บัดชา ข่าน ตอน ความพ่ายแพ้ของขบวนการต่อต้านโดยภาคพลเมืองอินเดีย
ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี
สถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ เชียงใหม่
ในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ บัดชา ข่าน อยู่ในเรือนจำนั้น อินเดียตกอยู่ในสภาพที่ยากลำบากยิ่ง แต่กระบวนการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงกลับเติบโตมีพลังขึ้นอย่างมากและได้กระจายไปอย่างรวดเร็วในที่ต่างๆ บรรดานักกฎหมายชาวอินเดียที่ทำงานให้กับศาลอังกฤษต่างถอนตัวออกมา นักเรียนและนักศึกษาทยอยออกจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่บริหารโดยชาวอังกฤษ ชาวอินเดียที่มีชื่อเสียงที่ได้รับยศถาบรรดาศักดิ์จากทางการอังกฤษต่างคืนเกียรติจอมปลอมเหล่านั้น และชาวบ้านทั่วไปก็ปฏิเสธที่จะเสียภาษีให้กับรัฐ ขบวนการดื้อแพ่ง/อารยะขัดขืนจึงกระจายไปทั่วทั้งประเทศอย่างรวดเร็ว
ผลจากการประท้วงต่อต้านทำให้ในเดือนมกราคม 1922 มีชาวอินเดียถูกจับขังถึง 30,000 คน แต่ถึงกระนั้นแม้แต่พวกหัวอนุรักษ์นิยมชาวอินเดียก็ยังเห็นว่าการต่อสู้แบบไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อนำประเทศชาติสู่ความมีอิสรภาพของท่านมหาตมะ คานธี นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมแล้ว
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ชาวอินเดียทุกคนที่ฝักใฝ่การไม่ใช้ความรุนแรง ในบางเมืองมีการตัดสายโทรเลข เผาตึกของชาวอังกฤษ และทำร้ายเจ้าหน้าที่ ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 1922 ฝูงชนชาวอินเดียในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ไม่มีใครควบคุมพวกเขาได้ได้ฆ่าเจ้าหน้าที่อังกฤษไปเป็นจำนวน 12 คน
ท่านคานธี จึงสั่งหยุดการเคลื่อนไหวและตัวท่านเองทำการประท้วงการใช้ความรุนแรงของชาวอินเดียด้วยการ อดอาหาร และสั่งหยุดการการเคลื่อนไหวด้วยการดื้อแพ่งทั้งหมด ชาวอินเดียต่างอึ้งกิมกี่เพราะทุกคนต่างคิดว่าชัยชนะได้อยู่แค่เอื้อมแล้ว แต่เหตุไฉนท่านคานธีกลับยืนกรานสั่งหยุดไปดื้อๆ เช่นนั้น แต่ท่านคานธีไม่ต้องการชัยชนะที่ได้มาจากการใช้ความรุนแรง ท่านกล่าวว่า
“การถูกกล่าวหาว่าขี้ขลาดและอ่อนแอนั้นย่อมดีกว่าที่จะทำผิดด้วยการละเมิดคำมั่นสัญญาและการทำบาปต่อพระผู้เป็นเจ้า การไม่ซื่อสัตย์ต่อตัวเราเองนั้นเลวร้ายยิ่งกว่าการไม่ซื่อสัตย์ต่อคนอื่นนับล้านเท่าด้วยซ้ำ”
ต่อมาท่านคานธีจึงถูกจับกุมและถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 6 ปี ดังนั้น ขบวนการต่อต้านโดยภาคพลเมืองอินเดียจึงประสบกับความพ่ายแพ้เป็นครั้งแรก อันนำซึ่งความดีใจในหมู่ชาวอังกฤษเป็นอย่างยิ่ง เพราะในขณะที่ท่านคานธีติดคุกอยู่นั้นดูเหมือนประเทศอินเดียจะสงบลงไป แต่ภายใต้ความเงียบงันนั้นชาวอินเดียไม่เคยสูญสิ้นความศรัทธาต่อผู้นำของพวกเขาเลย พวกเขาเพียงเฝ้ารอวันนั้น.....
อ่านความเดิมตอนที่แล้ว
"บัดชา ข่าน" ทหารที่ไม่ใช้ความรุนแรงของอิสลาม
ทหารที่ปราศจากอาวุธ (nonviolent army) ของเผ่าปัชตุน (ปาทาน)
บัดชา ข่าน นำทัพเคลื่อนไหวต่อสู้กับอังกฤษด้วยวิธีอารยะขัดขืน
ขบวนการเคลื่อนไหวแบบสันติวิธีของ บัดชา ข่าน
บัดชา ข่าน ตอน บันทึกในกรงขัง และการยืนต่อหน้าผู้อธรรม
บัดชา ข่าน (ช่วง 1921-1924) ตอน ฆาตกรตัวอันตราย
บัดชาข่าน ตอน ความฉ้อฉลในเรือนจำและน้ำตาแห่งความสูญเสีย