Skip to main content

เผยแพร่วันที่ 6 ตุลาคม 2553

 
ใบแจ้งข่าว
ศาลจังหวัดนราธิวาสรับอุทธรณ์คำพิพากษาชั้นไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญา
ในคดีอิหม่ามยะผา กาเซ็งถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ
ปิดล้อมตรวจค้น ควบคุมตัวและซ้อมทรมานเสียชีวิต
 
หลังจากเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2553 ที่ศาลจังหวัดนราธิวาสได้อ่านคำพิพากษาชั้นไต่สวนมูลฟ้องในคดีอาญา หมายเลขดำที่ 1611/2552 ระหว่าง นางนิม๊ะ กาเซ็ง เป็นโจทก์ ฟ้องพันตรีวิชา ภู่ทอง จำเลยที่ 1 ร้อยตรีสิริเขตต์ วาณิชบำรุง จำเลยที่ 2 จ่าสิบเอกเริงณรงค์ บัวงาม จำเลยที่ 3 สิบเอกณรงค์ฤทธิ์ หาญเวช จำเลยที่ 4 สิบเอกบัณฑิต ถิ่นสุข จำเลยที่ 5 และพันตำรวจเอกทนงศักดิ์ วังสุภา จำเลยที่ 6 ข้อหา ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด หรือไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด กักขังหน่วงเหนี่ยว เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย    โดยศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกข้อกล่าวหา และให้ไปฟ้องจำเลยที่ 1-5 ต่อศาลทหารที่มีเขตอำนาจนั้น
 
            โจทก์และครอบครัวของผู้เสียชีวิตเคารพในคำพิพากษาของศาลจังหวัดนราธิวาสแต่ไม่อาจเห็นพ้องด้วยจึงได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดย  ในวันที่ 1 ตุลาคม 2553 โจทก์จึงได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวที่ศาลจังหวัดนราธิวาส และศาลได้มีคำสั่งรับอุทธรณ์แล้ว หลังจากนี้ศาลจะส่งหมายเรียกและสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยทั้ง 6  ยื่นคำแก้อุทธรณ์ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาภายในเวลา 15 นับแต่วันที่จำเลยทั้ง 6 ได้รับหมายเรียกและสำเนาอุทธรณ์ดังกล่าว เมื่อศาลอุทธรณ์ได้รับคำอุทธรณ์จากโจทก์และคำแก้อุทธรณ์จากจำเลยทั้ง 6 แล้ว ก็จะได้พิจารณาและมีคำพิพากษา ต่อไป         
 
เหตุที่โจทก์และครอบครัวของนายยะผา กาเซ็ง ผู้ตายตัดสินใจยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาคดีนี้ เนื่องจากครอบครัวของนายยะผา กาเซ็ง ผู้ตาย เห็นว่าการกระทำของจำเลยที่หกซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยนำตัวผู้ตายไปแถลงข่าวว่าเป็นผู้ก่อการร้ายทั้งที่ไม่เป็นความจริง และนำรถยนต์บรรทุกผู้ต้องหาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปให้เจ้าหน้าที่ทหารใช้เป็นที่คุมขัง ควบคุมตัวนายยะผา กาเซ็ง ผู้ตายกับพวก ภายในหน่วยเฉพาะกิจที่ 39 โดยอ้างว่าเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก โจทก์เห็นว่าหากคำสั่งใดเป็นคำสั่งอันเป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งนั้น กรณีดังกล่าวจึงเป็นการกระทำความผิดร่วมกันของพลเรือนและเจ้าหน้าที่ทหาร อยู่ในเขตอำนาจศาล จังหวัดนราธิวาสในการพิจารณาคดีนี้
 
เหตุคดีนี้ สืบเนื่องจากศาลจังหวัดนราธิวาส ได้ไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายยะผา กาเซ็ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อช.9/2551 และมีคำสั่งเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 ว่าผู้ตายคือ นายยะผา กาเซ็ง ตายที่ฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 ตั้งอยู่ที่วัดสวนธรรม หมู่ที่ 2 ตำบลรือเสาะออก อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2551 เนื่องจากผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกาย ทำให้กระดูกซี่โครงหัก ลมรั่วในช่องอกด้านขวา ระหว่างที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ซึ่งนางนิม๊ะ กาเซ็ง ภรรยาของอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ในฐานะผู้เสียหายได้เคยร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนแล้ว แต่พนักงานสอบสวนทำหน้าที่ล่าช้า นางนิม๊ะ กาเซ็ง จึงนำคดีมาฟ้องเองต่อศาลจังหวัดนราธิวาส เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1611/2552 
 
อีกทั้งคดีนี้เป็นคดีแรกในจังหวัดชายแดนใต้ที่ผู้เสียหายที่เป็นประชาชนได้ลุกขึ้นใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคดีอาญาเนื่องจากถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการซ้อมทรมานในระหว่างการควบคุมตัวเพื่อให้ได้ซึ่งคำรับสารภาพหรือข้อสนเทศจากผู้ถูกควบคุมตัว จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกควบคุมตัวเสียชีวิต อันเป็นการกระทำที่มีความผิดตามกฎหมายอาญา และเป็นความผิดตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and Other Cruel Inhuman or Degrading Treatment or Punishment-CAT) ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง และไม่อาจยอมรับได้ ครอบครัวของนายยะผา กาเซ็ง จึงขอต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด เพื่อยืนยันหลักสิทธิเสรีภาพนั้นไม่อาจจะถูกล่วงละเมิดได้แม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินใดๆก็ตาม