Skip to main content

เปิดรายงานเงาการขจัดเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ภาคประชาสังคมเสนอยูเอ็นในเวทีที่เจนีวา เสนอรัฐเลิกกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขจัดวัฒนธรรมผู้กระทำผิดลอยนวล แนะรัฐส่งเสริมการสอนภาษามลายูด้วยอักษรยาวี

ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination - ICERD) มาเกือบหนึ่งทศวรรษแล้วหลังจากที่ได้มีการให้สัตยาบันไปเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2546 แต่ประเทศไทยก็ยังไม่เคยส่งรายงานประเทศให้กับ สหประชาชาติ (UN) 

ทว่า ปีนี้จะเป็นครั้งแรกที่ไทยส่งรายงานสถานการณ์การดำเนินการในเรื่องการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ  ให้กับคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (CERD Committee) สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ  (UN  Office of the High Commissioner for Human Rights (UNOHCHR) ซึ่งมีการประชุมในกรณีของประเทศไทยระหว่างวันที่ 9 – 10 สิงหาคม 2555 นี้ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
 
(ภาพจากรายงานคู่ขนานเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ : ประเทศไทย จัดทำโดย "พันธมิตรเฝ้าระวังการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ") 
 
การประชุมจะได้พิจารณารายงานสถานการณ์การดำเนินการเรื่องการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติของรัฐบาล (state report) ควบคู่กับรายงานของภาคประชาสังคมที่เรียกกันว่า "รายงานเงา"(shadow reports)  ซึ่งเป็นรายงานคู่ขนานกับของรัฐบาล ดังนั้น ในการประชุมครั้งนี้จึงมีตัวแทนภาคประชาสังคมเข้าร่วมประชุมเพื่อนำเสนอรายงานดังกล่าวด้วย 
 
รายงานเงาที่ได้มีการส่งไปมี 4 ฉบับ คือ หนึ่ง รายงานที่จัดทำโดย “พันธมิตรเฝ้าระวังการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ” (Coaliation of Racial Discrimination Watch) ซึ่งเป็นเครือข่ายหลวมๆ ขององค์กรภาคประชาสังคมที่ตั้งขึ้นเพื่อเตรียมการเขียนรายงานนี้  โดยมีมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์ปฎิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง เป็นองค์กรหลัก  สอง รายงานที่จัดทำโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สาม รายงานที่จัดทำโดยคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists) และ สุดท้ายเป็นรายงานที่จัดทำโดย “Alliance for CERD Alternative Report on Racial Discrimination towards Malayu in Southern Border Provinces of Thailand” (ACARM) ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มประชาสังคม 21  กลุ่มและมีมูลนิธิพัฒนาศักยภาพชุมชนเป็นเลขานุการ 
 
นางสาวเกาซัร อาลีมามะ ผู้ช่วยทนายความ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม สำนักงานจังหวัดยะลาซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมเขียนร่างรายงานของพันธมิตรเฝ้าระวังการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติระบุว่าตนพยายามรวบรวมข้อมูลที่มีคนร้องเรียนต่อมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมบันทึกลงในรายงานคู่ขนานซึ่งจะได้เดินทางไปนำไปเสนอต่อ OHCHR ด้วยตัวเอง ซึ่งมี 8 ข้อ
 
ส่วนหนึ่งของรายงานเงาของพันธมิตรเฝ้าระวังการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติได้ยกประเด็นเรื่องการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เปิดช่องให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อคนในพื้นที่   และไม่ได้มีการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังก่อให้เกิดวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด หรือการไม่ต้องรับผิดชอบกับการกระทำผิดดังกล่าว (impunity)
 
โดยรายงานฉบับดังกล่าวเสนอให้รัฐยกเลิกการบังคับใช้กฎอัยการศึกและพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสามจังหวัดชายแดนใต้ และยกเลิกการเฝ้าระวังโดยใช้เหตุผลด้านเชื้อชาติ ซึ่งทำให้เกิดการคัดกรองบุคคลโดยดูจากลักษณะทางชาติพันธุ์ (Racial Profiling) ในมาตรการปราบปรามการก่อความไม่สงบ และปราบปรามการกระทำผิดด้านความมั่นคง 
 
นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ปฏิบัติต่อบุคคลที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัว ให้สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำที่เกี่ยวข้องกับการจับกุมและการควบคุมตัวบุคคลของกฎหมายไทยและมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยควรมีการควบคุมตัวบุคคลในสถานที่ควบคุมตัวที่กำหนดขึ้นตามกฎหมาย
 
รายงานยังระบุด้วยว่าแม้ว่าปัจจุบันไม่มีกฎหมายห้ามการสอนภาษามลายูในโรงเรียนไทย แต่ก็ไม่มีหลักสูตรที่เป็นภาษามลายูและโรงเรียนต่าง ๆ ก็ไม่ใช้ภาษามลายูในการสอน  แม้ว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้มีโครงการส่งเสริมภาษามลายูที่เขียนโดยใช้ตัวอักษรไทย แต่โครงการดังกล่าวก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นแนวทางที่ขัดแย้งกับความต้องการของคนในพื้นที่ ซึ่งถือว่าตัวเองเป็นชาติพันธุ์มลายู พวกเขาต้องการพูดและเขียน ภาษามลายูด้วยอักษรยาวี 
 
หลังจาก OHCHR ได้พิจารณารายงานทั้งสองส่วนแล้ว จะมีการจัดทำข้อเสนอแนะและส่งกลับมายังรัฐบาลไทยเพื่อให้รัฐบาลปฏิบัติตาม   น่าติดตามว่าทาง OHCHR  จะมีข้อเสนอแนะอย่างไร และรัฐบาลไทยจะตอบสนองมากน้อยแค่ไหน  และส่งผลต่อทิศทางการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
หมายเหตุ สำหรับผู้สนใจอ่านรายงานฉบับเต็มของรัฐบาลและของภาคประชาสังคมทั้ง 4 ฉบับ โปรดดู  www2.ohchr.org/english/bodies/cerd/cerds81.htm
 
 
เปิดเนื้อหารายงานเงาของ “พันธมิตรเฝ้าระวังการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ” ส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติต่อคนชายแดนใต้
 
สิทธิด้านการศึกษา
 
สิทธิด้านการศึกษาของชุมชนมลายูมุสลิมในย่อหน้าที่ 110 ระบุว่า ภาษามลายูเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ชีวิตประจำวันและการสื่อสารในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย
 
ในอดีตรัฐบาลสั่งห้ามการสอนภาษาภาษามลายูในทุกโรงเรียนในประเทศไทย ทั้งนี้ตามรัฐนิยมฉบับที่ 9 ซึ่งประกาศใช้ในปี 2483 โดยระบุว่า ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติและห้ามการสอน ภาษาอื่น แม้ว่าจะยกเลิกประกาศเช่นนี้ไปแล้ว แต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีผลเหมือนเดิมสำหรับโรงเรียนในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดอนุสัญญาฉบับนี้
 
ย่อหน้าที่ 34 ระบุว่า นอกจากนั้น ในปัจจุบันชาวมลายูมุสลิม บางส่วนใช้คำเรียกว่าชาวมลายูปาตานี หมายถึง กลุ่มชาติพันธุ์ที่กำเนิดและตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย กำลังเผชิญกับปัญหาที่คล้ายคลึงกัน โดยพวกเขาถูกมองว่าเป็นสาเหตุของความรุนแรงและความขัดแย้ง ในขณะเดียวกัน นโยบายปราบปรามการก่อความไม่สงบเป็นเหตุให้ชาวมลายูมุสลิมเชื้อสายมาเลหลายร้อยคนเสียชีวิต ตั้งแต่ปี 2547 ในกรณีตากใบ กรณีมัสยิดกรือเซะในวันที่ 28 เมษายน และที่ผ่านมาไม่เคยมีการประณาม ผู้ก่อความผิดเหล่านี้ และมีการสร้างทัศนคติในเชิงลบว่าบุคคลเหล่านี้สมควรแล้วที่จะถูกฆ่าให้ตาย
 
การบังคับใช้กฎหมายพิเศษ
 
ย่อหน้าที่ 36 ระบุว่า นับแต่ปี 2547 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ทั้งที่ปัตตานี ยะลานราธิวาส และสี่อำเภอของ สงขลา ได้แก่ อำเภอจะนะ สะบ้าย้อย เทพาและนาทวี มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกและกฎหมาย พิเศษอีกสองฉบับได้แก่ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินและพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
 
ตามกฎหมายดังกล่าว มีการควบคุมสิทธิและเสรีภาพบางประการเพื่ออำนวยความสะดวกให้ หน่วยงานสามารถแก้ไขและปราบปรามการก่อความไม่สงบ กฎหมายความมั่นคงเหล่านี้บังคับใช้เฉพาะ ชาวมุสลิม ที่ผ่านมาไม่มีการจับกุม ควบคุมตัวระหว่างรอการไต่สวน หรือระหว่างการไต่สวน หรือไม่มี การตั้งข้อหาตามกฎหมายเหล่านี้ต่อชาวพุทธหรือกลุ่มบุคคลอื่นๆ
 
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) และ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้ส่งมอบรายงาน “สิทธิมนุษยชนในระบบยุติธรรมทางอาญาในความ ขัดแย้งภาคใต้และนโยบายปราบปรามการก่อความไม่สงบของรัฐ” ให้กับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ในระหว่างกระบวนการทบทวนรายงานสิทธิมนุษยชนตามกลไก UPR ในเดือนตุลาคม 2554 สามารถดู รายงานได้ที่ http://voicefromthais.files.wordpress.com/2554/09/upr_report-eng-thai_on...
 
ภายหลังเหตุการณ์ในปี 2547 รัฐบาลได้ตอบโต้เป็นครั้งแรกด้วยการบังคับใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 เพื่อปราบปรามและป้องกัน การก่อความไม่สงบ
 
ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2548 มีการยกเลิกกฎอัยการศึกและนำพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาใช้แทน และประกาศสถานการณ์ ฉุกเฉินร้ายแรงขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ยกเว้นสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา
 
ภายหลังรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกอีกครั้ง และจนถึงปัจจุบันพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อยู่ใต้อำนาจของกฎหมายพิเศษทั้งสองฉบับ
 
มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรในสี่อำเภอของจังหวัดสงขลาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2552 หลังจากการยกเลิกกฎอัยการศึก ที่อำเภอแม่ลาน ปัตตานี มีการยกเลิกพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในเดือนมกราคม 2554 แต่ยังประกาศใช้กฎอัยการศึกอยู่ พ.ร.บ.ความ มั่นคงฯ เป็นกฎหมายใหม่อีกฉบับที่มีปัญหาและทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อหลักนิติธรรมกระทบต่อสิทธิมนุษยชนในระบบยุติธรรมทางอาญาไม่น้อยไป กว่าพ.ร.ก.ความมั่นคงฯ
 
ข้อเสนอแนะ:
 
ย่อหน้าที่ 37 ระบุว่า รัฐจะต้องยกเลิกการบังคับใช้กฎอัยการศึกและพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสามจังหวัดชายแดนใต้ และยกเลิกการเฝ้าระวังโดยใช้เหตุผลด้านเชื้อชาติ ซึ่งทำให้เกิดการคัดกรองบุคคลโดยดูจากลักษณะทางชาติพันธุ์ (Racial Profiling) ในมาตรการปราบปรามการก่อความไม่สงบ และปราบปรามการกระทำผิดด้านความมั่นคง
 
นอกจากนั้น ต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ปฏิบัติต่อบุคคลที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัว ให้สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำที่เกี่ยวข้องกับการจับกุมและการควบคุมตัวบุคคลของกฎหมายไทยและมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยควรมีการควบคุมตัวบุคคลในสถานที่ควบคุมตัวที่กำหนดขึ้นตามกฎหมาย
 
วัฒนธรรมของการลอยนวลพ้นผิด
 
ย่อหน้าที่ 65 ระบุว่า นับแต่ปี 2540 – 2550 มีการไต่สวนอิสระในกรณีที่มีการกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และ/หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ เนื่องจากตำรวจและพนักงานอัยการมักจะยุติการสอบสวน โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นการวิสามัญฆาตกรรมและข้อกล่าวหาว่ามีการทรมาน อย่างในกรณีเหตุการณ์ตากใบ กรือเซะ สะบ้าย้อย หรือกรณีคนหายอย่างนายมะยูนี โลนิยา นายมะยะเต็ง มะรานอ การตายระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวของนายอัสฮารี สะมะแอ นายยาการียาปาโอ๊ะมานิ อิหม่ามนะพากาเซ็ง นายสุไลมาน แนซา ทั้งนี้เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่นับตั้งแต่ปี 2547 ยังไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดที่ถูกลงโทษ แม้จะมีเสียงเรียกร้องรวมทั้งกรณีซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างมาก คือ การหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวมลายูมุสลิมในความขัดแย้ง ของภาคใต้ ยิ่งตอกย้ำวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด โดยตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการนำตัวผู้ กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย
 
เหตุการณ์กรือเซะ ปี 2547
 
ระบุในย่อหน้าที่ 66 ว่า ในวันที่ 28 เมษายน 2547 ประชาชน 32 คนถูกยิงจนเสียชีวิตที่มัสยิดกรือเซะ ปัตตานี โดยผู้ยิงเป็นเจ้าหน้าที่ความมั่นคงซึ่งทำงานในช่วงประกาศกฎอัยการศึก การไต่สวนการตายเริ่มขึ้นเมื่อ เดือนพฤศจิกายน 2547 และสิ้นสุดลงในวันที่ 14 กันยายน 2549 ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2549 ศาล จังหวัดปัตตานีได้อ่านคำสั่งเกี่ยวกับสาเหตุและพฤติการณ์ของการตายซึ่งเป็นผลมาจากการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจด้วยการใช้อาวุธปืนและมีด โดยเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจปฏิบัติการภายใต้คำสั่ง ของพลเอกพัลลภ ปิ่นมณี พ.อ. มนัส คงแป้น และพ.ท.ธนภัทร นาคชัยยะ บุคคลทั้งหมดเสียชีวิตจาก อาการบาดเจ็บที่อวัยวะสำคัญอันเนื่องมาจากลูกกระสุนปืนและระเบิดในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาต่อผู้บังคับบัญชาเหล่านี้
 
เหตุการณ์ตากใบ
 
ระบุในย่อหน้าที่ 67 ว่า ในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ประชาชนกว่า1,300 คน ได้ประท้วงอย่างสงบที่บริเวณด้านหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส จากนั้นได้ถูกควบคุมตัว เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตระหว่าง การควบคุมตัว 78 คน การไต่สวนการตายในกรณีนี้เริ่มขึ้นในปี 2550 และสิ้นสุดลงในปี 2552 ผลการ ไต่สวนการตายไม่ได้ชี้ชัดว่าเป็นความรับผิดชอบของผู้ใด ซึ่งทำให้มีการเสียชีวิตของบุคคลทั้งสิ้น 78 คน รวมทั้งผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนในที่เกิดเหตุอีก 6 คน
 
กรณีของอิหม่ามยะผา กาเซ็ง
 
ระบุในย่อหน้าที่ 68 ว่า อิหม่ามยะผากาเซ็งได้ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ของหน่วยเฉพาะกิจที่ 39 อำเภอรือเสาะ นราธิวาส พร้อมกับลูกชายสองคนและนายรายู อายุ 18 ปีซึ่งเป็นชาวบ้านในหมู่บ้านเดียวกันเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2551 อิหม่ามยะผาเสียชีวิตในตอนเช้าของวันที่ 21 มีนาคม ทันทีหลังจากการเสียชีวิต ทาง กองทัพได้อ้างเหตุผลต่าง ๆ นานาเพื่อแก้ตัว ศาลได้ยกคำร้องของทนายความเนื่องจากเห็นว่าเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยตามกฎอัยการศึก และพรก.ฉุกเฉินฯ ผลการไต่สวนการตายซึ่งมีขึ้น ในปี 2551 ไม่ได้ระบุว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบต่อการทรมานจนทำให้อิหม่ามยะผาเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ทางกองทัพได้ยอมจ่ายเงินจำนวน 5.2 ล้านบาทเป็นค่าชดเชยเพื่อยอมความในคดีแพ่ง ส่วนคดีอาญาต่อ เจ้าหน้าที่ทหารยังไม่มีความคืบหน้า
 
รายงานดังกล่าวยังระบุอีกว่า ปัจจุบันไม่มีกฎหมายห้ามการสอนภาษามลายูในโรงเรียนไทย แต่ก็ไม่มีหลักสูตรที่เป็นภาษามลายูและโรงเรียนต่าง ๆ ก็ไม่ใช้ภาษามลายูในการสอน เมื่อเร็ว ๆ นี้ โรงเรียนต่าง ๆ ในภาคใต้ได้ ส่งเสริมภาษามลายูที่เขียนโดยใช้ตัวอักษรไทย แทนที่จะใช้ตัวอักษรแบบในท้องถิ่น ซึ่งเป็นแนวทางที่ขัดแย้งกับความต้องการของคนในพื้นที่ ซึ่งถือว่าตัวเองเป็นชาติพันธุ์มลายู พวกเขาต้องการพูดและเขียน ภาษามลายู และใช้ตัวอักษรของตนเอง ที่ผ่านมามีการใช้ตัวอักษรยาวีสำหรับการสอนศาสนาอิสลาม และเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวัน รวมทั้งการปฏิบัติศาสนกิจ
 
โดยแท้จริงแล้วการเรียนการสอนภาษามลายูโดยใช้ตัวอักษรไทย ส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์มลายูไม่สามารถ อ่านและเขียนโดยใช้ตัวอักษรยาวีได้ ชาวมลายูมุสลิมในประเทศไทยได้ถูกแบ่งแยกออกจากโลกของชาว มลายูมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่อธิบายว่าเหตุใดชาวมลายูมุสลิมไม่ ต้องการส่งลูกหลานไปเข้าโรงเรียนรัฐบาล
 
นอกจากนั้น รัฐบาลไทยไม่ให้โอกาสที่จะใช้ภาษามลายูในสื่อของรัฐ ทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ รัฐนิยมฉบับที่ 9 ห้ามไม่ให้เขียนภาษามลายูในโฆษณาต่อสาธารณะหรือในการเขียน ป้ายชื่อถนน รวมทั้งชื่อของหมู่บ้านด้วย และยังมีการปฏิบัติเช่นนี้จนปัจจุบัน ในอดีตมีการแปลชื่อภาษามลายูของถนนและหมู่บ้านเป็นภาษาไทย แต่คำแปลภาษาไทยไม่สอดคล้องกับความหมายในภาษามลายู โดยป้ายไม่มีการใช้ตัวอักษรยาวี จึงถูกตีความว่ารัฐไทยไม่ยอมรับภาษามลายู โดยถูกมองว่าตัวอักษรเหล่านั้นสะท้อนอุดมการณ์ของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ในปัจจุบัน มีข้อเรียกร้องให้แปลชื่อถนนและอำเภอเป็น ภาษามลายู แต่กระทรวงคมนาคมไม่อนุญาต โดยยอมให้มีเพียงการใช้ภาษาไทยในป้ายบอกชื่อเหล่านั้น
 
รวมถึงยังระบุข้อเสนอแนะในย่อหน้าที่ 114 ไว้ด้วยว่า รัฐบาลควรส่งเสริมและพัฒนาการใช้ การเรียนและการสอนภาษามลายูในประเทศไทย โดยทันที ควรมีการจัดตั้งหน่วยงานกลางเพื่อพัฒนาและส่งเสริมการศึกษาภาษามลายู โดยให้ปัญญาชน ในพื้นที่จากชุมชนชาวมลายูมุสลิมมีส่วนร่วม รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณและบุคลากรอย่างเพียงพอ และศูนย์ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคตด้วย