Skip to main content

        

 

  

อุปกรณ์ตัดหนังหุ้มฯโบราณ มีทุกรูปแบบ

            โต๊ะมูเด็งหะยีมะ สะอะ นั้น มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจยิ่งนัก เพราะเป็นถึงผู้สืบทอดวิชา "การขลิบปลายหนังหุ้มองคชาต" มาแต่โบราณ เป็นรุ่นที่ 6  โดยโต๊ะมูเด็งได้ให้คำสัมภาษณ์ในโอกาสที่ได้ไปประสบการณ์จริงในการจัดงานสุนัตหมู่ในวันที่ 26 มีนาคม 2552 ดังนี้

ผู้เขียน: “สลามฯโต๊ะมูเด็ง”

โต๊ะมูเด็ง : “วลัยกุมสลามฯ”

             

                     เด็กหญิงชาวมุสลิมร่วมงาน และอยากรู้อยากเห็น 

ผู้เขียน: “โต๊ะมูเด็ง วันนี้ผมจะขอรบกวนโต๊ะมูเด็ง ช่วยเล่าถึงความเป็นมา พิธีกรรมที่เกี่ยวกับการเข้าสุนัต และสืบทอดวิชาการทำหน้าที่ของโต๊ะมูเด็งด้วยครับ”

โต๊ะมูเด็ง : “ ได้ครับ  ผมเป็นโต๊ะมูเด็งรุ่นที่ 6 ซึ่งสืบเชื้อสายจากต้นตระกูลรุ่นแรก คือ "นาย ฮะ" อพยพมาจากเมืองตรังกานู ประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน โดยมีกริชติดตัวมาเพียงด้ามเดียว (ปัจจุบันกริชยังอยู่ ) ก็ได้เข้ามาทำหน้าที่โต๊ะมูเด็งของรัฐปัตตานี ที่เมืองโบราณยะริ่ง ซึ่งคนสมัยก่อนยังไม่มีนามสกุล ส่วนรุ่นที่ 2 นั้น ชื่อ "นายมูกาซึ่ง" เป็นบุตรของนายฮะนั้นเอง รุ่นที่ 3 ชื่อ "ซาไม" เป็นรุ่นหลาน (มีดยังอยู่) รุ่นที่ 4 ก็คือปู่ผมเอง ชื่อ "นายสะอะ" เสียชีวิตเมื่อ 15 ที่แล้ว ในขณะที่อายุ 105 ปี ในปี  พ.ศ. 2537 แล้วก็มาพ่อผมคือรุ่นที่ 5 "นาย เจ๊ะอาลี สะอะ"เสียชีวิตเมื่ออายุ 115 ปี ในปี  พ.ศ. 2550 เมื่อ 2 ปีนี้เอง และที่สำคัญเจ้าเมืองระยังที่ผ่านมาใอดีต ล้วนผ่ามือพ่อผมมาแล้วทั้งสิ้น”

ผู้เขียน: “ เรียกว่า หลายแผ่นดิน”

โต๊ะมูเด็ง : “ ครับใช่ครับ ส่วนผมนี้เพราะได้ติดตามพ่อซึ่งเป็นโต๊ะมูเด็งที่เมืองยะริ่ง จังหวัดปัตตานี ตั้งแต่เด็กจนกระทั่งเมื่ออายุย่างเข้า 15 ปี จึงได้เริ่มทำหน้าที่โต๊ะมูเด็งเรื่อยมา”

         

                                                       พวกเราพร้อมแล้ว..ครับ

ผู้เขียน: “ทราบว่าสมัยก่อนไม่มีการใช้ยาชา.. แล้วยาชาเริ่มเข้ามาเมื่อไหร่ครับ”

โต๊ะมูเด็ง : “ ครับสมัยก่อนขลิบกันสดๆ แล้วให้ดมลูกมะนาว จนกระทั้งเมื่อได้อายุ 21 ผมจับได้ใบแดงในการเกณฑ์ทหาร จึงไปเป็นทหารเกณฑ์สังกัดกองทัพบกโดยอยู่หน่วยพยาบาล จึงได้เรียนรู้ภาษาไทยและการแพทย์สมัยใหม่ ได้รู้จักแอลกอฮอล์ และยาชา เมื่อปลดประจำการจึงได้นำมาใช้กับการทำหน้าที่โต๊ะมูเด็งจนถึงปัจจุบันก็นับเป็นเวลากว่า 31 ปีแล้ว”

         

        ที่เข้าสุนัตแล้วก็มีเพื่อนๆมาให้กำลังใจ และถามไถ่ด้วยความสงสัย


ผู้เขียน: “ ค่าใช้จ่ายในการเข้าสุนัตแต่ละคนเป็นไงครับ สมัยก่อนกับปัจจุบันต่างกันอย่างไรครับ”

โต๊ะมูเด็ง : “ ก็ใช้เพียง ข้าวสาร 4 ลิตร หมากพลู ด้ายเย็บผ้า เทียน และเงินจำนวน 13 บาท”

                            

                                               หมดแรงเลยเรา

ผู้เขียน: “ แค่นั้น”

โต๊ะมูเด็ง : “ ครับ แล้วแต่ศรัทธา ซึ่งสิ่งที่ต้องการ มิใช่เป็นตัวเงิน แต่เป็นบุญกุศลสำหรับชีวิตโลกหน้า”
ผู้เขียน: “ การดำเนินการขลิบที่ผ่านมา ใช้เวลาเท่าไรต่อรายราย แล้ว ปีๆหนึ่งประมาณกี่ราย”

โต๊ะมูเด็ง : “โอ้ย ปีละไม่ต่ำกว่า 300 ราย วันละ 30 คน ยังไหว หยุดเฉพาะเดือนรอมฎอน ส่วนใหญ่จะมากช่วงปิดเทอม ส่วนเวลาก็ประมาณ 15-20 นาทีต่อราย แล้วแต่ความยากง่ายของแต่ละคน”

       

                               พวกเราชักภาพก่อนขึ้นเขียงครับ


ผู้เขียน: หมายความว่าไงครับ

โต๊ะมูเด็ง : “(หัวเราะ) ก็ใครมีหนังหุ้มมาก หุ้มน้อย ใครต้องการแบบพิเศษ ให้มัดปม รอบองคชาต ก็จะทำให้” 

ผู้เขียน “ เหมือนฝังมุก”

                

                       นายแวดาโอ๊ะ เจ๊แว ผู้ใหญ่บ้านากอ กางร่มบังแดดให้ประธาน

                นายดลเดช พัฒนรัฐ นายอำเภอเบตง จังหวัดยะลา

โต๊ะมูเด็ง : “ครับ ทำให้หมด แล้วแต่ใจต้องการ”
 ผู้เขียน: “เคยพลาดไหมครับ”

โต๊ะมูเด็ง : “ไม่มีครับ ผมเรียนมา มีดุอาร์(บทอ่าน)จากบรรพบุรษ อุ่นใจได้”

             

ผู้เขียน:  “เคยเจอกรณียากที่สุด เป็นกรณีไหน พอจะเล่าได้ไหมครับ”

โต๊ะมูเด็ง : “ที่ยากลำบากที่สุด ก็เมื่อ 20 ปีแล้ว เคยได้รับการเรียกให้ไปเข้าสุนัตพวก จคม.หรือ สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาในป่า เพราะ ต้องเดินเท้า 1 วันกับ 1 คืน เข้าไปทำสุนัต แล้วก็ต้องเดินเท้าออกมาอีก 1 วัน 1 คืน โอ้ยเรียกว่าหมดแรงที่เดียว เพราะ จคม.มีสมาชิกที่เป็นมุสลิมจำนวนไม่น้อย ผมก็ไม่กล้าปฏิเสธ เพราะกลัวตายเหมือนกัน ถ้าไม่ทำ สมัยก่อนใครๆก็กลัว
ผู้เขียน: แล้วเครื่องไม้เครื่องมือมีอะไร บ้างครับ”

                

               

                

                              พรรคคอมมิวนิสต์ในป่าลึก ในอดีตก็มีมุสลิมเข้าสุนัต

โต๊ะมูเด็ง : “ก็มี ผ้าพันแผล ยางแดง มีด ที่หนีบ ที่คว้าน หยวกกล้วย แอลกอฮอล์ เข็มฉีดยา ยาชาและน้ำ ”

ผู้เขียน: “ แค่นั้น”

โต๊ะมูเด็ง : “ครับ”

              

                               เลี้ยงข้าวแบบโอท๊อป ได้บรรยากาศไปอีกแบบ

ผู้เขียน: “ แล้วการเข้าสุนัตในอดีต กับปัจจุบันแตกต่างกันอย่างไรบ้างครับ”

โต๊ะมูเด็ง : “ก็มีบ้าง ในอดีดการเข้าสุนัตของเด็กในสามจังหวัดฯ จะยึดอายุเป็นเลขคี่ อันได้แก่ 7,9,11,13 หรือ 15  และจะต้องโกนผม หรือตัดปอยผม เนืองจากยังมีอิทธิพลจากพราหมติดอยู่ แต่ปัจจุบันเลิกหมดแล้ว”

          

             บรรยาลุ้นอย่างสนุกสนาน ระหว่างรอ นี่แหละวิถีมุสลิมชายแดนใต้

ผู้เขียน: “มีอะไร ที่โต๊ะมูเด็งคิดว่า เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ปกครองของเด็กนิยมให้โต๊ะมูเด็งเข้าสุนัตลูกเขา มากกว่าโต๊ะมูเด็งคนอื่นๆ”

โต๊ะมูเด็ง : “คือ ในระหว่างการขลิบปลายองคชาตนั้น ผมจะสอนให้กล่าวคำปฏิญาณตนว่า “ไม่มีประเจ้าอื่นใดนอกจากอัลเลาะห์ และมูฮำหมัดนั้นเป็นศาสนทูตของพระเจ้า” สอนให้รู้ถึงคุณและกตัญญูต่อบิดามารดา สอนให้ห่างไกลยาเสพติด และท้ายสุดคือการอ่านดุอาร์ บทสวดให้องคชาตขึ้นหรือแข็งตัวปกติ”

ผู้เขียน: “ เรียกว่า ปลุกให้ตื่น”

โต๊ะมูเด็ง : “ครับต้องปลุก เพราะมีหลายคนที่ทำแล้ว หลับสนิท”

ผู้เขียน: “ ทราบว่า โต๊ะมูเด็งมีคาถาปลุกให้ตื่น”(ความเชื่อส่วนบุคคล)

โต๊ะมูเด็ง : “ไม่ใช่คาถา เขาเรียกดุอาร์” ( ซึ่งโต๊ะมูเด็งก็มีชื่อเสียงอีกด้านหนึ่งคือการรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ)

ผู้เขียน: “ท้ายนี้มีอะไรฝากให้ท่านผู้อ่านบ้าง หรือส่วนราชการบ้างครับ”

โต๊ะมูเด็ง : “ไม่มีครับ”

ผู้เขียน: “ซักนิด แบบว่า ร้องเรียนส่วนราชการที่ไม่เป็นธรรม”

โต๊ะมูเด็ง : “ไม่มีครับ ทุกวันนี้มีความสุขดี ทุกอย่างดีแล้ว อย่าคิดอะไรมาก พออยู่พอกิน อย่าไปวิตกกับปัญหา มันมาได้ มันก็ต้องผ่านไปได้”

ผู้เขียน: “ครับสำหรับวันนี้ ขอขอบคุณโต๊ะมูเด็งที่ให้โอกาส และให้ความรู้  โอกาสหน้า ถ้ามี จะขอรบกวนอีกครับ สลามฯโต๊ะมูเด็ง”

         

                                          ยินดีรับใช้ศาสนาครับผม !

โต๊ะมูเด็ง : วลัยกุมสลามฯ (ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน)
                                                                            สัมภาษณ์ วันที่ 26/3/52 โดย ศณีรา

              ครับ หลังจากจบการสัมภาษณ์ โต๊ะมูเด็งก็รีบเดินไปยังสถานที่ทำพิธีเข้าสุนัต เดินหน้าขลิบฯต่อไป ท่ามกลางอากาศที่ร้อนชื้น ภาพผู้คนที่พลุกพล่าน เยาวชนชายท้องถิ่นที่นุ่งผ้าขาวม้าหลากสีลายดอก นั้งรอการเขาสุนัตในอารมณ์ที่ทั้งตื่นเต้นกึ่งหวาดเสียว แซมด้วยรอยยิ้มของผู้ปกครอง ผู้คนในชุมชนต่างเฝ้าให้กำลังใจ อาการกิริยาที่แสดงถึงความสุขกาย สบายใจล้วนมากจากการที่ ทุกคนมีส่วนในการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น และวิถีปฏิบัติตามหลักศาสนาอย่างเสรี โดยส่วนราชการต่างๆหันมาให้การสนับสนุน และส่งเสริมฯอย่างเต็มกำลัง ทำให้นึกถึงคำของโต๊ะมูเด็งที่ว่า      “ ทุกวันนี้มีความสุขดี ทุกอย่างดีแล้ว ไม่คิดอะไรมาก พออยู่พอกิน อย่าไปวิตกกับปัญหา มันมาได้ มันก็ต้องผ่านไปได้” เฮ้อ ! เป็นวิธีคิดที่เรียบง่ายแต่ลุ่มลึกจริงๆ