Skip to main content

ยารีนา กาสอ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)

 

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 8 สิงหาคม 2554 ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดปัตตานี มีการประชุมการขับเคลื่อนวาระยิ้มตานีโครงการอำเภอ 2 ภาษา เพื่อรอยยิ้มชาวตานี มีนายทรงพล สวาสดิ์ธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานการประชุม มีผู้เข้าร่วมประชุมจากภาคราชการ และภาคประชาชนประมาณ 15 คน

 

ทรงพล สวาสดิ์ธรรม

ทรงพล สวาสดิ์ธรรม

 

นายทรงพล ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวต่อประชุมว่า ในวันที่ 12 สิงหาคม 2554 ทางจังหวัดปัตตานี จะเริ่มดำเนินโครงการอำเภอ 2 ภาษา มีอำเภอเมืองและอำเภอหนองจิก เป็นอำเภอนำร่อง โดยให้สถานที่ราชการใช้ภาษามลายูท้องถิ่น (ภาษายาวี) ควบคู่กับภาษาไทย ในการสื่อสารกับประชาชนที่มาใช้บริการ เพื่อลดช่องว่างในการติดต่อสื่อสาร ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดปัตตานี เป็นการพัฒนาระบบการให้บริการที่เป็นรูปธรรม เน้นการสร้างรอยยิ้มให้กับคนปัตตานี เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับบริการฉันท์มิตร

 

นายทรงพลยังกล่าวอีกว่า สำหรับเจ้าหน้าที่ที่จะทำหน้าที่ในการสื่อสารภาษามลายูท้องถิ่นคือ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะเป็นทั้งนักประชาสัมพันธ์และล่าม สามารถพูดทั้งภาษาไทยและภาษามลายูท้องถิ่นได้ ถ้าพบผู้สูงอายุที่ไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ นักประชาสัมพันธ์จะเข้าไปให้บริการ ด้วยการแนะนำให้ความรู้ทำความเข้าใจเรื่องพื้นฐาน ที่ผู้ใช้บริการต้องการได้

 

นายวันเฉลิม แวดอเลาะ นักประชาสัมพันธ์และบริการประชาชน อำเภอเมืองปัตตานี เปิดเผยว่า ตนเริ่มทำงานเป็นนักประชาสัมพันธ์มาตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2553 โดยการว่าจ้างของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว เงินเดือน 7,940 บาท นักประชาสัมพันธ์ที่ทางศอ.บต.ว่าจ้างมี 154 คน ทั้งหมดจะถูกส่งไปปฏิบัติงานที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และอีก 4 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา โดยจัดส่งให้ไปทำงานอำเภอละ 4–5 คน แยกไปประจำที่ว่าการอำเภอ 1 คน สำนักงานพัฒนาที่ดิน 1 คน โรงพยาบาล 1 คน สถานีตำรวจ 1 คน และศาล 1 คน