Skip to main content

     

 

เป็นเวลา 60 ปี กับการหายสาบสูญ ของหะยีสุหลงโตะมีนา ผู้นำศาสนาอิสลามคนสำคัญในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ล่าสุดลูกหลานของตระกูลโตะมีนา มีความพยายามที่จะสื่อสารถึงเรื่องราวของบรรพบุรุษและประวัติศาสตร์ปัตตานี ผ่านการเปิดบ้านให้คนทั่วไปได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้ ติดตามรายงานจากนักข่าวพลเมือง                    

หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ต้นตระกูล โตะมีนา หนึ่งในผู้นำศาสนาอิสลามและมีบทบาทสำคัญทางการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้’ การหายสาบสูญอย่างไร่ร่องรอย’ ของเขา เป็นปีที่ 60 แล้ว หลังจากพยายามรักษาวิถีชีวิตและอัตลักษณ์มลายูในยุคของการสร้างรัฐชาติ

ทุกวันนี้เหลือเพียงบ้านที่เขาสร้างไว้  โดยรุ่นลูกหลาน ได้ร่วมกันสานต่องาน และเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านบรรพบุรุษของพวกเขา

คุณบอย หรือ จตุรนต์ เอี่ยมโสภา ทายาทรุ่นที่สาม ตระกูลโตะมีนา เล่าให้ฟังว่า "หลังจากที่มีสุเหร่าหะยีสุหลง หรือ บาลาเซาะห์หะยีสุหลง เมื่อก่อนเป็นโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามแห่งแรกในประเทศไทย ที่ไม่ใช่รูปแบบปอเนาะ เป็นคณะกรรมการประจำจังหวัดปัตตานีแห่งแรกในประเทศไทย  พอท่านเสียชีวิตไป เราก็เปิดให้ละหมาดทั้งห้าเวลาเลย และเปิดให้ใช้ข้างหน้าเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อให้พี่น้องเข้ามาใช้ประกอบศาสนกิจได้"

เรื่องราวของหะยีสุหลงโตะมีนา เป็นเสมือนส่วนหนึ่งของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดความรุนแรงต่อเนื่องกว่าสิบปี  แต่ไม่นานมานี้ลูกหลานตัดสินใจที่จะเปิดบ้านหะยีสุหลงเป็นพื้นที่เรียนคัมภีร์อัลกุรอ่าน และประวัติศาสตร์ปัตตานี 

ยัสมิน โตะมีนา ทายาทรุ่นที่สี่ ตระกูลโตะมีนา 'ไม่ได้เปิดมาเกือบสิบปีแล้วมั้งคะ มาเปิดอีกทีตอนที่ช่วงเขามาสอนกุรอ่าน มาเปิดหน้าต่าง ปัด กวาด เช็ด ถูบ้าง เพราะนึกถึงบรรยากาศเก่าๆ'

จตุรนต์ เอี่ยมโสภา ทายาทรุ่นที่สาม ตระกูลโตะมีนา "พอเราเริ่มเปิดบ้าน เริ่มมีโซเชียลมีเดียก็เริ่มมีคนเข้ามา แต่ละคนก็มีคำตอบ กลับออกไปเขาอาจจะค้นคว้าเพิ่มเติมว่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์จริงๆ มันเป็นยังไง หะยีสุหลงคือใคร ทำอะไรไว้บ้าง ซึ่งผมว่าจะทำให้ประวัติศาสตร์ชัดเจนขึ้นว่า 60 ปี ที่ผ่านมาที่สูญหายกับปัจจุบัน ความคิดหรือแนวคิดที่ท่านทำไว้นั้นถูกหรือผิด ให้รู้ตัวเอง รู้รากเหง้าเพื่อแก้ไข ถ้ายิ่งเราปกปิด อะไรที่เราปิดไว้มากๆ มันเหมือนลูกโป่ง พออัดลมเข้าไปเยอะสักวันมันก็ระเบิด ซึ่งมันเป็นอันตรายต่อทุกภาคส่วน เราถึงมีแนวคิดว่าเราควรจะเปิด"

สิบปีของปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องราวของหะยีสุหลง โตะมีนา เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่เริ่มเปิดให้มีการศึกษาที่มาที่ไป และสร้างมุมมองใหม่ๆในสถานการณ์ความขัดแย้งจากอดีตถึงปัจจุบัน  และทุกวันนี้ยังคงมีประเด็นมากมาย ที่เริ่มสามารถพูดคุยในพื้นที่สาธารณะ เพื่อสร้างทัศนคติใหม่ ในพื้นที่แห่งนี้ 

 

 ทีมข่าวพลเมือง รายงาน