Skip to main content

นักวิชาการให้มุมมองปัญหาสามจังหวัดแดนใต้จากความขัดแย้งในประเทศโคลอมเบีย

สมชาย ขวัญกิจเศวต
กรุงเทพฯ
 
 
 
 
 
    TH-speakers-620
    นักวิชาการประวัติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ร่วมเสวนา ผู้พูดหลักจากขวาไปซ้าย นางสาวรุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช ดร.เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ และ อาจารย์ไฟซอล ดาโอ๊ะ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพ วันที่ 29 พ.ย. 2559
    เบนาร์นิวส์
     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

    ในวันอังคาร(29 พฤศจิกายน 2559) ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดเสวนาช่วงบ่าย ในหัวข้อ กระบวนการสันติภาพ: ความสำเร็จและความท้าทายในโคลอมเบียและสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยเชิญนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ร่วมเสวนา เพื่อทำความเข้าใจกระบวนการสันติสุขไทย ผ่านประสบการณ์ของต่างประเทศ

    การเสวนาครั้งนี้จัดขึ้นที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยผู้จัดงานได้เชิญผู้พูดหลัก 3 คนประกอบด้วย ดร.เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ไฟซอล ดาโอ๊ะ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และนางสาวรุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย โดยมี ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา

    นางสาวรุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าวว่า รู้สึกประหลาดใจมากที่รัฐบาลทหารกลับมา เราเข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติสุขอีกครั้ง หลังจากสถานการณ์ค่อนข้างนิ่งในช่วงที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการพูดคุยจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการสร้างความไว้วางใจ

    “ความเชื่อมั่นไว้วางใจยังเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งไม่อาจสร้างได้ในระยะเวลาสั้นๆ ขบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ จะไม่ประสบผลสำเร็จ หากความเชื่อมั่นและความไว้วางใจระหว่างกันยังเป็นปัญหาใหญ่อยู่” นางสาวรุ่งรวีกล่าว

    นางสาวรุ่งรวีเพิ่มเติมว่า การเจรจาเพื่อสร้างความไว้วางใจจำเป็นต้องเกิดจากความสมัครใจ และพูดคุยกันโดยใช้ความจริง จึงจะประสบความสำเร็จ แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่า อย่างไรก็ตามรัฐบาลไทยจะไม่ยอมให้มีการแบ่งแยกดินแดนโดยเด็ดขาด และเชื่อว่ารัฐบาลไทยจะยอมมากที่สุด คือการสร้างเขตปกครองพิเศษ ขณะเดียวกันประเมินว่า คนที่อยู่ในกลุ่มขบวนการรุ่นแรก เริ่มประสบปัญหาในการดำเนินชีวิต จึงอาจทำให้กลุ่มขบวนการอาจเริ่มอ่อนกำลังลง

    ดร.เชาวฤทธ์ เชาว์แสงรัตน์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า การเจรจาระหว่างกลุ่มกบฏ และหน่วยงานรัฐบาลในประเทศโคลอมเบียประสบความสำเร็จส่วนหนึ่งมาจากการช่วยเหลือของประเทศในกลุ่มละตินอเมริกาอื่นๆ

    หลังจากข้อตกลงเดิมถูกประชาชนชาวโคลอมเบียโหวตไม่เห็นด้วย ในการลงประชามติครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน 2559 รัฐบาลโคลอมเบีย และกลุ่มกบฏฟาร์ก ได้บรรลุข้อตกลงสันติภาพฉบับใหม่ร่วมกันล่าสุดในเดือนนี้ เพื่อเข้าร่วมกระบวนการยุติความขัดแย้ง ด้วยวิถีทางการเมือง

    โดยก่อนหน้านี้กลุ่มกบฏยอมวางอาวุธ หลังจากที่มีความขัดแย้งยาวนานกว่า 50 ปี ที่ทำให้มีผู้คนถูกสังหารราว 260,000 ราย และในกระบวนการเจรจาสันติภาพได้ดำเนินอย่างเป็นทางการเป็นเวลาถึง 4 ปี

    “ประเทศโคลอมเบียประสบความสำเร็จในการเจรจาและตกลงสันติภาพระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มกบฏ เกิดจากการผลักดันภายในประเทศและกลุ่มประเทศละติน ประกอบกับกลุ่มกบฏต่างเหนื่อยล้ากันทั้งสองฝ่าย หลังมีการสู้รบกันมายาวนาน"

    "หากเปรียบเทียบกับปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทยนั้น ยังไม่เปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วม และขึ้นอยู่กับประชาชนยอมรับ ถึงจะประสบความสำเร็จ” ดร.เชาวฤทธิ์กล่าว

    ด้านอาจารย์ไฟซอล ดาโอ๊ะ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เชื่อว่าการเจรจาจะประสบความสำเร็จ หากรัฐบาลสามารถทำให้ชุมชนแยกออกจากกลุ่มก่อความไม่สงบ

    “การจะประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ ต้องเน้นแก้ปัญหาในเชิงบวก หากรัฐบาลสามารถดึงชาวบ้านไม่ให้ให้ความร่วมมือกับกลุ่มขบวนการ และไม่สร้างเงื่อนไขเพิ่ม ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จ” อาจารย์ไฟซอลกล่าว

    อาจารย์ไฟซอลระบุเพิ่มเติมว่า ผลการศึกษาความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาเมื่อไม่นานนี้พบว่า ประชาชนรากหญ้ากว่าร้อยละ 67 ต้องการสันติสุข และสันติภาพ โดยมองว่าปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาล และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจำเป็นต้องแก้ไขให้เร็วที่สุด คือปัญหายาเสพติด

    การพูดคุยเพื่อสันติสุขไทย

    รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ริเริ่มการเจรจากับฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนปี 2556 โดยฝ่ายขบวนการมีนายฮัซซัน บิน ตอยิบ เป็นหัวหน้าทีม แต่ได้สะดุดลงเมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์หมดอำนาจ

    จากนั้น ได้มีการรื้อฟื้นการพูดคุยเพื่อสันติสุขในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และฝ่ายขบวนการได้จัดตั้งองค์กรร่มในการเจรจาชื่อว่า มาราปาตานี MARA Patani ขึ้นมา โดยมีนายอาวัง ยะบะ เป็นประธาน และนายสุกรี ฮารี เป็นหัวหน้าคณะเจรจา และนายอาหมัด ชูโว ได้ร่วมเจรจาเต็มคณะกับฝ่ายไทยเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2558 ในประเทศมาเลเซีย แต่ทั้งสามราย ไม่ได้เป็นสมาชิกองค์กรนำในการปรับตำแหน่งครั้งนี้แต่อย่างใด และสถานการณ์ในพื้นที่ในช่วงหลังๆ มานี้ กลับมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

    ล่าสุดรัฐบาลไทย ได้พยายามเจรจาให้มาราปาตานี ช่วยสร้าง “พี้นที่ปลอดภัย” เพื่อให้การพูดคุยเดินหน้าไปได้

    นับตั้งแต่การเกิดความรุนแรงครั้งใหม่ เริ่มต้นจากการปล้นปืนจากค่ายนราธิวาสราชนครินทร์ในปี 2547 จำนวนกว่าสี่ร้อยกระบอก ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ รายงานยอดผู้เสียชีวิตไว้ว่ามีจำนวนถึงกว่า 6,700 ราย ซึ่งมีผู้เสียชีวิตทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิม ในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน จากการถูกยิง และระเบิด ในสถานการณ์ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดแดนใต้ ขณะที่กระบวนการพูดคุยสันติภาพของทั้งสองฝ่าย โดยประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกยังคงมีอยู่