Skip to main content

                                                                                                                                                                             อิมรอน   โสะสัน 

 

Image result for การอพยพย้ายถิ่น

(http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1403328230)                                                                         

            ...การอพยพย้ายถิ่นของมนุษย์ไม่ว่าชนชาติใด เผ่าพันธุ์ใด กลุ่มศาสนาใด นับว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอ เหตุผลของการอพยพย้ายถิ่นของแต่ละคน แต่ละกลุ่มคน เผ่าพันธุ์ ขึ้นอยู่กับความจำเป็นที่ต่างกันออกไป บางครั้งเกิดจากการกดขี่จากผู้ปกครอง การแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า อิสระกว่า ความจำเป็นในการหาตั้งถิ่นฐานใหม่ การลี้ภัยทางการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ ฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนกระตุ้นให้มนุษย์ต้องเดินทางสู่ดินแดนใหม่ตลอดเส้นทางของการสร้างอารยธรรมแห่งมนุษยชาติ….

               ในรอบ 2-3 ปี ที่ผ่านมา ผมเริ่มเห็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย (รวมถึงสังคมมุสลิมไทยด้วย) กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางประชากรศาสตร์อย่างเห็นได้ชัด สำหรับประเทศไทยโดยรวม ผมคิดว่า สังคมไทยไม่ได้ประกอบด้วยประชากรเพียงแค่ 68 ล้าน มานานแล้ว (สถิติองค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 ระบุว่าประชากรของไทยมีจำนวน 68,235,420 คน และอาศัยอยู่ในเขตเมืองถึง 52.2 %) ในความเป็นจริงสังคมไทย มีประชากรอาศัยในประเทศนี้ราวๆ 100 ล้านคน หรือ มากกว่านั้น กล่าวคือ ประชากรที่เป็นนักท่องเที่ยวประมาณปีละ 22 ล้าน แรงงานต่างด้าวผมคิดว่ามีไม่ต่ำกว่า 5 ล้าน รวมทั้งกลุ่มอื่นๆที่ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านนับจำนวนไม่น้อยเช่นกัน  

              คณะทำงานเฉพาะเรื่องแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการย้ายถิ่นของประเทศไทย ปี 2557 ประมาณการณ์ว่ามีชาวต่างชาติที่กำลังพำนักอยู่ในประเทศไทยรวมเป็นจำนวนระหว่าง 3.5-4 ล้านคน โดยเป็นผู้ที่มีงานทำอยู่ประมาณ 3.25 ล้านคน ผู้ที่มีงานทำจำนวนประมาณ 2.7 ล้านคน มาจาก ประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา อย่างไรก็ตาม ผู้ย้ายถิ่นในประเทศไทย ไม่ได้มีแต่แรงงานข้ามชาติเท่านั้น เมื่อสิ้นปี 2556 มีผู้พลัดถิ่นในค่ายพักพิงใกล้ชายแดนประเทศเมียนมา ทั้งที่จดทะเบียนและไม่จดทะเบียนเป็นจำนวนรวม 127,000 คน ในปี 2555 มีบุคคลที่พำนักอยู่ ในประเทศไทยด้วยการตรวจลงตราเพื่อเข้ามาใช้ชีวิตในฐานะผู้สูงอายุเป็นจำนวน 34,500 คน และในปี 2553 มีนักศึกษาต่างชาติในระดับอุดมศึกษาเป็นจำนวน 20,155 คน

               รายงานฉบับดังกล่าวอธิบายว่า ประเทศไทยในฐานะประเทศต้นทาง ประเทศทางผ่าน และประเทศปลายทาง สำหรับผู้ย้ายถิ่นจำนวนมากจาก ทั้งภายในภูมิภาคและทั่วโลก กระแสการย้ายถิ่นของประเทศไทยมีทั้งความซับซ้อนและความเป็นพลวัต ในบริบทของภูมิภาคที่กำลังมีการเติบโตโดยเฉพาะเมื่อเผชิญกับความเป็นไปได้ที่แรงงานย้ายถิ่นและคนผลัดถิ่น จากประเทศเมียนมาจำนวนมากจะย้ายกลับมาตุภูมิในอนาคต และการรวมเป็นประชาคมอาเซียน ความสามารถในการจัดการกระแสการย้ายถิ่นของประเทศในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ จะส่งผลกระทบ ระยะยาวต่อการเติบโตและการพัฒนาเป็นระยะเวลาหลายปี

            ผมขอให้ข้อมูลในระดับสากลสักเล็กน้อยว่า ขณะนี้สถิติเกี่ยวกับผู้พลัดถิ่นจากภาวะบีบบังคับ (Forcibly displaced persons) เมื่อสิ้นปี 2558 ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Refugees-UN High Commissioner for Refugees-UNHCR) ทั่วโลกอยู่ที่ 65.3 ล้านคน ถ้าคิดจำนวนประชากรเกือบๆประเทศไทยด้วยซ้ำ และในแต่ละวันมีอพยพทิ้งบ้านตัวเองเนื่องจากความรุนแรงและการข่มเหงวันละ 34,000 คน ต้องมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัย(refugee) ถึง 21.3 ล้านคน มากกว่าครึ่งอายุต่ำกว่า 18 จำนวนผู้ลี้ภัย 53 % ของผู้ลี้ภัยทั่วโลกมาจากสามประเทศ ได้แก่ โซมาเลีย 1.1 ล้านคน อัฟกานิสถาน 2.7 ล้านคน และซีเรีย 4.9 ล้านคน นอกจากนั้น มีผู้ไร้สัญชาติ (stateless people) ถึง 10 ล้านคน ที่กำลังเร่ร่อนอยู่ทั่วโลก พวกเขาไม่มีสิทธิในการรับการดูแล ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา การรักษา ไม่มีงานทำ มีหนำซ้ำไม่มีอิสรภาพในการใช้ชีวิตเหมือนเราๆท่านๆ นี้ถือชะตากรรมของมนุษยชาติในยุคปัจจุบัน  

            ความสำคัญที่กล่าวถึงจำนวนประชากรข้างต้น หมายถึงว่า การเพิ่มของประชากรต่างถิ่น (ในที่นี้ขออธิบายถึงชาวต่างชาติเท่านั้น) ซึ่งนับวันเริ่มขยายตัวมากขึ้น การเข้ามาของพวกเขาก็ไม่ได้เข้ามาแบบที่เรียกว่า “ค่อยๆเป็น ค่อยๆ ไป” เท่าที่สังเกต มีการเข้ามาเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ขึ้น บ่อยขึ้น มีการดำเนินการเป็นกระบวนการมากขึ้น และประเทศไทยเองก็มีนโยบายผ่อนปรนมากขึ้นเพื่อรองรับการไหลเวียนของประชากรจากประเทศอื่นๆ

              ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำถามว่า “รัฐไทย” “สังคมไทย” มีความพร้อมแค่ไหนที่จะรับมือกับโครงสร้างที่กำลังเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมด้านนโยบาย ความพร้อมของหน่วยงานรัฐ (ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม) ในการนำนโยบายสู่การปฏิบัติที่ชัดเจน เช่น การบริการด้านสาธารณสุข ด้านความมั่นคงในชีวิต และอำนวยความสะดวกอื่นๆ การให้ความใส่ใจและความเป็นธรรมในการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น แม้แต่ความพร้อมทางทัศนคติของคนไทยที่จะเปิดรับ เพื่อตอบสนองความเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์นี้ เพราะถึงอย่างไร ผมคิดว่าประเทศไทยก็ยังได้รับประโยชน์จากพวกเขา เช่น ประโยชน์เชิงท่องเที่ยว เชิงฐานการผลิต และ แรงงาน เป็นต้น

              ตั้งแต่ ปี 2556 เป็นต้นมา กองประชากรสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้เผยว่า ผู้คนทั่วโลกอพยพย้ายถิ่นฐานไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศมากเป็นประวัติการณ์ ประชากรโลกราว 232 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 3.2 ของประชากรโลก เดินทางออกไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศ เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจจากปี 2543 ซึ่งมีจำนวน 175 ล้านคน ทั้งนี้ จำนวน 2 ใน3 ของผู้อพยพนั้น ย้ายมาอาศัยในทวีปยุโรปและเอเชีย ในยุโรปมีสถิติผู้อพยพจากต่างแดนจำนวนราว 72 ล้านคน ส่วนในเอเชียมีราว 71 ล้านคน  นอกจากนี้ ยูเอ็นยังได้จัดทำรายงาน ประมาณการณ์ผู้อพยพมาอาศัยในประเทศพัฒนาแล้วในซีกโลกเหนือซึ่งพบว่า มีจำนวนราว 136 ล้านคน และผู้อพยพที่ย้ายไปอาศัยในประเทศกำลังพัฒนาในซีกโลกใต้ มีจำนวนราว 96 ล้านคน ตั้งแต่ปี 2533-2556 มีผู้อพยพมาอยู่ซีกโลกเหนือมากกว่าซีกโลกใต้ ยูเอ็นยังระบุอีกว่า เอเชียมีสถิติการเติบโตครั้งใหญ่ของผู้อพยพมาตั้งแต่ ปี 2543-2556 เนื่องจากมีความต้องการแรงงานในภูมิภาคเอเชียตะวันตก (ตะวันออกกลาง) ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันมาก นอกจากนี้ สภาพเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนามก็กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น (ในขณะนี้โดยภาพรวมก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เลวร้ายมากนัก ถึงแม้ว่าบางประเทศกำลังปรับตัวกับระบบการเมืองที่ไม่แน่นอนก็ตาม)

              กล่าวสำหรับสังคมมุสลิมไทย ผมคิดว่า การเตรียมพร้อมในการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์นับวันจะยิ่งมีความสำคัญอย่างมาก เพราะในขณะนี้ มีมุสลิมที่อพยพย้ายถิ่นจากต่างประเทศเข้ามาอาศัยเพิ่มจำนวนมากขึ้น อาจสังเกตได้จากจำนวนมุสลิมที่เริ่มแปลกหน้าแปลกตาร่วมละหมาดวันศุกร์เพิ่มขึ้น เป็นต้น หลายคนเพิ่งย้ายถิ่นตามครอบครัว หลายคนเรียกได้ว่าเปลี่ยนที่อยู่ไปตามสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจ และปัญหาการเมืองภายในประเทศของตน (Country of origin) และคิดว่าประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศเป้าหมายในการย้ายถิ่นและตั้งถิ่นฐาน (Country of destination)

              ที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ว่าเหตุผลของการย้ายถิ่นเข้ามาตั้งถิ่นฐานชั่วคราว หรือถาวรในสังคม (มุสลิม) ไทยจะเกิดจากปัจจัยใดก็ตาม การปฏิสัมพันธ์ระหว่างมุสลิมซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่เดิมกับกลุ่มใหม่ๆที่เริ่มเข้ามาอาศัยในชุมชนต่างๆ พวกเขาหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการปรับตัวเข้าหากัน เรียนรู้ ยอมรับ ความต่างทางวัฒนธรรม ประเพณี อัตลักษณ์บางประการที่ไม่เหมือนกัน ยิ่งไปกว่านั้น ปรากฏการณ์เหล่านี้กำลังเป็นเครื่องพิสูจน์ความเป็น “อุมมะฮ์หรือประชาคม” ของมุสลิมทั้งสองกลุ่มว่า จะสามารถนำหลักการนี้มาประยุกต์ใช้เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ภายในสังคมมุสลิมของเราอย่างไร อันนี้หมายรวมถึงการปรับตัวของคนไทยทั่วไปกับกลุ่มคนใหม่ๆที่เข้ามาอาศัยด้วยเช่นกัน

                “ความเป็นอุมมะฮ์” ในที่นี้ย่อมไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่...ต้องอาศัยการปรับท่าที ทัศนคติ ความรู้สึกของกลุ่มต่างๆ กล่าวคือ จะจัดวางความสัมพันธ์ บทบาทหน้าที่ทางสังคมภายในกลุ่มอย่างไร โครงสร้างพื้นฐานทางสังคมที่มีอยู่เดิม เช่น บ้านพักอาศัย มัสยิด ร้านอาหาร กุโบร์ โรงเรียน ที่ดิน อาชีพ ระเบียบปฏิบัติ ฯลฯ มีมากพอและเหมาะสมสำหรับประชากรที่เพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด ต้องอาศัยเวลานานแค่ไหนในการบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีกิจกรรมอะไรบ้างที่เอื้อต่อการสร้าง “ความรู้สึกร่วมในฐานะอุมมะฮ์” หรืออย่างน้อย ก็เกิดความรู้สึกร่วมในฐานะพลเมืองของชุมชน (Communityship) สังคมที่พวกเขาอาศัยร่วมกัน เคารพซึ่งกันและกัน เหล่านี้นับเป็นคำถาม และความท้าทายที่สังคมมุสลิม (สังคมไทย) ต้องเข้าใจ รู้ทัน มีวิสัยทัศน์ไกลและกว้างพอ ที่จะดึงเอาประโยชน์จากการย้ายถิ่นและการเกิดขึ้นมาของโครงสร้างทางประชากรศาสตร์ใหม่นี้

                  ผมขอตั้งขอสังเกตอีกข้อว่า ผู้อพยพเหล่านั้นมีทั้งความหลากหลายอยู่ในตัว บางคนเป็นชนชั้นกลางในประเทศของตน มีทักษะ มีประสบการณ์ในการทำงานหลายรูปแบบ พวกเขาต้องการแค่โอกาสในการแสดงฝีมือ โอกาสทำมาหากิน ด้วยเหตุนี้ ประเทศเช่น แคนาดา อังกฤษ เยอรมันและบางประเทศในยุโรปจึงมีความสนใจอยากได้ผู้อพยพย้ายถิ่นเข้าไปสู่ระบบเศรษฐกิจของพวกเขาด้วยความเต็มใจ ประเทศอย่าง แคนาดา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ถึงขั้นประกาศรับอย่างเป็นทางการ และเตรียมพร้อมสำหรับการบริหารจัดการคนมาใหม่เพื่อเข้าสู่ระบบสังคมแคนาดาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

                 “ถึงแม้ว่าระหว่างทางของการบูรณาการจะเกิดความตึงเครียด ความเห็นต่าง ความขัดแย้ง ความรุนแรงในสังคมอยู่บ้าง แต่พวกเขาก็มีประสบการณ์มากพอในการรับมือ ซึ่งท้ายที่สุดหากมองในระยะยาวมันคุ้มค่ามากกว่าขาดทุนอย่างแน่นอน เพราะสังคมเหล่านั้นผ่านการเรียนรู้การบูรณาการของผู้คนพร้อมๆกับการสร้างสังคม สร้างชาติมาตลอดเวลา”...

             ...การย้ายถิ่นมักเกิดขึ้นมาพร้อมกับการตั้งถิ่นฐาน จากนั้นย่อมเกิดการแลกเปลี่ยน การต่อรอง การบูรณาการของประชากรศาสตร์ นำมาสู่การกำหนดทิศทาง รูปแบบการบริหารจัดการใหม่ๆ ของชุมชน สังคม ประเทศชาติ และ อุมมะฮ์ ในที่สุด....

           .......เราพร้อม (ทำใจรับได้) แค่ไหนต่อโครงสร้างใหม่ทางประชากรศาสตร์ที่ได้ก่อตัวขึ้นในครั้งนี้......