Skip to main content

 ดีลละห์  เจะสุรี

เครือข่ายบัณฑิตอาสา พัฒนาสังคมจังหวัดชายเเดนภาคใต้ "Intellect Southern Thailand"

 

กิจกรรมนักศึกษา มอ.ตานีเฉา  ผู้นำนักศึกษายัน  เพื่อนร่วมสถาบันขาดจิตสำนึกส่วนรวม มาตรการบังคับทำกิจกรรม  มอ. ไร้ผล  นักศึกษาตอกชั่วโมงกิจกรรมน่าเบื่อ

    

     นายอับดุลเล๊าะ สารีมา นายกองค์การบริหารองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) เปิดเผยถึงสภาพการทำกิจกรรมนักศึกษาในปัจจุบันว่า เมื่อเทียบกับในอดีต จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่ได้เพิ่มขึ้น ขณะนี้มีนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เข้าร่วมกิจกรรมนักศึกษาประมาณร้อยละ 30 จากจำนวนนักศึกษาทั้งหมด 9,131 คน หนึ่งในหลายสาเหตุที่นักศึกษาไม่เข้าร่วมกิจกรรม เพราะหลายกิจกรรมมีลักษณะล่อแหลมขัดต่อหลักการศาสนาอิสลาม การกำหนดชั่วโมงกิจกรรมนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ไม่ได้ทำให้จำนวนนักกิจกรรมเพิ่มขึ้น สังเกตได้จากกิจกรรมที่นอกเหนือจากมหาวิทยาลัยกำหนด นักศึกษาจะไม่เข้าร่วม

         นายมะยากี สามะ ประธานชมรมสังคมศาสตร์ กล่าวว่า สาเหตุที่กิจกรรมนักศึกษาซบเซา ไม่คึกคักเหมือนในอดีต เป็นเพราะนักศึกษาปัจจุบันไม่มีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม นักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม เพียงต้องการเข้าร่วมชั่วโมงกิจกรรมให้ครบตามที่มหาวิทยาลัยบังคับ สังเกตได้จากกิจกรรมของชมรมกิจกรรมสังคมศาสตร์  มีนักศึกษาร่วมน้อยมาก

        นางสาวสิริมา แวบือซา นักศึกษาเอกภาษาเกาหลี  ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยที่มหาวิทยาลัยฯ กำหนดให้มีชั่วโมงกิจกรรมนักศึกษา เพราะการทำกิจกรรมควรอยู่ที่ใจรัก อยู่ที่นักศึกษาแต่ละคนว่า ต้องการทำกิจกรรมหรือไม่ ไม่ใช่บังคับให้ทำกิจกรรมผ่านชั่วโมงกิจกรรม ช่วงที่ยังไม่กำหนดให้มีชั่วโมงกิจกรรม ตนเข้าร่วมกิจกรรมบ่อยครั้ง พอมีการบังคับตนเลยเบื่อไม่อยากทำ เพราะกิจกรรมที่กำหนดทำ เป็นกิจกรรมน่าเบื่อ

       นางสาวไลลา เจ๊ะซู  อดีตอุปนายกกิจการภายนอก องค์การศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า การทำกิจกรรมนักศึกษาปัจจุบันแตกต่างกับอดีตอย่างชัดเจน เพราะก่อนที่มหาวิทยาลัยจะมีการบังคับให้มีชั่วโมงกิจกรรม นักศึกษาทำกิจกรรมด้วยจิตสำนึกอยากช่วยสังคม พอมหาวิทยาลัยจัดชั่วโมงบังคับให้ทำกิจกรรม นักศึกษาจึงทำกิจกรรมเพื่อให้ได้ชั่วโมงกิจกรรมลงในทรานสคริปต์กิจกรรมเท่านั้น

       นายอุสมาน  ราษฎร์นิยม  อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมมุสลิม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า การกำหนดให้มีชั่วโมงกิจกรรมอยู่ในหลักสูตร ไม่ได้ทำนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น เพราะนักศึกษาจะเน้นแค่เข้าชั่วโมงกิจกรรมให้ครบ เพื่อให้ปรากฏในทรานสคริปต์ว่า ผ่านการทำกิจกรรมนักศึกษามาแล้ว เพราะฉะนั้น การเข้าร่วมชั่วโมงกิจกรรมของนักศึกษา จึงไม่ได้ทำให้นักศึกษามีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับผู้อื่น เพราะถูกบังคับให้ทำ ตนจึงต้องการให้มหาวิทยาลัยฯ ประเมินด้วยว่าการมีชั่วโมงกิจกรรม บรรลุวัตถุประสงค์ที่มหาวิทยาลัยวางไว้หรือไม่ ทำให้นักศึกษาอยากทำกิจกรรมมากขึ้น หรือน้อยลงกว่าอดีต

        นายบรรจง  เฉลิมวงศ์  ผู้อำนวยการกองกิจการนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า สาเหตุที่มหาวิทยาลัยบังคับให้นักศึกษาทำกิจกรรม โดยกำหนดให้มีชั่วโมงกิจกรรม เพราะผู้ประกอบการต้องการบัณฑิตที่เคยผ่านการทำกิจกรรม มากกว่าผู้ที่ไม่ผ่านการทำกิจกรรม ทั้งนี้มหาวิทยาลัยได้กำหนดให้นักศึกษาเข้าร่วมในลักษณะบังคับไม่น้อยกว่า 17 กิจกรรม ชั่วโมงกิจกรรมไม่น้อย 100 ชั่วโมง ตามประกาศมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เรื่องกำหนดให้นักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมเสริมหลักสูตร ตามระเบียบว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 โดยการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว จะมีการบันทึกไว้ในใบรับรองผลการศึกษา

        นายบรรจง เปิดเผยว่า ประเภทของกิจกรรมที่นักศึกษา สามารถเก็บเป็นชั่วโมงกิจกรรมได้ ประกอบด้วย กิจกรรมสร้างจิตสำนึกสาธารณะ กิจกรรมเพิ่มทักษะสังคมวิชาการ กิจกรรมเสริมสร้างความภาคภูมิใจในสถาบัน กิจกรรมเสริมสร้างความเข้าใจในพหุวัฒนธรรมความเป็นประชาธิปไตย และกิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาสุขภาพ การออกกำลังกาย

       “หลังจากมหาวิทยาลัยต้องเก็บค่ากิจกรรมนักศึกษาเพิ่ม 400 บาท จากเดิม200บาท เนื่องมาจากจำนวนนักศึกษาเพิ่มขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรมไม่เพียงพอ”

         ผศ.นิฟาริด ระเด่นอาหมัด รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า ถึงแม้ในภาพรวมการทำกิจกรรมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเรียน แต่ยังนักศึกษาบางคนไม่สนใจที่จะทำกิจกรรม ทางมหาวิทยาลัยเห็นความสำคัญของการทำกิจกรรม จึงบังคับให้นักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม โดยกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร

        “นักศึกษาจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยไม่น้อยกว่า 17 กิจกรรม และมีจำนวนหน่วยชั่วโมงเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 100หน่วยชั่วโมง  ตามประกาศมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์การเข้าร่วมกิจกรรมเสริมหลักสูตรของนักศึกษาตามระเบียบว่าด้วยการศึกษาในขั้นปริญญาตรี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550” ผศ.นิฟาริด

        นางรอมือเลาะ ง๊ะกูหลัง  ผู้จัดการบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) สาขาปัตตานี เปิดเผยว่า ทางบริษัทจะรับพิจารณาบัณฑิตที่ผ่านการทำกิจกรรมเป็นพิเศษ เพราะมีทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น เพราะฉะนั้นบัณฑิตที่ผ่านการทำกิจกรรม จะมีโอกาสได้งานทำงานมากกว่าผู้ที่ไม่เคยผ่านกิจกรรมนักศึกษา การที่มหาวิทยาลัยบังคับให้นักศึกษาทำกิจกรรม จึงน่าจะเป็นผลดีต่อนักศึกษา

 

................................................................................................................................. 

 หมายเหตุ:  ผลงานของผู้เข้าร่วมอบรมการเขียนข่าวเบื้องต้น

            ศูนย์อบรมผู้ผลิตสื่อ INTERNEWS

            ร่วมกับ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี