Skip to main content

 

ความเข้าใจของสื่อต่อสถานการณ์ไฟใต้ 

ความเข้าใจต่อสถานะ “สะแปอิง บาซอ”

ซาฮารี  เจ๊ะหลง 

 

 

(ขอบคุณภาพจาก Wartani)

 

พลันที่ปรากฏรายงานข่าวการเสียชีวิตของครูใหญ่ “สะแปอิง บาซอ” เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2560 โดยสำนักสื่อวาร์ตานี ซึ่งเป็นสื่อเล็กๆในพื้นที่ปาตานี/จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งพาดหัวว่า “ครอบครัวยืนยัน อุสตาซสะแปอิง บาซอ เสียชีวิตด้วยความสงบ”  สื่อทุกแขนงต่างก็ร่วมรายงานข่าวการเสียชีวิตของชายผู้นี้ไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือเป็นการเสียชีวิตของ “อดีตหัวหน้าใหญ่ BRN” (ไทยรัฐ) หรือไม่ก็ “แกนนำ” (มติชน) “ประธาน BRN” (เดลินิวส์ กรุงเทพธุรกิจ) และ “หัวหน้าขบวนการบีอาร์เอ็น” (ข่าวสด)

 

การเสียชีวิตของสะแปอิง บาซอในเนื้อหาข่าวและในการให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่ไทยที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพูดคุยสันติสุขถึงกับกลายเป็นผลกระทบอย่างสำคัญต่อกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ ไทยโพสต์ระบุทีเดียวว่า “สะแปอิง บาซอ’ เสียชีวิต ‘BRN’ สะดุดแยกดินแดน” พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าทีมพูดคุยสันติสุขของไทยก็ให้สัมภาษณ์สื่อว่าเรื่องนี้จะเป็นผลดีต่อกระบวนการพูดคุย  พล.อ.อักษรา กล่าวอีกว่า การพูดคุยสันติสุขเดินหน้าไปถึงการจะกำหนดพื้นที่ปลอดภัย และการพูดคุยหาข้อยุติตรงนี้ได้ สามารถดึงประชาชนมาให้ความร่วมมือได้ภายในปี 2560 อาจจะเห็นภาพความสงบมากขึ้น

 

มุมมองของสื่อต่อกรณีสะแปอิง บาซอก็ไม่ต่างกันกับอีกหลายเรื่องราวที่ปรากฏผ่านการรายงานของสื่อที่มีศูนย์กลาง ณ กรุงเทพฯ นั่นคือเป็นการถ่ายทอดสิ่งที่เป็นการตีความของทางการ สะแปอิง บาซอในสายตาของทางการ เขาคือบุคคลที่เจ้าหน้าที่ยกให้เป็นประธานหรือแกนนำระดับสูงของบีอาร์เอ็น กลุ่มที่ถือว่ามีกองกำลังต่อสู้กับเจ้าหน้าที่อยู่เป็นกลุ่มใหญ่ในเวลานี้ในสามจังหวัดภาคใต้ เขามีหมายจับและต้องหนีไปอยู่ในฝั่งมาเลเซียจนกระทั่งเสียชีวิตลงที่นั่นเมื่อ 10 ม.ค.ที่ผ่านมาด้วยวัย 81 ปี

 

เมื่อมองว่าสะแปอิง บาซอเป็นประธานบีอาร์เอ็น ก็ย่อมแน่นอนว่า การตายของเขาย่อมนำมาซึ่งการวิเคราะห์ที่ว่า กระบวนการต่อสู้ของกลุ่มบีอาร์เอ็นน่าจะมีปัญหา และอาจส่งผลดีเลยเถิดไปถึงกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขหรือสันติภาพอีกด้วย

 

ในขณะที่ทางการไทยและสื่อสะท้อนภาพสะแปอิง บาซอเช่นนี้ คนในพื้นที่จำนวนมากที่อ่านข่าวกลับมีความรู้สึกตรงข้าม หลายเสียงที่สะท้อนผ่านโซเชียลมีเดียแสดงความวิตกกังวลว่า การพาดหัวข่าวและการนำเสนอของสื่อในลักษณะดังกล่าวเป็นการสนองวาทกรรมของรัฐฝ่ายเดียว เป็นการกล่าวหาบุคคลที่มีความคิดทางการเมืองต่างจากรัฐ และสำหรับหลายคนกลายเป็นการไม่ให้เกียรติต่อบุคคลที่พวกเขาเคารพนับถือ

 

สะแปอิง บาซอเป็นอุสตาส เป็นอดีตครูใหญ่ของโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิอันเป็นหนึ่งในบรรดาโรงเรียนเก่าแก่ที่สุดที่ผลิตลูกศิษย์ลูกหาออกไปเป็นจำนวนมาก ความเป็นครูที่ดีของอุสตาสสะแปอิงทำให้เขาได้รับการยอมรับนับถือและเคารพรักจากลูกศิษย์ไม่ว่าจะเป็นศิษย์โดยตรงหรือโดยอ้อม ชื่อเสียงความตรงไปตรงมาและคุณภาพการเป็นครูของอุสตาสสะแปอิงทำให้เขาเป็นเสมือนผู้นำด้านจิตใจ สำหรับซึ่งสังคมของผู้คนในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ที่ยึดมั่นศาสนาและคุณธรรมเป็นหลักในชีวิต ผู้อบรมสั่งสอนให้คนมีคุณธรรมเป็นสิ่งที่ทำให้ได้รับการยอมรับสูงสุด ความเคารพของสังคมในพื้นที่ที่มีต่ออุตสาสสะแปอิง บาซอยิ่งมีผลสร้างความขัดแย้งในทางความคิดให้กับบรรดาผู้ที่เชื่อมั่นในตัวเขาทั้งหลาย ว่าข้อกล่าวหาที่ยังไม่เห็นหลักฐานของทางการนั้นจะเป็นจริงได้อย่างไร และข้อมูลก็เป็นเพียงข้อมูลด้านเดียว

ผู้เขียนขอยกข้อความอันเป็นเสียงที่สะท้อนผ่านโซเชียลมีเดีย เท่าที่ผู้เขียนได้รวบรวมส่วนหนึ่ง มีดังนี้

“ยังไงเสียในสายตาเรา-ซึ่งเคยได้นั่งเรียนกับท่าน เคยได้รับการโอบกอดอย่างอบอุ่นเมื่อวันที่เราเกเร เราไม่เคยเชื่อว่าท่านจะเป็นอย่างที่ถูกกล่าวหาโดยเฉพาะในแง่ร้าย ท่านเป็นเพียงอุสตาซคนหนึ่งที่รักลูกศิษย์ รักในความยุติธรรม และเป็นหนึ่งในนักการศึกษาหัวก้าวหน้าท่านหนึ่งของสามจังหวัดภาคใต้ไทย”

 

“วันครู.. หรือจะเป็นวันไหนๆ..อุสตาส/ครูจะอยู่ในดุอาอ์ของพวกเราตลอดไป เพราะเราคือศิษย์อิสลามวิทยามูลนิธิ "

 

"สำหรับเรา ท่านคือครู คืออุสตาซ คือผู้เป็นแบบอย่าง  และจะยังคงเป็นเช่นเดินตลอดไปครับ"

 

“ตอนอยู่ม.3 พวกเราไม่มีห้องเรียน (เพราะห้องไม่พอ เด็กห้องทับ 1 กับทับ 2 เลยต้องไปเรียนที่ห้องคอมฯ แทน) แต่ก้อเรียนแค่ไม่กี่วัน จากนั้นห้องทับ 2 ของเราก้อต้องไปเรียนที่ห้องประชุมเล็ก ตึกหน้าสุด ตอนนั้น จำได้ดีว่าท่านมาหาพวกเราทุกวัน คอยถามว่า เด็กๆ พอจะเรียนได้ไหม ลำบากมากไหม และทุกครั้งท่านจะแทนตัวเองว่า อาเยาะห์ เสมอ”

 

“Alhamdullilah ตอนกีฬาสีได้ถ่ายรูปกับท่านด้วย Ayah Ku ปลื้มมาก ใช่ๆต่อคิวด้วย. ท่านเป็นคนใจดี ขรึมๆ แต่ท่านมีอารมณ์ขันนะ นักเรียนส่วนใหญ่จะไม่กล้าสบตา ทั้งๆที่ท่านยังไม่ได้ทำไรเลย แค่เดินผ่านเฉยๆ ท่านจะยู่ในความทรงจำตลอดไป”

 

“พ่อผมบอกว่า ท่านเป็นคนที่นักเรียนเคารพมากที่สุด ท่านเป็นครูใหญ่ที่ไม่ยกตัวสูง และเดินเก็บขยะในโรงเรียนอีกด้วย ไม่มีอาจารย์คนไหนที่จะทำได้เหมือน ท่านแล้ว”

 

“ท่านเป็นบุคคลที่น่าเกรงขาม มีบุคลิกในการเป็นผู้นำมีสูง. ภาพที่ไม่เคยลืมคือโดนเรียกตักเตือนเรื่องการแต่งกายแบบหนึ่งต่อหนึ่ง. หัวใจเหมือนจะหลุดออกมา. แต่ที่ท่านตักเตือนล้วนแล้วเพื่อศิษย์มิใช่เพื่อใคร. และเป็นบุคคลท่ีทำให้นักเรียนเป็นร้อยสามัคคีกันวิ่งขึ้นตึกโดยใช้เวลาไม่ถึงห้านาที เพียงแค่ท่านเดินมาดูน.ร.ที่กลับก่อนเวลา เป็นภาพที่ยังติดตา”

ข้อความเหล่านี้เป็นเสียงสะท้อนที่กลั่นออกมาของผู้คนในพื้นที่ ต่อบุคคลที่พวกเขาเคารพนับถือ ที่ชื่อว่า “สะแปอิง บาซอ”

แม้แต่การประกาศของทางศิษย์เก่าอิสลามวิทยามูลนิธิ  ขอเรียนเชิญศิษย์เก่า และบุคคลทั่วไป ร่วมละหมาดฆออิบ(ละหมาดศพลับหลัง) เมื่อวันจันทร์ ที่16 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา ณ โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ยะลา ก็มีศิษย์เก่า และบุคคลทั่วไป มาร่วมในพีธีดังกล่าวจำนวนมาก

กระทั่งมีหนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีหรือมัจลิสปัตตานี โดยนายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานฯ เรื่อง เชิญละหมาดฆออิบ (ละหมาดศพลับหลัง) ซึ่งทางมัจลิสปัตตานีได้รับการประสานงานจากครอบครัวของ อุสตาสสะแปอิง บาซอ ในฐานะที่ท่านเป็นอีหม่ามประจำมัสยิดตะลาฆอสะมีลัน หมู่ที่ 4 ตำบลเมาะมาวี อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี โดยกำหนดให้ละหมาดฆออิบ (ละหมาดศพลับหลัง) วันอังคาร ที่ 17 มกราคม 2560 เวลา 10.00 น. ณ มัสยิดตะลาฆอสะมีลัน  อีกทั้งยังขอความร่วมมือชมรมอีหม่ามประจำจังหวัดปัตตานีประสานอิหม่ามในเขตอำเภอแต่ละแห่ง ร่วมละหมาดฆออิบ (ละหมาดศพลับหลัง) มัสยิดละ 10 คน ถือเป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในพื้นที่ เพราะในจังหวัดปัตตานี มีมัสยิดมากที่สุดในประเทศไทย ด้วยจำนวนถึง 700 แห่งที่ขึ้นทะเบียนกับทางสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด

 

การที่อุสตาสสะแปอิงต้องหนีการดำเนินคดีไปอาศัยอยู่ในมาเลเซียก็ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันข้อกล่าวหาของทางการ แต่ด้วยสภาพการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ สิ่งนี้กลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนมีคำถามมากขึ้น เพราะปัญหาความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมนั้นเกิดมาช้านานแล้วกับพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ขณะที่ในพื้นที่อื่นของประเทศเพิ่งจะมามีการตั้งคำถามกันก็เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤติทางการเมืองเหลืองแดงเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เมื่อมีบางคนต้องหลบหนีไปอยู่ต่างแดน บางคนยังต้องต่อสู้ในทางคดีเป็นข่าวแทบทุกวัน

 

ในขณะที่ความรับรู้ของสาธารณะในสามจังหวัดต่อตัวตนของกลุ่มบีอาร์เอ็นก็ยังไม่ตกผลึกชัดแจ้ง ข่าวบางกระแสกล่าวถึงกลุ่มบีอาร์เอ็นว่าเป็นองค์กรที่ไม่ใช่กลุ่มที่มีการนำเดี่ยว นักวิเคราะห์ปัญหาภาคใต้หลายคนกล่าวไว้ว่า บีอาร์เอ็นรักษาความลับในองค์กรอย่างสูงแม้แต่สมาชิกยังไม่รู้ชื่อผู้สั่งการที่สูงกว่าระดับหัวหน้าทีมของตน การรักษาความลับของบีอาร์เอ็นเป็นแก่นสำคัญที่สุดของกลุ่ม แกนนำไม่เปิดเผยชื่อ ดังจะเห็นตัวอย่างได้ว่าก่อนหน้านี้ที่มีการเปิดชื่อตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็นที่เข้าร่วมในการพูดคุยสันติภาพและสันติสุขไม่ว่าภายใต้รัฐบาลเก่าหรือใหม่ก็มีปัญหาว่ามีผู้คนในพื้นที่ไม่เชื่อมาโดยตลอดว่าพวกเขาจะเป็นตัวจริง ความเชื่อมั่นของทางการไทยและสังคมส่วนกลางในเรื่องต่างๆเกี่ยวกับพื้นที่ภาคใต้จึงมักสวนกระแสความคิดของคนในพื้นที่ที่ดูเหมือนจะอยู่ในความจริงที่ซับซ้อนยิ่งกว่า

 

อย่าว่าแต่คำว่าตำแหน่ง “ประธานบีอาร์เอ็น” จะมีหรือไม่ก็ยังเป็นที่สงสัย

 

และด้วยข้อสงสัยเหล่านี้นำมาซึ่งความไม่น่าเชื่อถือของข้อสรุปของทางการเรื่องการที่สะแปอิง บาซอเป็นประธานบีอาร์เอ็น ส่งผลให้ข่าวและพาดหัวของสื่อหลักที่นำเสนอออกมาถูกมองอย่างไม่ให้น้ำหนักเท่าที่ควรในสายตาของหลายๆคนในพื้นที่ อีกด้าน ข้อเท็จจริงที่ว่าอุสตาสสะแปอิงเป็นอดีตครูใหญ่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ โรงเรียนที่ถูกจับตาเสมอมาจากเจ้าหน้าที่ในฐานะที่มีผู้ถูกกาหัวว่าสนับสนุนขบวนการต่อสู้หลายคน กลายเป็นข้อเท็จจริงที่สะท้อนภาพความเป็นผู้ต้องสงสัยตลอดกาลของสมาชิกโรงเรียนธรรมวิทยา ขณะที่ข้อเท็จจริงอีกประการที่ว่าอุสตาสสะแปอิงต้องหลบหนีไปอยู่มาเลเซียจนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิตกลับกลายเป็นสิ่งตอกย้ำความเจ็บปวดบางประการในเรื่องความเป็นธรรมที่สะท้อนมาหลายครั้งหลายหนในพื้นที่นี้

 

ขณะที่สิ่งที่ทุกผู้คนจับต้องได้มากกว่าและเป็นเรื่องจริงพิสูจน์ได้ชัดกว่าในสายตาพวกเขา ก็คือความเป็นครู เป็นอุสตาสที่พึงเคารพยกย่องอย่างสูงจนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นผู้นำด้านจิตใจก็ว่าได้ เราจึงได้เห็นปรากฏการณ์การรวมตัวของลูกศิษย์เพื่อละหมาดฆออิบให้กับอุสตาสสะแปอิง

 

ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อภาพข่าวนี้ปรากฏออกไปสู่สายตาสาธารณะในส่วนอื่นของประเทศ ย่อมเป็นภาพที่ขัดกับความรู้สึกของพวกเขาเป็นอย่างยิ่ง แต่เนื่องจากช่องว่างทางข้อมูลดังนี้ไม่เคยได้รับการอธิบายมาก่อน สังคมไม่รู้จักสะแปอิง บาซอดังที่คนในสามจังหวัดชายแดนใต้/ปาตานีรู้จัก ขณะที่คำถามเกี่ยวกับกลุ่มบีอาร์เอ็นว่าเป็นองค์กรเช่นไรกันแน่ก็ไม่เคยมีใครพยายามหาคำตอบให้ถ่องแท้นอกเหนือไปจากการรับคำอธิบายจากฝ่ายทางการซึ่งหลายหนไปกันคนละทางกับความรับรู้ของชุมชนสามจังหวัดภาคใต้ เฉกเช่นเดียวกันกับอีกหลายๆเรื่อง ความเข้าใจที่แตกต่างในเรื่องของสะแปอิง บาซอก็คงจะดำรงอยู่ต่อไป