ถ่ายทหารไม่ได้ เจ้าหน้าที่จะทุบกล้องทันที แต่ทหารบ้านเรายังค่อนข้างเป็นมิตร พูดคุยกันได้ ที่สาธารณะใครๆ ก็ถ่ายได้ เพียงแเต่บ้านเราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร อาจเกิดความหวาดระเเวง” 
 
ด้าน นครินทร์ ชินวรโกมล ช่างภาพข่าวหนังสือพิมพ์คมชัดลึก และสำนักข่าวต่างประเทศ EPA ได้เล่าประสบการณ์ของตนเองว่า แม้มีบัตรประจำตัวระบุสังกัดหน่วยงาน แต่ก็ยังถูกเจ้าหน้าที่เรียบตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม ถ้าช่างภาพเเสดงตนชัดเจน ก็ไม่น่ามีปัญหา ทั้งนี้ ได้เสนอให้กลุ่มช่างภาพชายแดนใต้มีบัตรระบุสถานะประจำตัวเพื่อใช้อธิบายต่อเจ้าหน้าที่
 
 
ในช่วงบ่าย ได้มีการร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับตัวอย่างภาพข่าวจากทั่วโลก ทั้งในฐานะที่เป็นบันทึกหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ ภาพถ่ายที่ตั้งคำถามต่อสังคม กระทั่งสามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้คน ภาพถ่ายเพื่อการดูแลและช่วยเหลือกันและกัน รวมไปถึงภาพกับกระบวนการสันติภาพ จากนั้นในช่วงเย็นได้จัดกลุ่มออกไปถ่ายภาพแล้วนำมาฉายให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้คำแนะนำเพื่อการพัฒนาจนถึงค่ำ 
 
ฐิตินบ โกมลนิมิ ผู้จัดการโครงการก่อตั้งมูลนิธิสื่อสารสาธารณะ กล่าวในตอนท้ายของงานด้วยว่า โจทย์พื้นฐานของเราคือ ”จะลดความรุนแรงได้อย่างไร” เเละ ”จะอยู่ร่วมกันอย่างไร” ต้องคิดข้อเสนอของภาคประชาสังคมออกมา วันนี้มีข้อเสนอที่เเสดงออกผ่านภาพในฐานะที่มีศักยภาพในการสื่อสาร คิดว่าหากเรามาร่วมออกแบบกระบวนการด้วยกัน อาจจำเป็นต้องรื้อฟื้นประวัติศาสตร์บาดเเผลเพื่อให้ได้เสียงจากผู้สูญเสียหรือการเยียวยาผู้คน ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องรีบด่วนสรุป อาจจะเป็นหลายครั้ง เเละใช้โจทย์เล็กๆ เพื่อค้นหาข้อเสนอใหญ่ๆ ได้อย่างไร 

 
 
บางส่วนความคิดเห็นต่อกิจกรรม 
 
อมรรัตน์ ตั้งฤกษ์วราสกุล ช่างภาพอิสระกลุ่ม Seed กล่าวว่า ที่ผ่านมา ตนเองจะสนใจถ่ายภาพเพื่อความสวยงาม เเต่การได้มาร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยในงานนี้ ทำให้ได้เเนวคิดอะไรใหม่ต่อเรื่องราวและเหตุการณ์ ทำให้อยากนำเรื่องราวที่พบเจอในเเต่ละวันได้สื่อสารกับคนภายนอกพื้นที่ 
 
บรรพ์ โกศัลวัฒน์ นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า ได้ฟังการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดของพี่ๆ เพื่อนๆ ช่างภาพ ทำให้ได้ความรู้ที่ไม่มีในห้องเรียน เป็นประโยชน์มาก อย่างไรก็ดี มีเพื่อนบางคนที่ไม่ได้มา อยากให้มีจัดแบบนี้อีก 
 
นิอาลี นิแว กลุ่ม Southern Peace Media กล่าวว่า ชอบกิจกรรมนี้ เพราะรู้สึกว่าได้ทำงานเเละได้ลงพื้นที่ฝึกจริงๆ ทั้งนี้ งานผลักดันสู่สันติภาพเป็นงานที่ทุกคนต้องรวมกัน เป็นการร่วมทำงานจากหลากหลายสาขา เชื่อว่า งานครั้งนี้น่าจะประสงความสำเร็จได้ด้วยดี 
 
ตติกานต์ เดชชพงศ กลุ่ม WeWatch กล่าวว่า ภาพถ่าย ไม่จำเป็นต้องเป็นภาพข่าว ความหลากหลายของภาพและความหลากหลายของการเล่าเรื่อง จะเป็นการผลักดันเรื่องหรือเสียงที่เเตกต่างที่ต้องการสื่อสารไปยังคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ด้วย อยากให้เน้นความหลากหลาย 
 
มูฮำหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ กลุ่มบุหงารายา กล่าวว่า อยากให้คนในพื้นที่ได้รับรู้เเละได้ทราบถึงการทำงานของคนในพื้นที่ด้วยกัน อยากให้เขาได้เห็นภาพสะท้อนของตนเอง วิถีชีวิตของตนเอง ผ่านการถ่ายภาพ 
 
รอมือละห์ แซเยะ กลุ่มเยาวชนใจอาสา กล่าวว่า ได้เปิดมุมมองหลายๆ อย่าง ทั้งเรื่องภาพเเละการอธิบายภาพ เป็นการเปิดมุมมองของตนเอง ที่ผ่านมา ถ่ายภาพไว้เยอะมาก แต่ไม่กล้านำออกมาเผยแพร่ เพราะกังวลที่ถ่ายไม่สวยเท่ามืออาชีพ ขณะที่การเขียนก็ไม่ใช่สิ่งที่ถนัด อย่างไรก็ตาม วันนี้ก็ได้เข้าใจถึงความสำคัญของภาพถ่ายมากขึ้น เรื่องต่อไปก็จะพยายามทำเป็นเครือข่าย เราจะเกาะความเป็นเพื่อนเดินต่อไป