วัยเด็ก ที่ยะลา กับร่องรอยของความสงบ
“วันเด็ก” ในวันเสาร์ที่จะถึงนี้ ตลอดทั้งสัปดาห์ก่อนวันเด็ก ทางโรงเรียนของเหล่าบรรดาเด็กน้อยทั้งหลาย ต่างก็พากันจัดกิจกรรมให้เด็กนักเรียนกันอย่างคึกคัก เด็กๆ เองก็ดูจะตื่นเต้นและร่วมสนุกกันอย่างเต็มที่ เห็นแล้วทำให้คิดถึงตัวเองในสมัยเด็กๆ ขึ้นมาเลย
ย้อนถึงสมัยนั้น …
ขอบอกว่าไม่อยากนับนิ้วมือตัวเองเลย ว่ามันผ่านมากี่ปีแล้ว เพราะมันเกี่ยวโยงถึงอายุอานามของผู้เขียนด้วย แต่ถึงกระนั้น แม้มันจะนาน และผ่านมาหลายสิบปีแล้วก็ตามที แต่ในความรู้สึกของข้าพเจ้าเหมือนมันเพิ่งเกิดขึ้นและเพิ่งผ่านมาเมื่อไม่นานมานี้เอง ถ้าเปรียบความทรงจำนี้เป็นเหมือนภาพยนตร์เรื่องโปรด ข้าพเจ้าคิดว่า เรื่องนี้มันถูกรีรันฉายซ้ำบ่อยที่สุดเลยก็ว่าได้
วัยเด็ก ในความทรงจำ…
ข้าพเจ้าโชคดีที่ได้เรียนโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียงในจังหวัดยะลา โรงเรียนนี้มีสอนภาษาจีนแทรกอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอน ตอนเด็กๆ จำได้ว่า แรกๆ เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ข้าพเจ้าไม่ชอบไปโรงเรียนเลย แม้ว่าการเรียนของตัวเองจะอยู่ในระดับที่ดีก็ตาม เหตุผลเพราะข้าพเจ้าเป็นมุสลิมคนเดียวในห้อง จึงรู้สึกว่าตัวเองแปลกกว่าคนอื่นๆ จึงไม่ค่อยอยากที่จะคบใคร เวลาพักเที่ยงก็จะแอบทานข้าวที่แม่ใส่กระปุกไว้ให้คนเดียว ในขณะที่เพื่อนๆ ออกไปทานกันในโรงอาหาร
พอขึ้นชั้นประถมปีที่ 2 เริ่มรู้สึกดีขึ้นเพราะมีน้องสาวมาเรียนด้วยแม้จะคนละชั้นปีกัน แต่ข้าพเจ้าก็รู้สึกอุ่นใจที่มีน้องสาวเป็นเพื่อน พอพักเที่ยงก็จะพาน้องสาวมาทานข้าวในห้องเรียนด้วยกัน บางวันก็ลงไปทานที่ห้องของน้องสาว สลับสับเปลี่ยนกันไป ไม่นานนักพอเริ่มจะปรับสภาพได้ ข้าพเจ้าก็เริ่มมีเพื่อนต่างศาสนามาร่วมวงด้วย เพื่อนข้าพเจ้าคนนี้นับถือคริสต์ นานวันเราเข้าเราก็เริ่มสนิทกัน จากนั้นก็เริ่มสนิทกับเพื่อนในห้องไปเรื่อยๆ ทั้งไทยจีนแท้ๆ ที่ยังใช้นามสกุลเป็น “แซ่” และไทยพุทธแบบจีนผสมก็มี ไม่นานก็รู้สึกว่า “โรงเรียนนี้น่าอยู่…จริงๆ”
บ้านของข้าพเจ้าอยู่ในย่านตลาดเก่า เมื่อก่อนมีชาวไทยพุทธมุสลิมอยู่กันปะปนเป็นจำนวนมาก จำได้ว่าตอนนั้นพอเริ่มขึ้นชั้นประถมปี่ที่ 4 พ่อได้ซื้อจักรยานให้เป็นรางวัลในผลการเรียน ข้าพเจ้ากับเพื่อนในละแวกบ้านเลยมีกลุ่มแว๊นเล็กๆ เกิดขึ้นตามประสาเด็กภูธรจัดตั้งกันตามสภาพการณ์ ด้วยว่าสมัยนั้นรถราไม่ได้มีมากมายเหมือนสมัยนี้
ข้าพเจ้ามักจะปั่นจักรยานไปทำการบ้านหรือรายงาน ที่บ้านเพื่อนร่วมห้องที่เป็นไทยพุทธเป็นประจำ ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านถัดไป 5 ซอย กิจวัตรก่อนไปถึงที่หมายก็จะแวะซื้อโอเลี้ยงที่ร้าน “โกเจ๋ง” หน้าปากซอย 14 (ถนนสิโรรสซอย 14) ซึ่งเป็นร้านน้ำชาที่ขึ้นชื่อในย่านตลาดเก่าแห่งนี้ ร้านนี้ขายเครื่องดื่มน้ำชากาแฟอย่างเดียว ส่วนพวกอาหาร ขนม ของกินจะมีชาวมุสลิมมาขายใต้ชายคาหน้าร้านของแก เรียกว่าเป็นพันธมิตรทางการค้าระดับตำนานที่ยาวนานจนมาถึงปัจจุบันเลยทีเดียว
จำได้ว่า พ่อกับแม่มีแผงขายของอยู่ในตลาดสดเทศบาลนครยะลา ทุกวันหลังเลิกเรียนพ่อจะมารับข้าพเจ้ากับน้องสาวที่โรงเรียนแล้วพาไปที่แผงขายของก่อนกลับบ้านทุกวัน ข้าพเจ้าเห็นความสัมพันธ์ของคนไทยพุทธกับมุสลิมเวลานั้น พึ่งพาอาศัยกันเหมือนพี่เหมือนน้องกันเลยทีเดียว พ่อกับแม่มีเพื่อนเป็นไทยพุทธหลายคน เพราะอาชีพค้าขายของท่านทั้งสองเอง แต่การช่วยเหลือเกื้อกูลก็มีให้เห็นกันเป็นประจำจนข้าพเจ้าคุ้นตา ความเอื้อเฟื้อแบ่งปันของพ่อค้าแม่ค้าในตลาด แม้จะมีกรอบของศาสนาเป็นตัวกรองในบางกิจกรรมด้านความเชื่อก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคในการอยู่ร่วมกันเลย
พ่อข้าพเจ้าบอกเสมอว่า คนต่างศาสนิกก็คือมนุษย์เหมือนเรา และที่สำคัญ พวกเขาก็คือ สิ่งที่ถูกสร้างจากพระเจ้าเฉกเช่นเรา เราให้เกียรติเขาเท่ากับให้เกียรติตัวเอง จึงไม่แปลกใจเลยว่า แม้ความความเชื่อและความศรัทธาจะแตกต่างกัน แต่ผู้คนในสมัยนั้นก็ไม่เคยรู้สึกถึง “ความหวาดระแวง” ในความสัมพันธ์กันเลย ข้าพเจ้าได้สัมผัสได้ถึงความเป็นวิถีชีวิตที่ราบเรียบและสงบสุขอันแท้จริง
สถานที่กับความทรงจำ
มีหลายสถานที่ที่ยังคงทำให้ข้าพเจ้านึกถึง “วัยเด็ก” ทุกครั้งที่ผ่านตา
ตั้งแต่หน้าโรงเรียนเก่า ที่คนในสมัยนั้นเรียกว่า “โรงเรียนจีน” ร้านค้าของอาซิ้มคนเดิมที่ตอนนี้เปลี่ยนมือเป็นรุ่นลูกแล้ว แต่ก็ยังคงทำการค้าขายแบบเดิมๆ มีขนมขบเคี้ยว ของเล่นแปลกๆ เก๋ๆ ตามยุคสมัย ให้เด็กๆ ได้ตื่นตาตื่นใจกันเสมอจนถึงปัจจุบัน
“ร้าน ช้าง” ร้านขายหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องเขียน ที่เด็กๆ ในสมัยข้าพเจ้าไม่ยอมพลาดที่จะเข้าไปซื้ออุปกรณ์การเรียนที่แปลกใหม่ ทันสมัย เพื่อมาอวดเพื่อนๆ ในห้องกัน รวมถึงของกิ๊ฟช๊อปต่างๆ ที่ร้านนี้มีให้เลือกสรรมากมายเลยทีเดียว
“สายกลาง” จนถึง “หน้าสถานีรถไฟ” แหล่งย่านธุรกิจใจกลางเมืองยะลา ที่ใครๆ ต่างนิยมชมชอบในการจับจ่ายซื้อของกัน จำได้ว่าสมัยนั้น ถ้าเป็นช่วงเทศกาล ไม่ว่าจะ ปีใหม่ วันเด็ก หรือคืนก่อนวันฮารีรายอ ร้านค้าแถวนี้จะเปิดกันถึงเที่ยงคืนเลยทีเดียว
“ตลาดเก่า” จากถนนสิโรรสข้ามทางรถไฟไป คือเขตแดนของถิ่นเก่าแก่ที่มีชื่อว่า “ตลาดเก่า” สมัยนั้น 2 ข้างทางมีร้านค้ามากมาย ทั้งร้านค้าของคนไทยพุทธและคนมุสลิม มีของกินของใช้ ตลอดจนร้านค้าแผงลอยเรียงรายจนถึงหน้ามัสยิดกลางจังหวัดยะลา สมัยนั้น 4 ทุ่มยังไม่ถือว่าดึก เพราะผู้คนยังพลุกพล่าน อีกทั้งรถรายังเต็มท้องถนนอยู่เลย
ต่างจากวันนี้ … ทุกอย่างเปลี่ยนไป บ้านเพื่อนไทยพุทธของข้าพเจ้าหลายคนไม่อยู่แล้ว บ้างก็ขายบ้านแล้วย้ายไปต่างจังหวัดกันทั้งครอบครัว พ่อค้าแม่ค้าไทยจีนในตลาดหลายคนที่เป็นเพื่อนพ่อก็ต่างย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่นกัน ย่านธุรกิจก็ปิดร้านกันตั้งแต่ 5 โมงเย็น ข้าพเจ้าไม่รู้ถึงจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงนี้ และก็ไม่รู้ด้วยว่ามันจะจบลงเมื่อไหร่กัน
ความทรงจำในวัยเด็กถูกฉายซ้ำอีกครั้ง
วัยเด็กเมื่อวันวาน มีร่องรอยของความสงบสุข ที่เคยเกิดขึ้นจริง
ครั้งหนึ่ง…
ความเป็นดุลยภาพแห่งพหุวัฒนธรรมอยู่ร่วมด้วยความต่างอย่างลงตัว
และ ..ทุกอย่างมันเคยเกิดขึ้นจริง
วัยเด็กของข้าพเจ้า …มีวันวานที่อบอุ่นและมีร่องรอยของความสงบสุข
แม้จะเป็นเพียงอดีต …แต่มันก็เคยเกิดขึ้นจริง
และข้าพเจ้ามีความสุขทุกครั้งที่ได้คิดถึง
แต่วันนี้ ทุกอย่างเปลี่ยนไป
“วันเด็ก” วันนี้เปลี่ยนไปจากเดิมมากมายนัก
หรืออาจเป็นเพราะว่า
“วันเด็ก” วันนี้ ไม่ใช่ “วัยเด็ก” ของข้าพเจ้าอีกต่อไป
#สายลมแห่งตักวา