เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 4:
Executive Order ถอดรหัสและนัยยะสำคัญบางประการ
ดร.มาโนชญ์ อารีย์
โครงการศึกษาอิสลามการเมืองและโลกมุสลิม ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
การออกคำสั่งพิเศษห้ามพลเมืองจาก 7 ประเทศมุสลิมและผู้ลี้ภัยเข้าสหรัฐ เป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบทั่วโลก ไม่เฉพาะประเด็นด้านการขนส่งหรือปัญหาการเดินทางต่าง ๆ แต่ยังมีนัยยะอื่น ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะการกระพือขึ้นของกระแสขวาจัดทั้งในสหรัฐและโลกตะวันตก ผลกระทบและอนาคตความสัมพันธ์กับโลกมุสลิม ฯลฯ แม้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะยืนยันว่าคำสั่งนี้ไม่ได้เป็นการแบนมุสลิม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนที่ถูกแบนทั้งหมดเป็นมุสลิม ซึ่งไม่ต่างอะไรกับนัยยะของวาทกรรมสร้างความเกลียดชังที่มักกล่าวกันในกลุ่มต่อต้านอิสลามว่า “มุสลิมไม่ได้เป็นผู้ก่อการร้าย แต่ผู้ก่อการร้ายทุกคนเป็นมุสลิม” อย่างไรก็ตาม มีหลายประเด็นที่สามารถตั้งข้อสังเกตและวิเคราะห์นัยยะของคำสั่งพิเศษสะท้านโลกนี้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1) เป้าหมายของการก่อการร้ายคือการแบ่งแยกสังคม
ครั้งหนึ่งอดีตส.ส.สหรัฐ จากพรรคเดโมแครต นาย Patric J. Kennedy ได้กล่าวว่า “การก่อการร้ายคือสงครามจิตวิทยาแบบหนึ่ง ที่ผู้ก่อการร้ายพยายามที่จะปลุกปั่นให้พวกเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผ่านการสร้างความหวาดกลัว ความไม่แน่นอนในชีวิต และการแบ่งแยกทางสังคม” คำสั่งพิเศษของทรัมป์คือมาตรการหนึ่งในการรับมือกับปัญหาการก่อการร้ายเพื่อความมั่นคงของสหรัฐ หรือการขึ้นทะเบียนมุสลิมอเมริกันถือเป็นผลมาจากความหวาดกลัวใช่หรือไม่ และมาตรการนี้ถือว่าเป็นการแบ่งแยกทางสังคมทั้งสังคมภายในและสังคมระหว่างประเทศบนฐานความแตกต่างทางศาสนาใช่หรือไม่ หากใช่จะกล่าวได้หรือไม่ว่าคำสั่งพิเศษของทรัมป์กำลังทำให้กลุ่มก่อการร้ายขยับเข้าใกล้เป้าหมายของพวกเขาที่ต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการแบ่งแยกทางสังคม ซึ่งจะเป็นโอกาสครั้งใหญ่ของผู้ก่อการร้ายในการโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda opportunity)
นอกจากนี้ อดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ก็เคยกล่าวในทำนองเดียวกันว่า “ผู้ก่อการร้ายเหล่านี้ฆ่าคนมิใช่เพื่อทำลายชีวิต หากแต่ทำไปเพื่อทำลายแบบแผนวิถีชีวิตของผู้คน พวกเขาหวังว่าพฤติกรรมโหดร้ายที่กระทำลงไป จะทำให้อเมริกาหวั่นกลัวเพิ่มขึ้นและถอนตัวจากเวทีโลกและทิ้งเพื่อนของเรา พวกเขาต่อต้านเรา เพราะเรายืนขวางทางพวกเขาอยู่” นั่นหมายความว่านโยบายหันหลังให้โลกาภิวัฒน์และทำท่าจะถอนตัวจากเวทีโลกของทรัมป์หรืออเมริกันเฟิร์สของเขา เพราะเขาหวั่นกลัวผู้ก่อการร้ายหรือไม่ คำสั่งแบนและแบ่งแยกมุสลิมของเขาคือความสำเร็จของผู้ก่อการร้ายที่ต้องการทำลายแบบแผนวิถีชีวิตของผู้คนใช่หรือไม่
2) สิทธิมนุษยชนในสมรภูมิของสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ใครแพ้ชนะ
Joichi Ito นักธุรกิจและนักเคลื่อนไหวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่น เคยพูดถึงการต่อสู้กับการก่อการร้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า “หากเราทำลายสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม ในการต่อสู้กับการก่อการร้าย นั้นหมายความว่าพวกเขา (ผู้ก่อการร้าย) ชนะแล้ว” ในที่นี้คำสั่งทรัมป์กระทบสิทธิของคนที่ไม่เกี่ยวข้องกว่าร้อยล้านคน ขัดกับหลักสิทธิและเสรีภาพทางศาสนา การไม่รับผู้ลี้ภัยอาจเป็นสิทธิที่ไม่คำนึงถึงมนุษยธรรม ทั้งที่สหรัฐเองก็มีส่วนสำคัญโดยตรงที่ทำให้เกิดวิกฤตผู้ลี้ภัยในปัจจุบัน
3) ใครเป็นใครในปัญหาผู้ลี้ภัย
ศ.ดร. ฏอริก รอมฏอน นักวิชาการโลกมุสลิมชื่อดัง กล่าวเกี่ยวกับปัญหาของผู้ลี้ภัยมุสลิมใว้อย่างน่าสนใจถึงต้นเหตุของปัญหานี้ว่า “ผู้ลี้ภัยไม่ใช่ศัตรูของคุณ แต่ศัตรูคือคนที่ทำให้เขาต้องลี้ภัย
4) ทำไมต้อง 7 ประเทศนี้
มีการวิเคราะห์สันนิษฐานกันต่าง ๆ นานา ว่าทำไมถึงต้องเป็น 7 ประเทศนี้ ทั้ง ๆ ที่ ตามสถิติของการก่อเหตุหรือภัยคุกคามของการก่อการร้ายในสหรัฐที่ผ่านมา ไม่ปรากฏว่าเป็นฝีมือของผู้ลี้ภัยจากประเทศเหล่านี้เลย และคนอเมริกันที่เสียชีวิตจากการก่อการร้ายก็น้อยมากในแต่ละปี (2 รายโดยผู้ลี้ภัย 9 รายผู้ก่อการร้ายมุสลิม ในขณะที่นอนตกเตียงเสียชีวิตถึง 737 ราย) เมื่อเทียบกับอัตราการเสียชีวิตที่คนอเมริกันยิงกันเอง (11,737 ราย)
เหตุผลประการรหนึ่งที่มีการตั้งข้อสังเกตกันคือประเทศมุสลิมอื่น ๆ ที่ถูกจับตามองว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงแต่ไม่ถูกแบน เป็นเพราะสหรัฐมีผลประโยชน์สูงอยู่ในประเทศเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นในทางยุทธศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ การทหารหรือในทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าอาจโยงกับผลประโยชน์ในธุรกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ด้วย
สำนักข่าว ABC News ตั้งคำถามกับทรัมป์ในระหว่างสัมภาษณ์เขาว่า “ทำไมถึงไม่ห้ามคนสัญชาติ ซาอุดิอาระเบีย ปากีสถาน และอัฟกานิสถานเข้าประเทศ” ทรัมป์ไม่ได้อธิบายอะไรไปมากกว่าตอบกว้าง ๆ ว่า “เรากำลังจะมีการคัดกรองที่เข้มงวดในทุกกรณี เราจะไม่ยอมให้ใครเข้ามาได้ หากเราเห็นจะเข้ามาแล้วเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหา ไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม... เราไม่ห้ามสำหรับบ้างประเทศ แต่บ้างประเทศก็ต้องคัดกรองอย่างเข้มงวดที่สุด” ซึ่งหากพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับทั้ง 3 ประเทศที่กล่าวมาก็จะเห็นถึงความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนทั้งในเชิงยุทธศาสตร์ การเมือง ความมั่นคง และในทางเศรษฐกิจ จึงอาจกล่าวได้ว่าสหรัฐเลือกแบนประเทศมุสลิม โดยเหตุผลที่ไม่ได้เป็นไปตามระดับของความเสี่ยงหรือภัยคุกคาม แต่เป็นปัจจัยอื่น ๆ ในเชิงยุทธศาสตร์ ที่ส่งผลในวงกว้างให้กลุ่มฝ่ายขวาในประเทศต่าง ๆโดยเฉพาะในตะวันตกเคลื่อนไหวตามในลักษณะของการทำให้เหมือนอเมริกาหรือ Americanization ที่กำลังไหลบ่ามายังยุโรปและเอเชีย ในอีกด้านหนึ่งการเลือกแบนประเทศมุสลิมที่ไม่ส่งผลต่อสหรัฐมากนัก ก็ถือเป็นทางเลือกที่เข้าใจได้สำหรับประธานาธิบดีทรัมป์ที่จะบอกกับกลุ่มผู้สนับสนุนเขาว่าเขาได้ทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ แม้จะไม่สมบูรณ์ทั้งหมดก็ตาม
5) แนวโน้มของกระแส Solidarity และ Unity
อาจกล่าวได้ว่าทรัมป์เป็นประธานาธิบดีที่ปลุกกระแสต่อต้านอิสลามอย่างเปิดเผยมากที่สุด แต่ในเวลาเดียวกันก็ทำให้เห็นถึงกระแสแห่งพลังของคนอเมริกันที่แสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชาวมุสลิมได้อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้โลกมุสลิมรับรู้ถึงพลังมวลชนที่หลากหลายในพหุสังคมอเมริกันที่ยืนเคียงข้างชาวมุสลิมอย่างไม่แบ่งแยก
ในอีกด้านหนึ่งที่น่าสนใจคือคำสั่งพิเศษในลักษณะที่ส่งผลกระทบต่อประเทศมุสลิมเป็นการเฉพาะ อาจนำไปสู่ความรู้สึกร่วมกันหรือ “We feeling” ในโลกมุสลิม ทั้งประเทศที่ถูกแบนและไม่ถูกแบนภายใต้ความรู้สึกของความเป็นประชาชาติเดียวกันหรือที่เรียกว่า“อุมมะห์อิสลาม”(Islamic Ummah) แล้วนำไปสู่การสร้างประชาคมมุสลิมที่มีเอกภาพมากขึ้น
การออกคำสั่งพิเศษของทรัมป์ที่มีนัยยะทางการเมืองโดยเฉพาะในลักษณะของการทำการเมืองให้เป็นเรื่องศาสนา (Religionization of Politics) อาจทำให้โลกมุสลิมมีความรู้สึกว่าเป็นปัญหาการเมืองแห่งอัตลักษณ์ทางศาสนาที่ต้องหาทางออกด้วยแนวทางผสมผสานระหว่างการเมืองกับธรรมะของศาสนา กล่าวคือไม่แยกศาสนาออกจากการเมืองตามวิถีชีวิตของสังคมการเมืองในแบบอิสลามเดิม ซึ่งอาจผลักดันให้แนวทางอิสลามการเมือง (Political Islam) ของกลุ่มขบวนการมุสลิมสายกลางมีบทบาทมากขึ้นในโลกมุสลิม เพื่อรับมือกับปัญหาความคิดสุดโต่งในโลกมุสลิมและกระแสชาตินิยมสุดโต่งของพวกขวาจัดที่กำลังขยายตัวในสหรัฐและโลกตะวันตก
อ่านตอนที่แล้ว
เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 1: Executive Order สะเทือนโลก (มุสลิม)