Skip to main content
บรรดาญาติของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปะทะที่บริเวณมัสยิดกรือเซะเมื่อแปดปีก่อนรวมตัวกันในช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเพื่อคัดค้านมติของทางการที่อนุมัติเงินเยียวยาให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตเพียงรายละ 4 ล้านบาท การชดเชยด้วยตัวเงินที่มุ่งหวังให้เป็นการเยียวยาความรู้สึกอาจกลับกลายเป็นการตอกย้ำบาดแผลที่อยู่ในใจคนมลายูมุสลิมก็เป็นได้
 
นางแสนะ บูงอตันหยง หนึ่งในตัวแทนผู้ชุมนุม ผู้ซึ่งสูญเสียลูกชายจากเหตุการณ์กรือเซะแถลงในวันที่ 18 มิถุนายน 2555 ว่าตนรับไม่ได้กับมติของคณะกรรมการเยียวยาฯ ที่ตัดเงิน 3.5 ล้านบาทออกไปโดยอ้างว่า “มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่”
 
“ความจริงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าในมัสยิดนั้นมีทั้ง เยาวชน และคนชราที่ไม่สามารถต่อสู้ได้”, นางแสนะกล่าวในใบแถลงการณ์ที่เขียนด้วยลายมือเป็นภาษาไทย   “ถามว่าบุคคลเหล่านี้ได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ ? หรือได้รับการพิพากษาหรือไม่ ? ซึ่งเห็นได้ว่าหน่วยงานภาครัฐใช้วิธีวิสามัญฆาตกรรม โดยใช้อาวุธสงครามกระหน่ำอย่างหนัก ถล่มเพื่อหวังแก่ชีวิตโดยไม่คำนึงถึง (สิทธิ) มนุษยชน”
 
 
ญาติของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์กรือเซะ ในวันที่ 28 เมษายน 2547 ชุมนุมประท้วงแสดงความไม่พอใจต่อมติของคณะกรรมการเยียวยาฯ ที่อนุมัติเงินเยียวยาเพียง 4 ล้านบาท
 
กระแสคัดค้านเกิดขึ้นภายหลังจากที่คณะกรรมการเยียวยาฯ มีมติในวันที่ 10 มิถุนายน 2555 ให้เงินเยียวยาจำนวน 7.5 ล้านบาทกับผู้ได้รับผลกระทบในเหตุการณ์ 28 เมษายน 2547 กรณีสะบ้าย้อยจำนวน 19 ราย ในขณะที่กรณีกรือเซะให้เพียงรายละ 4 ล้านบาท 
 
นายแพทย์อนันต์ชัย ไทยประทาน หนึ่งในกรรมการของคณะกรรมการเยียวยาฯ อธิบายฐานคิดของตัวเลข 4 ล้านว่า “เหตุการณ์มัสยิดกรือเซะเป็นกรณีที่มีการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่รัฐก็กระทำเกินกว่าเหตุ        
 
ในกรณีสะบ้าย้อย  นายแพทย์อนันต์ชัยกล่าวว่าคณะกรรมการได้พิจารณาจากหลักฐานในร้านอาหารที่เกิดการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่ความมั่นคงกับกลุ่มคนมลายูมุสลิม แต่ไม่พบร่องรอยของการต่อสู้และไม่พบรอยกระสุนรอบข้างของร้านที่เกิดเหตุ  พบเพียงแต่รอยกระสุนบนพื้น  นอกจากนี้ คนที่ปะทะกับเจ้าหน้าที่ก็ยอมแพ้แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังยิงพวกเขาจนเสียชีวิตทั้งหมด คณะกรรมการจึงพิจารณาให้เงินเยียวยา 7.5 ล้าน
 
นางคอลีเยาะ หะหลี ซึ่งสูญเสียพ่อจากเหตุการณ์กรือเซะกล่าวว่าตนเข้าใจว่าคณะกรรมการเยียวยาฯ มองเพียงว่าเหตุการณ์นี้มีเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิตด้วย  แต่ไม่ได้พิจารณารายละเอียดว่าคนในมัสยิดนั้น บางคนอาจจะไม่ได้มีส่วนร่วมกับการปะทะกับเจ้าหน้าที่
 
 
ชาวบ้านมาลงทะเบียนเพื่อรับการเยียวยาสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ วันที่ 22 พฤษภาคม 2555 ที่โรงแรมปาร์ควิว รีสอร์ต จ.ปัตตานี
 
ภายหลังการชุมนุมประท้วงของชาวบ้าน ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อทบทวนการพิจารณาการเยียวยาในกรณีกรือเซะ ว่าที่ ร.ต background:white">.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีในฐานะประธานคณะกรรมการพิเศษนี้กล่าวว่า ตนได้เข้าไปทำความเข้าใจกับญาติในกรณีกรือเซะแล้วและชาวบ้านยอมรับในมติการเยียวยานี้
 
“เจ็ดปีที่มาไม่มีรัฐบาลชุดใดเข้ามาดูแลช่วยเหลือต่อประชาชนเหล่านี้เลยและเจ็ดปีที่ผ่านมาประชาชนเหล่านี้อยู่นอกการช่วยเหลือจากภาครัฐ แต่รัฐบาลชุดนี้และภายใต้การนำของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศอ.บต. ได้นำประชาชนกลุ่มนี้มาอยู่ในระบบการช่วยเหลือของรัฐ” ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติกล่าว
 
“ส่วนเรื่องของการขอความเป็นธรรมให้มีการตรวจสอบนั้น เป็นเพียงอารมณ์ชั่ววูบเท่านั้นและตอนนี้ประชาชนมีความเข้าใจในเจตนารมณ์ของรัฐบาลเป็นอย่างดี” เขาอธิบาย
 
              สำหรับกรณีปะทะอื่นๆ อีก 9 จุดซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 28 เมษายน 2547 นั้น อนุกรรมการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในเหตุการณ์ 28 เมษายน 2547 และ 25 ตุลาคม 2547 (เหตุการณ์ตากใบ) ยังไม่ได้มีมติในเรื่องนี้ อนุกรรมการมีหน้าที่ในการพิจารณาเบื้องต้นว่ากรณีใดเป็นกรณีการกระทำที่เกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ ก่อนจะส่งความเห็นไปยังคณะกรรมการเยียวยาฯ
 
นางสาวนารี เจริญผลพิริยะ หนึ่งในกรรมการของอนุกรรมการชุดนี้กล่าวว่าสำหรับกรณีอื่นๆ ในเหตุการณ์วันที่ 28 เมษายน 2547 ขณะนี้คณะอนุกรรมการกำลังจะให้ทนายความที่ทำคดีนี้เสนอข้อมูลเพื่อพิจารณาในประเด็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐกระทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ 
 
 ปัญหาอีกประการหนึ่งที่นางสาวนารีชี้ว่าอาจจะเกิดขึ้นคือ วงเงิน 1,000 ล้านบาทที่รัฐตั้งงบสำหรับการเยียวยากรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำเกินกว่าเหตุนั้นอาจจะไม่เพียงพอต่อกรณีที่เกิดขึ้นทั้งหมด ซึ่งจะทำให้มีปัญหากับกรณีที่ได้รับการอนุมัติในช่วงหลัง  เพราะงบประมาณอาจจะไม่เพียงพอ 
 
              การเคลื่อนไหวเล็กๆ ของชาวบ้านในครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงความซับซ้อนของการเยียวยา  ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาอย่างรัดกุม ละเอียด รอบคอบและมีฐานคิดที่ชัดเจน มิฉะนั้น การเยียวยาซึ่งคาดหวังว่าอาจจะนำไปสู่การปรองดอง อาจกลายเป็นชนวนที่ทำให้เกิดความขัดแย้งมากยิ่งขึ้นก็เป็นได้
 
 
 
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 เห็นชอบในหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอนุมัติกรอบงบประมาณจำนวน 2,080 ล้านบาท โดยแบ่งกลุ่มบุคคลที่เข้าข่ายได้รับการเยียวยาเป็น  4 กลุ่ม  ได้แก่
 
กลุ่มที่ 1 ประชาชนทั่วไปที่ได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบและยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา หรือได้รับการเยียวยาแล้วแต่ยังมีความเดือนร้อนไม่สามารถพึ่งพาตัวเอง หรือได้รับการช่วยเหลือเยียวยาแล้วแต่ยังไมได้มาตรฐานสากล  ในกลุ่มนี้มีวงเงิน 500 ล้านบาท
 
กลุ่มที่ 2 เจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบและยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา หรือได้รับการเยียวยาแล้วแต่ยังมีความเดือนร้อนไม่สามารถพึ่งพาตัวเอง หรือได้รับการช่วยเหลือเยียวยาแล้วแต่ยังไมได้มาตรฐานสากล   ในกลุ่มนี้มีวงเงิน 200 ล้านบาท
 
กลุ่มที่ 3 ผู้ที่ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ก่อเหตุรุนแรงที่เป็นเหตุการณ์เฉพาะกรณี โดยแบ่งเป็นสามประเภท คือ หนึ่ง ผู้ได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐจนเป็นเหตุให้ได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิตหรือร่างกายหรือจิตใจ โดยผู้เสียชีวิตต้องไม่ใช่ผู้กระทำผิด เช่น เหตุการณ์28 เมษายน 2547 เหตุการณ์ตากใบ สอง กรณีการบังคับให้สูญหาย และสาม เหตุการณ์เฉพาะกรณีที่เกิดจากการกระทำของผู้ก่อเหตุรุนแรงที่เจ้าหน้าที่รัฐผู้รับผิดชอบไม่สามารถเข้าช่วยเหลือได้จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจนทุพพลภาพ  ในกลุ่มนี้มีวงเงิน 1,000 ล้านบาท
 
กลุ่มที่ 4 บุคคลที่ถูกควบคุมตัวหรือถูกคุมขัง หรือถูกดำเนินคดีเป็นผู้ต้องหา หรือเป็นจำเลยและถูกควบคุมตัวหรือคุมขังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และต่อมาปรากฏหลักฐานว่าไม่ได้กระทำความผิด หรือมีการถอนฟ้อง หรือคำพิพากษายกฟ้อง  ในกลุ่มนี้มีวงเงิน 300 ล้านบาท
วงเงินที่เหลืออีก 80 ล้านเป็นงบดำเนินการ