สานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและทางออกระหว่างนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 34
วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน 2559 โรงแรมอิมพิเรียล นราธิวาส
ผู้ร่วมสานเสวนา: นักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา อดีต ส.ว. นักการเมืองท้องถิ่น บุคคลจากภาคประชาสังคม เจ้าหน้าที่มูลนิธิเอเซีย (ซึ่งเป็นองค์กรสนับสนุนการประชุมครั้งนี้) เจ้าหน้าที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา และเจ้าหน้าที่จากศูนย์สันติวิธี จชต. มหาวิทยาลัยมหิดล
เป้าหมาย: เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แลกเปลี่ยนปัญหาและหาทางออกร่วมกัน เพื่อลดความรุนแรงและส่งเสริมห้เกิดสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนที่จะเข้าสู่วาระการสานเสวนาตามปกติ ที่ประชุมได้รับทราบและอภิปรายผลการศึกษาเรื่องความยุติธรรมทางเลือก โดยมูลนิธิเอเซียเป็นผู้สนับสนุนการศึกษาในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่ผู้แทนรัฐบาลไทยเสนอให้เป็นหัวข้อหนึ่งของการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข
ที่ประชุมส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นสนับสนุนความยุติธรรมทั้งในกระบวนการยุติธรรมปกติและที่เป็นทางเลือก โดยเฉพาะที่ประชุมเห็นว่าควรจะใช้มาตรา 21 ของ พ.ร.บ. ความมั่นคงภายในให้เป็นประโยชน์ แต่ทั้งนี้ต้องยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นใดเสียก่อน จึงจะใช้มาตรา 21 ในพื้นที่นั้นได้ ที่ประชุมได้รับทราบสถิติการเกิดเหตุรุนแรงในพื้นที่ รวมทั้งหลักเกณฑ์ของรัฐในการเยียวยาเด็กที่ได้รับผลกระทบ และการช่วยเหลือเด็กกลุ่มดังกล่าวโดยภาคประชาสังคม
ที่ประชุมได้อภิปรายถึงการแต่งตั้งคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาล จำนวน 13 คน รวมทั้งการแบ่งงานระหว่างผู้แทนพิเศษออกเป็น 7 กลุ่มงาน และมีข้อสังเกตว่า จะมีผลต่อการทำงานเป็นทีมเดียวกันหรือไม่ การแบ่งงานจะตรงกับประสบการณ์และความชำนาญของผู้แทนพิเศษฯแต่ละคนหรือไม่ นอกจากนี้ คณะผู้แทนพิเศษฯ จะทำงานสอดคล้องกับข้าราชการที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยเฉพาะกับฝ่าย กอ.รมน. หรือไม่เพียงใด และข้าราชการจะฟัง กอ.รมน. หรือคณะผู้แทนพิเศษฯ มากน้อยกว่ากันอย่างไร
อนึ่ง การที่คณะผู้แทนพิเศษฯ มีอำนาจตามข้อ 3 ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 57/2559 ที่สามารถเสนอโยกย้ายงบประมาณภายในและระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ได้นั้น จะมีผลเป็นการช่วยบูรณาการ ช่วยแก้ไขข้อขัดข้องในการทำงานของข้าราชการให้การทำงานเร็วขึ้นหรือไม่ หรือจะมีผลในทางตรงกันข้าม ที่ทำให้วินัยการเงินการงบประมาณลดลง และส่งผลให้งานราชการบางส่วนกลับช้าลงหรือไม่ ทั้งนี้ เพราะผู้แทนพิเศษฯ ที่จะมาช่วยขับเคลื่อนงานบริการสาธารณะในพื้นที่นั้น น่าจะถนัดงานความมั่นคงมากกว่างานพัฒนา
ที่ประชุมแสดงความห่วงใยว่า การใช้การปฏิบัติการข่าวสาร (information operation IO) ในส่วนที่มีผลต่อสถานการณ์ในพื้นที่นั้นอาจเป็นดาบสองคม คือสามารถเสนอข่าวสารที่สร้างความสับสน หรือความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้นโดยง่าย ทั้งๆ ที่การใช้ IO อย่างมีประสิทธิผลจะสามารถช่วยสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างชุมชนพุทธกับมุสลิมได้ อย่างไรก็ดี ฝ่ายราชการยังมีกำลังคนน้อยเกินไปหรือไม่สำหรับงานที่สำคัญนี้ ที่ประชุมมีข้อเสนอต่อนักการเมืองในพื้นที่เองว่า นักการเมืองน่าจะเร่งสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเสนอผลการสานเสวนานักการเมืองและผลงานอื่นที่เป็นประโยชน์ให้ประชาชนในพื้นที่ทราบด้วย