Skip to main content
 
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW)
 
หมายเหตุ: ข้อเขียนข้างล่างนี้เป็นรายงานตอนสุดท้ายจากชุดรายงานจำนวน 4 ตอนจบ ซึ่งเรียบเรียงมาจากรายงานฉบับสมบูรณ์ของโครงการสำรวจและจัดทำแผนผังองค์กรประชาสังคม/องค์กรชุมชนที่ทำงานในภาคใต้ ซึ่งจัดทำโดย มูฮำมัดอายุบ ปาทาน และคณะ* ภายใต้โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (STEP)   
 
 
แทบจะกล่าวได้ว่ามีงานศึกษาเกี่ยวกับประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นหัวข้อหลักอยู่ไม่มากนัก ทั้งในมิติของการพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและอาณาบริเวณของประชาสังคม บทบาทและพัฒนาการของกลุ่มองค์กรประชาสังคม ตลอดจนบทบาทขององค์กรประชาสังคมต่อความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพ โดยเฉพาะในบริบทของความรุนแรงนับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา (กรุณาดูงานทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับชายแดนใต้และข้อสังเกตที่น่าสนใจของ แพร, 2552: 69-194)
 
อย่างไรก็ตาม มีเอกสารตีพิมพ์และข้อเขียนอยู่จำนวนหนึ่งที่กล่าวถึงประเด็นดังกล่าว ทว่าความพยายามที่จะตอบโจทย์ข้างต้นและชี้ให้เห็นการเคลื่อนไหวของพลเมืองในพื้นที่นอกรัฐดังกล่าวนี้ยังเรียกได้ว่าอยู่ในขอบข่ายที่จำกัดอยู่ ดังกรณีงานเขียนเกี่ยวกับประเด็นการก่อตัวและพลวัตของกลุ่มประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของ ชลิต ถาวรนุกิจกุล ที่พยายามทบทวนไปถึงการก่อตัวและพัฒนาการแนวทางการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคมโดยแยกออกเป็นสองช่วง ได้แก่ ช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงต่อเนื่องในปี 2547 และหลังจากนั้น (ชลิต, 2551: 2-11)
 
๐ พลวัตประชาสังคมในชายแดนใต้
 
ชลิตพบว่าในช่วงแรก ลักษณะของการก่อตัวและดำรงอยู่ของกลุ่มประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีอยู่ 2 ลักษณะ กล่าวคือ ลักษณะแรก เป็นการรวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหวในประเด็นที่วางอยู่บนฐานของอัตลักษณ์ทางศาสนา และในลักษณะที่สอง กลุ่มประชาสังคมมีบทบาทประหนึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนในการเชื่อมโยงระหว่างรัฐกับประชาชน ด้วยฐานะที่เป็นตัวกระทำทางสังคม บทบาทดังกล่าวจึงเป็นการคานอำนาจกับรัฐเพื่อสร้างสมดุลทางอำนาจระหว่างรัฐและสังคม โดยการพยายามสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองในประเด็นที่เกี่ยวกับการจัดการสังคมของผู้คนในพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นการเคลื่อนไหวที่ตั้งอยู่ฐานของปัญหาร่วมกันของผู้คนในชุมชน อาทิเช่น ประเด็นด้านการจัดการทรัพยากร เป็นต้น ในอีกด้านหนึ่ง เป็นการรวมกลุ่มอาชีพของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งมีบทบาทในการเคลื่อนไหวไม่มากนัก เมื่อเทียบกับกลุ่มผลประโยชน์ที่เคลื่อนไหวผลักดันเพื่อให้ก่อเกิดนโยบายของรัฐตามที่ตนต้องการ
 
          จุดเปลี่ยนสำคัญของการเคลื่อนไหวในอาณาบริเวณประชาสังคมในพื้นที่คือเหตุการณ์ความรุนแรงที่ปะทุขึ้นในปี 2547 โดยหลายกลุ่มหันไปเน้นหนักการทำงานที่เกี่ยวข้องกับผลของความรุนแรง ได้แก่ งานเยียวยา งานช่วยเหลือและป้องกันเหตุร้าย เป็นต้น บางกลุ่มมีการปรับเปลี่ยนภารกิจหลักที่เน้นไว้ก่อนหน้านี้หันมาทำงานที่เกี่ยวข้องเหตุการณ์ความไม่สงบมากขึ้น
 
ในขณะเดียวกันก็พบว่าการจัดการของภาครัฐต่อปัญหาความไม่สงบก็ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มประชาสังคมและส่งผลอย่างสำคัญต่อปัญหาความไม่ไว้วางใจต่อเจ้าหน้าที่รัฐ กระนั้นก็ดี ความรุนแรงในพื้นที่ยังเป็นตัวเร่งเร้าให้มีการรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรทำงานภาคประชาสังคมเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่เป็นการจัดตั้งขึ้นจากแกนนำประชาชนในพื้นที่และการสนับสนุนหรือเข้ามามีบทบาทจากองค์กรต่างพื้นที่
 
          ในงานชิ้นเดียวกัน ชลิต ยังได้จำแนกแยกแยะข่ายงานของกลุ่มประชาสังคมในพื้นที่เพื่อประเมินภาพรวมเอาไว้ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
 
          กลุ่มแรก คือ องค์กรที่มาจากการจัดตั้งและดำเนินการโดยรัฐ ที่ชลิตมองเห็นว่าในเงื่อนไขของสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความรุนแรงเช่นนี้ การร่วมมือกันระหว่างรัฐและประชาชนก่อกลุ่มขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อภารกิจของภาครัฐในการยุติการก่อเหตุรุนแรงเป็นความจำเป็นของภาครัฐเอง ไม่ว่าจะเป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน กองอาสารักษาดินแดน หรืออาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน เป็นต้น
 
          อย่างไรก็ตาม ควรต้องตั้งข้อสังเกตไว้ว่า แม้ความใกล้ชิดกับรัฐจะเป็นสิ่งที่องค์กรประชาสังคมจำนวนไม่น้อยจัดวางแตกต่างกันและสามารถถกเถียงถึงท่าทีต่อรัฐที่ต่างระดับกันได้ แต่การเหมารวมเอาความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับ “การทหาร” ให้รวมอยู่ในอาณาบริเวณของประชาสังคมดังที่ชลิตทำนั้น ก็มีข้อกังขาไม่น้อย เพราะการนับรวมเอาพลเรือนที่ติดอาวุธให้เป็นหนึ่งในลักษณะขององค์กรประชาสังคมนั้นเป็นประเด็นถกเถียงร้อนแรงประเด็นหนึ่งของผู้สนใจศึกษาเกี่ยวกับประชาสังคม
 
แม้ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มกันในภาคสังคมเหมือนหลายองค์กรและอาจอยู่บนพื้นฐานของความสมัครใจเช่นเดียวกัน (หาใช่การถูกบังคับกะเกณฑ์เป็นทหารโดยตรงไม่) รวมทั้งยังมีเหตุผลรองรับในเรื่องการป้องกันตนเองก็ตาม แต่การใช้อาวุธหรือการมีฐานะเป็นกองกำลังเหล่านี้ก็วางอยู่บนการปฏิเสธหลักการของการไม่ใช้ความรุนแรงในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง อันเป็นรากฐานของการแสวงหาฉันทามติในระบอบประชาธิปไตย
 
              ในขณะเดียวกัน หากมองจากในมุมของกระบวนการสันติภาพแล้ว การดำรงอยู่ของพลเรือนติดอาวุธก็ดูจะสวนทางกับทิศทางในการสร้างวัฒนธรรมสันติภาพในสังคมนั้นๆ อีกด้วย แทนที่จะใช้อำนาจในการโน้มน้าวใจเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง กองกำลังพลเรือนติดอาวุธมีแนวโน้มจะสร้างวัฒนธรรมการเมืองที่วางอยู่บนการข่มขู่บังคับ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการทำความขัดแย้งให้สร้างสรรค์ดังที่บทบาทขององค์กรประชาสังคมควรจะเป็น  (กรุณาดูตอนที่ 2: ความชอบธรรม หลักประกันสันติภาพ และบทบาทที่ควรเป็น)
 
กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่จัดตั้งขึ้นมาโดยมีเป้าหมายเฉพาะตัว ทั้งที่ขึ้นและไม่ขึ้นอยู่กับการกำกับและจัดตั้งโดยองค์กรอื่นใด ซึ่งชลิตรวบรวมและจำแนกเอาไว้ตามภารกิจของแต่ละกลุ่ม ได้แก่ งานด้านสื่อมวลชน งานด้านศาสนา งานด้านสตรีและเยาวชน งานด้านการส่งเสริมวัฒนธรรม งานด้านสิทธิมนุษยชนและกระบวนการยุติธรรม งานด้านวิชาการ และงานด้านสิ่งแวดล้อมและที่ทำกิน
 
          ทั้งนี้ ชลิตยังได้ตั้งข้อสังเกตว่างานด้านสิทธิมนุษยชนและกระบวนการยุติธรรมดูจะเป็นกลุ่มที่โดดเด่นที่สุด เนื่องจากอาศัยความร่วมมือของกลุ่มองค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างพื้นที่ มีบางองค์กรที่ภารกิจหลักไม่ได้เน้นงานด้านนี้ก็มีการปรับตัวเพื่อรับมือกับภารกิจในงานด้านนี้เพิ่มเติม
 
กลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มที่แยกตัวออกมาจากเครือข่ายการทำงานเดิม ซึ่งในที่นี้ก็คือองค์กรที่เคยมีฐานอยู่ในเครือข่ายของกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (SIF) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ซึ่งมีลักษณะของการรวมตัวและแยกย้ายกันไปจัดตั้งองค์กรใหม่ตามขอบเขตงานของตนเอง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นผลมาจากการแนวโน้มที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา
 
โดยภาพรวมแล้ว ชลิต เห็นว่า นอกจากกลุ่มประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะยังคงทำงานภายใต้ข้อจำกัดของสถานการณ์ความรุนแรงแล้ว พวกเขายังคงจำกัดบทบาทของตนเองไว้เฉพาะในขอบข่ายงานที่มุ่งตอบปัญหาเฉพาะด้านมากกว่าการพัฒนาโครงสร้างประชาสังคมที่เป็นเครือข่ายรองรับปัญหาด้านต่างๆ รวมถึงมีกรอบและแนวทางการทำงานที่แตกต่างกัน จึงยากที่จะสร้างความร่วมมือในการผลักดันประเด็นวาระต่างๆ ได้
 
นอกจากนี้แล้ว อุปสรรคอีกประการที่ทำให้การทำงานในลักษณะเครือข่ายเป็นไปได้น้อยก็คือความแตกต่างทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ในขณะที่การทำงานในลักษณะ “เครือข่าย” นั้นยังเรียกได้ว่ามีอยู่น้อยมาก ในแง่นี้แล้ว การพัฒนาประชาธิปไตยในพื้นที่จึงประสบกับอุปสรรคไม่น้อย
 
กระนั้นก็ตาม ข้อสรุปของชลิตอาจเป็นเรื่องที่รวบรัดเกินไป ดังจะได้เห็นว่าการพิจารณาพลวัตของกลุ่มประชาสังคมของเขานั้นตกอยู่ภายใต้กรอบการมองในแบบนักบูรพาคดีที่อาจละเลยความเปลี่ยนแปลงและบทบาทการต่อรองภายในสังคมของกลุ่มประชาสังคมต่างๆ ความสามารถจะเข้าใจการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงไม่อาจละเลยการมองให้เห็นภาพรวมของการรวมกลุ่มในพื้นที่นอกรัฐเช่นนี้อย่างเป็นพลวัต (กรุณาดูตอนที่ 1: ทำความเข้าใจไอเดีย “ประชาสังคม” ในต่างบริบท) และด้วยเหตุนี้ ความพยายามในการพัฒนาแผนผังองค์กรประชาสังคมจึงอาจเป็นฐานในการพิจารณาภาพของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ด้วยเช่นกัน (กรุณาดูตอนที่ 3: เปิดแผนผัง CSOs ชายแดนใต้)
 
๐ ทบทวนข้อจำกัด
 
หากมองจากในแง่ของความเป็นไปได้และศักยภาพของประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อกระบวนการสร้างสันติภาพแล้ว แม้ว่าจะยังไม่มีงานวิจัยที่พยายามประเมินประเด็นดังกล่าวโดยตรง แต่ก็พบว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมามีการพยายามพูดคุยถกเถียงในประเด็นดังกล่าวอยู่เป็นระยะ เอกสารสรุปการประชุมสัมมนาครั้งหนึ่งที่จัดขึ้นในปี 2552 ได้บันทึกคำกล่าวปาฐกถาและประเด็นแลกเปลี่ยนเพื่อประเมินภาพรวมของบทบาทกลุ่มประชาสังคมในพื้นที่ต่อกระบวนการสันติภาพ (ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง และ ฯลฯ, 2552) ไว้อย่างน่าสนใจ
 
          ในบริบทของความขัดแย้งชายแดนภาคใต้ มารค ตามไท ได้ชี้ให้เห็นว่า ความเข้าใจต่อกระบวนการสันติภาพของกลุ่มประชาสังคมนั้นมีข้อจำกัดสำคัญตรงที่ไม่สามารถแสดงความสัมพันธ์ระหว่างมาตรการที่มีการเสนอกันอย่างหลากหลายหรือที่มีปฏิบัติการในหลายรูปแบบได้ ในขณะเดียวกันก็ยังมีข้อจำกัดในการเข้าใจเป้าหมายสุดท้ายของกระบวนการสันติภาพ ที่จริงๆ แล้วอยู่บนโจทย์สำคัญที่ว่าผู้คนจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร หรือในอีกแง่หนึ่งก็คือความเข้าใจที่ว่ากระบวนการสันติภาพนั้นคือกระบวนการในการออกแบบสังคมที่พึงปรารถนานั่นเอง
 
ด้วยเหตุนี้ นอกจากจะมีความจำเป็นที่ต้องมองให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมาตรการต่างๆ แล้ว ยังจำเป็นที่จะต้องมองภาพใหญ่ให้ออกด้วยเช่นกัน
 
มารคประเมินลักษณะทั่วไปของงานภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกเป็น 2 รูปแบบหลักๆ ได้แก่ รูปแบบแรก คือ งานที่มาจากการวางแผน ซึ่งเกิดขึ้นจากการคิดหรือประชุมร่วมกันก่อนที่จะลงมือทำงาน ในขณะที่อีกรูปแบบหนึ่ง คือ งานที่ทำโดยไม่ได้วางแผน หากแต่เป็นปฏิกิริยาโดยตรงต่อเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่กลุ่มประชาสังคมเข้าไปลงมือทำงานอย่างกะทันหัน โดยมุ่งหวังให้เปลี่ยนทิศทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรง ลักษณะงานทั้งสองรูปแบบเหล่านี้ในความเห็นของเขาต่างก็มีความสำคัญเท่ากันทั้งคู่
 
นอกจากนี้ มารคยังชี้ให้เห็นด้วยว่าเราสามารถจะเข้าใจงานของภาคประชาสังคมโดยมุ่งพิจารณาท่าทีขององค์กรประชาสังคมที่มีต่อรัฐ กล่าวคือ ในด้านแรก การทำงานของกลุ่มประชาสังคมอาจเข้าร่วมกับโครงการของรัฐหรือไม่ก็มีอิทธิพลต่อโครงการของรัฐ ในอีกด้านหนึ่งคือการทำงานที่เกิดจากการริเริ่มแก้ปัญหาเองโดยไม่สนใจโครงการหรือนโยบายของรัฐ ซึ่งก็ยังคงความสำคัญในภาพรวมด้วยกันทั้งคู่เช่นกัน
 
มารคยังได้แจกแจงให้เห็นประเด็นอุปสรรคที่กลุ่มประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องเผชิญในการทำงานสร้างสันติภาพ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประการ ได้แก่
 
ประการแรก การประสานงานระหว่างกลุ่มที่มีเป้าหมายระยะยาวเหมือนกัน แต่มีเป้าหมายระยะสั้นต่างกัน ซึ่งในบางกรณีนั้นเป้าหมายระยะยาวและระยะสั้นนั้นสวนทางกัน กล่าวคือ การทำงานของกลุ่มหนึ่งอาจไปลบความคืบหน้าของอีกกลุ่มหนึ่ง ดังกรณีตัวอย่างที่มักพบโดยทั่วไปในพื้นที่ความขัดแย้ง คือ ความไม่ลงรอยกันระหว่างกลุ่มทีทำงานด้านปกป้องสิทธิมนุษยชนกับกลุ่มที่ทำงานด้านการพูดคุยเจรจาเพื่อสันติภาพ เนื่องจากในขณะที่กลุ่มแรกมุ่งการเปิดโปงและประณามการใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด แต่ก็ทำให้การพูดคุยเพื่อสันติภาพเป็นไปได้ยาก เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวจำเป็นต้องมีการเปิดช่องพูดคุยกับผู้ที่ใช้ความรุนแรง
 
มารคเสนอว่าการจัดการกับความไม่ลงรอยดังกล่าวสามารถทำโดยการทบทวนแนวคิดที่ว่าความยุติธรรมนั้นไม่สามารถแยกขาดจากสันติภาพได้ สิ่งที่จะผสานให้ไปได้ด้วยกันนั้นควรมุ่งพิจารณาถึงการประสานจังหวะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อกลุ่มประชาสังคมที่มีแนวทางการทำงานแตกต่างกันจะต้องมีการประสานงานและร่วมกันคิดร่วมกันทำเพื่อก่อกลไกที่จะสามารถทำงานร่วมกันได้
 
ประการที่สอง การประสานงานระหว่างกลุ่มที่มีเป้าหมายระยะยาวต่างกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าในอาณาบริเวณของประชาสังคมนั้นก็มีความหลากหลายทั้งในแง่ของเป้าหมายและวิธีการทำงาน กลุ่มประชาสังคมที่เห็นด้วยกับสันติวิธีนั้นอาจจะมีอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ก็อาจจะมีบางกลุ่มที่สนับสนุนการใช้กำลังเข้าแก้ปัญหาด้วยเช่นกัน ปัญหาที่ท้าทายก็คือในการแก้ปัญหาระยะยาวนั้น จะทำเช่นไรที่จะสามารถรวบรวมเอากลุ่มที่เห็นแตกต่างกันและไม่ประสงค์จะทำงานร่วมกันอยู่แต่เดิมเข้าไว้ด้วยกันให้ได้
 
ประการที่สาม การประสานงานระหว่างภาคประชาสังคมในพื้นที่กับภาคประชาสังคมที่มาจากนอกพื้นที่ แม้ว่าจะมีกลุ่มจากนอกพื้นที่จะเข้ามาทำงานในพื้นที่ทั้งโดยตรงหรือสนับสนุนกลุ่มในพื้นที่ แต่กระนั้นในบางสภาวะก็อาจประสบกับปัญหาที่ไม่ส่งผลดีต่อกระบวนการสันติภาพโดยรวม ดังนั้น การเคลื่อนไหวระหว่างกลุ่มประชาสังคมที่อยู่ในพื้นที่ความรุนแรงกับกลุ่มที่อยู่นอกพื้นที่จึงต้องพิจารณาตามความเหมาะสมของจังหวะเวลาอย่างเคร่งครัด
 
การสนับสนุนจากข้างนอกควรจะต้องประเมินอยู่ตลอดเวลาว่าบทบาทหน้าที่ของตนเองควรจะรุกหรือถอนออกจากพื้นที่ในจังหวะเวลาใด ในขณะเดียวกันก็ยังมีงานสนับสนุนบางอย่างที่สามารถผลักดันนอกพื้นที่ความรุนแรงได้ และยังส่งผลทำให้การเคลื่อนไหวของกลุ่มในพื้นที่หนักแน่นและมีพลังมากยิ่งขึ้นด้วย
 
ประการที่สี่ อิทธิพลของแหล่งทุน แน่นอนว่าแหล่งทุนจากภายนอกมีความจำเป็นสำหรับการทำงานในอาณาบริเวณนอกภาครัฐเช่นในพื้นที่ของภาคประชาสังคม แต่กระนั้นก็อาจสร้างอุปสรรคในการทำงานไปพร้อมๆ กับการสร้างแรงสนับสนุน ปัญหาที่โดดเด่น ได้แก่ การกำหนดลักษณะงานผ่านการให้ทุน โดยที่ในบางกรณีอาจเป็นลักษณะงานที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ในขณะเดียวกัน ข้อกำหนดอย่างการเขียนรายงานก็อาจเบี่ยงเบนจุดสนใจของกลุ่มประชาสังคมที่รับเงินทุนไปจากเป้าหมายสูงสุดที่ได้วางไว้มาเป็นการทุ่มเทพลังมาทำรายงานเพื่อตอบสนองต่อขั้นตอนการตรวจสอบของแหล่งทุน
 
แนวทางที่ควรจะเป็นก็คือการเพิ่มการสื่อสารระหว่างแหล่งทุนกับคนทำงานในพื้นที่ พร้อมกับการที่แหล่งทุนมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะปรับตัวตามสภาพความเป็นจริง
 
อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตของมารคและชลิตนั้น แม้ว่าจะสามารถให้ภาพทั้งในแง่ของการก่อตัว พัฒนาการ ตลอดจนบทบาทสำคัญในมิติต่างๆ ของกลุ่มประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่กระนั้น ด้วยความที่เป็นการรวมตัวของคนทำงานที่หลากหลายและอยู่ในท่ามกลางบริบทของความรุนแรง การเปลี่ยนแปลงแนวทางการทำงานของกลุ่มองค์กรเหล่านี้ ตลอดจนการก่อตัวกำเนิดกลุ่มใหม่ๆ จึงดำรงอยู่อย่างมีพลวัต
 
๐ บทบาทและศักยภาพ
 
          หากนักคิดหญิงชาวเยอรมันคนสำคัญอย่างฮันนาห์ อาเรนท์ (Hannah Arendt) กล่าวไม่ผิดไปมากนักว่า อำนาจ (power) นั้นแตกต่างไปจากกำลัง (force) ความแข็งแกร่ง (strength) สิทธิอำนาจ (authority) และความรุนแรง (violence) ก็เมื่อพิจารณาว่าอำนาจนั้นเผยตัวเมื่อประชาชนรวมตัวกันหรือทำอะไรบางอย่างร่วมกัน และดำรงอยู่กระทั่งว่าการรวมตัวนั้นสลายตัวไป (“ไร้ซึ่งประชาชนหรือกลุ่ม ก็ไร้ซึ่งอำนาจ”) ในขณะที่กำลัง ความแข็งแกร่ง และสิทธิอำนาจนั้น ผูกพันแนบแน่นกับความรุนแรงอย่างใกล้ชิด (Arendt, 1970: 43-46)
 
อาเรนท์ มองว่า ความรุนแรงโดยตัวมันเองนั้นหาได้เป็นที่มาของอำนาจไม่ หากแต่เป็นเพียงเครื่องมือที่นำไปสู่เป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ความรุนแรงจึงจำต้องมีการสร้างเหตุผลรองรับการกระทำเสมอ ในแง่นี้แล้ว การใช้ความรุนแรงจึงเป็นคนละเรื่องกับการมีหรือใช้อำนาจ ด้วยกรอบการมองเช่นนี้ เราจึงสามารถพิจารณาศักยภาพและอำนาจต่อรองของกลุ่มประชาชนที่รวมตัวกันทำงานในอาณาบริเวณของประชาสังคมและไม่ใช้ความรุนแรงและการบังคับฝืนใจได้เป็นอย่างดี
 
          คำถามที่น่าสนใจก็คือว่าในท่ามกลางความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นมาเป็นเวลาหลายปีเช่นนี้ เราจะสามารถพิจารณาบทบาทของกลุ่มประชาสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้ ในฐานะที่เป็น “พื้นที่กลาง” ระหว่างผู้ใช้กำลังบังคับทั้งสองฝ่าย ตลอดจนสามารถพิจารณาอำนาจต่อรองในมือของของพวกเขาได้อย่างไรบ้าง สิ่งเหล่านี้สัมพันธ์กับลักษณะการทำงานในภาพรวม ตลอดจนการวิเคราะห์โอกาสและอุปสรรคที่พวกเขาจะมีบทบาทในกระบวนการสร้างสันติภาพ ซึ่งรวมถึงการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งและการพยายามผลักดันรูปแบบของสังคมของตนเองที่พึงปรารถนาอีกด้วย
 
กระบวนการในการศึกษาในงานวิจัยชิ้นนี้ที่มีทั้งการทบทวนวรรณกรรมและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง การเข้าร่วมสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วมผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มประชาสังคม การสัมภาษณ์ ตลอดจนจัดวงสนทนากลุ่ม ที่ระดมความคิดเห็นในการประเมินบทบาทของกลุ่มประชาสังคม ชี้จุดอ่อนและจุดแข็ง ตลอดจนโอกาสและอุปสรรคขัดขวางในการสร้างอำนาจต่อรองของตัวแสดงดังกล่าวในพื้นที่ จึงทำให้สามารถแจกแจงลักษณะการทำงานของกลุ่มประชาสังคมชายแดนภาคใต้ได้ ดังต่อไปนี้
 
ประการแรก ลักษณะโครงสร้างของสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงมีส่วนกำหนดบทบาทของตัวแสดงอันหลากหลายและสะท้อนภาพของสนามการต่อสู้เพื่ออำนาจหรือสัมพันธภาพทางอำนาจในสังคมชายแดนใต้ได้เป็นอย่างดี การวิเคราะห์ “สนาม” ดังกล่าว ทำให้มีความเป็นไปได้ที่เราจะพิจารณาบทบาทของตัวแสดงต่างๆ ในสนามเหล่านี้เพื่อหาทางจัดการกับความขัดแย้ง
 
ความขัดแย้งดังกล่าวมีคู่ขัดแย้งหลักเป็นตัวแสดงจากสองฝ่าย คือ รัฐไทยและขบวนการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาตานี ส่วนตัวแสดงที่นอกเหนือไปจากการชี้นำของคู่ขัดแย้งหลักนี้เป็นส่วนประกอบสำคัญในการต่อสู้เพื่อแย่งชิงทรัพยากรแห่งอำนาจด้วยเช่นกัน ดังที่จะสามารถพิจารณาเป็นแผนภาพรูปปิรามิด (กรุณาดูแผนภาพที่ 1) ที่มีรัฐและฝ่ายขบวนการฯ อยู่ตรงยอด ในฐานะที่เป็นตัวแสดงที่มีมีอิทธิพลต่อการชี้นำทิศทางของสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ตัวแสดงดังกล่าวต่อรองกันโดยเน้นไปที่การใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ
 
แผนภาพที่ 1: โครงสร้างของสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้ง
 
 
 
ขณะที่ “องค์กรประชาสังคม” ในที่นี้มีความหมายถึงกลุ่มหรือองค์กรที่มีการจัดตั้งขึ้นมาทำงานในลักษณะการเชื่อมประสานและผลักดันวาระการเมืองและนโยบายต่างๆ ในพื้นที่สนามทางการเมืองต่างๆ ส่วนในระดับฐานของปิรามิด ได้แก่ กลุ่มประชาชนรากหญ้าที่มีทั้งการปฏิสัมพันธ์ในชีวิตประจำวันและยึดโยงผ่านการรวมกลุ่มขององค์กรทางสังคมต่างๆ ที่ไม่ได้เป็นองค์กรภาครัฐ
 
ในโครงสร้างระดับฐานของปิรามิดนี่เองที่สามารถแจกแจงแยกย่อยเป็นโครงสร้างสัมพันธภาพในระดับจุลภาคอีกระบบหนึ่ง ซึ่งพิจารณาเฉพาะในส่วนของชนกลุ่มใหญ่ในพื้นที่ (มลายูมุสลิม) น่าสังเกตว่าโครงสร้างของสองสนามนี้ทับซ้อนกันอย่างลึกซึ้งละเอียดอ่อนอยู่ “ภายใน” ของสังคมมลายูมุสลิมในแบบที่คนนอกจะมองไม่ใคร่เห็นหรือเห็นแต่ไม่ตระหนักรู้ แต่คนในจะรู้ซึ้งดีถึงพลังตามธรรมชาติและพลวัตของมัน
 
โครงสร้างสนามระดับจุลภาคในระดับรากหญ้านี้สำแดงตัวเป็นความสัมพันธ์ในรูปปิรามิดอีกชุดหนึ่ง ที่สามารถอธิบายขยายความได้ว่ามีมัสยิดเป็นฐานล่างสุดและกว้างขวางที่สุดในทุกหย่อมหญ้า ในฐานะที่เป็นองค์กรที่มีบทบาททางสังคมวัฒนธรรมเป็นอย่างสูง ในขณะที่สถาบันทางสังคมวัฒนธรรมอื่นๆ จะถูกวางเรียงต่อกันเป็นชั้นๆ รองรับสลับไขว้กันไป เริ่มตั้งแต่โรงเรียนตาดีกา โรงเรียนปอเนาะ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา เป็นต้น
 
การเกาะกลุ่มและเครือข่ายทางสถาบันแบบเก่าดังกล่าวนี้จะสัมพันธ์กันและผูกพันกับวิถีชีวิตของประชาชนในสังคมมลายูมุสลิมระดับรากหญ้าในแทบจะทุกมิติของชีวิต เนื่องจากเป็นองค์กรที่บ่มเพาะพลเมืองคนรุ่นใหม่เป็นส่วนใหญ่และอาจจะถือได้ว่าเป็นองค์กรที่สะสม “ทุนทางสังคม” (social capital) ไว้ในระดับสูงที่สุด โครงสร้างในระดับจุลภาคเช่นนี้เป็นสนามพลังระดับรากหญ้าที่กว้างใหญ่ที่สุดและมีอำนาจอิทธิพลที่สุดในสังคมและชุมชนมลายูมุสลิมในชนบท
 
การพิจารณาตัวแสดงประชาสังคมในที่นี้จึงไม่ได้สนใจเฉพาะบทบาทของกลุ่มที่อยู่ตรงส่วนยอดของโครงสร้างสนามความสัมพันธ์ในในปิรามิดแรก ซึ่งเป็นฝ่ายที่มักจะมีบทบาททางการเมืองในเวทีที่เปิดเผยและถูก “มองเห็น” จากทุกฝ่ายจากภายนอก (ซึ่งแน่นอนว่า สำหรับฝ่ายขบวนการฯ แล้ว ความสามารถที่จะ “มองเห็น” พวกเขายังคงเป็นเรื่องที่สามารถถกเถียงได้อีกไม่น้อย) หากแต่สนใจบทบาทของกลุ่มองค์กรประชาสังคมที่อยู่ตรงกลางและการรวมกลุ่มของประชาชนในระดับรากหญ้า ที่แม้ว่าจะไม่อาจปฏิเสธได้ว่าล้วนแล้วแต่มีปฏิสัมพันธ์กับส่วนยอดของปิรามิดทั้งสองขั้ว (รัฐหรือขบวนการฯ) ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่บทบาทของกลุ่มในระดับกลางและในระดับฐานนั้นมีลักษณะพิเศษที่ยึดโยงอยู่กับสังคมรากหญ้าหรือคนส่วนข้างมากในสังคมมุสลิมส่วนใหญ่
 
ด้วยเหตุนี้ฐานรองรับความชอบธรรมของตัวแสดงเหล่านี้จึงแตกต่างกับตัวแสดงในส่วนยอดของปิรามิดอย่างมีนัยสำคัญต่อการแสดงบทบาทในกระบวนการสร้างสันติภาพ เพราะพวกเขามีความผูกพันกับอัตลักษณ์ทางสังคมวัฒนธรรมของท้องถิ่น การจำแนกประเภทของกลุ่มประชาสังคมดังที่แผนผังองค์กรประชาสังคม (กรุณาคลิกดูแผนผังดังกล่าว) จึงมุ่งพิจารณาบทบาทของกลุ่มประชาสังคมและองค์กรชุมชนที่เป็นตัวแสดงสำคัญในสองระดับดังกล่าวเป็นด้านหลัก
 
อย่างไรก็ตาม ในการระดมความเห็นของผู้ปฏิบัติงานบางส่วนเพื่อประเมินบทบาทและเครือข่ายความสัมพันธ์ในองค์กรประชาสังคมในพื้นที่ พบข้อสังเกตว่าองค์กรประชาสังคมในระดับกลางกับกลุ่มประชาชนรากหญ้ายังไม่มีกลไกที่เข้มแข็งในระดับที่เพียงพอต่อการสร้างวาระร่วมในการเคลื่อนไหวผลักดันบางประการ อาทิเช่น ข้อเสนอการทบทวนการใช้กำลังทหาร การยกเลิกกฎหมายพิเศษ การละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น แต่ทว่าบทบาทหลักยังอยู่ที่กลไกภาคประชาสังคมในปิรามิดระดับกลางซึ่งมักเป็นกลุ่มที่เป็นชนชั้นกลางและมีการศึกษาในระบบ
 
แต่ในขณะเดียวกัน สายสัมพันธ์ในระดับประชาชนรากหญ้าหรือแกนนำฝ่ายวัฒนธรรมที่เกาะเกี่ยวกันผ่านองค์กรที่แสดงในปิรามิดที่สองก็เรียกได้ว่ามีความเข้มแข็งเหนียวแน่นอย่างมากและน่าจะเป็นส่วนฐานล่างที่มีความเข้มแข็งมากกว่าโครงสร้างปิรามิดในส่วนอื่นๆ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างปิรามิดสองระดับในเชิงองค์กรและเครือข่ายสัมพันธภาพในการทำงานร่วมกันยังไม่มีความชัดเจนมากนัก
 
อาจจะกล่าวได้ว่าสัมพันธภาพระหว่างองค์กรประชาสังคมระดับกลางและที่ทำงานเปิดเผยอยู่ภายนอกกับปิรามิดในระดับรากหญ้าอันเป็นสนามที่แท้จริงของสังคมท้องถิ่นมลายูมุสลิมยังไม่สายสัมพันธ์ที่เข้มแข็งมากนัก ทั้งที่ต้นทุนทางสังคมที่ยึดโยงอยู่กับอัตลักษณ์ร่วมไม่ว่าจะเป็นศาสนา ภาษา และวัฒนธรรมเกาะเกี่ยวอย่างแนบแน่นกับโครงสร้างระดับล่างมากกว่า
 
แต่กระนั้น บทบาทของของตัวแสดงในระดับรากหญ้าเองก็ประสบกับข้อจำกัดในการผลักดันวาระของตนสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง เนื่องจากขาดการเชื่อมต่อกันในระดับเครือข่ายกับกลุ่มข้างบนเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง ซ้ำร้ายกลุ่มผู้นำศาสนาเหล่านี้กลับตกเป็นเป้าหมายที่รัฐจับตามองความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะจากฝ่ายทหารที่เกาะติดตาม เฝ้าระวัง และดูเหมือนจะคุกคามกลุ่มคนเหล่านี้อยู่ไม่น้อย ด้วยเหตุที่พิจารณาเหมารวมว่าต้นทุนทางสังคมของกลุ่มดังกล่าวนั้นสอดคล้องหรือ “อาจจะ” มีส่วนสนับสนุนการใช้ความรุนแรงเข้าต่อต้านรัฐ
 
ประการที่สอง การรวมกลุ่มในภาคประชาสังคมในพื้นที่มีความชอบธรรมสูง เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงส่วนใหญ่คือประชาชนคนสามัญ ทั้งยังได้รับผลกระทบจากความรุนแรงที่มาจากฝ่ายต่างๆ อย่างถ้วนทั่ว ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ประชาชนจึงมีความชอบธรรมสูงในการลุกขึ้นมารวมกลุ่มเพื่อแสดงบทบาทในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง หรืออย่างน้อยก็รับมือกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในท่ามกลางสภาวะที่กลไกของรัฐ (หรือในอีกด้านก็คือฝ่ายต่อต้านรัฐ) ไม่มีความสามารถจะทำหน้าที่พื้นฐานเหล่านั้นได้
 
นอกจากนี้ ความชอบธรรมของกลุ่มประชาสังคมยังมีที่มาจากการแสดงบทบาทในพื้นที่สาธารณะอย่างเปิดเผยและด้วยวิธีการที่ไม่ใช้ความรุนแรง หากกล่าวในอีกทางหนึ่งก็คือ อำนาจที่มีความชอบธรรมของกลุ่มประชาสังคมเหล่านี้วางอยู่บนพื้นฐานของการรวมกลุ่มกันกระทำการโดยสมัครใจและไม่ได้ใช้การบังคับขู่เข็ญเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นรากฐานที่รองรับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับคู่ขัดแย้งหลัก ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือฝ่ายต่อต้านรัฐ
 
ประการที่สาม ด้วยสัดส่วนของประชากรที่มีมลายูมุสลิมเป็นชนกลุ่มใหญ่ในพื้นที่ ทำให้องค์กรประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีลักษณะที่แตกต่างไปจากพื้นที่อื่นของประเทศ เนื่องจากกิจกรรมทางสังคมในแทบทุกมิติของผู้คนส่วนใหญ่จะผูกพันอยู่บนจารีตวัฒนธรรมมลายูและหลักการของศาสนาอิสลาม แม้ว่าจะมีความมากน้อยแตกต่างกัน แต่ก็ทำให้ปฏิบัติการต่างๆ ขององค์กรประชาสังคมไม่อาจละเลยความสำคัญของหลักการที่กำกับการกระทำในชีวิตประจำวันของผู้คนส่วนใหญ่ในพื้นที่
 
ลักษณะดังกล่าวมีด้านที่ส่งผลบวกต่อกระบวนการสันติภาพในแง่ที่ว่าค่านิยมบางอย่างที่เป็นสาระในหลักการศาสนาหรือในคติของวัฒนธรรมมลายูนั้นสามารถสร้างช่องทางที่เปิดเอื้อหรือรองรับวัฒนธรรมเพื่อสันติภาพได้เช่นกัน ทว่าในทางกลับกัน การตีความที่แตกต่างและการยึดมั่นถือมั่นในความเป็นกลุ่มก้อนเหล่านี้ในบางลักษณะก็อาจส่งผลให้มีตัดสายสัมพันธ์ระหว่างผู้คนได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น การตีความทางศาสนาในแบบที่ต่างกัน ประเด็นหลังนี้ถือเป็นด้านที่อาจเป็นข้อจำกัดต่อกระบวนการสันติภาพก็เป็นได้
 
ประการที่สี่ องค์กรประชาสังคมในพื้นที่มีกรอบการมองปัญหาที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่สัมพันธ์และนำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาที่ต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยังอาจส่งผลให้ความเป็นไปได้ในการทำงานในลักษณะเครือข่ายลดน้อยลง การยึดติดเพียงภารกิจหลักของกลุ่มของตนเองจนมีลักษณะจมอยู่กับงานที่กลุ่มของตนเองรับผิดชอบและละเลยการแสวงหาความร่วมมือจากกลุ่มอื่นๆ ข้อจำกัดในลักษณะนี้ ในด้านหนึ่งยังมีผลทำให้การขับเคลื่อนผลักดันวาระของตนเองส่งผลสะเทือนต่อการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ในขณะเดียวกัน ยังนำมาสู่การวางน้ำหนักและเรียงลำดับความสำคัญของกิจกรรมที่นำไปสู่เป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวแตกต่างกัน
 
กรอบการมองปัญหาที่แตกต่างกันมีหลายแง่มุม อาทิเช่น บางกลุ่มวางน้ำหนักการมองปัญหาความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นเป็นความรุนแรงว่าเป็นการเผยตัวของอาการความไม่ลงรอยกันในความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างศูนย์กลางรัฐไทยและชายขอบ โดยมีสาระสำคัญที่ขัดแย้งกันทั้งในมิติของชาติพันธุ์ ศาสนา และประวัติศาสตร์ แต่บางกลุ่มให้น้ำหนักของปัญหาไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและประชาชนที่ฝ่ายหลังไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการจัดการปัญหาของรัฐเอง ตลอดจนความอ่อนด้อยของรัฐในการอำนวยความยุติธรรม
 
จุดเน้นที่แตกต่างกันนำมาสู่แนวทางการทำงานเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ให้ความสำคัญแตกต่างกัน กล่าวคือ ฝ่ายแรกอาจเน้นไปที่ความพยายามปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ผ่านการพิจารณาโครงสร้างทางการเมืองการปกครองชนิดใหม่ โดยผ่านวิธีการพูดคุยเพื่อสันติภาพและเจรจาต่อรองของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่ฝ่ายหลังมุ่งเปิดโปงและตั้งคำถามต่อรัฐ สนับสนุนให้ชาวบ้านผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมต่อสู้ผ่านกระบวนการยุติธรรม พร้อมทั้งเรียกร้องให้กระบวนการยุติธรรมทำงานตามหลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัด
 
ประเด็นการต่อสู้ทางวาทกรรมในเรื่องข้อเสนอการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ หรือเขตปกครองพิเศษ สันติสนทนาและการเจรจาเพื่อสันติภาพกับฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงทุกฝ่าย และประเด็นปัญหาเรื่องความยุติธรรมจึงโดดเด่นขึ้นมา แต่กระจัดกระจายไปในการต่อสู้และเคลื่อนไหวในสนามการต่อสู้เหล่านี้
 
แต่ทว่ากรอบการมองที่แตกต่างกันดังกล่าวนี้ยังมีส่วนไม่มากก็น้อยที่เป็นผลมาจากความสามารถในการพิจารณาเกี่ยวกับ “ผู้ใช้ความรุนแรง” ในระดับที่แตกต่างกัน กล่าวคือ บางกลุ่มอาจมองเห็นว่าผู้ใช้ความรุนแรงนั้นมีทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ (ทั้งที่มีและไม่มีกฎหมายรองรับ) และฝ่ายต่อต้านรัฐที่มุ่งกระทำการอย่างเป็นระบบเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองบางประการ ในขณะที่บางกลุ่มไม่ได้ให้น้ำหนักกับฝ่ายหลังมากนัก หากแต่มุ่งพิจารณาเฉพาะผู้ใช้ความรุนแรงที่เป็นฝ่ายรัฐเท่านั้น
 
หรือบางกลุ่มก็พิจารณากลุ่มก่อเหตุความรุนแรงในฐานะการใช้ความรุนแรงที่ไม่มีการจัดตั้ง ขบวนการชาวนา หรือในระดับที่เป็นอาชญากรรมเกี่ยวกับยาเสพติดหรืออิทธิพลเถื่อน การมองไม่เห็นคู่ขัดแย้งอย่างแจ่มชัดเช่นนี้ทำให้ความเป็นไปได้ที่จะผลักดันยุทธศาสตร์กระบวนการสันติภาพลดน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยเพื่อสันติภาพหรือสันติสนทนา การเจรจาเพื่อสันติภาพ หรือปฏิบัติการอื่นที่เกี่ยวข้อง อันเป็นการมุ่งแก้ปัญหาความขัดแย้งในภาพใหญ่ ตลอดจนขาดการเน้นหนักไปที่งานสร้างความพร้อมสำหรับกระบวนการสันติภาพให้แก่กลุ่มคนเป้าหมายในพื้นที่ ถึงจะมีก็ดำเนินการอยู่บ้าง แต่ก็อยู่ภายใต้สภาวะที่ยากลำบาก อันเนื่องมาจากความเข้าใจต่อกระบวนการที่ไม่ตรงกันนั่นเอง ทั้งนี้ก็เพราะว่ากระบวนการสร้างสันติภาพนั้นไม่สามารถเพิกเฉยหรือหลีกเลี่ยงการเข้ามาพัวพันในกระบวนการของทุกฟากฝ่ายไปได้
 
อย่างไรก็ตาม ลักษณะการมองที่ต่างระดับดังที่กล่าวมานี้อาจเป็นผลมาจากลักษณะเฉพาะของความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยที่มีลักษณะพิเศษต่างจากที่อื่นๆ หลายแห่งในโลกที่ฝ่ายขบวนการต่อต้านรัฐซึ่งมีอิทธิพลด้านลึกในพื้นที่ไม่ได้เผยตัวเองและข้อเรียกร้องของตนเองอย่างกว้างขวางด้วยเช่นกัน การอภิปรายปรากฏการณ์นี้อาจมีอยู่หลายวิธี หนึ่งในนั้นคือการขาดการให้น้ำหนักต่อแนวทางการเมืองอย่างเพียงพอ จนทำให้ขาดแคลนกลไกในการเคลื่อนไหวที่เพียงพอต่อการโน้มน้าวแรงสนับสนุนข้อเรียกร้องของฝ่ายตนในวงกว้าง
 
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหลายประการที่ทำให้กรอบการมองปัญหาความขัดแย้งแตกต่างกัน อาทิเช่น ลักษณะความสัมพันธ์กับรัฐ ที่บางกลุ่มอาจมีท่าทีที่ทำงานร่วมกับภาครัฐอย่างใกล้ชิด แต่อีกกลุ่มอาจวางระยะห่างจากรัฐให้อยู่ไกลออกมา ในขณะที่ปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการรวมกลุ่มโดยอ้างอิงกับอัตลักษณ์บางประการ ไม่ว่าจะเป็นภาษาหรือศาสนาก็มีส่วนทำให้ทัศนะในการมองปัญหาแตกต่างกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ดำรงอยู่อย่างแหลมคมและอ่อนไหวต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นรายรอบ เป็นต้น
 
กระนั้นก็ตาม ความแตกต่างของกรอบการมองปัญหานั้นอาจเป็นคนละเรื่องกับความหลากหลายในแง่ของการวางบทบาทและแนวทางการทำงานขององค์กรประชาสังคมแต่ละกลุ่ม เพราะความหลากหลายดังกล่าวนี่เองที่ถือเป็นจุดแข็งสำคัญของประชาสังคมที่จะสามารถสะท้อนเสียงและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ตรงกลางได้อย่างรอบด้าน
 
แต่ทั้งนี้ หากในภาคประชาสังคมมีการมองปัญหาในกรอบการมองที่ใกล้เคียงกันแล้ว ความเป็นไปได้ในการสร้างเครือข่ายและพื้นที่ทางการเมืองในสถานการณ์ความขัดแย้งจะสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การสร้างอำนาจต่อรองของกลุ่มประชาสังคมต่อทุกฝ่าย แม้ว่าในแต่ละเครือข่ายจะมีกลุ่มหรือองค์กรที่มีภารกิจหลักแตกต่างกันก็ตาม
 
บางที ความเป็นเอกภาพของภาคประชาสังคมที่หลายกลุ่มเรียกร้องต้องการนั้น อาจไม่ใช่เพียงแต่การคิดเหมือนกัน มองเหมือนกัน หรือแม้แต่มีปฏิบัติร่วมกันอยู่เสมอ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคงเป็นไปไม่ได้ หากแต่อาจหมายถึงการรักษาสมดุลระหว่างการวิเคราะห์รากฐานของปัญหาในมุมมองที่ใกล้เคียงกันซึ่งนำไปสู่การวางทิศทางและยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาร่วมกัน กับอีกด้านหนึ่งคือการคงไว้ซึ่งภารกิจของแต่ละกลุ่มที่แตกต่างหลากหลายไว้นั่นเอง
 
ประการที่ห้า ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรประชาสังคมในพื้นที่กับรัฐมีพลวัตแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบทบาทของรัฐและการแสวงหาทางเลือกในการทำกิจกรรมขององค์กรประชาสังคมกลุ่มต่างๆ นอกจากนี้ยังสามารถพิจารณาได้จากท่าทีขององค์กรประชาสังคมที่มีทั้งด้านที่ร่วมมือกับรัฐและด้านที่ต่อสู้คัดง้างกับรัฐ ดังที่จะสามารถพิจารณาได้จากแนวทางการทำงานของบางกลุ่ม
 
ดังตัวอย่างเช่น บทบาทในการทำงานช่วยเหลือเยียวยานั้น เดิมทีในห้วงที่ความรุนแรงปะทุขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงแรก กลุ่มประชาสังคมทั้งในและนอกพื้นที่สร้างความร่วมมือและดำเนินกิจกรรมก่อนเป็นเบื้องแรก ต่อมารัฐบาลได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการที่รับผิดชอบเกี่ยวกบภารกิจการเยียวยาขึ้นมา การทำงานขององค์กรประชาสังคมแนวทางนี้จึงมีการประสานกับหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบมากยิ่งขึ้น
 
ในขณะที่แนวทางการทำงานของกลุ่มรณรงค์สิทธิมนุษยชนนั้นแตกต่างออกไป เนื่องจากเป็นการเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐและเปิดโปงกระบวนการอันมิชอบดังกล่าว (แม้ในระยะหลังจะมุ่งประณามผู้ก่อเหตุรุนแรง “ทุกฝ่าย” ด้วยเช่นกัน) ตลอดจนช่วยเหลือด้านกฎหมายให้กับชาวบ้าน ซึ่งตกอยู่ในฐานะจำเลยในคดีความมั่นคง ในบางกรณีคนทำงานในบทบาทดังกล่าวก็ยังถูกคุกคามข่มขู่ กระทั่งถูกทำร้ายด้วยเช่นกัน
 
ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มสิทธิมนุษยชนกับรัฐจึงดำเนินไปในฐานะปฏิปักษ์เป็นด้านหลัก ถึงแม้ว่าในเชิงโครงสร้างแล้ว วัตถุประสงค์ของการทำงานของพวกเขานั้น แม้จะเป็นประโยชน์ของชาวบ้านผู้ที่เลือกใช้กระบวนการยุติธรรมพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เรียกร้องให้รัฐเข้มแข็งโดยการอำนวยความยุติธรรมให้กับผู้อยู่ใต้การปกครองอย่างไม่เลือกหน้าตามระบบของรัฐที่ควรจะเป็นด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ในระยะหลังกลุ่มที่ทำงานในแนวทางดังกล่าวนี้เริ่มมีการประสานกับหน่วยงานรัฐในบางด้านมากขึ้น โดยเฉพาะการแบ่งปันประโยชน์ร่วมกันในการขับเคลื่อนเพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
 
ประการที่หก การทำงานแบบเครือข่ายของภาคประชาสังคม แม้จะยังคงมีปัญหาหลายประการดังกล่าวข้างต้น การรวมกลุ่มของประชาชนในพื้นที่ก็มีความสำคัญที่ดีต่อการพัฒนาประชาธิปไตยกลายเป็นฐานการพัฒนาภาคประชาสังคม และภาคประชาสังคมฝ่ายต่างๆ ที่มีจำนวนกลุ่มเพิ่มมากขึ้นทำให้มีโอกาสในการสร้างพลังอำนาจต่อรองของประชาชนต่อกลุ่มต่างๆ สิ่งที่สำคัญก็คือเครือข่ายความสัมพันธ์ของภาคประชาสังคมทำให้เกิดพื้นที่กลาง (common space) เพื่อเยียวยาและจัดการความรุนแรงได้มากพอที่จะมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง
 
หลายปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ความรุนแรงปะทุขึ้นอีกครั้งในปี 2547 เครือข่ายประชาสังคมที่ทำงานในพื้นที่มีมีจุดเด่นสำคัญคือการขยายตัวที่มากขึ้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีลักษณะพิเศษผูกพันใกล้ชิดกับหลักการศาสนาและวัฒนธรรม ทำงานคล่องตัวเพราะเป็นคนในพื้นที่ สามารถจัดกิจกรรมได้สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรม ในขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาศักยภาพตามพันธกิจขององค์กรเครือข่าย ทั้งยังพบว่าเริ่มการทำงานเป็นเครือข่ายเพื่อสร้างอำนาจร่วมระหว่างองค์กรมากขึ้น ดังในกรณีขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่สามารถรวบรวมประเด็นปัญหาและยกระดับเป็นข้อเรียกร้องในทางยุทธศาสตร์ได้ ในอีกด้านหนึ่ง การเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยและร่วมกันเป็นเครือข่ายยังทำให้พวกเขาสามารถพูดและกระทั่งผลักดันเรื่องเคย “ต้องห้าม” มาก่อนได้มากขึ้น เช่น การเคลื่อนไหวเรื่องเขตปกครองพิเศษและการกระจายอำนาจ เป็นต้น
 
ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดเครือข่ายใหม่ๆ เช่น เยาวชน กลุ่มเยาวชนที่มีศักยภาพ มีจิตสาธารณะ ต้องการทำงานในพื้นที่เพื่อพัฒนาชุมชนด้านต่างๆ กับกลุ่มประชาสังคม แต่ยังมองหาความมั่นคงในชีวิตเพื่อเป็นหนทางที่จะทำให้การทำงานกลุ่มประชาสังคมยั่งยืนได้
 
กล่าวโดยสรุป การขยายตัวของภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่เป็นขยายตัวในเชิงปริมาณผ่านการจัดตั้งองค์กรใหม่ในพื้นที่หรือแนวโน้มในการสร้างเครือข่ายเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง ตลอดจนมีบทบาทในการผลักดันประเด็นเคลื่อนไหวที่หลากหลายมากขึ้น สิ่งเหล่านี้คือจุดเข้มแข็งในปัจจุบัน แต่ถึงกระนั้น ในอีกด้านหนึ่งอำนาจที่เกิดจากการรวมตัวดังกล่าวก็ไม่เพียงพอที่จะต่อรองในสนามการแข่งขันอำนาจกับกลุ่มที่ใช้กำลังทั้งสองฝ่ายได้มากนัก การตระหนักถึงประเด็นดังกล่าวย้อนกลับมาสู่การเรียกร้องให้พวกเขาจำต้องทำงานเพื่อขยายความร่วมมือให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งความเป็นจริงข้อนี้กำลังก่อรูปให้เห็นอยู่บ้างแล้วในปัจจุบัน
 
ในอีกด้านหนึ่ง ข้อจำกัดที่ผ่านมาของตัวแสดงดังกล่าวในพื้นที่อยู่ที่ยังไม่สามารถสร้างผู้นำ องค์กรนำ หรือแกนกลางการประสานในสถานการณ์ความขัดแย้งที่แหลมคมเช่นนี้ได้อย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจเป็นผลมาจากเงื่อนไขหลายประการที่ได้ทบทวนและอภิปรายไปแล้วข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการมีกรอบการมองปัญหาที่แตกต่างกัน ภารกิจงานหลักที่ไม่สอดคล้องต้องกัน ตลอดจนความคิดของผู้นำที่ขัดแย้งกัน รวมไปถึงการจัดตั้งองค์กรที่มีความเข้มแข็งต่างระดับกัน
 
แต่ถึงอย่างนั้น จุดเด่นสำคัญที่เรียกได้ว่ามีศักยภาพต่อการรวมตัวเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง ได้แก่ ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรที่อยู่ในแนวราบ กล่าวคือ มีลักษณะบางประการเป็นคล้าย “สนาม” หรือ “พื้นที่” ขนาดใหญ่และดำรงอยู่ตรงกลางที่เปิดเอื้อให้ทุกฝ่ายลงมาร่วมเคลื่อนไหวเป็นเครือข่ายร่วมกันได้ ประเด็นหลายประเด็นจึงถูกเสนอขึ้นมาเป็นวาทกรรมหลักในการต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกระจายอำนาจ การรณรงค์ต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเรียกร้องความยุติธรรมทั้งในบางเฉพาะกรณีและในระดับภาพรวม รวมไปถึงการผลักดันแนวทางการพูดคุยเพื่อสันติภาพในปัจจุบันและการเปิดช่องทางสำหรับการเจรจาเพื่อสันติภาพในอนาคต
 
สิ่งที่เครือข่ายประชาสังคมต้องทำ คือ การสร้างความร่วมมือที่เหนียวแน่นระหว่างองค์กรประชาสังคมในระดับกลางกับกลุ่มมวลชนในระดับรากหญ้า และการขยายกลุ่มที่ทำงานเชิงรุกที่มีการทำงานอย่างต่อเนื่อง ดังที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในแง่ของการเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้น การเปิดประเด็นในเรื่องการกระจายอำนาจมีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้ให้ประเด็นอื่นๆ สามารถเคลื่อนไหวได้ภายใต้กลไกโครงสร้างอำนาจที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อทำให้การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งสามารถขจัดเงื่อนไขที่ทำให้รากเหง้าของความขัดแย้งดำรงอยู่ หรือกล่าวในอีกแบบก็คือเพื่อสถาปนาสภาวะที่เรียกว่าสันติภาพที่เป็นธรรมให้เกิดขึ้น
 
อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ การสื่อสาร แม้ว่าเครือข่ายประชาสังคมในพื้นที่จะมีการสื่อสารกับภายนอกไม่น้อย แต่ยังไมได้จัดทำอย่างเป็นระบบมากนัก ยังไม่มีการวางแผนร่วมกันว่าจะสื่อสารหรือผลักดันให้ใครเป็นกลุ่มเป้าหมายเพื่อตอบสนองทิศทางของกระบวนการสันติภาพอย่างไร ในขณะเดียวกันก็ขาดต้นทุนทางสังคมที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายสื่อในระดับประเทศและระดับนานาชาติที่ทรงพลังเพียงพอ ในทางกลับกันก็พบว่ายังละเลยเรื่องภาษาวัฒนธรรมที่มุ่งสื่อสารภายในเพื่อให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มทุกระดับในพื้นที่ ด้วยเหตุนี้ สถานภาพของการสื่อสารเพื่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งจึงยังไม่สามารถเข้าถึงประชาชนส่วนใหญ่ได้
 
 การมีพื้นที่กลางและสนามในการสื่อสารที่มีพลังจะทำให้เครือข่ายประชาสังคมสามารถสร้างอำนาจต่อรองในอีกรูปแบบหนึ่ง การสื่อสารจะเป็นฐานสำคัญที่รักษาความชอบธรรมและการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของพื้นที่กลางเหล่านี้ ยิ่งในสังคมที่มีการใช้ความรุนแรงหนาแน่นกดทับและส่งผลต่อการข่มขู่บังคับผู้คนมากเพียงใด การสื่อสารที่มีช่องทางอันหลากหลายและต่อเนื่องก็ยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้นเท่านั้น สิ่งนี้จะเป็นตัวชี้วัดสำคัญต่ออำนาจต่อรองที่องค์กรและเครือข่ายประชาสังคมถือครองอยู่
 
 
บรรณานุกรมตอนที่ 4
 
ชลิต ถาวรนุกิจกุล. (2551). “ประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ในบริบทของความรุนแรง”. บทความนำเสนอในการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ห่งชาติ ครั้งที่ 9 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
 
แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง. (2552). “องค์ความรู้เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรง (พ.ศ. 2547-2550)”. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (บก.). ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ, ศึกษาความรุนแรงภาคใต้: บริบททางนโยบาย ความรู้ การรับรู้. กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
 
ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มูลนิธิฟรีดริช เนามันน์ และสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า. ประชาสังคมกับกระบวนการสันติภาพ: การขยายพื้นที่ภาคประชาสังคมเพื่อการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้. เอกสารสรุปการสัมมนาเครือข่ายภาคประชาสังคม วันที่ 30 กันยายน 2552 โรงแรมพาราไดส์ & รีสอร์ท อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา.
 
Arendt, Hannah. (1970). On Violence. New York: Harcourt, Brace & World Inc.
 
 
*หมายเหตุ: คณะทำงานวิจัยดังกล่าวประกอบด้วย มูฮำมัดอายุบ ปาทาน เป็นนักวิจัยหลัก โดยมี กษมา จิตร์ภิรมย์ศรี, รอมฎอน ปันจอร์ และ ฟารีดา ขจัดมาร เป็นผู้ช่วยวิจัย