Skip to main content

กิ่งอ้อ เล่าฮง, ปกรณ์ พึ่งเนตร

 

          กลุ่มการเมืองใหม่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกกลุ่มหนึ่งที่กำลังถูกจับตามองอย่างสูงในขณะนี้คือ "กลุ่มหมอแว" ภายใต้การนำของ ..แวมาฮาดี แวดาโอะ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อดีตจำเลยคดีความมั่นคง ผู้ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวพันกับขบวนการก่อการร้ายเจไอ แต่ภายหลังศาลพิพากษายกฟ้อง

          จริงๆ แล้วหมอแวไม่ใช่คนหน้าใหม่ในแวดวงการเมือง แต่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (..) ที่จังหวัดนราธิวาสบ้านเกิดเมื่อปี 2549 และได้รับเลือกตั้งเข้ามาด้วยคะแนนเหยียบแสน สูงสุดในจังหวัดและสูงเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ

          แม้ ส..ชุดที่ผ่านการเลือกตั้งเมื่อปี 2549 จะไม่มีโอกาสได้แสดงฝีไม้ลายมือ เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเสียก่อน ทว่าถนนการเมืองของหมอแวกลับไม่ได้สะดุดหยุดลง เนื่องจากเขาได้รับแต่งตั้งให้เป็น สนช. พร้อมๆ กับกลุ่มผู้นำศาสนาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกจำนวนหนึ่ง เพื่อสนองตอบต่อนโยบาย "ดับไฟใต้ด้วยการเมือง" ที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ  (คมช.) และรัฐบาล พล..สุรยุทธ์ จุลานนท์ หมายมั่นปั้นมือเป็นอย่างยิ่งตั้งแต่เมื่อคราวรับตำแหน่ง

          ผ่านไปไม่ถึง 1 ปี หมอแวปรับภาพลักษณ์ตัวเองใหม่ และแสดงบทบาทในสภาอย่างเข้มแข็ง พร้อมๆ กับสร้างเครือข่ายทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่อย่างกระชับแน่น ทำให้วันนี้เขากลายเป็นนักการเมืองหนุ่มอนาคตไกลที่มีวิสัยทัศน์น่าติดตามเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

          และที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นก็คือ เขาและทีมงานเตรียมจะลงสมัคร ส..ในดินแดนปลายสุดด้ามขวาน ด้วยเหตุผลสั้นๆ ว่า "ประชาชนอยากให้มีทางเลือกที่สาม และอยากให้ผมกับกลุ่มของผมลงสมัคร ส.."      

แฟคเตอร์พรรคใหญ่

          จากการจับเข่าคุยกับ น..แวมาฮาดี พอจะเห็นร่องรอยการทำงานการเมืองของเขาว่า จะไม่ตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นเอง แต่จะนำกลุ่มการเมืองของเขาเข้าสังกัดพรรคการเมือง ในลักษณะเป็น "แฟคเตอร์" ในพรรคใหญ่ และใช้ "พลังของกลุ่ม" ผลักดันนโยบายดับไฟใต้เพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

          สำหรับ "กลุ่ม" ที่หมอแวพูดถึง ก็คือเครือข่ายของเขาจากการทำงานการเมืองภาคพลเมืองมากว่า 10 ปี บวกกับกลุ่มอดีต ส..ร่วมสมัยในพื้นที่ซึ่งยังรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น และเขาดึงเข้ามาช่วยงานใน สนช.ตลอดห้วง 7-8 เดือนที่ผ่านมา

          "ผมไม่โตขนาดตั้งพรรคเองหรอกครับ" หมอแวกล่าวอย่างถ่อมตัว และว่า "ผมอยากต่อยอดจากการทำงานกับภาคประชาสังคม โดยจะนำเครือข่ายไปพูดคุยกับพรรคการเมืองเพื่อทำงานร่วมกัน ซึ่งไม่ใช่การจับกลุ่มต่อรอง แต่เป็นการจับมือกับพรรคใหญ่เพื่อผลักดันนโยบายการแก้ไขปัญหาให้เป็นจริง"

          "การรวมตัวของพวกเราไม่ใช่เพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง ส..หรือรัฐมนตรี และไม่ใช่การต่อรองผลประโยชน์ แต่เป็นการรวมตัวให้มีพลังเพื่อแก้ไขปัญหาภาคใต้" หมอแวเผยถึงจุดยืน และย้ำว่าแนวทางทางการเมืองลักษณะนี้ไม่เหมือนกับสิ่งที่ "กลุ่มวาดะห์" เคยทำในอดีต

          ส่วนอนาคตจะเข้าสังกัดพรรคใดนั้น หมอแวยังคงสงวนท่าที แต่ก็พูดเป็นนัยเมื่อถามถึงพรรคประชาธิปัตย์ กับกลุ่มมัชฌิมาว่า "เขามีคนของเขาแล้ว" ฉะนั้นทางเลือกที่น่าจะเป็นไปได้สูงสุด ณ นาทีนี้คือพรรคชาติไทย !

ดับไฟใต้ด้วยงานพัฒนา

          นอกจากคะแนนนิยมส่วนตัวที่ติดลมบนในจังหวัดบ้านเกิดแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่น่าติดตามก็คือนโยบายที่หมอแวเตรียมนำเสนอเพื่อดับไฟใต้ ซึ่งไม่ใช่ประเด็นเดิมๆ เหมือนกับคนที่เคยทำงานในภาคประชาสังคมพูดกัน แต่นโยบายของหมอแวมุ่งเน้นการพัฒนาแบบ "แพคเกจใหญ่" ซึ่งต้องอาศัยพลังอำนาจทางการเมือง

          "วันนี้เราต้องคิดเป็นแพคเกจใหญ่ เหมือนกับเขตปกครองพิเศษชิงเกียงของจีน ที่นั่นมีประชากรมุสลิม 20 ล้านคน มีสุเหร่า 20,000 แห่ง เคยมีปัญหาต่อสู้กันเป็นร้อยปี แต่จีนโหมงบประมาณและการพัฒนาลงไปเพียงแค่ 10 ปีปัญหาก็จบ ทั้งๆ ที่มีคนและสุเหร่ามากกว่าเราถึงสิบเท่า แต่ของเรายังโหมแต่งบด้านความมั่นคง ขณะที่งบพัฒนายังน้อย และต่างคนต่างทำ"

          หมอแว อธิบายว่า วิธีคิดแบบ "แพคเกจ" ก็คือ ทำอย่างไรให้การศึกษาดีขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น คนมีงานทำ และไม่มีบัณฑิตว่างงาน ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามดูแลคนที่ข้ามไปทำงานฝั่งมาเลเซีย พร้อมทั้งอุดหนุนอุตสาหกรรมในครัวเรือนให้พี่น้องมุสลิมเป็น "เถ้าแก่" ไม่ใช่เป็นแค่ "แรงงานราคาถูก"

          นี่คือวิสัยทัศน์แบบย่อที่เขาสรุปว่า ทุกพรรคการเมืองจะต้องมีคำตอบแล้วว่าจะแก้ปัญหาภาคใต้อย่างไร เพราะปัญหานี้ถือเป็นวาระแห่งชาติ และเป็นปัญหาของคนทั้งชาติไปแล้ว

ปชป.ขอเก้าอี้เพิ่ม

          เหลียวไปดูแชมป์เก่าในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2548 อย่างพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กันบ้าง การเลือกตั้งในครั้งนั้น พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มี ส.ส.ทั้งสิ้น 11 คน แบ่งเป็นนราธิวาส 4 ยะลา 3 และ ปัตตานี  4  ประชาธิปัตย์พลาดไปเก้าอี้เดียวคือนราธิวาส เขต 3 แต่ครั้งนี้ นิพนธ์ บุญญามณี แม่ทัพภาคใต้ตอนล่างของ ปชป.บอกว่า ขอทำผลงานให้ได้ ส.ส.มากกว่าเดิมก็แล้วกัน

           "พรรคมั่นใจว่าในจังหวัดชายแดนภาคใต้เราน่าจะรักษาพื้นที่เดิมของพรรคเอาไว้ได้ และยังคาดหวังว่าพื้นที่ที่ยังเหลืออีก 1 พื้นที่ คือ นราธิวาสเขต 3 และ ส.ส.ใหม่ที่จะเพิ่มขึ้นอีก 1 คนของนราธิวาส พรรคก็น่าจะได้รับความไว้วางใจเพิ่มเติม"

          สำหรับเหตุผลของความมั่นใจแบบเต็มร้อย นิพนธ์ บอกว่า เพราะประชาชนในพื้นที่เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองเดียวที่ลงพื้นที่ตลอด และเดินทางไปให้กำลังใจชาวบ้านทุกครั้งที่เกิดวิกฤติ โดยมี นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรีผู้มากบารมีเป็นหัวหน้าทีม

          ส่วนภาพพจน์ของประชาธิปัตย์ที่ถูกมองว่าไปอยู่ข้างเดียวกับทหารนั้น ดูเหมือน นิพนธ์ จะไม่ประหวั่นพรั่นพรึงแม้แต่น้อย

          "เราเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างตรงไปตรงมาอยู่เสมอ วันนี้แม้กระทั่ง กอ.รมน.บอกว่ามีนักการเมืองอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความไม่สงบ เราก็เป็นพรรคเดียวที่กล้าเรียกร้องว่าทหารต้องพูดให้ชัด ดังนั้นเราไม่คิดว่าสิ่งที่เราทำจะเป็นการกระทำที่สอดคล้องกับทหารทุกอย่าง ถ้าทหารทำในสิ่งที่ถูกต้อง เราก็ต้องบอกว่าถูกต้อง แต่อะไรที่ผิดพลาด เราก็กล้าที่จะออกมาพูดทักท้วง โดยเฉพาะในช่วงที่ใครไม่กล้าส่งสัญญาณอะไรเลย ประชาธิปัตย์ยังส่งสัญญาณอยู่ตลอด"

          กับคู่ต่อสู้ที่จะมีมากขึ้นในสนามเลือกตั้ง รวมทั้งกลุ่มการเมืองใหม่ๆ อาทิเช่น "กลุ่มหมอแว" นั้น นิพนธ์ บอกว่า เป็นเรื่องดีที่ประชาชนจะได้มีทางเลือกมากขึ้น แต่ถ้าถามว่าประชาธิปัตย์เคยผ่านศึกมาแล้วหรือไม่ ก็ต้องบอกว่ามากกว่าหมอแวก็เคยสู้กันมาแล้ว

ชูตั้ง รมต.ดูแลใต้

          นโยบายเด็ดที่พรรคประชาธิปัตย์มั่นใจว่าจะได้รับความไว้วางใจจากประชาชน คือการตั้งรัฐมนตรีที่มีหน้าที่รับผิดชอบปัญหาภาคใต้เป็นการเฉพาะ

          "เรามีแนวทางแก้ปัญหาที่ชัดเจน เพราะได้ศึกษาวิจัยเอาไว้หมด และทำแผนงบประมาณไว้แล้วด้วย สำหรับเรื่องการเมืองนำการทหารนั้น ต้องบอกว่าลำพังโครงสร้าง ศอ.บต.คงไม่ทันกับสถานการณ์แล้ว ฉะนั้นเราจะเสนอรูปแบบการจัดองค์กรให้มาดูแลปัญหาภาคใต้โดยเฉพาะ และมีผู้รับผิดชอบระดับนโยบาย คือมีรัฐมนตรีมาดูแลปัญหาภาคใต้โดยตรง ส่วนในด้านเศรษฐกิจ ก็จะต้องพัฒนาภายใต้หลักการของศาสนาอิสลามให้มากกว่าเดิม" นิพนธ์ อธิบาย

          ส่วนแนวโน้มการเจรจากับกลุ่มก่อความไม่สงบนั้น พรรคประชาธิปัตย์ดูจะสงวนท่าทีในเรื่องนี้ โดยนิพนธ์ย้ำว่า ปัญหาภาคใต้ถ้าสามารถพูดคุยกันตรงๆ ได้ เราก็พูดจากันตรงๆ แต่การพูดจาไม่ได้หมายถึงการยกให้เป็นเวทีเจรจา

          เมื่อซักว่า ที่ผ่านมาได้ไป "พูดจา" มาบ้างหรือยัง นิพนธ์ แย้มว่า "อาจจะมีคนรู้จักกันไปคุยกัน และมีการปรึกษาหารือกัน พูดคุยผ่านกลุ่มต่างๆ เขาก็ไม่ได้ปฏิเสธ บางครั้งคนที่ได้ไปพบมา คุยมา ก็ได้บอกแนวทางว่าความเป็นจริงเขาต้องการอะไร"

          เป็นปริศนาการเจรจาของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ดูหมายมั่นปั้นมือเหลือเกินว่าจะดับไฟใต้ได้สำเร็จ!

วาดะห์ยังรอจังหวะ

          พูดถึงกลุ่มการเมืองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมองข้าม "กลุ่มวาดะห์" ไปเสียเลยคงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะแม้ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมา วาดะห์จะพ่ายยับเยินให้กับประชาธิปัตย์ แต่หลายคนกลับเชื่อว่า สถานการณ์ในวันนี้จะไม่ซ้ำรอยอดีตอีกแล้ว

            มุข สุไลมาน แกนนำกลุ่มวาดะห์ เล่าสถานการณ์ของกลุ่มการเมืองมุสลิมที่เคยเกรียงไกรในพื้นที่ ในวันที่พรรคไทยรักไทยล่มสลายไปแล้วว่า ทางกลุ่มจะยังคงเดินหน้าทำงานการเมืองในระดับชาติต่อไป แต่เรื่องตั้งพรรคใหม่คงเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีเงิน ขณะนี้จึงกำลังพิจารณากันอยู่ว่าจะเข้าสังกัดพรรคการเมืองใด ซึ่งก็คงต้องเป็นพรรคการเมืองใหม่ เพราะเราคงไม่ร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์แน่นอน

          "ณ วันนี้ กลุ่มวาดะห์อยู่กับกลุ่มมัชฌิมา แต่มัชฌิมาก็ยังไม่ได้เป็นพรรคการเมือง และคนที่เป็นแกนนำพรรคก็ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเกือบหมด ถึงขณะนี้จึงยังไม่ได้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย และกำลังดูพรรคการเมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ รวมถึงพรรคการเมืองใหม่อื่นๆ ที่อาจจะเปิดตัวหลังจากนี้ เช่น พรรคของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตหัวหน้าพรรคความหวังใหม่"

          มุข บอกว่า แนวทางที่กลุ่มวาดะห์ต้องการมากที่สุด คือการตั้งพรรคการเมืองเอง จะได้มีความเป็นอิสระ ไม่ต้องยึดติดกับเงื่อนไขของพรรคใด แต่เมื่อในความเป็นจริงไม่สามารถทำได้ ก็ต้องมองหาแนวทางสำรองเอาไว้ อย่างไรก็ดี ทางกลุ่มจะไม่ละทิ้งการเมืองอย่างแน่นอน เพราะนั่นเท่ากับเป็นการละทิ้งประชาชน

          "ถือเป็นความรับผิดชอบของนักการเมืองมุสลิม เพราะประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดไม่มีที่พึ่งที่ไหนเลย มีแต่ ส.ส.มุสลิมเท่านั้นที่เป็นที่พึ่งของเขาได้ เห็นได้จากการเมืองในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอิสระของผู้แทนราษฎรถูกทำลาย ก็ส่งผลให้สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เลวร้ายลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน  ฉะนั้นผมบอกได้เลยว่า ในพื้นที่สามจังหวัด ถ้าไม่มีมุสลิมเป็น ส.ส. สังคมมุสลิมจะน่าสงสารยิ่งกว่านี้"

          มุข บอกด้วยว่า สิ่งที่คนสามจังหวัดเรียกหาคือความเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม และความเป็นธรรมเรื่องการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติ เพราะทรัพยากรในพื้นที่นี้ถูกแย่งชิงไปเป็นจำนวนมาก และนี่เองที่ทำให้แนวทางการจัดการปกครองรูปแบบพิเศษ เป็นนโยบายที่กลุ่มวาดะห์พร้อมสนับสนุน

          "กลุ่มวาดะห์พร้อมสนับสนุนให้จัดการปกครองรูปแบบพิเศษ หากเป็นแนวทางที่จะแก้ปัญหาความไม่สงบได้จริงๆ เพราะการปกครองรูปแบบพิเศษไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร และไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน"

บทสรุป

          ปฏิเสธไม่ได้ว่าความไม่สงบที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีหลากหลายปัญหาที่เหลื่อมซ้อนกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา อัตลักษณ์ วัฒนธรรม และความมั่นคง การคลี่คลายปัญหาด้วยวิถีทางทางการเมือง แม้จะไม่ใช่คำตอบที่เป็นสูตรสำเร็จ แต่ก็น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับการสถาปนาสันติสุขให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน

          ฉะนั้นการที่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองต่างๆ พยายามชูนโยบายเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนจึงเป็นเรื่องที่ดี และน่าติดตามไม่น้อยว่าชาวบ้านจะเลือกใครเข้ามาเป็นปากเป็นเสียงแทนพวกเขา เพราะต้องไม่ลืมว่า ดินแดนปลายสุดด้ามขวานแห่งนี้เคยสร้างปรากฏการณ์ทางการเมืองมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน!

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- ยุทธศาสตร์การเมืองดับไฟใต้ (ตอน 1) ถอดรหัส "พรรคใหม่" ชิงพื้นที่ชายแดนใต้