Skip to main content

 

ขบวนการเคลื่อนไหวแบบสันติวิธีของ บัดชา ข่าน

 

ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี

สถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ เชียงใหม่

 

 

ก่อนอื่นผมขอเรียนมิตรรักแฟนเพลงที่สนใจติดตามเรื่องนี้ก่อนนะครับว่าสิ่งที่ผมเขียนทั้งหมดนั้นไม่ใช่เป็นการแปลมาจากหนังสือเล่มเดียวที่ผมได้แนะนำไปนะครับ (หนังสือ Nonviolent Soldier of Islam) ผมแปลมาจากหลายแหล่ง ความตั้งใจเดิมคือ กะว่าจะปิดเรื่องราวของบัดชา ข่าน (อับดุลกัฟฟาร์ ข่าน) ภายในอีกตอนสองตอนนี้แล้ว แต่ผมยังเห็นว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจอยู่อีกมากมายเกี่ยวกับบัดชา ข่าน จึงจะขอเล่าเรื่องของท่านต่อไปเรื่อยๆ อีกสักระยะครับ......

ขอย้อนเวลากลับไปในปี 1919 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นที่ท่านมหาตมะ คานธี ได้รณรงค์ให้มีการประท้วงโดยไม่ใช้ความรุนแรงหลังจากอินเดียถูกอาณานิคมอังกฤษปกครองมายาวนานถึง 50 ปี สืบเนื่องจากในปี 1919 สภาของอังกฤษได้ผ่านกฎหมายข้อจำกัดต่างๆ และให้อำนาจล้นฟ้าแก่ทหารอังกฤษในภาวะสงครามเพื่อใช้กับคนอินเดียซึ่งนับเป็นกฎหมายที่กดขี่ต่อชาวอินเดียมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1857 ท่านคานธีจึงเรียกร้องชาวอินเดียให้ออกมาประท้วงด้วยการอดอาหารและสวดมนต์พร้อมกันทั่วประเทศ รถบัสและรถไฟหยุดให้บริการ ร้านค้า สถานที่ราชการและโรงงานในเมืองต่างๆ ต่างปิดทำการ

ในด้านชายแดนเมืองเปชะวา ชาวปาทานหลายพันคนรวมตัวกันประท้วงที่เมืองอุธมันไซ แม้แต่เบฮ์ราม ข่าน พ่อของบัดชา ข่าน ก็เข้าร่วมประท้วงในครั้งนี้ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในชีวิตของท่านที่เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง ท่านรับฟังการปราศรัยของบัดชา ข่าน ลูกชายคนเล็กด้วยความชื่นชมในการเรียกร้องให้ต่อต้านทรราชอังกฤษ ในขณะที่มีทหารอังกฤษเข้าร่วมรับฟังด้วย รัฐบาลท้องถิ่นอังกฤษจึงได้ประกาศภาวะฉุกเฉินและจับกุมบัดชา ข่าน และตัดสินจำคุกท่านเป็นเวลา 6 เดือนโดยไม่มีการไต่สวนความผิด

บัดชา ข่าน ถูกตีตรวนที่เท้าทั้งสองข้างด้วยเหล็กวงเล็กกว่าเท้าที่ใหญ่มากของท่าน จนทำให้เหล็กนั้นเฉือนส้นเท้าเข้าไปถึงกระดูกจนกลายเป็นแผลเป็นตลอดไปที่เท้าของท่าน

ที่เมืองอุธมันไซ เกิดรอยแผลเป็นแก่ชาวบ้านมากมาย เช่นทหารอังกฤษได้ต้อนชาวบ้านทั้งผู้ชาย ผู้หญิงและเด็ก ให้เข้าไปในโรงเรียนและสั่งบังคับให้นั่งลง ชาวบ้านต่างนั่งอย่างสงบพร้อมสวดขอพร (ดุอาอ์) จากพระผู้เป็นเจ้า โดยมีทหารอังกฤษเล็งปลายกระบอกปืนเข้าไปยังแถวหน้าของผู้คนเพื่อดูท่าที และหัวหน้าทหารสั่ง “พร้อมยิง!”...จนในที่สุดทหารก็ไม่ได้ยิงเข้าใส่ผู้คน แต่ทหารอังกฤษกลับรีบเข้าไปหาชาวบ้าน (ทำตัวเยี่ยงโจร-ภาษาผมเอง) แล้วเอาของมีค่าที่ติดตัวของชาวบ้านไป และยังออกไปปล้นเอาข้าวของมีค่าตามบ้านของชาวปาทานขนขึ้นรถแล้วก็จากไป.........

 

สุขแบบเศร้าๆ กับ บัดชา ข่าน

ผลจากการก่อการประท้วงครั้งนั้น ฝ่ายทหารอังกฤษได้เรียกร้องเงินเป็นค่าชดใช้จำนวน 30,000 รูปี โดยชาวบ้านถูกจับเป็นตัวประกันไป 70 คน (โดยมีพ่อของบัดชา ข่าน รวมอยู่ในจำนวนนั้น) และทหารอังกฤษวางเงื่อนไขว่าจะปล่อยตัวตัวประกันทั้งหมดก็ต่อเมื่อชาวบ้านเอาเงินประกันมาให้เท่านั้น บัดชา ข่าน มองดูพ่อของท่านผู้ซึ่งไม่เคยสนใจยุ่งเรื่องราวทางการเมืองเลยเดินผ่านไปยังห้องโถงใหญ่ที่จัดเป็นที่กักขังตัวชาวบ้าน เมื่อพ่อเห็นบัดชา ข่าน ก็รู้สึกเริงร่าดีใจอย่างออกนอกหน้าเพราะนึกว่าลูกชายคนเล็กที่ถูกจับไป 3 เดือนก่อนนั้นคงถูกทหารอังกฤษจับแขวนคอไปแล้ว

ในที่สุดท่านบัชา ข่าน ก็ถูกปล่อยตัวหลังถูกจำคุกไปเป็นเวลา 6 เดือน เมื่อออกจากห้องขังก็ทราบว่าพ่อ-แม่ ของท่านได้จัดการหาภรรยาใหม่ให้ (หลังจากภรรยาเดิมของท่านเสียชีวิตไป) ท่านค่อนข้างประหลาดใจเพราะไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะแต่งงานใหม่ แต่ก็ต้องเดินทางออกไปซื้อชุดแต่งงานเพื่อเข้าพิธี ด้วยความที่ท่านเป็น “บัดชา ข่าน” (แปลว่า “ราชาแห่งชาวข่าน”) ท่านจึงถูกติดตามอย่างใกล้ชิดจากทหาร ก่อนถึงเมืองเปชะวา บัดชา ข่าน ก็ถูกจับอีกครั้ง และถูกนำไปขุมขังในห้องเล็กๆ เมื่อครบ 7 วัน ก็ได้รับการปล่อยตัว และนี่คือบทสนทนากับทหารอังกฤษภายหลังการปล่อยตัวท่าน

บัดชา ข่าน: จับฉันทำไม?

ทหารอังกฤษ: ฉันได้รับคำสั่งให้ทำการสอบสวนท่าน

บัดชา ข่าน: แล้วทำไมไม่สอบสวนฉันก่อนที่จะจับขัง

ทหารอังกฤษ: ฉันก็ได้คิดอยู่เหมือนกันว่าจะจับท่านก่อนดีหรือจะสอบสวนก่อน ในที่สุดก็ตัดสินใจจับก่อนดีกว่า (คุ้นๆ ว่าเหมือนแถวๆทางภาคใต้ของบางประเทศในปัจจุบัน)

บัดชา ข่าน: แต่ฉันเป็นคนนะเฟ้ย คิดถึงสถานะของฉันบ้างซิ ทำไมต้องสร้างความยุ่งยากให้ฉันอย่างไร้เหตุผล

ทหารอังกฤษหยุดบันทึก และค่อยๆ เงยหน้าขึ้นมองชายร่างสูงหัวจดเท้าแล้วกล่าวว่า: ที่พูดกันมาทั้งหมดนี่ มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานะของท่านด้วยหรือไง?

 

บทสนทนาของสอง พ่อ-ลูก

ในปี 1920 ชาวมุสลิมทั่วทั้งอินเดียประท้วงนโยบายต่อผู้นำตุรกีโดยเดินทางไปอัฟกานิสถานจำนวนมาก โดยมี บัดชา ข่าน ร่วมเดินทางไปด้วย แต่ในที่สุดท่านคิดว่าการเดินทางออกจากอินเดียเป็นการตัดสินใจที่ผิด ท่านจึงเดินทางกลับมายังบ้านเกิดเพื่อปฏิรูปสังคมโดยเฉพาะด้านการศึกษาจึงเปิดขยายโรงเรียนไปทั่ว

และในปีนี้เป็นปีที่สภาแห่งชาติอินเดียนัดประชุมกันที่เมืองนักปูรจึงได้มีการตัดสินใจเป็นครั้งแรกในการต่อสู้เพื่อการปกครองตนเองและปลดแอกตัวเองออกจากจักรวรรดิอังกฤษ บัดชา ข่าน ได้เข้าร่วมประชุมในครั้งประวัติศาสตร์นี้ด้วยและท่านรู้สึกประทับใจท่านคานธีเป็นอย่างมาก แต่บัดชา ข่าน ไม่ได้สนใจการเมืองในระดับบนที่ท่านมีความรู้สึกว่ามันมีแต่การถกเถียงไม่มีที่สิ้นสุด ใช้แต่อารมณ์โวหาร อวดแสดงตัวตน ท่านจึงตีตนออกห่างจากสภาสูงนี้และหันไปทำงานในรากหญ้ากับมวลชนชาวบ้านจนมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากจึงสร้างไม่พอใจให้กับพวกทหารอังกฤษ

ดังนั้น พวกทหารอังกฤษจึงพยายามหาทางทำลายขบวนการเคลื่อนไหวของบัดชา ข่าน โดยการเสนอค่าจ้างให้กับครูในอัตราสูงลิบลิ่วให้กับบางคน ทำให้มีหลายคนที่ออกมา หากใครไม่ออกก็ใช้วิธีจับกุมคุมขัง ทหารอังกฤษเห็นว่าบริเวณชายแดนคือจุดยุทธศาสตร์สำคัญเพราะหากเอาชายแดนไม่อยู่อาจทำให้สถานการณ์ลุกลามไปทั่วทั้งอินเดียได้ ดังนั้นจึงต้องใช้ทุกวิถีทางในการหยุดยั้งความเคลื่อนไหวในชายแดนให้ได้

เซอร์ จอห์น มัฟเฟร์ หัวหน้าของคณะอังกฤษซึ่งรู้จักคุ้นเคยกับเบฮ์ราม ข่าน พ่อของบัดชา ข่าน จึงได้เรียกเบฮ์ราม ข่าน มาพบที่สำนักงานในเมืองเปชะวา และกล่าวแก่ท่านว่า: ฉันรู้ดีว่าลูกชายของคุณเดินทางไปทั่วในหมู่บ้านต่างๆ และได้เปิดโรงเรียนเป็นจำนวนมาก และฉันก็รู้ดีเช่นกันว่า ความจริงแล้วก็มีคนอีกจำนวนมากที่เขาทำตัวอยู่อย่างเงียบๆ และไม่ได้สร้างความยุ่งยากให้กับเราเลย ดังนั้น ขอให้คุณกรุณาไปบอกลูกชายสุดที่รักของคุณให้เลิกทำกิจกรรมเหล่านี้เสีย และกลับไปใช้ชีวิตอย่างเงียบๆ อยู่ในบ้านเหมือนคนอื่นๆ ได้หรือเปล่า?

พ่อของบัดชา ข่าน ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากรับปากว่าจะกลับไปบอกให้...ท่านจึงตรงไปหาบัดชา ข่าน

และนี่คือผลจากบทสนนาของสอง-พ่อลูก....

พ่อ: ลูกเอ๋ย! เยี๊ยะหยังบ่อยู่เงียบๆ เหมือนกับชาวบ้านคนอื่นๆ ลูก...เมียใหม่อี่ป้อ-อี่แม่ ก็เซาะฮื้อแล้ว แม่อี่นางก็งามแต้งามว่า และลูกชายทั้งสองของลูกก็น่าฮักขนาด แล้วทำไมลูกยังต้องมาทำกิจกรรมที่สร้างปัญหาพวกนี้อีก?”

บัดชา ข่าน ซึ่งเป็นคนที่รู้จักคุณพ่อของท่านดียิ่งกว่าคุณพ่อรู้จักตัวเองเสียด้วยซ้ำ จึงกล่าวตอบไปว่า: อี่ป้อครับ...หากมีคนแนะนำอี่ป้อให้บอกหมู่เฮาหยุดละหมาดวันละ 5 เวลา แล้วอี่ป้อจะแนะนำให้เฮาทำตามที่เขาบอกไหม?

พ่อ: เฮ้ย...คุณลูก แบบนั้นมันฝ่าฝืนคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้าเน้อ"

บัดชา ข่าน: อี่ป้อครับ...ในความคิดของลูกเห็นว่าการให้การศึกษาแก่ผู้คนและการรับใช้ผู้อื่นและประเทศชาติ ก็เป็นหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกับการละหมาดเหมือนกันครับอี่ป้อครับ"

พ่อ: โอ...แม่นแล้ว แม่นแล้ว....หากลูกเห็นว่านั่นคือหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ ลูกก็จงทำมันต่อไป อย่าล้มเลิกมันนะ

ว่าแล้วคุณพ่อของบัดชา ข่าน ก็ส่งสารแสดงความเสียใจไปยังหัวหน้ากองกำลังอังกฤษว่า "ชาวปาทานไม่สามารถล้มเลิกหน้าที่ต่อศาสนาและหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์นี้ได้...ซอรี่อู๊ดอู๊ด (อันนี้ผมเติมเอง ไม่มีในสารนั้นครับ)"

 

 

อ่านความเดิมตอนที่แล้ว

"บัดชา ข่าน" ทหารที่ไม่ใช้ความรุนแรงของอิสลาม

ทหารที่ปราศจากอาวุธ (nonviolent army) ของเผ่าปัชตุน (ปาทาน)

บัดชา ข่าน นำทัพเคลื่อนไหวต่อสู้กับอังกฤษด้วยวิธีอารยะขัดขืน