นูรยา เก็บบุญเกิด โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสโมสรมิตรภาพวัฒนธรรมสากล กองทุนวรรณกรรมไทย–มลายู โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา และภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดเสวนาเรื่อง “วรรณกรรม ดนตรี บริบทวัฒนธรรมร่วมสมัย” หนึ่งในโครงการสัมมนาวิชาการ เรื่อง “ร่องรอยกาลเวลา : อ่าวปัตตานี ร้อยมาลัยใส่เสียงวรรณกรรม” เมื่อเวลา 9.00–11.00 น. วันที่ 29 กันยายน 2554 ที่ห้องประชุมคณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
นายจิรวัฒน์ แสงทอง อาจารย์ประจำสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวต่อวงเสวนาว่า แนวคิดเรื่องความเป็นมลายูแท้จริงคืออะไร เป็นประเด็นปัญหาที่ยังคลุมเครือตลอดตั้งแต่ยุคอาณานิคมจนถึงปัจจุบัน ความคลุมเครือดังกล่าว ส่งผลให้เกิดปัญหาการนิยามภาพยนตร์มลายูไม่ต่างกัน การเขียนประวัติศาสตร์ภาพยนตร์มลายู/มาเลเซีย มักระบุให้การจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง Laila Majnun โดยบัลเดน สิงห์ รัจฮันส์ ผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ชาวอินเดีย เมื่อปี 1934 ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของการสร้างสรรค์ภาพยนตร์มลายู
นายจิรวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อพิจารณากระบวนการสร้างและตัวภาพยนตร์เรื่อง Leila Majnun พบว่า นอกจากบริษัทผู้สร้างจะมาจากบอมเบย์ ประเทศอินเดียแล้ว ทีมงานทั้งหมดก็ล้วนแล้วแต่เป็นชาวอินเดีย ขณะที่ผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ก็เป็นชาวอินเดีย จากปัญจาบ ในส่วนของเนื้อเรื่องก็เป็นการดัดแปลงจากภาพยนตร์อินเดียมาสร้างใหม่ เนื้อหานำมาจากนิทานอาหรับอีกทอดหนึ่ง การนำเสนอในภาพยนตร์ก็มีฉากเต้นรำ ที่ระบุชัดเจนว่า เป็นระบำอาหรับและอียิปต์
นายจิรวัฒน์ กล่าวอีกว่า ดูเหมือนจะมีเพียงดารา และภาษาที่ใช้ในภาพยนตร์เท่านั้น ที่แสดงออกถึงความเป็นมลายู เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบเหล่านี้ การนิยามความเป็นมลายูในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว จึงมีปัญหาไม่น้อย ในความเป็นจริงแล้ว ถึงแม้การเขียนประวัติศาสตร์ภาพยนตร์มลายู จะยอมรับ Leila Majnun เป็นภาพยนตร์เรื่องแรก แต่การให้การยกย่องคุณูปการของผู้กำกับภาพยนตร์อินเดียอย่างค่อนข้างจำกัด ในประวัติศาสตร์ฉบับทางการ ก็เหมือนจะสะท้อนให้เห็นภาวะอิหลักอิเหลื่อ อันเกิดจากความคลุมเครือของการนิยามดังกล่าวนี้ กล่าวคือ ปัญหาความอิหลักอิเหลื่อเกิดขึ้น เมื่ออุดมการณ์มลายูนิยมเพิ่มสูงขึ้นในกระบวนการสร้างชาติ และหลังจากกำเนิดชาติมาเลเซีย
“ก่อนจะถึงช่วงเวลาดังกล่าว ความเป็นมลายูยังเปิดกว้างต่อการนิยาม และมีความลื่นไหลสูง ชนต่างเชื้อชาติได้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอความเป็นมลายูในภาพยนตร์ได้อย่างไม่ขัดเขิน และอภิสิทธิ์เหนือความเป็นมลายู ยังไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะคาบสมุทรมลายู ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางของชาติมาเลเซียในเวลาต่อมา ความเป็นมลายูที่เด่นชัดที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าวคือ ภาษาที่แพร่กระจายข้ามพ้นพรมแดนของรัฐอาณานิคม” นายจิรวัฒน์ กล่าว
นายจิรวัฒน์ กล่าวว่า ด้วยการลงทุนทางด้านการผลิตภาพยนตร์ในช่วงอาณานิคม หนังมาเลเซียมักจะมีลักษณะเป็นเรื่องของความผูกพันต่อชาติ เช่น การนำเสนอให้เห็นถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่น ในมิติความเป็นมลายู และการใช้ภาษามลายูในหนัง แม้ในอดีตตัวละครฮังตั๊ว(Hang Tuah) จะเป็นฮีโร่เก่าแก่ของประเทศมาเลเซีย แต่กลับมีผู้กำกับการแสดงเป็นคนอินเดีย ทั้งดาราส่วนใหญ่ในช่วงยุคแรกของหนังมลายู ก็ถูกคัดเลือกมาจากคณะละครเวที
“เห็นได้ชัดเจนจากคณะละครเร่ที่มีชื่อว่า Bangsawan หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม Malay Opera ซึ่งมีทั้งละคร ดนตรี มายากล กายกรรม มีทั้งลักษณะการแสดงแบบยุโรป และแบบท้องถิ่น ใช้ภาษามลายูในการแสดง รูปแบบการแสดงได้รับอิทธิพลจากประเทศอาณานิคมในยุคนั้น และในช่วงหลังมีนักแสดงจากทั่วทุกมุมโลกมารวมอยู่ในคณะ Bangsawan ปี 1930 อุดมการณ์ชาตินิยมเริ่มก่อตัวมากขึ้น ทำให้เกิดการกลืนวัฒนธรรมที่เคยมีความหลากหลายของชนต่างเชื้อชาติ จนมีการครอบงำของวัฒนธรรมของเชื้อชาติเดียวไป” นายจิรวัฒน์ กล่าว