Skip to main content

เผยแพร่วันที่ 28 กันยายน 2553

 
 
ใบแจ้งข่าว
3 ปีของการเสียชีวิตของนายอัสฮารี สะมาแอ
กับการสืบพยานครั้งแรกในคดีไต่สวนการตาย ณ ศาลจังหวัดยะลา
 
เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2553 หลังการเสียชีวิตของนายอัสฮารี สะมาแอเป็นเวลา 3 ปีพนักงานอัยการจังหวัดยะลาได้ยื่นคำร้องขอไต่สวนการตายของนายอัสฮารี สะมาแอ เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนและทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150เป็นกรณีที่ความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ศาลจังหวัดยะลาได้รับเป็นคดีหมายเลขดำที่ ช.13/2552 โดยมีนายอับดุลรอฮะ สะมาแอ และนางแบเดาะ สะมาแอบิดา บิดาและมารดาของนายอัสฮารี สะมาแอ เป็นผู้ร้องคัดค้านที่ 1 และผู้ร้องคัดค้านที่ 2
 
            นัดสืบพยานนัดแรกวันนี้ (วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2553) พนักงานอัยการได้นำพยานเข้าสามปากคือ ร.ต.อ. เกษมสันต์  จิตร์สว่างเนตร  พนักงานสอบสวน นางนันทวัน ฉัตรประเทืองกุล พยาบาลประจำโรงพยาบาลศูนย์ยะลา ผู้รับตัวนายอัสฮารี สะมาแอ และนางแบเดาะ สะมาแอ มารดาของผู้ตาย และศาลนัดสืบพยานต่อเนื่อง โดยสืบพยานผู้ร้อง (ของฝ่ายพนักงานอัยการ) อีก 2 วัน คือวันที่ 29-30 กันยายน 2553 และนัดสืบพยานผู้ร้องคัดค้านทั้งสองในวันที่ 5-7 ต.ค.53 นี้
 
สำหรับเหตุคดีนี้ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2550 เจ้าหน้าที่พลเรือน ตำรวจ ทหาร ได้สนธิกำลังกันปิดล้อม ตรวจค้น และควบคุมตัว นายอัสฮารี สะมาแอ ผู้ตาย กับคนอื่นๆ อีกรวม 10 คน ณ บ้านจาเร๊าะซีโป๊ะ ม. 7 ต.สะเอะ อ.กรงปีนัง จ.ยะลา นายอัสฮารี สะมาแอ ถูกทำร้ายร่างกายโดยการซ้อมทรมานจนได้รับบาดเจ็บสาหัส และถูกนำตัวไปส่งที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ต่อมาถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลปัตตานี โรงพยาบาลสิโรรส จังหวัดยะลา และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา นับถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว ที่บิดาและมารดาของนายอัสฮารี สะมาแอ เฝ้าเรียกร้องความยุติธรรมให้กับนายอัสฮารี สะมาแอ บุตรชาย และค้นหาความจริงว่านายอัสฮารี สะมาแอเสียชีวิตด้วยสาเหตุใด ใครทำให้เสียชีวิต ซึ่งหากเป็นการกระทำอันเกิดจากการกระทำการที่ผิดกฎหมายหรือละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน การดำเนินการตามกฎหมายเพื่อให้ความจริงปรากฏไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการยอมรับผิด การชดเชยเยียวยาที่เหมาะสม อีกทั้งยังเป็นการป้องปรามมิให้เกิดการกระทำการละเมิดดังกล่าว อันจะนำมาความยุติธรรมและความสงบสุขมาสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้