Skip to main content
กิจกรรมเสวนาครั้งนี้เป็นการเปิดพื้นที่ให้กับผู้หญิงในการเล่าเรื่องราวหรือแง่มุมผ่านภาพถ่าย โดยมีวิทยากร 2 คน คือ อำพรรณี สะเตาะ ช่างภาพหญิงชาวยะรัง เจ้าของผลงาน Burqa 2010 ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสาขาศิลปภาพถ่าย ม.รังสิต และ ดนยา จุฬพุฒิพงษ์ อดีตช่างภาพนิตยสาร a day weekly และหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ปัจจุบันเป็นช่างภาพอิสระ 
 
ภาพส่วนหนึ่งในผลงานชุด “Burqa 2010 อิสรภาพที่ถูกขโมย” ของอำพรรณี สะเตาะ ซึ่งเป็นภาพที่ถ่ายในสถานที่สำคัญต่างๆ ในประเทศฝรั่งเศส
 
อำพรรณีเกิดวันที่ 16 พฤษภาคม 2526 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยรังสิต คณะศิลปะและการออกแบบ สาขาศิลปะภาพถ่าย และได้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัย L’École Nationale Superiéure de la Photographie เมืองอัรล์ส์ (Arles) ประเทศฝรั่งเศส สาขาศิลปะภาพถ่าย หลังจบการศึกษาแล้วเธอก็นำวิชาความรู้กลับมาถ่ายทอดให้กับนักศึกษาซึ่งเป็นรุ่นน้องในสถาบันเดียวกับที่เธอในตำแหน่งอาจารย์ประจำ มหาวิทยาลัยรังสิต คณะศิลปะและการออกแบบ สาขาศิลปะภาพถ่าย  
 
อำพรรณีเล่าให้ฟังว่าช่วงหนึ่งในชีวิตที่ฝรั่งเศสของเธอเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในยุคสมัย เมื่อการเมืองเคลื่อนตัว ชีวิตความเป็นอยู่ วิถี กฎหมาย หลายอย่างเปลี่ยนไป ครั้งหนึ่งมีการปิดกั้นบางอย่างเกี่ยวกับศาสนาเพื่อต้องการลดทอนความต่างในสังคม แต่ในขณะเดียวกันก็กลับเพิ่มทวีความรุนแรงของความรู้สึกที่ถูกลิดรอน อย่างน้อยก็เธอคนหนึ่งที่เป็นผู้หญิงมุสลิม
 
ทั้งนี้ ในปี 2553 รัฐบาลฝรั่งเศสได้ร่างกฎหมายว่าด้วยการห้ามผู้หญิงมุสลิมคลุมหน้าในที่สาธารณะ ขณะที่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับกับสิทธิของผู้หญิงมุสลิมและความไม่เหมาะสมในกรณีดังกล่าว
 
“ถึงขนาดว่า ถ้าใครสวมใส่ฮิญาบในประเทศฝรั่งเศสจะถูกปรับกว่า 100 ยูโร หรือราว 6,000 บาท” อำพรรณีกล่าว 
 
ต่อมาช่วงเดือนเมษายน 2554 รัฐบาลฝรั่งเศสได้ประกาศใช้กฎหมายห้ามผู้หญิงสวมผ้าคลุมหน้าและศีรษะในที่สาธารณะ เธอในฐานะนักศึกษาภาพถ่ายก็เกิดความคับข้องใจจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอและกลุ่มที่ต่อสู้เรื่องการละเมิดสิทธิในประเทศฝรั่งเศสซึ่งไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าวได้ร่วมกันต่อต้านกฎหมายนี้ โดยเธอเลือกใช้ศิลปะเพื่อสื่อสารให้ผู้คนรับรู้ว่าหญิงมุสลิมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะสวมใส่อะไรก็ได้ ทั้งศิลปะยังเป็นศาสตร์ที่เธอชื่นชอบ  เธอจึงถือโอกาสนี้ประกาศความเป็นมุสลิมให้คนอื่นได้รับรู้อย่างภาคภูมิใจโดยการคลุมฮิญาบตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
 
“งานศิลปะมาจากความรู้สึกและความคิดของตนเอง เพียงแต่แนวคิดในการนำเสนอของผู้หญิงและผู้ชายต่างกัน... ซึ่งเราต้องกล้าเริ่มที่จะสื่อสารก่อน ส่วนกระบวนการทำให้ดูน่าสนใจนั้น เป็นขั้นตอนต่อไป... ส่วนผู้ดูจะรู้สึกนึกคิดหรือมีทัศนคติอย่างไรกับภาพนั้นก็เป็นเรื่องปกติ และเป็นสิทธิของผู้ดูภาพ หากมีเพียง 1 - 2 คนที่เข้าใจผลงานของเรา ก็ถือว่าทำงานชิ้นนี้ประสบผลสำเร็จแล้ว เพราะการถ่ายภาพภาพเดียวยากที่จะสื่อสารให้คนทั่วไปเข้าใจได้”
 
ทั้งหมดเป็นแรงบันดาลใจสำหรับภาพถ่ายชุดนี้ซึ่งอยากให้ผู้ชมได้ตระหนักและไตร่ตรองในสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมฝรั่งเศส  การแสดงออกถึงความคับข้องใจ  ผ่านภาพที่แสดงให้เห็นชุดผู้หญิงมุสลิมหลากสีกับอัตลักษณ์ที่แปลกตาในสถานที่ที่สำคัญๆ ของฝรั่งเศส  เป็นการเรียกร้องเล็ก ๆ ที่ถ่ายทอดผ่านภาพถ่ายชุดนี้
 
จากความคิดตรงนั้น เธอจึงตัดสินใจสั่งตัดชุดบุรก้า (Burqa) หลากสีจากบ้านเกิด ยะรัง ปัตตานี เพื่อนำมาสวมใส่ถ่ายภาพตรงหน้าหอไอเฟล หน้าประตูชัย Arc de Triomphe และอีกหลายแห่ง โดยปล่อยให้ชุดบุรก้าแวววาวหลากสีพลิ้วไหวไปตามกระแสลมเพื่อสะท้อนให้เห็นสิทธิและเสรีภาพที่หญิงมุสลิมเช่นเธอถูกลิดรอนไป
 
สำหรับผลงาน “อิสรภาพที่ถูกขโมยหรือ Burqa 2010” ใช้เวลาในการทำ 5 - 6 เดือน โดยจัดแสดงภาพไปแล้วเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม – 25 กันยายน 2554 โดยเป็นภาพแนว Self Portraitt โดยการใช้ Conceptual Art ซึ่งหมายถึง การใช้แนวคิดเป็นที่ตั้ง แล้วใช้สิ่งที่สะเทือนใจที่สุดเป็นที่ตั้งและแรงบันดาลใจ
 
 “อย่าให้ความคุ้นเคยกลายเป็นความเคยชิน เพราะจะทำให้ไม่เห็นว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่สวยงาม เราต้องมีประเด็นที่จะสื่อสาร แม้จะมีเทคนิคในการถ่ายภาพไม่ดีก็ไม่เป็นไร ให้ประเด็นเราชัดเจนแค่นั้นก็พอและเพื่อความสมจริงและความละเอียดของภาพ การทำงานสารคดีของดิฉันจะไม่มีการใช้โปรแกรมตัดต่อภาพใดๆ ทั้งสิ้น และจะใช้แสงช่วยให้ภาพดูสวยงามขึ้นเท่านั้น” อำพรรณีกล่าว
 
ดนยา จุฬพุฒิพงษ์ ช่างภาพอิสระ เล่าถึงการถ่ายภาพในรูปแบบของเธอว่า หากช่างภาพเป็นผู้หญิงจะทำให้ผู้ถูกถ่ายไม่รู้สึกเกร็ง  ด้วยความชอบเดินทาง ท่องเที่ยวและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้วยการมองผ่านเลนส์กล้องถ่ายรูป และอยากบันทึกกิจกรรมในสถานที่นั้นๆ เธอจึงใช้ความชอบเหล่านี้เป็นแนวคิดในการถ่ายรูป 
 
“ภาพที่ถ่ายส่วนใหญ่เป็นภาพถ่ายแบบ Street Photo… โดยทั่วไปในขณะถ่ายภาพ จะไม่เข้าไปอยู่ใกล้ๆ ผู้ถูกถ่าย เพราะผู้ถูกถ่ายอาจเกิดความรู้สึกว่ากำลังถูกคุกคาม แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็จะยิ้มให้ก่อนถ่ายค่ะ... ส่วนเทคนิคในการลงพื้นที่เก็บภาพ คือ ใช้ความนอบน้อม และทำตัวให้กลมกลืนกับพื้นที่ที่ลงไปเก็บภาพ ทั้งต้องช่างสังเกต และเก็บรายละเอียดที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นๆ อีกด้วย” ดนยา กล่าว
 
 
 
 
 
ประวัติแสดงงานและรางวัลของ  อำพรรณี สะเตาะ
 
2547  นิทรรศการภาพถ่ายขาว-ดำ ณ มหาวิทยาลัยรังสิต ประเทศไทย
2549 “Creator” ณ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยนเรศวรและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประเทศไทย
2549 “Post to Grapher” ณ สีลมแกลอรี่ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
2550 “YOUNG THAI ARTIST AWARD 2007” ณ หอศิลป์เจ้าฟ้า กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เธอได้รับได้รับรางวัลยอดเยี่ยม สาขาศิลปะภาพถ่ายจากงานแสดงภาพถ่ายครั้งนี้
2551 “Face à Faces” เดือนแห่งภาพถ่าย ณ สีลมแกลอรี่ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
2552 “PhotophnomPenh Festival 2009” ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
2553 “Images Singulières” ณ Sète ประเทศฝรั่งเศส
2554 “Idols and Icons” ณ Yavuz Fine Art ประเทศสิงคโปร์