Skip to main content

อัยการพิเศษคดีความมั่นคงแนะแนวคิดอบรมผู้ถูกกล่าวหา แทนการดำเนินคดี

รพี มามะ
นราธิวาส
2017-01-26
 

 

    TH-prosecutor-620
    นายโสภณ ทิพย์บำรุง อัยการพิเศษคดีความมั่นคง จังหวัดนราธิวาส (คนถือไมโครโฟน) ในระหว่างสัมมนาเรื่องความยุติธรรมทางเลือก วันที่ 26 ม.ค. 2560
    เบนาร์นิวส์
     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

    นายโสภณ ทิพย์บำรุง อัยการพิเศษคดีความมั่นคง จังหวัดนราธิวาส ได้เสนอให้รัฐบาลแก้ปัญหาไฟใต้ ด้วยการใช้พระราชบัญญัติความมั่นคง มาตรา 21 แทนกฎหมายพิเศษฉบับอื่นๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงได้มีโอกาสกลับใจ แทนการถูกดำเนินคดี

    ในวันนี้ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดโครงการองค์กรภาคประชาสังคมกับกระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนภาคใต้ มีการเสวนาในหัวข้อ “การนำเสนอแนวคิดหลักการความยุติธรรมทางเลือก” โดยมีวิทยากรที่สำคัญอีกสองท่าน คือ พล.ต.วิชาญ สุขสง ผู้บัญชาการ กองพลทหารราบที่ 15 และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี (อดีตเลขาธิการ ศอ.บต. และอดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ)

    นายโสภณ กล่าวต่อที่สัมมนา ที่ห้องประชุมโรงแรมอิมพิเรียล อำเภอเมือง นราธิวาส ว่า ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคงนั้น มีการบังคับใช้กฎหมายสามฉบับ คือ 1.กฎอัยการศึก 2.พระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก. ฉุกเฉิน) และ มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ซึ่งฉบับหลังนี้ ใช้เฉพาะในพื้นที่สี่อำเภอของจังหวัดสงขลา และอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี

    พรก.ฉุกเฉิน ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ในทันที ในสถานการณ์ที่ไม่อาจขอหมายจับจากศาลได้ทันการณ์ และควบคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน ในขณะที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้อำนาจเจ้าหน้าที่กักตัวได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง ส่วนกฎอัยการศึก จับผู้ต้องสงสัยโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ญาติทราบ

    แต่ที่ผ่านมา แม้ว่าตำรวจได้ดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยจำนวนมาก แต่อัยการได้สั่งฟ้องเพียงหนึ่งในห้าเท่านั้น นายโสภณ กล่าว และได้แสดงแนวคิดให้พิจารณาการใช้มาตรา 21 แห่ง พรบ.ความมั่นคง ที่มีการเปิดโอกาสให้ผู้ต้องสงสัยร่วมโครงการกลับใจ โดยไม่ต้องถูกดำเนินคดี มาใช้แทนกฎหมายอีกสองฉบับในพื้นที่ที่มีจำนวนคดีสูงนั้น จะช่วยแก้ปัญหาไฟใต้ได้ดีกว่า

    “เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งสำนวนคดีความมั่นคงให้อัยการมากพอสมควร ซึ่งได้กลั่นกรอง ตัวอย่างอาทิ 100 คดีความมั่นคง ส่งฟ้องศาลจริงเพียง 20 คดี ที่เหลือไม่สั่งฟ้อง ทั้งนี้ ทางอัยการได้ยึดหลักในการพิจารณาเหตุจูงใจ ผลร้ายที่จะตามมา ในกรณีกระทบต่อความมั่นคง และต้องพิจารณาถึงประโยชน์ของประเทศชาติ เป็นหลัก ในประเทศและต่างประเทศ” นายโสภณ กล่าว

    นายโสภณ กล่าวว่า มีการพูดคุยประเด็นการใช้มาตรา 21 แห่งพรบ.ความมั่นคงมานาน ซึ่งบุคคลที่ต้องหาว่ากระทำความผิด ซึ่งจะได้รับโอกาสในการ “กลับใจเข้ามอบตัว” เพื่อเข้ารับการฝึกอบรมจากหน่วยงานของรัฐเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน แทนการถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมปกติ หรือลงโทษจำคุก แต่ใช้ในพื้นที่จำกัดเท่านั้น คือ ใน 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา (จะนะ เทพา สะบ้าย้อย นาทวี) และอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี ซึ่งครอบคลุมจำนวนเป้าหมายน้อยเกินไป

    “เป็นพื้นที่ที่รัฐบาลยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน มีผู้หลงผิดหรือผู้เห็นต่าง เปรียบเสมือนลูกค้าใช้บริการ สมัครใจเข้าตามมาตรา 21 เพียง 8 รายเท่านั้น แต่ในพื้นที่ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ยังคงใช้กฏหมายควบคุมตาม พรก.ฉุกเฉิน” นายโสภณ กล่าวเพิ่มเติม

    “มาตรา 21 จะให้ผู้หลงผิดหรือลูกค้าจำนวนมากที่อยู่ในพื้นที่ไม่สามารถใช้บริการนี้ได้ ถือว่าเป็นอุปสรรคของแก้ปัญหาความมั่นคงอีกทางหนึ่ง จึงเห็นว่า รัฐบาลควรพิจารณา ยกเลิกประกาศ พรก.ในพื้นที่ โซนสีแดง ตัวอย่างพื้นที่ อำเภอเจาะไอร้อง รือเสาะ บาเจาะ ตากใบ จังหวัดนราธิวาส และพื้นที่ปัตตานี และยะลา ที่มีปัญหาหนักๆ ด้านความไม่สงบเรียบร้อย กำหนดในระยะพอสมควร เพื่อให้มาตรา 21 ได้ถูกใช้ในพื้นที่ นำคนสู่กระบวนการยุติธรรม และนำกฎหมายทางเลือก มาร่วมแก้ปัญหา เพื่อให้พื้นที่เกิดความสงบสุข” นายโสภณ กล่าว

    ด้าน พล.ต.วิชาญ สุขสง ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 ได้กล่าวในมุมของทหาร ในฐานะผู้ปฎิบัติ และควบคุมดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ว่า เจ้าหน้าที่ทหารยังมีความจำเป็นที่ต้องใช้ พรก.ฉุกเฉินอยู่ แต่ไม่ได้ปฎิเสธแนวคิดนี้ และว่าทหารได้แก้ไขสถานการณ์ได้ดีขึ้นในระยะหลัง

    “หากจะมีกระบวนการกฎหมายยุติธรรมทางเลือก หากดูย้อนสถานการณ์ความไม่สงบ ระยะเวลา ปี 47 ถึงปี 60 รวม 13 ปี มีผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงทุกประเภท ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งสิ้น 7,248 คน เป็นการเสียชีวิตจากเหตุที่เกี่ยวกับความมั่นคง 4,543 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก แต่นับตั้งแต่ ตุลาคม 59 ถึง 60 ปัจจุบันสถานการณ์ความรุนแรงลดลงไปมาก ความสูญเสียลดลง แสดงถึงความมีประสิทธิภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่ ต่อการแก้ปัญหามากขึ้น” พล.ต.วิชาญ กล่าว

    พล.ต.วิชาญ ยังกล่าวว่า มาตรา 21 แห่งพรบ.ความมั่นคง จะสอดคล้องกับโครงการนำคนกลับบ้าน ส่วนใหญ่ มี 2 กรณี คือ ผู้ที่มีหมาย พรก. รวมถึงผู้ที่ไม่สบายใจ ถูกอ้างว่าเป็นแนวร่วม เข้าโครงการทั้งหมด 4,000 คน

    “ผู้ที่มีหมาย พรก. เจ้าหน้าที่จะนำเข้าโครงการอบรมตามกระบวนการ และปลด พรก.ให้ เพื่อกลับไปอยู่บ้านกับครอบครัว ในส่วนมาตรา 21 ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้จริงในพื้นที่ พรก.นั้น ขอตอบเป็นส่วนตัวว่า ก็อึดอัด และสมควรแก้ไข ทั้งนี้ ทุกฝ่ายจะต้องมาคิดรวมกัน ซึ่งเป็นอำนาจของผู้ใหญ่ แต่พร้อมเสนอเรื่องนี้ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาทราบ” พล.ต.วิชาญ กล่าว

    อย่างไรก็ตาม ปัญหาจะคลี่คลายและจบลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เห็นต่างหรือผู้จับอาวุธ ต้องเลิกการใช้ความรุนแรง และการหันหน้า เจรจาต่อรอง ตามกระบวนการสันติสุข หรือสันติภาพ คือหนทางที่ดี หรือการเมืองนำการทหาร ไม่มีใครอยากเห็นพี่น้อง ต้องฆ่ากันหรือบาดเจ็บ ล้มตาย มีแต่ทุกคน พุทธหรือมุสลิม อยากเห็นสันติสุข

    ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ได้ให้ทัศนะปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เกี่ยวข้องกับศาสนา อัตลักษณ์ และวีถีชีวิตของคนในพื้นที่

    “ก่อนที่เราจะร่างกฏหมายให้ประชาชนต้องปฏิบัติ สิ่งที่ขาดไป คือ การเขียนกฎหมายเกี่ยวข้องกับคนในพื้นที่ สมควรที่คนในพื้นที่ต้องมีส่วนร่วมด้วย ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต กล่าวคือ ความยุติธรรมต้องนำมาก่อน ตามด้วย การปกครอง ทหาร ตำรวจ และอื่นๆ เมื่อความยุติธรรมเกิดขึ้น เงื่อนไขจบ ความสันติสุข หรือกระบวนสันติภาพจะเกิดขึ้น” พ.ต.อ.ทวี กล่าว

    ขณะที่ นางรุสนี จันทราวดี ภรรยานายมะรอโซ จันทราวดี หัวหน้ากลุ่มติดอาวุธ RKK ที่เสียชีวิตจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่หน่วยนาวิกโยธิน ที่อำเภอบาเจาะ นราธิวาส เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 ได้แสดงความเห็นด้วยกับกระบวนการยุติธรรมทางเลือก เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ว่า เห็นสมควรที่รัฐบาลควรประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ