ม.อ.ปัตตานี ท่ามกลางความไม่สงบ วันนี้ยังคงความหลากหลาย นักศึกษานอกพื้นที่เริ่มเข้ามา รับน้องคล้องมาลัย กิจกรรมที่แปรเปลี่ยนไป อาจารย์ยันภาพเก่ายังไม่หาย ผู้ปกครองยังหวาดกลัว ชี้มีแต่คุณภาพการศึกษาเท่านั้นที่ยังสร้างชื่อ
รับน้อง - รับน้องคล้องมาลัย เป็นกิจกรรมหนึ่งของนักศึกษา ม.อ.วิทยาเขตปัตตานีในช่วงเปิดเทอมแรก ปัจจุบันรูปแบบกิจกรรมมีการปรับเปลี่ยนไป เนื่องจากมีนักศึกษาที่เป็นคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น แต่ยังคงความหมายของการช่วยเหลือดูแลระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องเหมือนเดิม (ภาพ : องค์การบริหารองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี)
พวกเด็กหนุ่มสาวหน้าใสเดินเรียงแถวทยอยลอดซุ้มทางมะพร้าวเข้าไปทีละคน ทีละคน พอพ้นประตูเข้าไปในเขตรั้วมหาวิทยาลัย พวกนักศึกษารุ่นพี่ก็เอาพวงมาลัยดอกมะลิมาคล้องคอ และแล้วทั้งคู่ก็จะกลายเป็น “พี่มาลัย” และ “น้องมาลัย” ที่จะคอยช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกันตลอดระยะเวลาที่ศึกษาที่นี่
ทว่า นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา กิจกรรมที่กลายเป็นประเพณีไปแล้ว อย่างกิจกรรม “รับน้องคล้องมาลัย”ขององค์การบริหารองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หรือ ม.อ.ปัตตานี เปลี่ยนไปจากการคล้องมาลัยดอกมะลิที่รุ่นพี่ร้อยมากับมือ ไปเป็นการมอบดอกกุหลาบแทน อันมีนัยยะถึงบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะสถานการณ์ความรุนแรง
ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ คือ ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา มีสัดส่วนของนักศึกษาที่มาจากนอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้น้อยกว่านักศึกษาจากในพื้นที่เป็นอย่างมาก อันเป็นผลมาจากปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนนอกพื้นที่ไม่กล้าเข้ามาเรียนที่นี่
เมื่อจำนวนคนนอกพื้นที่น้อยลง จึงกลายเป็นโอกาสให้นักศึกษาในพื้นที่มีโอกาสได้เข้ามาเรียนในสถาบันนี้มากขึ้นตามไปด้วย รูปแบบกิจกรรมจึงต้องปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมกับนักศึกษาที่ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่และเป็นมุสลิม
แม้รูปแบบจะปรับเปลี่ยนไป แต่ความหมายของ “รับน้องคล้องมาลัย” ยังคงเหมือนเดิม คือการช่วยเหลือดูแล โดยเฉพาะการที่รุ่นพี่ต้องคอยให้คำปรึกษาทั้งเรื่องการเรียนและเรื่องอื่นๆ ให้แก่น้องมาลัย โดยเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นในช่วงเดือนแรกของภาคเรียนที่ 1 ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 25 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา
ไม่เพียงแต่กิจกรรมรับน้องที่เปลี่ยนไปเท่านั้น ยังมีอีกหลายอย่างที่หลายคนยังติดตามความเปลี่ยนแปลงและความเคลื่อนไหวใน ม.อ.ปัตตานี โดยเฉพาะการเข้ามาเรียนของนักศึกษาจากนอกพื้นที่ ซึ่งจะมีผลต่อความหลากหลายของนักศึกษา ซึ่งช่วงสั่งสมประสบการณ์และรู้จักปรับตัวในการอยู่ร่วมกันของนักศึกษาที่มีพื้นฐานที่แตกต่างกันดังเช่นในอดีต ทั้งยังช่วยในเรื่องการเรียนของนักศึกษาด้วย เพราะทำให้นักศึกษาต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันกับคนอื่นได้
ปัจจุบันบรรยากาศดังกล่าว กำลังค่อยๆ กลับมาเหมือนเดิม นักศึกษาจากนอกพื้นที่เริ่มเข้ามาเรียนที่นี่มากขึ้น
“เราตั้งใจมาเรียนที่ ม.อ. ปัตตานี”
นางสาวณัฐกานต์ เพ็งสกุล หรือใบเฟิร์น ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นนักศึกษาคนหนึ่งที่เลือกมาเรียนที่ ม.อ.ปัตตานี โดยเลือกเรียนคณะศึกษาศาสตร์ ในเอกภาษาอังกฤษ ชั้นปีที่ 1
ใบเฟิร์น เล่าว่า สอบติดตอน ม.อ.เปิดรับตรงแล้ว แต่ผู้ปกครองไม่ให้มา จากนั้นจึงสอบเอ็นทรานซ์รอบ GATT-PATT อีกครั้งและสอบติดที่นี่ ผู้ปกครองจึงยอมให้มา
“ก่อนจะมาที่นี่ รู้สึกกลัวเหตุการณ์ในพื้นที่อยู่บ้างและกังวลเรื่องการปรับตัว เพราะนักศึกษาและคนที่นี่ส่วนใหญ่นักถือศาสนาอิสลาม กลัวว่าจะปรับตัวเข้ากับพวกเขาไม่ได้และกลัวจะอยู่ไม่ได้ แต่ก็ตั้งใจจะมาเรียนที่นี่แล้ว จึงตัดสินใจมา”
ใบเฟิร์น เล่าอีกว่า ในวันที่มาสอบสัมภาษณ์ เริ่มรู้สึกว่าปัตตานีน่าอยู่ จึงยิ่งอยากมาเรียนมากขึ้น และเมื่อได้มาอยู่ก็รับรู้ได้เลยว่านักศึกษาในผู้คนในพื้นที่แห่งนี้มีความเป็นกันเองมาก
ส่วนนางสาวศิรินทิพย์ สุดจิตร์ หรือทิว จากจังหวัดตรัง นักศึกษาซึ่งอยู่ชั้นปีและเอกเดียวกับใบเฟิร์น ให้เหตุผลที่เข้ามาศึกษาที่ ม.อ.ปัตตานีว่า เพราะอยากมาเป็นลูกพระบิดา และตั้งใจเลือกที่จะมาเรียนที่นี่อยู่แล้ว
ทิว บอกว่า มีความมั่นใจในคุณภาพการศึกษาของม.อ.ปัตตานี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับ 1 ใน 5 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย และมั่นใจว่าเมื่อเรียนจบแล้วจะมีงานทำแน่นอน โดยตนได้ทุนเรียนดี ซึ่งเป็นโควต้าที่ให้นักศึกษาจากนอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
“ผู้ปกครองให้อิสระเต็มที่ที่จะเลือกเรียนที่ไหนก็ได้ เพราะชีวิตเป็นของเราเอง แต่ก็ได้ฝากให้ดูแลตัวเองด้วย เช่น ให้พยายามอยู่ในมหาวิทยาลัยให้มากที่สุด หรือหากจะออกนอกมหาวิทยาลัยก็ให้ระวังตัว” ทิว ยืนยัน
ทิวบอกว่า เธอเคยมาปัตตานีหลายครั้งแล้ว เห็นว่า สื่อนำเสนอเกินความเป็นจริง เพราะตอนแรกที่ดูข่าวก็รู้สึกว่า เป็นพื้นที่ที่มีความรุนแรง แต่เมื่อได้เข้ามาเรียนและใช้ชีวิตในพื้นที่จริงๆ ก็ไม่เห็นว่าจะมีเหตุการณ์เหมือนที่เป็นข่าว หรือถ้ามี ก็ไม่ได้เกิดเหตุในเขตเมืองปัตตานี
“ยิ่งอยู่ในรั้ว ม.อ.ปัตตานีก็ยิ่งปลอดภัย รวมถึงอาจารย์ และรุ่นพี่ทุกคนก็มีความน่ารักและเป็นกันเอง” ทิว กล่าว
ขณะที่นางสาวศุภรัตน์ ใบเต้ หรือซอ นักศึกษาชั้นปี 1 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เอกมลายูศึกษา จากจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้เหตุผลว่า ตั้งใจที่จะมาเรียนที่ม.อ.ปัตตานีอยู่แล้ว ก่อนที่จะมาผู้ปกครองก็เป็นห่วง แต่ท้ายที่สุดก็ยอมให้มา
ซอ เล่าว่า สอบเข้ามาโดยวิธีการรับตรง ซึ่ง 5 อันดับแรกของสาขาที่เลือกอยู่ในวิทยาเขตปัตตานีทั้งหมด ตัวเองเป็นมุสลิมอยู่แล้ว จึงไม่ต้องปรับตัวมากยกเว้นเรื่องภาษามลายู เพราะไม่มีพื้นฐานด้านนี้เลย
สถาบันการศึกษาที่ยังคงความหลากหลาย
ส่วนในมุมมองของอาจารย์ อย่างนายมูหัมมัดมันซูร หมัดเร๊าะ หัวหน้าแผนกวิชาภาษาอาหรับ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เล่าว่า ทั้งช่วงก่อนปี 2547 ที่เริ่มมีเหตุไม่สงบและหลังปี 2547 นักศึกษาเอกภาษาอาหรับไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก คือมีทั้งไทยพุทธและมุสลิมที่มาจากภาคกลาง แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นนักศึกษาในพื้นที่
“ก่อนปี 2547 มีนักศึกษาที่มาไกลสุด คือจากจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดแพร่ ซึ่งนักศึกษาไทยพุทธที่มีความตั้งใจเรียนภาษาอาหรับอย่างจริงจังมาก ส่วนมากมาจากอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และจังหวัดนครศรีธรรมราช ช่วงนั้นนักศึกษาชั้นปีละเพียงประมาณ 15 คน เป็นนักศึกษานอกพื้นที่ประมาณ 6-7 คน ปัจจุบันมีนักศึกษาชั้นปีละ 50 คน ส่วนใหญ่มาจากในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้”
“ปัจจุบันมีนักศึกษาที่มาไกลสุด คือ จากจังหวัดปทุมธานี จำนวน 2 คน โดยอยู่ชั้นปีที่ 2 และชั้นปีที่ 3”
นายมูหัมมัดมันซูร บอกว่า นักศึกษาจากในพื้นที่มีพื้นฐานภาษาอาหรับอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องปรับความรู้พื้นฐานด้านภาษาอาหรับเล็กน้อย ต่างกับนักศึกษาไทยพุทธที่ไม่มีพื้นฐานเลย จึงต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่แรก แต่เนื่องจากพวกเขามีความตั้งใจที่จะมาเรียนด้านนี้มาก ผลการเรียนจึงไม่ค่อยมีปัญหามากนัก
นางสาวอรพรรณ จันทร์เทา อาจารย์ประจำแผนกวิชาภาษาเกาหลี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ บอกว่า ก่อนปี 2547 เอกภาษาเกาหลี มีนักศึกษารหัส 45 จำนวน 33 คน เป็นนักศึกษาจากนอกพื้นที่ถึง 30 คน และจากในพื้นที่ 3 คน นักศึกษาจากนอกพื้นที่ส่วนมากมาจากจังหวัดภูเก็ต จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดกระบี่ ตามลำดับ
แต่หลังปี 2547 จนถึงปัจจุบัน มีนักศึกษาจากนอกพื้นที่ส่วนมาก ก็มาจากอำเภอหาดใหญ่ และอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดกระบี่ ซึ่งก็มีเพียง 1 - 2 คน โดยแต่ละชั้นปีมีประมาณ 22 คน
“อาจารย์มักจะเตือนนักศึกษาที่นี่ให้ระวังตัวด้วย โดยเฉพาะเวลาอยู่นอกมหาวิทยาลัย แต่นักศึกษาหลายคนพักอยู่นอกมหาวิทยาลัย มีบางคนทำงานรับจ้างเสิร์ฟอาหารเป็นการหารายได้เสริมด้วย” อาจารย์ประจำแผนกวิชาภาษาเกาหลี กล่าว
คุณภาพการศึกษาเท่านั้นที่ดึงคนนอกเข้ามาได้
ในขณะที่ในมุมมองของอาจารย์ระดับผู้บริหาร อย่างดร.ศักรินทร์ ชนประชา รองคณบดีฝ่ายบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคลากร คณะศึกษาศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ระบุว่า แม้เหตุไม่สงบในพื้นที่จะรุนแรงขึ้นหรือลดลง ก็ยังไม่สามารถทำให้นักศึกษานอกพื้นที่เข้ามาเรียนในม.อ.ปัตตานีได้มากขึ้นอยู่ดี เพราะภาพเก่ายังฝังอยู่ในความรู้สึกของคน ว่าเป็นพื้นที่รุนแรงและน่ากลัว ที่เป็นเช่นนั้น เพราะการนำเสนอของสื่อ ซึ่งปัจจุบันความเป็นจริงไม่ได้เป็นไปตามที่สื่อนำเสนอ
ดร.ศักรินทร์ บอกว่า ที่ผ่านมา แม้จะมีการให้ทุนการศึกษาหรือทุ่มงบประมาณจำนวนมากให้กับมหาวิทยาลัย แต่ก็ยังไม่สามารถดึงนักศึกษาจากนอกพื้นที่เข้ามาเรียนได้มากนัก ดังนั้น จึงอยู่ที่คุณภาพของการศึกษาเท่านั้นที่จะสามารถดึงคนนอกเข้ามาเรียนได้
“ตัวอย่างเช่น ทำไมนักศึกษาต้องมาเรียนที่คณะศึกษาศาสตร์ ของม.อ.ปัตตานี ก็เพราะเป็นคณะที่มีชื่อเสียงด้านคุณภาพ จนเป็นที่พูดถึงว่า หากจะเรียนครูต้องมาเรียนที่ ม.อ.ปัตตานี”
ดร.ศักรินทร์ ระบุว่า แม้หลังปี 2547 เป็นต้นมา มีนักศึกษานอกพื้นที่เข้ามาเรียนน้อยลง ส่งผลให้มีนักศึกษาในพื้นที่มีโอกาสเข้ามาเรียนม.อ.ปัตตานีมากขึ้น แต่เนื่องจากคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานของที่นี่ยังต่ำ จึงยังทำให้หาคนเก่งที่เป็นคนในพื้นที่ไม่ได้
“แต่นั่นก็เป็นนิมิตหมายที่ดี ที่จะทำให้คนในพื้นที่ได้รับการศึกษาที่ดีขึ้นด้วย” ดร.ศักรินทร์ ทิ้งท้ายให้เห็นถึงสิ่งที่ได้มากับสิ่งที่ต้องเสียไป คล้ายกับเป็นโจทย์ให้ต้องคบคิดกันต่อไปว่า จะพัฒนาและยกระดับการศึกษาโดยเฉพาะนักศึกษาให้มีคุณภาพสูงขึ้นต่อไปอย่างไร
และแล้วหนุ่มสาวหน้าใสกลุ่มสุดท้าย ก็ค่อยๆ ลอดซุ้มออกมาทีละคน หลายคนต้องเข้ามาอยู่ในม.อ.ปัตตานี ก่อนเปิดเทอมหลายวัน เพื่อปรับพื้นฐานความรู้กับรุ่นพี่ ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งที่เพิ่งมีมาไม่กี่ปี เนื่องจากมหาวิทยาลัยต้องการให้นักศึกษาในพื้นที่มีความพร้อมก่อนเข้าเรียนจริงๆ โดยหวังจะยกระดับคุณภาพของนักศึกษาให้สูงขึ้นอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต
ปี mso-fareast-font-family:"Times New Roman""> |
3 จว. |
นอก mso-fareast-font-family:"Times New Roman"">3 จว. |
รวม mso-fareast-font-family:"Times New Roman""> |
2542 |
153 |
818 |
971 |
2543 |
208 |
781 |
989 |
2544 |
476 |
1,149 |
1,625 |
2545 |
454 |
1,544 |
1,998 |
2546 |
564 |
1,377 |
1,941 |
2547 |
963 |
1,387 |
2,350 |
2548 |
1,641 |
1,014 |
2,655 |
2549 |
1,643 |
677 |
2,320 |
2550 |
1,556 |
649 |
2,205 |
2551 |
1,775 |
591 |
2,366 |
2552 |
2,203 |
166 |
2,369 |
2553 |
2,035 |
128 |
2,163 |
2554 |
1,970 |
331 |
2,301 |
2555 |
2,265 |
161 |
2,426 |
รวม mso-fareast-font-family:"Times New Roman""> |
17,906 |
10,773 |
28,679 |
ที่มา : งานทะเบียนและสถิตินักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี