Skip to main content

 

เรื่องเล่า…เท่าที่สังเกต (เฉพาะกิจ)

ตอน อิสรภาพที่ถูกรบกวน

 

 

นับเป็นเวลานานมากแล้วที่ไม่ได้มาเยือนสถานีรถไฟยะลา ทั้งที่ข้าพเจ้าคือคนยะลาโดยกำเนิด ย้อนไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน สถานีรถไฟแห่งนี้คลาคล่ำไปด้วยผู้คนหนาแน่นเลยทีเดียว เรียกว่าทุกสายอาชีพเลยก็ว่าได้ ที่ต่างต้องผ่านการบริการหรือไม่ก็ต้องคุ้นเคยกับสถานีรถไฟแห่งนี้เป็นอย่างดี 

ในอดีตที่นี่คือศูนย์การค้าแห่งใหญ่ในตัวเมืองยะลา  แม้ปัจจุบัน ธุรกิจหลายอย่างอาจซบเซาลงไปบ้าง ด้วยปัจจัยหลายด้าน ทั้งด้านการเปลี่ยนแปลงของการจัดระเบียบใหม่ตามนโยบายการพัฒนา ตัวอาคารใหม่ที่เพิ่มความสะดวกสบายยิ่งขึ้น การใช้บริการของผู้คนอาจดูบางตาลงไปบ้าง  อาจเนื่องด้วยทางเลือกของระบบขนส่งที่เพิ่มขึ้น และการบริการของทางรถไฟที่ยังคงสม่ำเสมอในเรื่องเวลา  (ประโยคหลังนี้…ข้าพเจ้าอาจเข้าใจไปเอง)

รถไฟขบวนที่ 172  ต้นทางสถานีสุไหงโก-ลก ปลายทาง สถานีกรุงเทพฯ  ค่อยๆ เคลื่อนตัวช้าๆ ผ่านสายตาข้าพเจ้าไป ข้าพเจ้ารู้สึกตื่นเต้นบอกไม่ถูก จำไม่ได้ว่านั่งรถไฟครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ แต่โดยความรู้สึกส่วนตัวแล้ว การนั่งรถไฟคือสิ่งที่ข้าพเจ้าโปรดปราณที่สุด

วันนี้ข้าพเจ้าได้นัดหมายกับเพื่อนจากโลกโซเชี่ยลคนนึง โดยเรารู้จักกันจากการเป็นแอดมินในกลุ่ม “ประชาชาติอิสลาม” ด้วยกัน ซึ่งเราต่างมีจุดหมายปลายทางที่เดียวกันนั่นคือ กรุงเทพฯ เพื่อนข้าพเจ้าคนนี้อายุอานามไล่เลี่ยกับข้าพเจ้า แต่ประสบการณ์และการใช้ชีวิตของเธอ ดูแล้วน่าจะมากกว่าอายุด้วยซ้ำ ที่น่าทึ่งสำหรับข้าพเจ้าคือ เธอเป็นนักเขียนที่มีคนติดตามในเฟสบุ๊ค เกือบ 8 หมื่นคน  ความน่าทึ่งนี้ไม่ใช่ที่ผู้ติดตามจำนวนมาก ทว่าเธอเป็นนักเขียนที่เรียนจบแค่ชั้น มัธยม 2 เท่านั้น  หนังสือที่เธอเขียนหลายเล่มล้วนแต่ได้รับความนิยมในหมู่ของบรรดามุสลิมะฮฺ ด้วยแนวการเขียนที่เป็นไปในลักษณะเป็นเพื่อน  พร้อมสอดแทรกความรู้ หลักคิดและแนวทางของศาสนา

“การเรียนรู้ไม่ใช่แค่…ในห้องเรียน”  นี่คือคำพูดของเธอ 

จากการพูดคุยกับเธอเท่าที่สังเกต  อุดมการณ์ของเธอค่อนข้างจะชัดเจนในการที่อยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีเกิดขึ้นในสังคมมุสลิม โดยเฉพาะกลุ่มคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่  แม้จะรู้ดีว่าเป็นเรื่องที่ยาก แต่เธอเชื่อว่ามันต้องเกิดขึ้นแน่นอนในวันข้างหน้า “อินชาอัลลอฮฺ” คำกล่าวที่เธอเอ่ยจนคุ้นชิน

ตลอดการเดินทาง เราคุยกันถูกคอ เริ่มจากเรื่องของความคิด ทัศนะ และมุมมอง ในสังคมปัจจุบัน จนถึงเรื่องหลักการของศาสนา ต้องยอมรับว่า เรื่องศาสนา เธอใฝ่เรียนรู้และเพิ่มพูนอยู่สม่ำเสมอ  เพราะเธอเชื่อมั่นว่า ศาสนา คือเข็มทิศที่จะนำทางเธอทุกวิถีการดำเนินชีวิตแน่นอน  และเท่าที่สังเกต เธอเป็นนักอ่านตัวยง เลยทีเดียว โดยเฉพาะหนังสือเกี่ยวกับศาสนา  จากการที่เธอแนะนำให้ข้าพเจ้าอ่าน

ข้าพเจ้าถามถึง เหตุการณ์ที่เธอถูกคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารไปยังค่ายอิงคยุทธฯ ปัตตานี เธอเล่าให้ข้าพเจ้าฟังอย่างอารมณ์ดีว่า ได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่อย่างดี  ตลอดหนึ่งสัปดาห์ที่เธออยู่ที่นั่น หากแต่เพียงเธอและสามีถูกแยกให้พักคนละที่กันเท่านั้น  

เมื่อย้อนไปช่วงก่อนที่เธอจะถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐเชิญตัวไป  ขั้นตอนการปฏิบัติต่างๆ ดูจะรวดเร็วจนเธอตั้งรับไม่ทันเลย โดยก่อนหน้านี้ได้มีคนแจ้งให้เธอทราบล่วงหน้าแล้วว่า จะมีเจ้าหน้าที่มาเยี่ยมเธอเพื่อสอบถามรายละเอียดบางอย่างซึ่งไม่ได้ระบุถึงความต้องการที่ชัดเจนแต่อย่างใด และเธอก็คิดว่ารอให้ภารกิจการจัดค่ายอบรบที่เธอรับหน้าที่เป็นวิทยากรเสร็จสิ้นลงก่อน เธอจะเป็นฝ่ายเดินทางไปหาเจ้าหน้าที่เอง  

ปมปัญหาเกิดจากอะไร  และอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องการข้อมูลจากเธอ ที่สำคัญคือ ข้อมูลเหล่านั้นเกี่ยวกับอะไร ทุกอย่างที่เกิดขึ้นถูกทิ้งเป็นคำถามให้สังคมงุนงงและชวนสงสัยจนถึงทุกวันนี้

แต่สิ่งที่ข้าพเจ้าสังเกต จากแววตาของเธอ เธอไม่ได้ยี่หระหรือหวาดกลัวต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอแม้แต่น้อย  เสมือนว่าเธอได้ก้าวข้ามผ่านความรู้สึกเหล่านั้นมาแล้ว  สิ่งที่น่าคิดต่อจากนี้ไป  คือ “อิสรภาพของเธอ จะถูกรบกวน” หรือไม่?

ทราบมาว่าเธอต้องเข้าไปรายงานตัวทุกเดือนตามกำหนดการของเจ้าหน้าที่ ณ ค่ายอิงคยุทธบริหารจังหวัดปัตตานี และเธอจำเป็นต้องเปิดเผยตัวตนให้เห็นเพื่อเป็นการยืนยันถึงความร่วมมือกับทางการ ซึ่งเธอก็คงต้องเตรียมตัวรับมือกับกระแสต่อต้านจากสังคมรอบข้างของเธอรวมถึงสังคมออนไลน์ที่เธอมีผู้ติดตามมากมาย  และพวกเขาจะมีมุมมองต่อเธออย่างไรนับจากนี้ สิ่งเหล่านี้คือบททดสอบที่เธอต้องฝ่าฟันไปให้ได้  “อินชาอัลลอฮฺ” 

การสนทนาของเราครั้งนี้ ทำให้เธอ ได้รู้ความจริงว่า ข้าพเจ้า คือ หนึ่งในผู้ติดตามเธอด้วย เชื่อเหลือเกินว่าการพบกันของเราทั้งสองคน ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่นอน นั่นเป็นเพราะอัลลอฮฺกำหนดมาแล้วจริงๆ 

อัลฮัมดูลิลาฮฺ

 

#อิสรภาพที่ถูกรบกวน

#สายลมแห่งตักวา