Skip to main content

 

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 2:

ปฏิกิริยาของนานาชาติและการโต้กลับของประเทศมุสลิม

 

ดร.มาโนชญ์ อารีย์

โครงการศึกษาอิสลามการเมืองและโลกมุสลิม ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

 

หลังทรัมป์ลงนามคำสั่งห้ามมุสลิมจาก 7 ประเทศและผู้ลี้ภัยเข้าประเทศ ก็สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลก เกิดปรากฏการณ์ทั้งต่อต้านประท้วงและสนับสนุน ซึ่งที่น่าจับตามองคือท่าทีของโลกมุสลิมโดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ถูกแบน ตลอดจนผู้นำโลกและองค์กรระหว่างประเทศ

ผู้นำและองค์การระหว่างประเทศต่างทยอยกันออกมาประณามคำสั่งพิเศษดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นสหประชาชาติ กลุ่มสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หน่วยงานด้านการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัย องค์การที่ทำงานด้านการอพยพ รวมทั้งผู้นำยุโรปหลายคน โดยเรียกร้องให้ทรัมป์ทบทวนนโยบายใหม่แล้วให้หันกลับมารับผู้ลี้ภัยที่หนีตายจากสงครามและการประหัตประหาร

ในการหารือกันระหว่างฝรั่งเศลกับเยอรมันในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ ทั้งสองฝ่ายยังคงยืนยันว่า “การต้อนรับผู้ลี้ภัยหนีสงคราม หนีการกดขี่ คือหน้าที่ของเรา” แม้ว่าทั้งสองประเทศนี้จะรับผู้ลี้ภัยมากอยู่แล้วก็ตาม โดยเยอรมันที่รับมาแล้วมากกว่า 1 ล้านคนตั้งแต่ปี 2015

 

รัฐมนตรีต่างประเทศของลักเซมเบิร์ก ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ออกมาประณาม โดยมองว่า “เป็นการตัดสินใจทีแย่ และจะส่งผลต่อยุโรปไปด้วย เพราะมันจะยิ่งทำให้โลกมุสลิมเกลียดชังตะวันตก”

ส่วนนายกรัฐมนตรีตุรกีนายบีนาลี ยึลดึรึม กล่าวในช่วงแถลงข่าวร่วมกับนายกรัฐมนตรีอังกฤษ นาง เธเรซ่า เมย์ ว่า “มาตรการนี้ไม่ใช่ทางออกของปัญหา...ปัญหาของภูมิภาคไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการปิดประตูกั้นผู้คน ประเทศตะวันตกควรช่วยตุรกีแบกรับภาระผู้ลี้ภัยมากกว่านี้” แต่นางเมย์ ก็ไม่ได้กล่าวประณามมาตรการของนายทรัมป์แต่อย่างใด ต่างจากนายซาดิก ข่าน นายกเทศมนตรีแห่งมหานครลอนดอน ที่กล่าวว่า “ในเมื่อมีการแบนที่น่าอัปยศเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว เราก็ไม่ควรปูพรมแดงต้อนรับประธานาธิบดีของสหรัฐ”

ในอังกฤษมีการระดมรายชื่อคัดค้านการเยือนของนายทรัมป์เกิดขึ้น โดยภายในระยะเวลาไม่กี่วันสามารถรวบรวมรายชื่อได้เป็นหลักล้าน แต่ในขณะเดียวกันก็มีการระดมรายชื่อสนับสนุนการเยือนของเขา แต่ได้จำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับฝ่ายคัดค้าน

ในส่วนของโลกมุสลิม องค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC ได้แสดงความกังวลต่อการใช้มาตราการของทรัมป์ โดยเห็นว่าจะยิ่งทำให้ปัญหาผู้ลี้ภัยมีความยุ่งยากไปกว่าเดิม การเลือกปฏิบัติเช่นนี้ มีแต่จะทำให้กลุ่มหัวรุนแรงนำไปกระตุ้นขยายผล ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดความรุนแรงและการก่อการร้ายมากขึ้น OIC ยังเรียกร้องให้ทบทวนใหม่โดยยึดคุณธรรมเพิ่มเสริมสร้างภาวะผู้นำและความหวังในช่วงเวลาที่โลกอยู่ในความสับสนวุ่นวายและมีความไม่แน่นอนสูง

ประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดอย่างอินโดนีเซีย แม้จะไม่ได้ถูกแบนแต่ก็แสดงปฏิกิริยาที่ไม่เห็นด้วยชัดเจน รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียนางมาร์ซูดี บอกว่ารู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อมาตรการคัดกรองประชาชนจากประเทศมุสลิมของทรัมป์ ในอินโดนีเซียและมาเลเซียมีมุสลิมประชาชนจำนวนหนึ่งออกประท้วงเช่นกัน

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าจับตามองคือแนวโน้มและท่าทีของ 7 ประเทศที่ถูกแบนว่าจะมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างไร ซึ่งบางประเทศก็เริ่มมีการโต้ตอบมาแล้วอย่างอิหร่านและอิรัก บางประเทศก็ยังคงไม่แสดงท่าทีใด ๆ หรือกำลังประเมินสถานการณ์อยู่ เช่น ลิเบียและโซมาเลีย เป็นต้น

ในส่วนของอิหร่าน มองว่ามาตรการนี้เป็นเสหมือนของขวัญชิ้นใหญ่ให้กับกลุ่มหัวรุนแรง เป็นการดูถูกมุสลิมอย่างรุนแรง โดยอิหร่านค่อนข้างมีมาตรการตอบโต้ที่ชัดเจนว่าจะใช้มาตรการเดียวกันคือไม่ให้ผู้ที่ถือหนังสือเดินทางของสหรัฐเข้าประเทศ ต่อมาได้มีการทดสอบขีปนาวุธอย่างเปิดเผย เรียกได้ว่าเป็นการตอบโต้แบบทันควันในลักษณะตาต่อตาฟันต่อฟัน

สำหรับซูดาน ที่ความสัมพันธ์กับสหรัฐกำลังดีขึ้นเรื่อย ๆ ในยุคของโอบามาที่ยกเลิกมาตรการแซงชั่นทางเศรษฐกิจและการค้าเมื่อไม่นานมานี้ แต่ต้องมาเจอมาตรการใหม่นี้ของทรัมป์ จึงแสดงออกถึงความรู้สึกผิดหวังหรือโชคร้ายที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น อย่างไรก็ตาม ซูดานยังไม่มีการตอบโต้ใด ๆ ที่เป็นทางการออกมา

ด้านอิรักที่ยังต้องพึงพิงสหรัฐด้านความมั่นคง ทหารสหรัฐหลายพันนายยังคงปฏิบัติภารกิจอยู่ในอิรัก แม้อิรักจะแสดงออกว่าเข้าใจเหตุผลความจำเป็นด้านความมั่นคงที่ต้องใช้มาตราการนี้ แต่สมาชิกรัฐสภาบางส่วนก็เห็นว่าสหรัฐไม่ควรปฏิบัติต่ออิรักซึ่งเป็นพันธมิตรแนวหน้าในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐแบบนี้ มันไม่ยุติธรรมสำหรับอิรักเลย สุดท้ายรัฐสภาอิรักก็ผ่านมติให้มีการตอบโต้สหรัฐเช่นกัน แต่ยังไม่ชัดเจนในรายละเอียดว่าจะแบนการเข้าประเทศสำหรับคนสหรัฐอย่างไร หรือมีข้อยกเว้นสำหรับกลุ่มใดบ้างหรือในกรณีไหนบ้าง

ด้านซีเรีย ซึ่งเป็นประเทศที่ถูกแบนอย่างไม่มีกำหนดและประสบปัญหาผู้ลี้ภัยมากที่สุดในขณะนี้ ยังไม่ได้การแสดงท่าทีอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ก็ไม่ได้มีการแถลงการณ์ตอบโต้ใด ๆ ซึ่งกรณีของซีเรียค่อนข้างวิกฤตมากเพราะนับตั้งแต่เกิดสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมากว่าทศวรรษ มีผู้ลี้ภัยถึงขณะนี้กว่า 5 ล้านคน ในจำนวนนี้ 12,587 เข้าไปลี้ภัยในสหรัฐภายใต้โครงการตั้งรกรากให้ผู้ลี้ภัยซีเรียซึ่งเป็นโครงการของสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศด้านการอพยพถิ่นฐาน คำสั่งทรัมป์จึงมีผลให้โครงการนี้ต้องยุติด้วยเช่นกัน

ส่วนเยเมน ทางรัฐบาลเยเมนไม่มีท่าทีหรือมาตรการโต้กลับใด ๆ มีเพียงสถานทูตเยเมนในวอชิงตันที่ได้โพสต์หน้าเฟสบุ๊คเตือนประชาชานของตนเองให้หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าออกสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ เยเมนกำลังประสบปัญหาสงครามกลางเมือง ตลอดจนการถูกโจมตีจากภายนอกทั้งโดยซาอุดิอาระเบียที่สนับสนุนกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่เป็นสุนนี่ และสหรัฐที่ใช้โดรนโจมตีกลุ่มอัลกออิดะห์ทางใต้ของเยเมน สภาพทำให้เกิดปัญหาผู้ลี้ภัยด้วยเช่นกัน

สำหรับลิเบียและโซมาเลียยังไม่มีปฏิกิริยาหรือแถลงการณ์ใด ๆ ออกมาอย่างเป็นทางการ ในกรณีของของลิเบีย ด้วยสภาพบ้านเมืองที่ยังคงอยู่ในภาวะสงครามกลางเมืองและยังไม่มีรัฐบาลกลางในการบริหารประเทศ จึงไม่มีการแสดงท่าทีใด ๆ ออกมาได้ในนามของประเทศชาติคล้ายกรณีของเยเมน

 

อย่างไรก็ตาม คำสั่งพิเศษของทรัมป์ ได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ไม่เฉพาะประเทศที่ถูกแบน แต่รวมถึงประเทศอื่น ๆ ที่มีผู้ลี้ภัยหรือพลเมืองจาก 7 ประเทศนั้นที่ไม่สามารถเดินทางไปสหรัฐอเมริกาได้ สายการบินของประเทศต่าง ๆ ก็ได้รับผลกระทบและต้องคัดกรองบุคคลสัญชาติดังกล่าวไม่ให้ขึ้นเครื่องที่จะไปสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต้องแสดงท่าทีของตนหรือปรับมาตรการรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างเหมาะสม ส่วนท่าทีของกลุ่มประเทศมุสลิมอื่น ๆ ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจเพราะอาจต้องเผชิญกับแรงกดดันภายในให้ดำเนินมาตราการตอบโต้สหรัฐในลักษณะเดียวกัน

กระแสขวาและแรงสนับสนุนทรัมป์

แม้จะมีกระแสต่อต้านปรากฏให้เห็นทั้งในสหรัฐและที่อื่น ๆ ทั่วโลก แต่ก็มีกลุ่มที่สนับสนุนทรัมป์เช่นกัน โดยเฉพาะเฉพาะฝ่ายขวาและกลุ่มต่อต้านอิสลามในยุโรป เช่นที่กล่าวไปแล้วอย่างอังกฤษที่มีการรณรงค์ระดมรายชื่อสนับสนุนการเยือนของนายทรัมป์ แม้จำนวนจะไม่มากเท่ากลุ่มคัดค้าน แต่ก็ชี้ให้เห็นกระแสฝ่ายขวาที่สนับสนุนทรัมป์ในอังกฤษได้เป็นอย่างดี

ในออสเตรเลียมีกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มรีเคลมออสเตรเลียซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านอิสลาม ได้จัดการชุมนุมกลางนครซิดนีย์เพื่อแสดงการสนับสนุนทรัมป์ และเรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลียมาตรการห้ามชาวมุสลิมเข้าประเทศด้วยเช่นกัน

มาตรการแบนกลุ่มประเทศมุสลิมของทรัมป์ ยิ่งกระตุ้นให้กลุ่มชาตินิยมขวาจัดที่ต่อต้านคนต่างชาติหรือต่อต้านมุสลิมรู้สึกมั่นใจ ชอบธรรม และเดินหน้าแสดงการต่อต้านในรูปแบบต่าง ๆ อย่างเปิดเผย แม้กระทั้งการก่อการร้ายโจมตีชาวมุสลิมทั่วไป เช่น กรณีการก่อเหตุกราดยิ่งชาวมุสลิมขณะทำการละหมาดอยู่มัสยิดแห่งหนึ่งในเมืองควิเบก ประเทศแคนนาดา ในวันที่ 30 มกราคม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 คน บาดเจ็บอีกจำนวนมาก ผู้ก่อเหตุเป็นนักศึกษาลูกครึ่งแคนนาดา-ฝรั่งเศล ที่มีความคิดชาตินิยมสุดโต่ง ชื่นชมทรัมป์ และนางมารี เลอแปง นักการเมืองขวาจัดในฝรั่งเศล อีกกรณีหนึ่งคือเหตุลอบวางเพลิงศูนย์กลางอิสลามในเมืองเท็กซัสวันที่ 29 มกราคม ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันหรือหลังจากทรัมป์ลงนามในคำสั่งไม่กี่วัน เหตุการณ์เผามัสยิดก็เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในสหรัฐ อาชญากรรมจากความเกลียดชังหรือทำร้ายมุสลิมในสหรัฐก็เกิดถี่ขึ้นในระยะหลัง จอร์น เอโปสิโต้ นักวิจัยโครงการศึกษาโรคเกลียดกลัวอิสลาม และผู้เชี่ยวชาญด้านโลกมุสลิม กล่าวว่า อาชญากรรมจากความเกลียดชังได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง ...อาชญากรรมบางส่วนเป็นการก่อเหตุโดยมีแรงบันดาลใจมาจากนายโดนัลด์ ทรัมป์

 

อ่านตอนที่แล้ว

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 1: Executive Order สะเทือนโลก (มุสลิม)