Skip to main content

 

ภาษาเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงออกถึงอัตลักษณ์ของคนมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คนส่วนใหญ่ในพื้นที่พูดมลายูถิ่นเป็นภาษาแม่  แต่ในอดีตลูกหลานของชาวบ้านกลับไม่ได้รับอนุญาตให้พูดภาษามลายูในโรงเรียนของรัฐ  ไม่ต้องเอ่ยถึงการเรียนภาษานี้โดยผ่านระบบโรงเรียนรัฐ ครูในพื้นที่เล่าว่าแต่เดิมใครพูดภาษามลายูในโรงเรียนจะโดนหักเงินครั้งละบาท   

 

อ.ต่วนเยาะ นิสานิ อาจารย์โรงเรียนบ้านประจันกำลังอธิบายรูปแบบวิธีการสอนภาษามลายูสำหรับเด็กเล็กในโครงการทวิภาษาซึ่งใช้วิธีเขียนด้วยอักษรไทย  ในปีการศึกษา 2555 นี้จะมีการเริ่มสอนให้นักเรียนชั้นป. 3 เขียนด้วยอักษรยาวี

ภาษาจึงเป็นประเด็นหัวใจประเด็นหนึ่งที่เป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นเป็นความรุนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนมลายูมุสลิมจำนวนหนึ่งมองว่าโรงเรียนเป็นสถานที่ที่รัฐไทยใช้เพื่อกลืนวัฒนธรรมของพวกเขา  และนั่นดูเหมือนจะเป็นเหตุผลว่าทำไมโรงเรียนของรัฐหลายร้อยโรงจึงถูกเผา 

ท่ามกลางกระแสความรุนแรง  ทางศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดลได้ริเริ่มโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาท้องถิ่นและภาษาไทยเป็นสื่อ : กรณีการจัดการศึกษาแบบทวิภาษา  (ภาษาไทย - ภาษามลายูถิ่น) ในโรงเรียนเขตพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ขึ้นในปี 2550 เป้าหมายสำคัญของโครงการนี้คือต้องการใช้ทุนทางภาษาและวัฒนธรรมที่เด็กมีอยู่ในการเชื่อมโยงไปสู่ภาษาไทย โดยคาดว่าเด็กจะมีพัฒนาการทางภาษาได้เร็วขึ้น คณะผู้วิจัยมองว่าการใช้ภาษาไทยเป็นสื่อในการเรียนการสอนเพียงอย่างเดียวอย่างที่ปฏิบัติกันมานั้นทำให้ผลการศึกษาของเยาวชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานของประเทศมาโดยตลอด

โรงเรียนที่เข้าร่วมในโครงการนำร่องนี้มี 4 แห่ง ได้แก่  โรงเรียนบ้านประจัน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี โรงเรียนบ้านบึงนำใส  อ.รามัน จ.ยะลา โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 10 (บ้านใหม่) อ.เมือง จ.นราธิวาส โรงเรียนตำมะลัง อ.เมือง จ.สตูล  โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ  องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย 

ในขณะที่โครงการทวิภาษานี้ได้รับความชื่นชมและเป็นที่พอใจของผู้ปกครองที่เห็นว่าบุตรหลานของตนมีพัฒนาการในการเรียนรู้เร็วขึ้น  แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนักคิดมลายูมุสลิมส่วนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการสอนภาษามลายูผ่านอักษรไทยซึ่งเป็นระบบที่ไม่มีการใช้จริงในชีวิตประจำวัน  การเขียนภาษามลายูนั้นเขียนได้สองระบบ คือ ใช้อักษรยาวีซึ่งเป็นระบบดั้งเดิมที่ยังคงมีให้เห็นอยู่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้  และการใช้อักษรโรมันซึ่งเป็นระบบมาตรฐานที่ใช้ในประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน  เดิมมาเลเซียก็ใช้อักษรยาวีแต่ได้เปลี่ยนไปใช้อักษรโรมันในการเขียนในสมัยที่อังกฤษเข้ามาปกครอง   อักษรยาวีจึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของคนมลายูที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งก็มีความเสื่อมถอยลง ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาเพราะไม่ได้ถูกถ่ายทอดอย่างเป็นระบบผ่านโรงเรียนของรัฐ  เยาวชนจะได้เรียนภาษามลายูอักษรยาวีก็ต่อเมื่อเขาเข้าเรียนวิชาศาสนาอิสลามในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามหรือปอเนาะดั้งเดิม  

 

"Times New Roman";color:#73743A"> 

อ.ซาบีดิง สาและดิง ครูโรงเรียนบ้านประจัน กำลังฝึกให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 พูดภาษามลายูกลางซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชามลายูศึกษา  โดยในเทอมที่สองจะเริ่มสอนการเขียนด้วยอักษรยาวี (ภาพ : ฮัสซัน โตะดง)

 

“แน่นอนที่สุดวิธีการนี้คือวิธีการอาณานิคม” นายมันโซร์ สาและ รองประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ซึ่งเป็นนักจัดรายการวิทยุภาษามลายูในจังหวัดยะลากล่าวถึงโครงการทวิภาษา เขาเป็นผู้หนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการสอนภาษามลายูด้วยอักษรไทย  เขามองว่าโครงการนี้มีเจตนาแอบแฝงที่จะทำให้เด็กคุ้นเคยกับภาษาไทยและลืมภาษามลายู  เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการผสมกลมกลืน (assimilation) ซึ่งเป็นวิธีการที่รัฐไทยพยายามใช้ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา  

นักเรียนรุ่นแรกในโรงเรียนนำร่องทั้งสี่แห่งได้ขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ในปีนี้ ซึ่งทางนักวิจัยและผู้บริหารโครงการจะได้ริเริ่มให้มีการสอนการพูดและฟังภาษามลายูกลางและเขียนภาษามลายูด้วยอักษรยาวี โดยในปีถัดไปก็สอนการเขียนด้วยอักษรโรมัน (ในพื้นที่เรียกว่า “รูมี”)   ความริเริ่มนี้น่าจะตอบโจทย์ความคลางแคลงใจของคนในพื้นที่ที่ตั้งคำถามกับการใช้อักษรไทยในการเขียนภาษามลายูได้บ้าง

นายแวยูโซะ สามะอาลี รองประธานฝ่ายบริหารโครงการทวิภาษาเปิดเผยว่าการสอนภาษามลายูด้วยอักษรยาวีจะอยู่ในวิชามลายูศึกษา   โดยนอกจากภาษาแล้วจะมีการเรียนในเรื่องวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนมลายูมุสลิมด้วย  

.แวมายิ ปารามัล อาจารย์ประจำภาควิชาภาษามลายู คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการทวิภาษาอธิบายว่าในเทอมแรกนี้จะเน้นที่เรื่องของการพูดและฟังภาษามลายูกลางก่อน  เพราะที่ผ่านมาเด็กๆ เรียนภาษามลายูถิ่นซึ่งการออกเสียงจะแตกต่างจากภาษามลายูกลางเล็กน้อย  โดยจะเริ่มสอนเขียนแบบอักษรยาวีในเทอมที่สอง โดยในช่วงแรก สื่อการสอนอักษรยาวีจะเป็นเอกสารแบบชั่วคราวและต่อไปจะมีการผลิตตำราด้วย

.ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ ประธานที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤติ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่าการนำเอาอักษรยาวีมาสอนนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 นั้นอยู่ในแผนตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ในระดับชั้นอนุบาลและประถมตอนต้น  เราเน้นที่การฟังและพูด ตอนนี้เราจะเริ่มสอนการอ่านและเขียนด้วยระบบอักษรยาวี  และต่อไปในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ก็จะเริ่มสอนระบบอักษรโรมัน  ซึ่งการเชื่อมกับอักษรโรมันจะเป็นการปูพื้นที่มีประโยชน์อย่างสำคัญสำหรับการรวมตัวของประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

นายมันโซร์กล่าวว่าเห็นด้วยที่ทางโครงการมีการเรียนสอนภาษามลายูด้วยอักษรยาวีและโรมันและคิดว่าโครงการนี้จะมีส่วนทำให้คนในพื้นที่มีทัศนคติต่อรัฐในทางที่ดีขึ้นเพราะเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับภาษาท้องถิ่น เขาคิดว่าการริเริ่มนี้จะช่วยลด “ความรู้สึกกดทับ” ที่คนมลายูมุสลิมคิดว่ารัฐไทยต้องการที่จะทำลายอัตลักษณ์ของท้องถิ่น   

เขาอธิบายว่าการดำเนินการในเรื่องนี้จะเป็นผลบวกต่อการอธิบายกับประชาคมโลกอีกด้วย โดยเฉพาะกับองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) ซึ่งได้จับตาการแก้ปัญหาคนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง

ในระหว่างการเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงวันที่ 7 – 13 พฤษภาคม 2555 ตามคำเชิญของรัฐบาลไทย นาย Sayed Kassem El-Masry ซึ่งเป็นที่ปรึกษาและผู้แทนพิเศษของเลขาธิการโอไอซีได้กล่าวว่า  “เขารู้สึกดีใจที่เห็นว่ารัฐบาลได้เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษา เริ่มให้ความสำคัญกับการใช้ภาษาถิ่น  คือการใช้ภาษามลายูควบคู่กับภาษาไทยในสถาบันการศึกษาของรัฐ ซึ่งเป็นมิตรหมายที่ดี และผมได้ทราบว่าเป็นโครงการนำร่องเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ….ซึ่งอย่างน้อยจะเป็นการรักษาซึ่งวัฒนธรรม อัตลักษณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในพื้นที่ให้ความสำคัญ

นายมันโซร์กล่าวว่าผู้แทนระดับสูงโอไอซีได้พูดกับตัวแทนภาคประชาสังคมในภาคใต้ในช่วงที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยว่าเขาจะติดตามดูว่าประเทศไทยให้สิทธิต่อชนกลุ่มน้อยมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะในเรื่องภาษา เพราะว่าภาษาคืออัตลักษณ์ที่สำคัญ ทางโอไอซีสนับสนุนในเรื่องการให้สิทธิกลุ่มชนน้อยอย่างเต็มที่

นอกจากนี้ นายมันโซร์แสดงความเห็นว่าการสอนภาษามลายูด้วยอักษรยาวีและโรมันจะเป็นการพัฒนาศักยภาพทางภาษาให้คนในพื้นที่เพื่อรองรับการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน  เขาย้ำว่าภาษามลายูนั้นเป็นภาษาที่มีคนพูดมากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน   

นอกจากการนำอักษรยาวีและโรมันมาใช้ในการเรียนการสอนในโรงเรียนนำร่องทั้งสี่แห่งแล้ว ศ.ดร.สุวิไลกล่าวว่าในปีนี้จะได้มีการขยายโครงการทวิภาษานี้ไปสู่โรงเรียนอีก 12 แห่งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยทางศอ.บต.จะให้งบประมาณสนับสนุนอีกด้วย

นับว่าเป็นความเคลื่อนไหวก้าวสำคัญของรัฐในการเปิดพื้นที่ให้กับการรักษาอัตลักษณ์ของคนมลายูมุสลิม น่าจับตามองต่อไปว่าจะมีเสียงตอบรับจากคนในพื้นที่อย่างไรบ้าง 

 

 

รายชื่อโรงเรียนใหม่ที่เข้าร่วมโครงการ “โรงเรียนทวิภาษา ” ในปี 2555 

นราธิวาส

โรงเรียนกำปงปีแซ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส

โรงเรียนบ้านหัวคลอง อ.ตาบใบ จ.นราธิวาส

โรงเรียนบ้านลูโบ๊ะซามา อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส

โรงเรียนบ้านบูเกะตาโมง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส 

ปัตตานี

โรงเรียนจือโร๊ะ  อ.เมือง ปัตตานี

โรงเรียนบ้านลดา   อ.เมือง จ.ปัตตานี

โรงเรียนบ้านกรือเซะ  อ.ยะรัง จ.ปัตตานี

โรงเรียนบ้านบูโกะ  อ.ยะรัง  จ.ปัตตานี

โรงเรียนบ้านบน  อ.สายบุรี จ.ปัตตานี 

ยะลา

โรงเรียนบ้านปงตา อ.รามัน จ.ยะลา

โรงเรียนบ้านตะโละหะลอ อ.รามัน จ.ยะลา

โรงเรียนบ้านปาแดรู อ.ยะหา จ.ยะลา