บูกอปอซอ ละศิลอด
ก่อนเริ่มอรุณอุสาแสงวันใหม่ของเดือนรอมฎอน คือการเริ่มต้นในการถือศิลอดของพี่น้องมุสลิม ในโซนบ้านเราอย่างน้อยต้องอดกินทุกอย่างแม้แต่น้ำ อย่างน้อย 14 ชั่วโมง แต่บางทวีปใช้เวลามากกว่านั้น ต้องใช้ความอดทนอย่างมาก เป็นบททดสอบความซื่อสัตย์ ระหว่างเรากับพระเจ้า อย่างแท้จริง
เมื่อตะวันเริ่มบ่ายคล้อยเห็นแสงสุดท้ายของวัน ถือว่าเป็นสัญญาณของการ บูกอปอซอ ละศิลอด ทุกคนจะเริ่มต้นด้วยสรรญเสริญต่อพระผู้เป็นเจ้า แล้วกินอินทพลัมเป็นคำแรก ก่อนจะกินอย่างอื่นเสริมตามเป็นมือแรกของวัน มันเป็นสัจธรรมหนึ่งที่ว่าเมื่อเราหิวสุดๆ ร่างกายเรากินได้ไม่มากเท่าไรเลย นอกจากใจเราเท่านั้นเองที่อยากกิน แม้กระทั้งโลกทั้งใบ อาหารจานหนึ่งเพียงพอแล้วสำหรับเรา
บางครอบครัวอาจมีเมนูดีๆอร่อยๆเพื่อละศิลอด แต่บางครอบครัวอาจมีเพียงแกงถ้วยเดียว กับสมาชิกของครอบครัวอีกหลายคน แต่สิ่งที่เห็นยามเย็นๆต่างคนถือถ้วยแกงเล็กๆเดินไปหาเพื่อนบ้าน แล้วมอบให้ แม่บ้านก็เข้าครัวล้างถ้วยพร้อมใส่แกงของตัวเองกลับ เป็นการแลกเปลี่ยนเพื่อเป็นสิ่งตอบแทน จากแกงถ้วยเดียวกลายเป็นสองถ้วน แกงคนละอย่างกัน ส่วนผู้ชายจะนิยมมาละศิลอดที่มัสยิดกัน ในแต่ละมัสยิดจะมีการปฎิบัติที่แตกต่างกัน บางมัสยิดแต่ละคนหิ้วคนละถ้วยสองถ้วยมารวมกัน แต่บางมัสยิดในปัจจุบันจะมีห้องครัวแล้วแบ่งเวรกันทำ มีเมนูไม่มากนัก แต่มีความหลากหลายในแต่ละวัน ซึ่งต่องใช้งบประมาณอย่างน้อย 4 พันถึง 5 พันบาทในแต่ละวัน และสามารถเลี้ยงคนละศิลอดได้ประมาณ 50-70 คน
ในเดือนนี้สอนเราให้เป็นคนให้ ที่เรียกว่ามือบน คนที่เป็นมือบนใช่คนที่มั่งมี ร่ำรวย หากแต่คนที่มีกำลังมีใจที่ยากให้ อย่างเดือนนี้คนที่มีกำลังด้านการเงิน อาจให้งบในการละศิลอด บางคนมีกำลังด้านบริการ อาจให้กำลังแรงและกาย ทำกับข้าวเตรียมละศิลอด จนถึงเด็กเล็กบางคน สามารถเป็นผู้ให้ เป็นมือบนได้โดยบริการยกน้ำให้คนละศิลอด ด้วยใจที่บริสุทธิ์
บรรยากาศเหล่านี้สามารถเห็นได้เพียงปีละครั้งในช่วงเดือนรอมฎอนเท่านั้น ยิ่งสิบวันสุดท้ายในเดือนรอมฎอน เกือบทุกคนจะใช้ชีวิตที่มัสยิดกัน เพื่อทำความดี บำเพ็ญตนเพื่อศาสนากอบโกบผลบุญให้มากที่สุด อย่างน้อยเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับตนเองในการสู่ชีวิตต่อไปทั้งโลกนี้ และสะสมผลบุญเหล่านั้นสำหรับโลกหน้า มัสยิดจึงสำคัญเป็นศูนย์รวมใจของชุมชน และผู้คน