Skip to main content

อิหม่ามเรียกร้องชุมชนมุสลิมงดทำพิธีศพผู้ใช้ยาเสพติดเป็นกรณีแรก

 

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์ 
ยะลา
 
 
    TH-drugs-muslim-1000
    ชาวมุสลิมในจังหวัดยะลา ขณะนำศพของชาวมุสลิมที่ไม่ใช้ยาเสพติดไปฝังในสุสานของหมู่บ้าน หลังจากที่ทำพิธีทางศาสนาในมัสยิดเสร็จสิ้น ภาพเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559
     เบนาร์นิวส์
     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

    ผู้นำศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกร้องให้ชุมชนมุสลิม งดนำศพผู้ติดยาเสพติดทำพิธีในมัสยิด ถือเป็นกรณีตัวอย่างกรณีแรก เพื่อให้เกิดความเกรงกลัวต่อบาปตามหลักศาสนาอิสลาม ขณะเดียวกันเชื่อว่า ปัญหายาเสพติดเป็นหนึ่งในต้นตอของปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

    โดยในวันอังคาร ( 8 พ.ย. 2559) นี้ นายอิสมาแอล ฮะรี ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ปัจจุบัน คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกมาตรการที่สอดคล้องกับนโยบายของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า โดยสั่งห้ามไม่ให้นำศพผู้ติดยาเสพติดเข้าประกอบพิธีในมัสยิด

    “เราชาวมุสลิมทุกคน ไม่เอา ไม่เห็นด้วย ไม่สนับสนุน ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ยานรกทุกชนิด ขอสนับสนุนอย่างจริงใจต่อมาตรการนี้ ขอให้อิหม่ามประจำมัสยิดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้บ้านเรา นำมาตรการเช่นนี้ ไปบังคับใช้ในเขตของท่านด้วย และ ขอดูอาห์ให้เอกองค์อัลลอฮ์ จงชี้นำพี่น้องเราและศาสนิกอื่นสู่หนทางที่เที่ยงธรรม เเละห่างไกลจากยาเสพติด อบายมุขทั้งหลายทั้งปวงด้วย” นายอิสมาแอลกล่าว

    นายอิสมาแอล กล่าวว่า เชื่อว่าปัญหายาเสพติดคือหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทาง กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า จึงได้ดำเนินนโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สามารถจับกุมผู้ขาย และยึดของกลางเป็นยาเสพติดจำนวนมาก ผู้นำทางศาสนาจึงได้ขานรับนโยบายในเรื่องนี้ด้วย

    สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ตีพิมพ์งานวิจัยของนายแพทย์มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ศกนี้ ที่มีข้อมูลว่ามีการจับกุมคดียาเสพติดในพื้นที่ได้เพิ่มมากขึ้นทุกปี ในห้วงปี 2557 ถึง 2558 จับกระท่อมได้  51.36 ตัน และยาบ้า 25 ล้านเม็ด ผู้เสพส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนทำงาน มีช่วงอายุผู้เสพมากที่สุด 20-24 ปี

    นายซาการียา ชาวบ้านในตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังตา จังหวัดยะลา กล่าวว่า ในต้นเดือนพฤศจิกายน 2559 ชาวบ้านร่วมกับผู้นำศาสนาได้ประกาศห้ามไม่ให้นำศพผู้เสพยาเสพติดรายหนึ่ง เข้าทำพิธีในมัสยิด ทำให้ครอบครัวต้องพาศพไปทำพิธีที่บ้าน และต้องนำศพไปฝังในสุสานที่ห่างไกลจากศพของคนอื่น ซึ่งถือว่าเป็นกรณีแรก และกรณีเดียวที่เกิดขึ้นถึงขณะนี้

    “การที่ผู้นำศาสนาในหมู่บ้านไม่เรียกคนมาร่วมละหมาดศพคนใช้ยาเสพติดกันมากๆ จะทำให้ผู้ใช้ยาเสพติดเกิดความรู้สึกไม่ดี เมื่อไม่มีใครมาสนใจให้ความสำคัญกับศพตัวเอง ตามกฏหมายอิสลามจะมีบทลงโทษที่ชัดเจนสำหรับผู้ใช่ยาเสพติด หนึ่ง ให้ตี จำนวน 40 ครั้ง สอง ห้ามเป็นผู้ปกครองให้ลูกสาวที่จะทำพิธีแต่งงาน สามไม่รับรองการเป็นพยาน” ดร.อับดุลเลาะ อาบูบากา คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

    ดร.อับดุลเลาะ กล่าวเพิ่มเติมว่า จะอนุญาตให้ผู้ที่เลิกยาเสพติด และมีความรู้สึกสำนึกผิดอย่างจริงใจ ให้สามารถทำพิธีกรรมทางศาสนาได้

    ด้านพันเอกจตุพร กลัมพสุต ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองข่าวภัยแทรกซ้อน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ระบุว่า กองทัพเชื่อว่าปัญหายาเสพติดเป็นหนึ่งในปัจจัยของการก่อเหตุความวุ่นวายในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

    “นับจากปี 2554 มีหลักฐานและมีการจับกุมยาเสพติดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จำนวนมาก ซึ่งตีเป็นมูลค่า 200 ล้าน และเป็นหนึ่งของปัญหาภัยแทรกซ้อนที่ทำให้เกิดความไม่สงบในภาคใต้” พันเอกจตุพร กล่าว

    ด้านนายอิสมะแอ เยาวชนผู้เคยใช้ยาเสพติดจากจังหวัดยะลา ระบุว่า เห็นด้วยกับมาตรการทางสังคมที่เกิดขึ้น เนื่องจากเชื่อว่ามาตรการดังกล่าวของชุมชน และผู้นำศาสนาจะช่วยแก้ปัญหายาเสพติดได้อย่างเด็ดขาด

    “การใช้ยาเสพติดผิดหลักศาสนาอิสลาม เพราะจะทำให้เราอยู่อย่างขาดสติ และอาจสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น เห็นด้วยถ้าจะมีการใช้มาตรการที่เด็ดขาดมาแก้ปัญหายาเสพติด” นายอิสมาแอกล่าว