Skip to main content

 

เกย์เกิดจากพันธุกรรมหรือสภาพสังคม?

 

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน

 

เพื่อนที่เป็นพลเอกในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเล่าให้ฟังว่าเมื่อครั้งไปประชุมที่เวียงจันทร์เมื่อเร็วๆ นี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของลาวบอกว่าได้ส่งนักเรียนลาวไปเรียนปริญญาตรีที่เวียตนาม เขาว่าอันที่จริงอยากส่งไปเมืองไทยมากกว่าเพราะเมืองไทยมีเทคโนโลยีสูง วิชาการแน่น แถมยังพูดภาษาเดียวกันอีก แต่ระดับสูงไม่ยอมส่งไปเพราะกลัวว่าหากส่งมาเมืองไทยแล้ว เด็กหนุ่มเด็กสาวลาวจะมีพฤติกรรมทางเพศเบี่ยงเบน สรุปว่าเขากลัวปัญหาเลดี้บอย (Lady boy) กับทอมบอย (Tom boy) หรือปัญหาทรานส์เซ็กส์ (trans sex) ที่มีมากในบ้านเราทำนองนั้น

ผมไปอินโดนีเซียครั้งหลังเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2016 ได้คุยกับเพื่อนนักวิชาการที่นั่นเขาถามถึงปัญหาเลดี้บอยหรือชายที่ทำตัวเป็นหญิงกับทอมบอยหรือหญิงทำตัวเป็นชาย ที่รวมเรียกว่าทรานส์เซ็กส์หรือพฤติกรรมข้ามเพศ ประเภทชายทำตัวเป็นหญิงหรือหญิงทำตัวเป็นชายในประเทศไทยว่าดีขึ้นหรือลดลง สถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง ดูเหมือนผู้คนในประเทศรอบบ้านไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ เวียตนาม ลาว อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ พากันมองประเทศไทยว่าเป็นสวรรค์ของกลุ่มชนทรานส์เซ็กส์ไปแล้ว

นักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์หลายกลุ่มอยากรู้ว่าพฤติกรรมลักษณะนี้เป็นผลมาจากพันธุกรรมที่เรียกว่า “เจเนติกส์” (genetics) เกิดจากยีนในดีเอ็นเอหรือ “เอพิเจเนติกส์” (epigenetics) ซึ่งเป็นเรื่องอิทธิพลของสารต่างๆ ที่ไม่ใช่ดีเอ็นเอซึ่งมีตั้งแต่โปรตีนหรือสารอื่น หรือสิ่งแวดล้อม หรือดุลที่เปลี่ยนแปลงไปของฮอร์โมนบางตัว โภชนาการ และอีกมากมายที่ส่งอิทธิพลต่อยีน หรือเกิดจาก “สภาพสังคม” ซึ่งได้แก่สภาพแวดล้อมภายนอกร่างกายที่ไม่เกี่ยวข้องกับยีนกันแน่ การแสดงออกทั้งเจเนติกส์และเอพิเจเนติกส์นั้นบุคคลบังคับไม่ได้ สุดท้ายเพศสภาพจึงเปลี่ยนไปอย่างที่เห็น ส่วนเรื่องของสภาพสังคมนั้นหากจะว่าไปแล้วน่าจะมีหนทางที่จะควบคุมได้ว่ากันอย่างนั้น

นักวิทยาศาสตร์พบว่ามีสารเคมีบางชนิดเป็นสวิทซ์ที่เรียกว่า “เอพิ-มาร์ค” (Epi-marks) ในเซลล์ทำหน้าที่ปิดเปิดการทำงานของยีนที่เกี่ยวข้องกับเพศสภาพ ด้วยเหตุนี้นักวิจัยแห่งสถาบันแห่งชาติด้านคณิตศาสตร์และชีววิทยาการสังเคราะห์หรือ the National Institute for Mathematical and Biological Synthesis (NIMBioS) สหรัฐอเมริกา จึงได้ลองทำการศึกษาอิทธิพลของเอพิ-มาร์คที่มีต่อความอ่อนไหวของฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนของทารกเพศชายที่ยังอยู่ในครรภ์มารดาโดยเชื่อว่าเอพิ-มาร์คอาจจะส่งผลให้ทารกที่คลอดออกมากลายเป็นเกย์หรือเลดี้บอยไปได้

ภายหลังทำการทดสอบด้วยโมเดลต่างๆ หลายโมเดลสิ่งที่พบและรายงานออกมาใน ค.ศ.2015 คือเอพิ-มาร์คไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเพศสภาพอย่างที่คิดกัน โดยสรุปจนถึงขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ยังตรวจหาไม่พบยีนเกย์ทั้งไม่พบว่าในส่วนของเอพิเจเนติกส์มีส่วนไหนเข้าไปเกี่ยวข้องกับสภาพความเป็นเกย์บ้าง เมื่อยังไม่พบสิ่งที่คิดกันในขณะนี้คือปัญหาเลดี้บอยน่าจะเกิดจากสภาพสังคมภายนอกร่างกายมากกว่าปัจจัยอื่น

หากคำตอบคือกรณีหลังสุดโดยสังคมปล่อยให้ปัญหากระเทยหรือเกย์หรือเลดี้บอยหรือทรานส์เซ็กส์ดำรงอยู่อย่างปล่อยปละละเลย ไม่ดูแลควบคุม สิ่งที่เกิดตามมาคือพฤติกรรมเลียนแบบ ซึ่งมีผลให้เด็กชายหรือเด็กหญิงปกติจำนวนมากกลายสภาพเป็นเลดี้บอยและทอมบอยไป เหมือนอย่างที่สังคมเราหลายส่วนกำลังเผชิญอยู่ในวันนี้ ส่วนจะเกิดผลเสียหายอย่างไรบ้าง เช่นมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาประชากรในประเทศไทยลดลงเร็วมากจนผิดปกติหรือไม่ ทางฝ่ายที่เกี่ยวข้องน่าจะลองศึกษาดู

 

ที่มา เพจ : Dr.Winai Dahlan