Skip to main content

 

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 7

ทำไมสหรัฐไม่เปิดสงครามกับอิหร่าน มองอดีตวิเคราะห์ปัจจุบัน

 

ดร.มาโนชญ์ อารีย์

โครงการศึกษาอิสลามการเมืองและโลกมุสลิม ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

 

รัฐบาลสหรัฐเกือบทุกสมัย ไม่ว่าจะในยุคของริพับลิกันหรือเดโมแครต ต่างก็เคยแสดงท่าทีข่มขู่อิหร่าน โดยเฉพาะการขู่ในทำนองว่าอาจจัดการกับอิหร่านด้วยมาตรการทางทหาร (ทรัมป์ก็เช่นเดียวกัน) แต่จนถึงบัดนี้สหรัฐก็ยังไม่เคยเข้าไปโจมตีหรือทำสงครามกับอิหร่านเลย เหมือนกับที่สหรัฐไม่เคยโจมตีเกาหลีเหนือเลยแต่ขู่มาตลอด

อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าในยุคของทรัมป์ เขาจะไม่เปิดศึกโจมตีอิหร่านโดยตรง เพียงแต่หากมองจากเงื่อนไขสถานการณ์ที่เป็นอยู่ อาจจะได้ไม่คุ้มเสียและไม่สามารถจะกินรวบง่าย ๆ เหมือนสงครามอัฟกานิสถานหรืออิรักที่ผ่านมา นอกเสียจากว่าจะเกิดเงื่อนไขใหม่ ๆ ที่จะพัฒนาไปสู่จุดที่สหรัฐประเมินว่าตัวเองรบแล้วต้องชนะเบ็ดเสร็จ ซึ่งอาจจะประเมินถูกหรือผิดก็ได้ หรือก็เป็นไปได้ในกรณีที่สงครามนั้นให้ประโยชน์ต่อสหรัฐในเชิงยุทธศาสตร์การเมืองโลกและสถานการณ์ในภูมิภาค ซึ่งอาจเป็นการจุดชนวนสู่สงครามโลกครั้ง 3 ก็ว่าได้ แต่ก็คงเป็นไปได้ยากหากมองจากสภาพโครงสร้างอำนาจโลกในปัจจุบันที่มีลักษณะหลายขั้วอำนาจ เพราะโดยทฤษฎีแล้วมหาอำนาจทั้งหลายจะไม่เผชิญหน้ากันในสถานการณ์ที่ดุลอำนาจไม่แน่นอนเช่นนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียและความเพรียงพร่ำ

การมองอดีตที่ผ่านมาและการหาเหตุผลว่าทำไมสหรัฐถึงไม่เปิดสงครามโจมตีอิหร่าน อาจช่วยให้เข้าใจหรือมีประโยชน์ในการวิเคราะห์นโยบายของสหรัฐต่ออิหร่านอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะนโยบายการใช้กำลังหรือการสงคราม ทั้งนี้ อาจมีหลากเหตุผลหลายปัจจัยที่อธิบายว่าทำไมสหรัฐไม่โจมตีอิหร่าน (ไม่ใช่เคารพกฎหมายระหว่างประเทศ) แต่จะขอนำเสนอในมุมมองหลัก ๆ โดยขอเรียงลำดับจากความสำคัญน้อยไปหามาก (มุมมองส่วนตัว) ดังนี้

- อิหร่านไม่ใช่ประเทศหัวเดียวกระเทียมลีบ ที่ผ่านมาสหรัฐมักจะโจมตีหรือทำสงครามกับประเทศที่ประเมินแล้วว่าจะไม่มีประเทศที่สามยื่นมือเข้ามาช่วยโดยตรง หรือไม่ทำสงครามหลายแนวรบ แต่จะมุ่งเผด็จศึกอย่างเบ็ดเสร็จโดยเร็วที่เรียกว่ากินรวบอย่างกรณีสงครามอัฟกานิสถานและสงครามอิรักที่ผ่านมา แต่สำหรับอิหร่านซึ่งเป็นขั้วชีอะห์ มีพันธมิตรที่พร้อมจะจับมือในยามสงครามซีเรีย หรือรัสเซียไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ตลอดจนกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ในเลบานอน

- สหรัฐกำลังเมื่อยล้าและติดหล่มสงคราม ทั้งในอิรักและอัฟกานิสถาน ตลอดจนการเข้าไปสนับสนุนกองกำลังติเอาวุธในซีเรีย การปราบปรามกลุ่มอัลกออิดะห์ในภาคใต้เยเมน และปัญหาสงครามกลางเมืองในลิเบีย การเปิดสงครามกับอิหร่านต่ออาจทำให้เกิดกระแสต่อต้านสงครามภายในสหรัฐอีกด้วย เพราะคนอเมริกันในระยะหลังคัดค้านและเบื่อหน่ายการทำสงครามมาก นอกจากนั้นยังต้องใช้งบประมาณมหาศาล ซึ่งไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

- แสนยานุภาพของอิหร่านไม่ธรรมดา ที่ผ่านมาอิหร่านมีการพัฒนาแสนยานุภาพอย่างต่อเนื่องและทันสมัยมากแม้จะถูกแซ่งชั่นจากนานาประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศพันธมิตรสำคัญ ๆ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีเหนือหรือรัสเซีย เป็นต้น เป็นประเทศที่มีอำนาจทางทหารที่ใหญ่มากที่สุดประเทศหนึ่งในตะวันออกกลาง มีขีปนาวุธที่โจมตีได้ทั้งในระยะใกล้และระยะกลางที่ไปยังเป้าหมายได้ทั่วตะวันออกกลางและในขณะเดียวกันก็มีระบบป้องกันการโจมตีที่ทันสมัย การเข้าสู่สงครามของสหรัฐอเมริกาจึงไม่ง่ายเหมือนตอนบุกอัฟกานิสถานและอิรัก ที่สำคัญอิหร่านมีกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน (IRGC) ที่เข้มแข็ง หากย้อนดูสงคราม 8 ปีอิรัก -อิหร่าน ก็จะเห็นว่าไม่สามารถเอาชนะอิหร่านได้

- การโจมตีกองทัพสหรัฐและประเทศพันธมิตร แม้อิหร่านจะไม่สามารถโจมตีข้ามทวีปไปถึงสหรัฐ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าฐานทัพสหรัฐในตะวันออกกลางทั้งหมดตกอยู่ในตำแหน่งที่เป็นเป้าโจมตีของอิหร่านได้เสมอ รวมไปถึงกลุ่มประเทศพันธมิตรของสหรัฐในตะวันออกกลาง หากสหรัฐโจมตีอิหร่านยิ่งจะทำให้สถานการณ์สลับซับซ้อนและรุนแรงมากจนยากจะคาดเดาผลกระทบ โดยเฉพาะผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่เฉพาะในภูมิภาค แต่จะกระทบเศรษฐกิจโลกด้วย จากสงครามตัวแทนจะยกระดับสู่การเผชิญหน้ากันระหว่างสหรัฐ ซาอุดิอาระเบียและขั้วซุนนี่ในภูมิภาคกับรัฐเซียและขั้วชีอะห์อย่างซีเรียและฮิซบุลลอ์ เป็นต้น เมื่อถึงตอนนั้นสถานการณ์คงยากที่มหาอำนาจใดจะควบคุมได้

- อิสราเอล ไข่ในหินของสหรัฐในตะวันออกกลาง มีนักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่าสาเหตุที่สหรัฐไม่โจมตีอิหร่าน เพราะกลัวว่าอิหร่านจะระดมสรรพกำลังโจมตีอิสราเอลแบบดับเครื่องชน และจะสร้างความเสียหายให้กับอิสราเอลอย่างมหาศาลแบบไม่คาดคิด อันเป็นเรื่องที่สหรัฐซึ่งปกป้องอิสราเอลเสมือนไข่ในหินไม่สามารถปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นได้

- อิหร่านคือศัตรูที่ชื่นชอบ (Favored Enemy) ข้อนี้อาจเป็นเหตุผลที่สำคัญที่สุด หากมองในเชิงทฤษฎีดุลแห่งอำนาจ หรือในแง่ของการแบ่งแยกและแทรกแซง กล่าวคือ การดำรงอยู่ของอิหร่านซึ่งผู้นำขั้วชีอะห์แห่งภูมิภาคนี้ ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากในทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาต่อภูมิภาคตะวันออกกลางและความมั่นคงของอิสราเอล เรียกได้ว่าเป็น “ศัตรูที่ชื่นชอบ” (อาจจะรวมถึงซาอุดิอาระเบีย พันธมิตรที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือ) ตราบใดที่การเมืองของการแบ่งแยกและความแตกร้าวระหว่างซุนนี่กับชีอะห์ยังฝั่งรากลึกในตะวันออกกลาง สงครามตัวแทนและการแทรกแซงของมหาอำนาจก็ยังจะเป็นปัจจัยในการกำหนดทิศทางของภูมิภาคต่อไป เหตุผลหนึ่งอาจคล้ายกับกรณีที่สหรัฐไม่โจมตีเกาหลีเหนือ ก็เพราะต้องการคงพันธมิตรอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นไว้ในการพึงพิงของตัวเองเพื่อการครอบงำเชิงนโยบายหรือการเสริมอำนาจต่อรองของสหรัฐในกลุ่มประเทศโซนตะวันออกไกล พูดง่าย ๆ คือ ถ้าไม่มีเกาหลีเหนือ ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้อาจไม่จำเป็นต้องพึงพิงสหรัฐก็ได้ ในทำนองเดียวกันหากไม่มีอิหร่าน หรืออิหร่านถูกทำให้อ่อนแอ (หรือขั้วซาอุดิอาระเบีย) ประเทศซาอุดิอาระเบียและกลุ่มประเทศซุนนี่อื่น ๆ อาจไม่ต้องถูกทำให้พึงพิงสหรัฐหรืออยู่ใต้อิทธิพลของสหรัฐมากขนาดนี้ โลกอาหรับในตะวันออกกลางจะหันกลับไปสู่หัวใจของปัญหาในภูมิภาคหรือปัญหาการยึดครองปาเลสไตน์โดยอิสราเอลในที่สุด (เหมือนเช่นที่เคยปรากฏมาแล้วเมื่อครั้นอาหรับร่วมมือกันทำสงครามกับอิสราเอล) ซึ่งจะกระทบต่อความมั่นคงของอิสราเอลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะในความแตกแยกของโลกมุสลิมในตะวันออกกลางคือความมั่นคงของอิสราเอล

จากเหตุผลข้อสุดท้าย พูดง่าย ๆ คือ หากสหรัฐมีคาถาสามารถเสกเป่าให้อิหร่าน (หรือซาอุดิอาระเบีย) หายไปได้ในพริบตา สหรัฐคงไม่ทำ เพราะสิ่งที่มหาอำนาจต้องการและทำมาโดยตลอดทุกยุคทุกสมัยคือการใช้ประโยชน์จากความเป็นศัตรูและความเป็นมิตรในภูมิภาคตอบสนองยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของตนเองและอิสราเอล (advantage of having friends and enemies)

อันที่จริงหลังจากที่สหรัฐทำสงครามยึดอัฟกานิสถานในปี 2001 และ อิรักในปี 2003 จนถึงก่อนที่กองทัพรัสเซียจะเข้ามาหนุนรัฐบาลซีเรีย เป็นช่วงจังหวะที่ดีที่สุดหากสหรัฐจะโจมตีหรือทำสงครามเต็มรูปแบบกับอิหร่าน เพราะอิหร่านตกอยู่ในวงล้อมิทธิพลของสหรัฐอเมริกา กล่าวคือ ทางเหนือสหรัฐก็มีตุรกีที่ขณะนั้นยังเป็นพันธมิตรต่อกัน ขยับลงมามีอิรักที่อยู่ภายใต้กองทัพของสหรัฐ ไล่ลงไปมีซาอุดิอาระเบีย คูเวต กาตาร์ ยูเออี ที่พร้อมจะสนับสนุน อีกฝั่งทางด้านตะวันออกมีอัฟกานิสถานที่สหรัฐยึดครองและคงอิทธิพลอยู่ แต่สหรัฐก็ไม่ใช้ช่วงเวลาจังหวะนั้นจัดการกับอิหร่าน ทั้งนี้ อิหร่านก็น่าจะมองสถานการณ์ออกและมั่นใจว่าสหรัฐไม่เล่นเกมเผชิญหน้าโดยตรงกับอิหร่านแน่นอน ดังนั้น นอกจากไม่ยอมยุติโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์แล้ว ยังท้าทายสหรัฐอีกด้วย แม้แต่ทรัมป์อิหร่านก็ส่งสัญญานชัดว่าพร้อมต่อสู้กับอเมริกาเสมอ

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมคิดว่าคำถามสำคัญคือ แล้วสหรัฐมีนโยบายหรือจัดวางตำแหน่งแห่งอำนาจสำหรับอิหร่านในหมากของสหรัฐในตะวันออกกลาง

อย่างไร หากมองจากแนวคิดดุลแห่งอำนาจและสถานะ “ศัตรูที่ชื่นชอบ” สิ่งที่สหรัฐต้องการเห็นคือ อิหร่านที่ไม่อ่อนแอจนไม่มีเคี้ยวเล็บในการต่อสู้กับขั้วอำนาจซุนนี่ในตะวันออกกลาง ในขณะเดียวกันก็ไม่ปล่อยให้มีความเข้มแข็งจนเกินเลย โดยเฉพาะด้านการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ที่จะเป็นภัยคุกคามกับอิสราเอล ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านจึงเป็นวาระสำคัญของสหรัฐที่ต้องเฝ้าจับตามาโดยตลอด

การไม่ทำให้ศัตรูหรือขั้วอำนาจใดอ่อนแอจนเกินไปและไม่ทำให้เข้มแข็งจนเกินไป อาจเห็นได้ในหลาย ๆ กรณีที่ผ่านมา เช่น ในสงครามอิรักอิหร่าน แม้ไม่สามารถเอาชนะอิหร่านได้ แต่ก็ทำให้อิหร่านรวมทั้งอิรักบอมช้ำมาก อิรักที่เข้มแข็งขึ้นมาเพราะได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐและซาอุดิอาระเบีย วันหนึ่งก็ถูกทำให้อ่อนแอกลับไปนับหนึ่งใหม่จากสงครามปี 2003 เช่นเดียวกับซีเรียที่กำลังเจริญขึ้นมาก็มาเจอกับสงครามกลางเมืองที่ยังไม่รู้จะฟื้นฟูได้เมื่อไร ดังนั้น อิทธิพลของอิหร่านและขั้วชีอะห์ที่กำลังแพร่ขยายไปพร้อมกับการพัฒนาแสนยานุภาพด้านขีปนาวุธนิวเคลียร์ในขณะนี้ ก็ถูกจับตามองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของอิสราเอล หากข้อมูลข่าวกรองของสหรัฐบ่งชี้ว่าอิหร่านมีแสนยานุภาพเกินขีดที่จะรับได้หรือมีผลต่อระดับความมั่นคงของอิสราเอลเกินไป สหรัฐและอิสราเอลอาจพิจารณาใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อหยุดยั้งโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งที่ผ่านมาเราเห็นการดำเนินการหลัก ๆ ใน 2 ระดับ คือ 1) ระดับปกติว่าด้วยการลงโทษหรือคว่ำบาตรเพื่อสกัดกั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและปิดกั้นการสนับสนุนจากภายนอก 2) ระดับรุนแรงว่าด้วยการทำสงครามตัวแทนเพื่อทำให้อ่อนแอลงหรือทำให้บอมช้ำจากสงครามเหมือนในอดีต แต่จะไม่ทำสงครามโดยตรงหรือจะไม่ทำให้สิ้นเคี้ยวเล็บไปที่เดียว

ดังนั้น คงเป็นเรื่องแปลกใหม่หากสหรัฐในยุคของทรัมป์จะทำสงครามกับอิหร่าน ซึ่งอาจเป็นไปได้ยากหากมองจากเงื่อนไขปัจจุบัน แม้แต่สงครามตัวแทนในแบบสงคราม 8 ปี ที่อิรักเผชิญหน้ากับอิหร่านโดยตรงก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างเป็นไปได้ยากในยุคนี้ (ปัจจุบันเป็นสงครามตัวแทนนอกบ้าน เช่น ในซีเรียและเยเมน) เพราะอิหร่านแข็งแกร่งขึ้นมาก มีพันธมิตรชัดเจนอย่างรัสเซียและจีน มีประสบการณ์ ในขณะที่ซาอุดิอาระเบียแม้จะสั่งซื้ออาวุธจำนวนมากจากสหรัฐ แต่ก็ขาดประสบการณ์ อีกทั้งยังเปิดแนวรบยืดเยื้อกับเยเมน สนับสนุนกลุ่มกบฏในซีเรีย และประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ จึงไม่พร้อมแน่หากจะเปิดสงครามกับอิหร่านในลักษณะที่อิรักเคยทำ

สรุป นโยบายของสหรัฐต่ออิหร่าน (ถ้าไม่เปลี่ยนแปลง) คือต้องการจัดวางตำแหน่งแห่งอำนาจสำหรับอิหร่านในยุทธศาสตร์ของสหรัฐในตะวันออกกลาง โดยไม่ต้องการเห็นอิหร่านอ่อนแอจนไม่มีเคี้ยวเล็บ ในขณะเดียวกันก็ไม่ปล่อยให้มีความเข้มแข็งเกินไปจนเป็นภัยคุกคามต่ออิสราเอล การที่สหรัฐไม่เปิดสงครามกับอิหร่านอาจไม่ได้หมายความว่าสหรัฐไม่พร้อมในแง่แสนยานุภาพหรือกังวลการตอบโต้ไปยังอิสราเอล แต่สหรัฐอาจคำถึงถึงผลกระทบในเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐต่อภูมิภาคตะวันออกกลางมากกว่า

แต่หากจะเข้าสู่สงครามกับอิหร่านจริง อาจเป็นผลมาจากปัจจัยการเมืองของการเข้าสู่สงครามระหว่างมหาอำนาจ ที่ภูมิภาคต่าง ๆ จะถูกชักดึงเข้าร่วมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

อ่านตอนที่แล้ว

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 1: Executive Order สะเทือนโลก (มุสลิม)

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 2: ปฏิกิริยาของนานาชาติและการโต้กลับของประเทศมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 3: Executive Order ปรากฎการณ์ “Solidarity with Muslims” เมื่อคนอเมริกันแสดงพลังปกป้องมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 4: Executive Order ถอดรหัสและนัยยะสำคัญบางประการ

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 5 : ตุลาการภิวัฒน์ฉบับอเมริกา “วันนี้รัฐธรรมนูญชนะ...ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย แม้แต่ประธานาธิบดี”

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 6: นโยบายต่ออิหร่าน วัฏจักรการเมืองเรื่องนิวเคลียร์และการคว่ำบาตร