ในช่วงต้นเดือนกันยายน ภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนเรื่องสันติภาพในภาคใต้จะมีการเปิดตัว “กระบวนการสันติภาพปาตานี” (Pat[t]ani Peace Process - PPP) โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ได้พูดคุยกับผศ.ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี นักรัฐศาสตร์ผู้คร่ำหวอดกับการศึกษาเรื่องความขัดแย้งในภาคใต้ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าว
“กระบวนการสันติภาพปาตานีคืออะไร”
ความรุนแรงได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเกือบ 9 ปีแล้วแต่ว่ายังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ว่าความขัดแย้งที่มีการใช้ความรุนแรงนี้จะจบลงอย่างไร และเมื่อไร ผศ.ดร. ศรีสมภพ ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) และผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีอธิบายว่านักวิชาการบางสายที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องความขัดแย้งไม่ได้มุ่งที่จะหยุดความขัดแย้ง แต่มุ่งที่จะเปลี่ยนความขัดแย้ง (conflict transformation) จากความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงไปสู่การไม่ใช้ความรุนแรง
“การมีความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีด้วย เพราะความขัดแย้งสามารถเป็นพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาของสังคม แต่ว่าประเด็นคือจะต้องไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนั้น” ดร.ศรีสมภพอธิบาย
“กระบวนการสันติภาพปาตานี” เป็นโมเดลทางความคิดที่ต้องการเปิด “พื้นที่กลาง” ในการพูดคุยระหว่าง “คนใน” ซึ่งหมายถึงคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง (stakeholders) เพื่อที่จะนำไปสู่การวิเคราะห์ความขัดแย้งและการเสนอแผนที่เดินทางไปสู่สันติภาพอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะมีการขับเคลื่อนในลักษณะที่เป็น “พหุวิถีการสื่อสาร” (Multi platform) โดยดึงเอาหลายๆ ภาคส่วนเข้ามาร่วมทั้งองค์กรภาคประชาสังคม สื่อสารมวลชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ และจะใช้การสื่อสารในหลายๆ ช่องทาง ทั้งสื่อกระแสหลัก สื่อทางเลือกและโซเชียลมีเดียในการขับเคลื่อน
ผศ.ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี (ภาพ : ปิยศักดิ์ อู่ทรัพย์)
ดร.ศรีสมภพยังชี้ว่าการเอาคู่ขัดแย้งมาคุยกันเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอสำหรับการแสวงหาทางออก
“กระบวนการสันติภาพในปาตานีเป็นกระบวนการที่ต้องเดินไปพร้อมกันหลายภาคส่วน ไม่เพียงแต่ปล่อยให้คู่กรณีหลักอย่างฝ่ายรัฐและฝ่ายตรงข้ามรัฐมากำหนดแนวทางยุติความขัดแย้งฝ่ายเดียว แต่ยังต้องให้ภาคประชาสังคม นักวิชาการ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนาที่อยู่ในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม และที่สำคัญประชาชนต้องมีพื้นที่ในการเสนอทางออกสู่สันติภาพด้วย” ดร.ศรีสมภพกล่าว
ดร.ศรีสมภพอธิบายว่านักวิชาการด้านสันติภาพที่ได้ศึกษาถึงความสำเร็จและความล้มเหลวของการจัดการความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ ในโลกได้แบ่งกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยเพื่อสันติภาพเป็น 3 ระดับชั้น Track 1 คือ รัฐ กับ ขบวนการติดอาวุธ Track 2 ภาคประชาสังคม และ Track 3 คือ ประชาชนรากหญ้า
“ในภาคใต้นั้น ที่ผ่านมาการพูดคุยจำกัดอยู่เฉพาะแค่ Track 1 กระบวนการเดินหน้าเพื่อหาสันติภาพของปัตตานีต้องไม่ผูกขาดโดยรัฐหรือขบวนการอย่างเดียว ข้อเสนอต้องมาจากข้างล่าง การเดินไปในรูปแบบที่หลากหลายและไปพร้อมๆ กัน จะทำให้เกิดความเข้มแข็งและสร้างอำนาจต่อรองได้จริง” ดร.ศรีสมภพกล่าว
สิ่งที่รัฐและภาคประชาสังคมจะต้องร่วมกันผลักดันคือ การเปิดพื้นที่ทางการเมืองเพื่อให้ทุกๆ ฝ่ายมาร่วมกันถกเถียง เปิดให้มีการพูดคุยถึงเรื่องรากเหง้าของปัญหา เช่น เรื่องความไม่เป็นธรรม ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องชาติพันธุ์ และจะต้องดึงฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงเข้ามาเพื่อทำให้พวกเขาเข้าใจว่าเขาสามารถที่จะนำเสนอความคิดทางการเมืองได้อย่างสันติ
ดร.ศรีสมภพได้อธิบายเพิ่มเติมว่าสิ่งที่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะช่วยลดการใช้ความรุนแรงได้คือการสร้างอำนาจเพื่อถ่วงดุลจากพื้นที่กลางให้มากขึ้นเรื่อยๆ ข้อเสนอที่มีน้ำหนักจากฝ่ายที่ประกาศไม่ใช่ความรุนแรงจะมีพลังในการเรียกร้องมากกว่า ซึงไม่จำเป็นว่าจะต้องลดทอนข้อเสนอทางการเมืองของฝ่ายขบวนการแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ดร.ศรีสมภพยังชี้ว่ากระบวนการสันติภาพปาตานีนั้นจะต้องรวมถึงการปฏิรูปฝ่ายความมั่นคง (security sector reform) ด้วย การทำงานด้านความคิดกับกองทัพจะเป็นหัวใจสำคัญต่อความสำเร็จของกระบวนการนี้ ถ้ากองทัพจะยังมุ่งใช้กำลังในการปราบปรามกองกำลังติดอาวุธฝ่ายตรงข้าม การแสวงหาทางออกร่วมกันก็คงจะดำเนินไปได้ยาก