นูรยา เก็บบุญเกิด โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 8 กันยายน 2554 ที่ว่าการอำเภอเมืองปัตตานี มีพิธีเปิดโครงการอำเภอ 2 ภาษา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการยิ้มตานี ซึ่งเป็นโครงการที่ให้สถานที่ราชการใช้ภาษามลายูท้องถิ่น (ภาษายาวี) ควบคู่กับภาษาไทย ในการสื่อสารกับประชาชนที่มาใช้บริการ โดยมีนายทรงพล สวาสดิ์ธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานเปิดงาน มีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน
ในพิธีมีการมอบเกียรติบัตรแก่ผู้เข้ารับการอบรมภาษาไทยจากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดปัตตานี (กศน.ปัตตานี) ประมาณ 20 คน
นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ นายอำเภอเมืองปัตตานี เปิดเผยว่า อำเภอปัตตานีเมืองเป็นอำเภอนำร่องในการทำโครงการอำเภอ 2 ภาษา และจะขยายต่อไปยังอำเภออื่นๆ ในจังหวัดปัตตานี
นายไกรศร กล่าวว่า โครงการอำเภอ 2 ภาษาจะสามารถช่วยประชาชน ที่ไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยที่เข้ามาใช้บริการได้มากขึ้น เช่น ประชาชนที่ไม่สามารถอ่านป้ายข้อความตามจุดต่างๆ ที่มีทั้งภาษาไทยและภาษายาวี ก็สามารถสอบถามเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ที่ประจำอยู่ที่สำนักทะเบียนอำเภอได้ เนื่องจากนักประชาสัมพันธ์จะทำหน้าที่ล่ามไปด้วย ซึ่งจะช่วยลดเวลาการใช้บริการได้
นายไกรศร เปิดเผยอีกว่า สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกนักประชาสัมพันธ์คือ รับผู้ที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น อายุ 18 ปีขึ้นไป ไม่จำกัดศาสนา สามารถสื่อสารภาษามลายูท้องถิ่นได้ ส่วนการประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้บริการมี 2 รูปแบบ คือ ประเมินจากโดยเครื่องวัดความพึงพอใจ และรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้นำชุมชนหรือผู้นำศาสนาที่มีการพูดกันปากต่อปากในชุมชน
นายวันเฉลิม แวดอเลาะ นักประชาสัมพันธ์และบริการประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ เปิดเผยว่า ภาระงานที่ตนได้รับมอบหมาย คือ ประจำอยู่หน้าห้องสำนักทะเบียนอำเภอเมืองปัตตานี เนื่องจากเป็นจุดที่มีผู้เข้ามาใช้บริการจำนวนมาก ประชาชนที่เข้าสอบถามนักประชาสัมพันธ์และบริการประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ส่วนมากเป็นคนชรา หรือผู้ที่สื่อสารภาษาไทยได้น้อย
“เหตุที่เข้ามาถาม เนื่องจากประชาชนส่วนมากไม่ทราบขั้นตอนในการให้บริการตามระบบราชการ ผมจึงใช้ภาษามลายูท้องถิ่น สื่อสารให้เข้าใจมากขึ้น และเพื่อให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อระบบราชการมากขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่า ยังมีผู้ที่มีคติต่อระบบราชการอยู่” นายวันเฉลิม กล่าว
นายวันเฉลิม เปิดเผยอีกว่า ก่อนที่ตนจะมาเป็นนักประชาสัมพันธ์ ตนได้ไปสมัครสอบคัดเลือกครูที่สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดปัตตานี (กศน.ปัตตานี) แต่ตนสอบติดเป็นตัวสำรอง หลังจากนั้นศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.)มีโครงการผลิตนักประชาสัมพันธ์และบริการประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ขึ้นมา โดยให้ผู้ที่สอบติดสำรองดังกล่าวทั้งหมด ไปสอบสัมภาษณ์ที่ศอ.บต.เพื่อคัดเลือกเป็นนักประชาสัมพันธ์และบริการประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ โดยศอ.บต.ได้ว่าจ้างในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2553 ถึง เดือนกันยายน 2554
“ผมอยากให้ศอ.บต.ต่อสัญญาจ้างนักประชาสัมพันธ์และบริการประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ต่อไป เพราะเห็นว่าสามารถช่วยบัณฑิตที่ว่างงานอยู่ ให้มีงานทำได้ระดับหนึ่ง” นายวันเฉลิม กล่าว
นายสุกรี ดอเลาะ ผู้รับบริการที่ว่าการอำเภอเมืองปัตตานี กล่าวว่า การที่ข้าราชการปัจจุบันเริ่มเห็นความสำคัญ และหันมาสื่อสารด้วยภาษามลายูท้องถิ่นควบคู่กับภาษาไทย เป็นที่ต้องการของตนมานานแล้ว เนื่องจากไม่ทำให้รู้สึกอึดอัดใจเหมือนเมื่อก่อน ทั้งยังสะดวกในการติดต่อขอรับบริการมากขึ้น แต่ยังมีข้าราชการบางส่วนที่ไม่ค่อยสุภาพอ่อนน้อม หากปรับปรุงในส่วนนี้ได้ จะทำให้ชาวบ้านรู้สึกดีต่อข้าราชการมากขึ้นไปอีก