Skip to main content

 

 

#ภาพข้างหลัง #ข้างหลังภาพ

#วิกฤติแห่งความน่าเห็นใจ

 

วิกฤติคร้งนี้ของซาอุฯ และพันธมิตร(อิยิปต์ บะหฺเรน อิมิเรต) กับกาตาร์ แต่จริงๆ แล้ววิกฤติของมันควรถูกเรียกว่าเป็นวิกฤติระหว่างราชอาณาจักรซาอุดิอารเบียและสาธารณรัฐตุรกี(และอิทธิพลของมัน) ... และจริงๆ ควรเรียกว่า วิกฤติของความน่าเห็นใจ

ทันทีที่มองไปยังโต๊ะทำงานของคิงสัลมาน และโต๊ะทำงานประธานาธิบดีออรโดฆอน มองข้ามท่านทั้งสองไป เราก็พบอีกสองคนที่ย้อนหลังไปอีกศตวรรษ คนหนึ่งคือคิงอับดุลอะซีซ(ค.ศ.1875 – 1953) ผู้ก่อตั้งราชอาณาจักรที่ 3 ของระบบการปกครองซาอุฯ กับมุสตาฟา คามาล อตาเติร์ก (ค.ศ. 1881 – 1938) ผู้ล้มล้างคิลาฟะฮฺและก่อกำเนิดสาธารณรัฐเซ็คคิวลาร์ของตุรกีสมัยใหม่ ... นั่นคือจุดสำคัญของการมองเห็นวิกฤติความขัดแย้งมากมายที่เกิดขึ้นในอีกศตวรรษหนึ่งต่อมาของโลกมุสลิมที่ปราศจากคิลาฟะฮฺ ลากยาวมาถึงวิกฤติครั้งนี้

วิกฤติครั้งนี้เป็นวิกฤติระหว่างมุสลิมที่อยู่ในวิถีทางที่เรียกว่า "อะฮลุสสุนนะฮฺฯ"(หรือสุนนี่) ด้วยกัน อันเป็นประชากรหลักที่มีประมาณร้อยละ 90 ของโลกมุสลิม ประเทศมุสลิมเกือบห้าสิบประเทศก็สังกัดในแนวนี้(ยกเว้น 2-3 ประเทศเท่านั้นเอง) ... มันถือว่าเป็นวิกฤติที่เลี่ยงได้ยากที่จะเกิดขึ้น เพราะมันเกิดจากพัฒนาการของรัฐชาติมุสลิมที่แตกต่างกันมากและเกี่ยวพันกับรัฐมุสลิมทั้งหมดก็ว่าได้ และที่สำคัญมันยังเกี่ยวพันกับ "หน่วยเคลื่อนไหว" ยุคใหม่ที่กำเนิดมาพร้อมๆ กับรัฐทั้งสองคือขบวนการอิสลามที่ถือว่ามีระบบที่สุดและลงสู่รากหญ้าได้กว้างที่สุด และมีลักษณะก้าวไปยังข้างบนเพื่อจัดระเบียบสังคม คือ "องค์กรภราดรภาพมุสลิม" ที่ก่อตั้งมาโดยฮะซัน อัลบันนา(ในปี ค.ศ. 1928) ... วิกฤติครั้งนี้มันเกิดขึ้นผ่านธรรมชาติที่แตกต่างกันของประเทศสุนนี่ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดอย่างซาอุฯ และตุรกี

แต่ถึงอย่างไรก็ตามมันควรถูกมองอย่าง "เห็นอกเห็นใจ" ด้วยเหตุผลหลายประการ

ประการแรกคือ ประเทศทั้งสองกำเนิดขึ้นมาอย่างชัดเจนหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หลังจากการล่มสลายของออตโดมัน ท่ามกลางมหาอำนาจทีทรงอิทธิพลของโลกทั้งสองฝ่าย ... จึงเป็นไม่ได้ที่ประเทศทั้งสองจะอยู่ได้ โดยไม่อาศ้ยสมดุลระหว่างขั้วมหาอำนาจ ตุรกีไปไกลโดยเลือกรับวิธีของฝรั่งกับการจัดวางสังคมการเมืองใหม่ วิธีการของมุสตาฟาคามาลนั้น สร้างความตกใจให้กับโลกมุสลิม เขาสลัดบทบาทของอิสลามออกจากรัฐ และยังตามไปควบคุมและกดทับไว้ไม่ให้เติบโตขึ้นมา ขณะที่ราชอาณาจักรที่ 3 ของตระกูลซะอูดถูกสถาปนาขึ้นมาโดยอ้างอิงไปยังทิศทางการปฏิรูปศาสนาของมุฮัมมัด บิน อับดุลวะฮฮาบในสมัยราชอาณาจักรที่ 1 แต่การอยุ่ได้นั้นต้องพึ่งพามหาอำนาจตะวันตกเสมอมา นับตั้งแต่อังกฤษจนถึงสหรัฐอเมริกา

ประการต่อมา พัฒนาการของประเทศทั้งสองต้องเป็นไปอย่างระมัดระวังตัว ตุรกีนั้นต่อมาได้พรรคนิยมอิสลามเข้ามา ลำพังแค่การเปลี่ยนกฎหมายให้เสรีภาพกับการสวมใส่หิญาบก็ต้องใช้เวลาหลายปี รัฐธรรมนูญตุรกีก็ยังคงวางฐานให้กับเซ็คคิวลาร์อยู่ พรรคนิยมอิสลามนั้นไม่ได้พึงพอใจกับมุสตาฟาคามาลผู้เป็นบิดาแห่งตุรกีสมัยใหม่ แต่ก็ไม่สามารถแสดงอะไรที่ขาดความเคารพได้ แม้แต่การพัฒนามาให้เสรีกับอิสลามนั้นถูกฝ่ายทหารรัฐประหารไปในอดีตและเกือบสำเร็จไปในเร็วๆ นี้ ...

ขณะที่ซาอุฯ นั้นต้องระวังท่าทีที่ "ขัดใจ" กับมหาอำนาจที่ตนอิงอยู่ด้วย มันเป็นไปไม่ได้ที่ชาวซาอุฯ จะนิยมชมชอบรัฐอิสราเอล หรือเป็นไปไม่ได้ที่จะชอบให้รัฐอิสราเอลไปทำลายกลุ่มหะมาส แม้จะบอกไม่ชอบหะมาสก็ตาม เพราะการเอาใจไปชื่นชอบให้ฝ่ายศัตรูทำลายมุสลิมนั้นถือว่าเป็นหลักการข้อหนึ่งทีทำให้มุรตัด(ซึ่งเป็นหลักการที่น่าจะคุ้นเคยกันดีในการสอนศาสนาของฝ่ายซาอุฯ) แต่มันเป็นความน่าเห็นใจที่ไม่ได้มีความสามารถพอที่จะขัดใจต่อมหาอำนาจที่ตนต้องสมดุลทางอำนาจอย่างยาวนานมาก(ตั้งแต่ยุคสงครามเย็น และก่อนหน้านั้น) ... อย่าลืมว่านี้คือยุคราชอาณาจักรที่ 3 ของซาอุฯ ไม่ได้เหมือนราชอาณาจักรยุคที่ 1 เมื่อสองร้อยปีก่อน

ความน่าเห็นใจนี้เป็นบริบทสมัยใหม่ที่โลกทั้งใบต้องเจอ ความเป็นอดีตจักรวรรดิที่เกรียงไกรของออตโตมันมันต้องเจ็บปวดมากขึ้นไปอีกเมื่อหวนกลับไปคิดถึงเรื่องราวของตนเอง แต่เติร์กก็สามารถขยับตัวเองขึ้นมาได้ขนาดนี้ในวันนี้ เป็นอะไรที่น่าทึ่ง ... แต่ก็ต้องน่าเห็นใจในบริบทที่โลกที่มหาอำนาจทั้งตะวันออกและตะวันตกมีความแกร่งมากขึ้นไปกว่าเดิมเช่นกัน

ราชอาณาจักรซาอุฯ ที่ 3 ที่ฟื้นขึ้นโดยคิงอับดุลอะซีซ พอส่งผ่านมายังรุ่นลูก ก็น่าเห็นใจไม่น้อยกว่ากัน เพราะใครๆ ก็รู้ดีว่า ระบบการปกครองแบบนี้มันไม่ได้สอดคล้องกับยุคสมัย หากราชอาณาจักรที่ 3 ล่มสลาย โอกาสที่ฟื้นขึ้นมาเป็นราชอาณาจักรที่ 4 ได้นั้น มันนึกไม่ออกกันเลย ...นี่เป็นความน่าเห็นใจที่ต้องดิ้นรนให้ระบบยังคงอยู่ต่อไปในบริบทโลกที่ไปอีกทางหนึ่ง

วิกฤติความขัดแย้งแบบนี้จึงไม่ได้เป็นขาวดำ แต่มันเป็นความน่าเห็นใจต่อการดิ้นรนของประชาชาติมุสลิมกว่าพันล้านคน ตุรกีและซาอุฯ มีการพัฒนาประเทศขึ้นมาได้ดีกว่าเดิมมาก บุญคุณของโลกมุสลิมที่ได้รับจากประเทศทั้งสองนี้ประเมินไม่ได้ ...สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความน่าเห็นใจในฐานะมุสลิมคนหนึ่งก็ต้องดุอาอ์(วิวอนขอ)และต้องทักท้วงอย่างจริงใจ(นะศีฮัต)ถ้าเห็นว่านโยบายองฝ่ายใดผิดพลาด เป็นอันตราย และอาจนำพาโลกมุสลิมไปติดกับดักของความขัดแย้งและความรุนแรงที่ไม่รู้จบ

หันกลับมาจ้องมองไปยัง "รูป" ที่ตั้งอยู่หลังผู้นำประเทศทั้งสอง ทั้งคิงอับดุลอะซีซ และมุสตาฟาคามาล ... ยิ่งจ้องมอง ยิ่งเห็นใจ ยิ่งมองไปข้างในก็ยิ่งสะเทือนใจ

..........................

ศรี วัฒนา เรียบรียง

 

ที่มา : Ghurabaa' - The Strangers