Skip to main content

 

 

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 1:

Executive Order สะเทือนโลก (มุสลิม)

 

ดร.มาโนชญ์ อารีย์

โครงการศึกษาอิสลามการเมืองและโลกมุสลิม ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

 

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐ ถือเป็นประธานาธิบดีขวาจัดที่สร้างกระแสฮือฮาและแรงกระเพื่อมมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์สหรัฐ ด้วยกับท่าที ทัศนคติ และนโยบายต่างประเทศแบบขวางโลกหรือขวานผ่าซากในหลาย ๆ เรื่อง ทำให้ในช่วงแรกที่ทรัมป์เปิดตัวหาเสียงเขากลายเป็นตัวตลกและสัญญาลักษณ์ของความบ้าบิ่น ปากร้าย ชอบเหยียดเชื้อชาติศาสนา สีผิว เพศ เป็นต้น โดยไม่ให้ความสำคัญด้านสิทธิมนุษยชน มีการแสดงทัศนะหลาย ๆ อย่างที่ขัดกับค่านิยมเสรีประชาธิปไตยของสังคมอเมริกัน โดยเฉพาะแนวคิดหันหลังให้โลกาภิวัฒน์ แล้วชูนโยบายอเมริกาเฟิร์สแบบชาตินิยมขวาจัด นโยบายป้องป้อง (Protectionist) และกีดกันทางการค้า การสร้างกำแพงปิดกั้นพรมแดนแม็กซิโก การห้ามมุสลิมเข้าประเทศ การขึ้นทะเบียนมุสลิมในอเมริกา การทบทวนข้อนิวเคลียร์อิหร่าน และการเพิ่มปริมาณอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชีย การถอนตัวจากความตกลงปารีส (กรอบอนุสัญญายูเอ็นว่าด้วยการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ฯลฯ ด้วยจุดยืนดังกล่าวจึงทำให้เชื่อกันว่าทรัมป์ไม่น่าจะชนะได้ แต่ในที่สุดทรัมป์ก็สร้างปรากฏการณ์ช็อคโลกหลังชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45

กระนั้นก็ตามหลายคนยังมองโลกในแง่ดีและหวังว่านโยบายต่าง ๆ ที่ทรัมป์ใช้หาเสียง จะเป็นเพียงกลยุทธ์การตลาด ซึ่งในทางปฏิบัติคงทำไม่ได้หรือทำได้ไม่หมด ถ้าทำอย่างที่หาเสียงไว้คงส่งผลกระทบหรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทั้งต่ออเมริกาเองและสถานการณ์โลก แต่ผ่านไป 7 วันหลังรับตำแหน่งก็เริ่มประจักษ์ชัดแล้วว่าทรัมป์ได้ทำและจะเดินหน้าทำตามที่หาเสียงไว้โดยไม่สนเสียงคัดค้าน ใช้อำนาจฝ่ายบริหารลงนามไปแล้วหลายเรื่อง สร้างแรงสะเทือนในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการลงนามยกเลิกกฎหมายประกันสุขภาพ “โอบามาแคร์” ถอนตัวจากกลุ่มทีพีพี ห้ามองค์กรของรัฐให้เงินสนับสนุนองค์การระหว่างประเทศที่ทำงานเกี่ยวกับการทำแท้ง วางท่อส่งน้ำมันในพื้นที่ที่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคัดค้าน สั่งสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมลบหน้าเพจรณรงค์ลดโลกร้อน สั่งสร้างกำแพงกั้นพรมแดนเม็กซิโก และที่สำคัญคือคำสั่งห้ามพลเมืองจาก 7 ประเทศและผู้ลี้ภัยเข้าสหรัฐอเมริกา

ทั้งหมดนี้ อาจชี้ให้เห็นว่าทรัมป์จะเดินหน้าทำตามที่ได้หาเสียงไว้ ซึ่งจะส่งผลสะเทือนต่อสังคมอเมริกาและต่อโลก ที่อาจนำไปสู่ความตึงเครียดโดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับโลกมุสลิมในระยะยาว ดังนั้น บทความ “ทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ” จึงพยายามจับตาและนำเสนอความคืบหน้าของนโยบายหรือมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีต่อโลกมุสลิม รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อมุสลิมในอเมริกา ตลอดจนการวิเคราะห์ในประเด็นที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์อันเป็นผลมาจากนโนบายของทรัมป์

คำสั่งแบนพลเมือง 7 ประเทศมุสลิมและงดรับผู้ลี้ภัยเข้าสหรัฐ

วันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 2017 ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ลงนามคำสั่งบริหารห้ามพลเมืองจาก 7 ประเทศมุสลิมเข้าสหรัฐ โดยห้ามออกวีซ่าให้กับพลเมืองของประเทศเหล่านี้เป็นเวลา 90 วัน ได้แก่ อิรัก อิหร่าน ลิเบีย โซมาเลีย ซูดาน ซีเรีย และเยเมน ส่วนซีเรียถูกระงับอย่างไม่มีกำหนด คำสั่งยังรวมไปถึงการงดรับผู้ลี้ภัยเข้าประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้โครงการรับผู้ลี้เข้ามาตั้งถิ่นฐานถูกระงับไว้อย่างน้อย 4 เดือน แต่คำสั่งดังกล่าวมีข้อยกเว้นสำหรับ “ผู้นับถือศาสนาชนกลุ่มน้อย” ซึ่งหมายถึงการผ่อนผันเป็นกรณีพิเศษให้แก่ชาวคริสต์ใน 7 ประเทศนั้น โดยทรัมป์ยืนยันว่าสิ่งที่เขากำลังทำอยู่นี้ก็เพื่อปกป้องสหรัฐให้ปลอดภัยจาก “ผู้ก่อการร้ายอิสลามหัวรุนแรง” ที่เดินทางเข้าสหรัฐ

ในระหว่างที่ใช้มาตรการนี้ สหรัฐจะพิจารณาออกกฎใหม่ที่เรียกว่า “ระบบคัดกรองอย่างเข้มข้น” (Extreme vetting) ที่จะรับรองได้ว่าผู้ลี้ภัยที่ถูกรับเข้าประเทศจะไม่คุกคามความมั่นคง และสวัสดิภาพของสหรัฐ”

ทั้งนี้ 7 ประเทศที่ถูกทรัมป์สั่งแบน เป็นกลุ่มประเทศที่เคยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มต้องเฝ้าระวังเรื่องความเสี่ยงของภัยก่อการร้ายตามบัญชีรายการที่จัดทำขึ้นในสมัยของประธานาธิบดีโอบามา ซึ่งโอบามาเองก็ใช้อำนาจคำสั่งฝ่ายบริหารให้คัดกรองการเข้าออกของพลเมืองในกลุ่มประเทศดังกล่าวนี้อย่างเข้มงวด แต่ก็ไม่ถึงกับแบน ดังนั้น เมื่อทรัมป์เข้าสู่อำนาจจึงใช้ประโยชน์จากคำสั่งเดิมของโอบามา แล้วยกระดับเป็นการแบนพลเมืองทั้งหมดซึ่งกระทบต่อคนนับ 130 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวอาจเป็นที่ถูกใจของชาวอเมริกันชาตินิยมที่สนับสนุนทรัมป์ แม้จะไม่ได้แบนมุสลิมอย่างเบ็ดเสร็จตามที่หาเสียงไว้ก็ตาม แต่ก็อาจขยายครอบคลุมประเทศอื่น ๆ ในอนาคต

ปัญหาความปันป่วนและกระแสต่อต้าน

ทันทีที่คำสั่งมีผลก็สร้างความโกลาหลอย่างมากตามสนามบินต่าง ๆ ของสหรัฐ รวมทั้งสนามบินนานาชาติในประเทศอื่น ๆ ที่มีผู้โดยสารที่เป็นพลเมืองจาก 7 ประเทศนั้นอยู่ระหว่างเดินทางไปสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ มีผู้โดยสารเกือบ 200 คน รวมทั้งผู้ลี้ภัยที่ได้รับอนุมัติให้เข้าประเทศก็ถูกกักตัวเพื่อจะส่งกลับด้วยเช่นกัน แม้กระทั่งผู้ที่ถือกรีนการ์ดที่เป็นพลเมืองประเทศเหล่านั้นก็ได้รับผลกระทบไปด้วย

จากนั้นไม่นานก็เกิดการรวมตัวประท้วงโดยประชาชนและกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ทำเนียบขาว หรือที่สนามบินนานาชาติ JFK และสนามบินใหญ่ ๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา โดยเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ลี้ภัยที่เดินทางเข้ามาอย่างถูกต้อง และโจมตีว่ามาตราการดังกล่าวไม่มีมนุษยธรรม กลุ่มหลัก ๆ ที่ออกมาขัดค้านต่อต้าน เช่น กลุ่มสหภาพเสรีภาพพลเรือนอเมริกัน (ACLU) ที่มองว่ามาตรการนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญสหรัฐที่ห้ามการกีดกันทางศาสนา หรือกลุ่มสภาความสัมพันธ์อเมริกัน-อิสลาม ที่จะฟ้องร้องต่อไป

อย่างไรก็ตาม ศาลแขวงนครนิวยอร์กได้ออกคำสั่งให้สิทธิพักพิงฉุกเฉินแกพลเมือง 7 ประเทศที่เดินทางเข้าสหรัฐอย่างถูกกฎหมาย ไม่ว่าจะในสถานะใดก็ตาม โดยชี้ว่า “รัฐบาลไม่สามารถนำบุคลที่ยื่นขอลี้ภัยและได้รับอนุมัติแล้วรวมทั้งผู้ถือวีซ่าที่ได้รับอนุญาตให้เข้าสหรัฐแล้วอย่างถูกกฎหมายออกนอกประเทศได้”

ทรัมป์ถูกต่อต้านอย่างหนักในทางกฎหมาย โดยอัยการสูงสุดจาก 16 รัฐได้รวมตัวกันออกแถลงการณ์คัดค้านคำสั่งของทรัมป์ โดยระบุว่าเป็นคำสั่งที่ขัดรัฐธรรมนูญ โดยอัยการจะใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมต่อสู้จนกว่าจะมีการยกเลิกคำสั่งนี้ ต่อมามี 4 รัฐที่ได้ยื่นฟ้องทรัมป์ ได้แก่ รัฐนิวยอร์ก แมสซาชูเซตส์ เวอรจิเนีย และวอชิงตัน

ทรัมป์เองก็ใช้ความเด็ดขาดกับผู้บริหารระดับสูงที่แสดงท่าทีต่อต้านคำสั่งของเขา เช่น กรณีสั่งปลดรักษาการรัฐมนตรียุติธรรม นางแซลลี่ เยตส์ โดยกล่าวหาว่าเป็นคนทรยศต่อกระทรวง ไม่ยอมทำตามคำสั่งพิเศษของเขา

ในส่วนของนักการเมืองคนสำคัญอย่างนางฮิลลารี่ คลินตัน ได้ทวิตข้อความสนับสนุนผู้ที่ต่อต้านทรัมป์ในประเด็นนี้ โดยยกย่องว่าเป็นผู้ที่ปกป้องคุณค่ารัฐธรรมนูญของสหรัฐ และชี้ว่าสิ่งที่ทรัมป์ทำ “ไม่ใช่ตัวตนของพวกเรา” โอบามาก็สนับสนุนการประท้วงเช่นกัน

นอกจากนี้นักวิชาการและเจ้าของรางวัลโนเบล 12 คนก็ได้ร่วมกันลงนามคัดค้านมาตรการของทรัมป์ อีกคนหนึ่งที่น่าสนใจคือ มาลาลา ยูซาฟไซ นักเคลื่อนไหวชาวปากีสถาน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพผู้โด่งดัง ที่เคยถูกกลุ่มติดอาวุธตาลิบันยิงศีรษะจนบาดเจ็บสาหัส เมื่อปี 2012 กล่าวว่า รู้สึก “ใจสลาย” กับนโยบายของ ทรัมป์ เธอยังเรียกร้องให้ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ “อย่าทอดทิ้งเด็ก ๆ และครอบครัวที่ไร้ผู้ปกป้องคุ้มครอง”

พระสันตะปาปาฟราสซิส ได้กล่าวเตือนสติเกี่ยวกับปัญหาผู้อพยพลี้ภัยด้วยว่า “อย่าเรียกตัวเองว่าเป็นคริสเตียน ในขณะที่คุณขับไล่ไสส่งผู้ลี้ภัย หรือคนที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ คนที่หิวและกระหาย”