Skip to main content

 

 

#ปัญหามาจากปัจเจกชน

#การเปลี่ยนแปลงอยู่ที่หัวใจ

โดย เมาลานา อบุล หะสัน อันนัดวียฺ

....................................................

สิ่งสำคัญหรือสำคัญที่สุด พี่น้องที่รักทุกท่าน มนุษย์ต้องเปลี่ยนแปลงเสียก่อน ทุกสิ่งในโลกนี้ จำนนต่อมนุษย์ มนุษย์จำนนต่ออารมณ์จิตใจ และหลักศรัทธาของเขา ดังนั้น เมื่อหัวใจได้รับการขัดเกลาให้ดีขึ้น มนุษย์ก็จะดีขึ้น เมื่อมนุษย์ดีขึ้นโลกก็จะดีขึ้น

ألا إن في الجسد مضغة إذا صلحت صلح الجسد كله

وإذا فسدت فسد الجسد كله ألا وهي القلب

“พึงรู้เถิด ในร่างกายมีก้อนเนื้ออยู่ก้อนหนึ่ง หากมันดีร่างกายทั้งหมดก็จะดีไปด้วย หากมันเสียร่างกายทั้งหมดก็จะเสียไปด้วย พึงรู้เถิดว่า มันคือหัวใจ”

มนุษย์นั้นมีความเชื่อ(ด้วยกฏที่มาจากการเขียนการพูดของผู้ที่มีความรู้เพียงผิวเผิน) ว่าโลกนี้จะดีขึ้นก็ด้วยการที่มีรัฐบาลซึ่งปกครองด้วยพื้นฐานแบบนั้นแบบนี้ หรือด้วยการปกครองของคนนั้นคนนี้ หรือพรรคนั้นพรรคนี้ โดยที่พวกเขาไม่ตรองดูว่า แท้ที่จริงสังคมเสื่อมเสียก็เพราะความเสื่อมทรามของมโนธรรมและหัวใจ ตราบที่สิ่งนี้ยังไม่อยู่ในความถูกต้องและเหมาะสม ความหวังถึงความผาสุกก็เลือนลาง พี่น้องที่รักทั้งหลาย นี่คือคำพูดของผู้เชี่ยวชาญที่รู้แจ้งไม่ใช่คำพูดของคนที่เอาแต่หมกมุ่นอยู่กับตัวเอง เป็นคำพูดของผู้ที่บางสิ่งจากบทเรียนที่ลึกซึ้งได้ถูกเตรียมไว้ให้กับเขามาแล้ว -อัลหัมดุลิลลาฮฺ

เมื่อชายคนหนึ่งเข้าไปในห้องที่มืด เขาย่อมไม่สามารถพบสิ่งที่เขาต้องการได้หากเขาไม่เปิดสวิทซ์ไฟฟ้า แต่สำหรับชายผู้ที่เคยมีประสบการณ์ เพียงแค่เข้ามาในห้อง เขารู้ตำแหน่งของสวิทซ์ไฟฟ้าอยู่แล้ว เขาจึงกดสวิทซ์ ไฟฟ้าก็วิ่งไปตามกระแสของมัน และทำความสว่างไปทั่วทุกมุมห้อง เขาก็สามารถจัดการธุระของเขาได้อย่างง่ายดาย นี่คือภาระหน้าที่ของบรรดานบีและผู้ที่เจริญรอยตามท่านเหล่านั้น (คือนำแสงสว่างมาสู่โลก)ส่วนสวิทซ์นั้น ก็คือ“อีหม่าน”(ศรัทธา)เมื่อกดสวิทซ์รัศมีแห่งทางนำก็ทำให้โลกทั้งโลกสว่างไสวทันที

ฉันเคยเห็นผู้คนในประเทศอาหรับและประเทศอิสลามอื่นๆ ท่าทางเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะด้านความคิดและประสบการณ์ แต่แล้วฉันก็ต้องแปลกใจเมื่อพบว่า ความคิดของพวกเขา “แคบ ไม่สุกงอม” พวกเขาพูดถึงปัญหาต่างๆเหมือนคนที่ไม่รู้ลึกซึ้งและพูดแบบไม่มีน้ำหนัก พวกเขาวิพากษ์วิจารณ์ ถึงปัญหาด้านการเมืองและสังคม โดยยังคิดอยู่ว่า ถ้าหากพรรคของคนนี้หมดยุคไป ปัญหานี้ก็จะหมดไปด้วย แต่ถ้าพรรคโน้นเข้ามาแทน เราก็จะพบกับปัญหาเดิมอีก แต่ว่าอะไรอีกเล่าคือสิ่งที่ใหญ่ไปกว่าปัญหาเหล่านี้ อะไรเล่าคือสิ่งที่ทำให้เราต้องเผชิญกับปัญหาใหม่ ปัญหาแล้วปัญหาเล่า จากนั้นเมื่อเราทดลองเปิดโอกาสให้พรรคอื่น ก็ต้องพบว่ามันเลวร้ายกว่าเก่าเสียอีก สมกับคำกล่าวของกวีท่านหนึ่งที่ว่า

ألا انما الأيام أبناء واحد

وهذي الليالي كلها أخوات

فلا تطلبن من عند يوم و ليلة

خلاف الذي مرت به السنوات

มิใช่หรือที่กลางวันพวกเขา

เป็นบุตรชายจากครอบครัวเดียวกัน

และกลางคืน พวกหล่อนต่างเป็นพี่น้องกัน

ดังนั้นจงอย่าร้องขอสิ่งใดจากกลางวัน และกลางคืน​ นอกเหนือไปจากสิ่งที่เคยเกิดในรอบปี

อีกนานเท่าไหร่? ที่เราจะใช้เวลาในการวิเคราะห์พิจารณา ตรวจสอบ และสุดท้ายก็ต้องกลับมานั่งที่เดิมอย่างไร้ประโยชน์ ทั้งที่บรรดานบีได้มอบความรู้อันชัดแจ้งให้แก่พวกเราแล้ว และพวกท่านยังได้มอบวิธีการเยียวยาปัญหาที่ได้ผลแก่เราด้วย ทั้งหมดนี้มันเป็นประเด็นปัญหาของหัวใจ ถ้าหากเรายังหลงประเด็นไปจากความจริงอันนี้ เราก็ต้องเผชิญกับปัญหาระลอกแล้วระลอกเล่า ไม่มีวันสิ้นสุด

แท้จริง เคราะห์กรรมของอารยธรรมสมัยนี้ คือการไม่เอาใจใส่ต่อบุคคลแต่ละคน และการที่วิธีคิดตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของวิชาการจัดการสมัยใหม่ จนกระทั่งคิดเอาแต่จะผลิต ชมรม สถาบัน สมาคม คณะกรรมการ คณะรัฐบาล โดยละเลยปัจเจกบุคคล ทั้งๆที่คนแต่ละคน คือ รากฐานของสังคม ของรัฐ ของพรรค ของสมาคม

.......................

อบู อนัส แปลและเรียบเรียง

#หมายเหตุ บรรณาธิการ

จากบทความชิ้นนี้ เมาลานา อบุล หะสัน อันนัดวียฺ ไม่ได้มองข้ามความสำคัญของการมีกลุ่ม แต่ท่านตำหนิการจัดกลุ่มแบบไร้เป้าหมายที่แท้จริง นั่นคือการละเลยบทบาทความสำคัญของปัจเจกบุคคล หรือคิดว่าการมีกลุ่มคือการได้แก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จแล้ว โดยละเลยแผนงานตัซกียะตุลนัฟซฺ (การชำระชีวิตให้บริสุทธิ์) ทำให้มีการพูดถึงกลุ่ม พูดถึงพวก มากกว่าที่จะเข้าใจว่า การมีกลุ่มนั้นเพื่ออะไรกันแน่ 

 

ที่มา Ghurabaa' - The Strangers