Skip to main content

กองบรรณาธิการสำนักข่าวอามาน

 

          อีกก้าวหนึ่งที่สำคัญของ ‘กองทุนสื่อภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้’ เมื่อ 10 ต.ค.2553 ที่ผ่านมา เมื่อกลุ่มที่รวมตัวกันในนาม ‘เครือข่ายสื่อเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้’ ได้นัดพบปะกันที่โรงแรมซี.เอส.กลางเมืองปัตตานี เพื่อพูดคุยกันถึงความก้าวหน้าของการจัดตั้งกองทุนสื่อภาคประชาสังคมและการวางแผนการทำงานร่วมกันเป็นลักษณะเครือข่าย แม้เกือบทั้งหมดจะเป็นสื่อทางเลือก และกลุ่มคนทำงานในภาคประชาชนที่ใช้สื่อเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งเพื่อเติมเต็มการทำงานให้ตนเอง แต่นับว่าเป็นการรวมตัวกันครั้งแรกเพื่อเป็นผีเสื้อตัวน้อยที่ร่วมกระพือปีกด้วยกัน และหวังว่าเรื่องราวภาคใต้นี้จะส่งผลสะเทือนต่อไปในสังคมวงกว้างกว่าที่เป็นอยู่

          หากต้องการทำความเข้าใจต่อปรากฏการณ์ที่เป็นประวัติศาสตร์นี้ ต้องย้อนหลังกลับไปสู่จุดเริ่มต้นเมื่อศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้(Deep South Watch) องค์กรวิชาการเชิงองค์ความรู้ที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดของ3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการติดต่อมาจากองค์กร The Sasakawa Peace Foundation ของประเทศญี่ปุ่น โดยแสดงความต้องการให้เงินทุนในการทำงานเพื่อการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากนั้นไม่นานเวทีทางเลือกและโอกาสของเครือข่ายสื่อเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2552 ซึ่งมีการพูดคุยกันถึงการวาดแผนที่สู่สันติภาพร่วมกัน และหลังจากนั้นก็เกิดเวทีถัดมาอีกหลายรอบเพื่อพูดคุยกันเพื่อตั้งกองทุนสื่อภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้

          ‘มาโฮ ซาโต’ ตัวแทนจาก The Sasakawa Peace Foundation บอกว่า เหตุผลที่ต้องการสนับสนุนสื่อภาคประชาชน ก็เพราะการเป็นสื่อได้ลงไปสัมผัสกับชาวบ้านโดยตรง รู้ว่าชาวบ้านคาดหวังอะไร ต้องการอะไร และสื่อสารออกไปให้คนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่นี่ ซึ่งทั้งหมดนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดสันติภาพ

          “เราเป็นคนนอก แค่ต้องการมีส่วนร่วมผลักดันให้เกิดสันติภาพขึ้นที่นี่ แต่วัตถุประสงค์ไม่ใช่มาแจกเงินแล้วให้แต่ละกลุ่มกลับไปทำงานของตนเอง เราต้องการสนับสนุนไห้เกิดความเข้มแข็งของแต่ละกลุ่ม ผ่านการเรียนรู้วิธีการทำงานร่วมกัน จนนำไปสู่สันติภาพในท้ายที่สุด”

          ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากเกิดปัญหาความรุนแรงขึ้นมาเมื่อปี 2547 มีกองทุนจากองค์กรหรือมูลนิธิทั้งภายในและภายนอกประเทศจำนวนมากลงมาทำงานในพื้นที่แห่งนี้ผ่านการให้เงินทุนสนับสนุนการทำงานของกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนทำสื่อทางเลือก กลุ่มเยียวยา กลุ่มนักสิทธิมนุษยชน กลุ่มองค์กรทางกฎหมาย กลุ่มคนทำงานภาคประชาสังคม ฯลฯ เกือบทั้งหมดเป็นการมอบเงินให้องค์กรต่างๆ ทำงานของตนเองให้บรรลุภารกิจที่วางไว้เท่านั้น บางส่วนสนับสนุนให้เกิดการทำงานแบบเครือข่ายแต่ยังเป็นลักษณะการสนับสนุนแยกองค์กรไปและทำงานเชื่อมโยงกันเองภายหลัง จึงนับเป็นครั้งแรกที่มีความพยายามจัดตั้งเป็นลักษณะกองทุนเพื่อการสนับสนุนการทำงานเป็นเครือข่ายและพัฒนาศักยภาพร่วมกันขึ้นในพื้นที่

          ‘อิทธิพล ปรีติประสงค์’ นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว และนักวิชาการ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เคยกล่าวเอาไว้ว่า “เป็นเรื่องน่าสนใจมาก ที่เราจะได้เห็นกองทุนสื่อภาคประชาสังคมเกิดขึ้น เป็นกองทุนแรกๆ ด้านการพัฒนาสื่อภาคประชาสังคมแบบมีส่วนร่วมของประชาสังคมในภาคใต้ของประเทศไทย น่าจะถือเป็นต้นแบบของกองทุนสื่อในประเทศไทย ถึงแม้กองทุนนี้จะเป็นการเริ่มต้นลงทุนโดยมูลนิธิจากต่างประเทศก็ตาม แต่ก็ไม่แน่ว่า อาจมีการร่วมลงทุนจากกองทุนสื่อของไทยที่มีอยู่แล้ว หรือกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตได้”

          แต่ในเมื่อเป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ อันสุ่มเสี่ยงจะถูกมองว่านำเงินมาละลายแม่น้ำ และจะเกิดข้อครหาในอนาคต ทางแหล่งทุนอย่าง Sasakawa โดยตัวแทนอย่าง ‘มาโฮ ซาโต’ ก็ให้แนวทางอันเป็นเงื่อนไขการจัดตั้งกองทุนและนำเงินไปใช้ไว้อย่างชัดเจนหลายขั้นตอน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นความหวังที่จะให้เกิดการใช้เงินเพื่อบรรลุเป้าหมาย คือนอกจากสื่อภาคประชาสังคมจะเข้มแข็งและพัฒนาศักยภาพเพิ่มขึ้นแล้ว ยังร่วมกันวางแผนการทำงานให้เกิดสันติภาพในพื้นที่ในท้ายที่สุด

          “วิธีคิดเรื่องนี้อาจต้องกำหนดยุทธศาสตร์ให้ชัดเจนในการทำงานร่วมกัน เพราะเป็นกองทุนที่เกี่ยวข้องกับเงิน มิเช่นนั้นก็จะส่งผลด้านลบอย่างชัดเจน และมีปัญหาระหว่างกลุ่ม การทำงานเครือข่ายก็จะไม่เกิดขึ้น” ตัวแทนมูลนิธิจากญี่ปุ่นกล่าวในตอนหนึ่ง

          เธอยังบอกว่า เคยเห็นตัวอย่างที่มินดาเนา อาเจ๊ะห์ และที่อื่นๆ ที่พอเงินเข้าไปแล้วมีปัญหาชัดเจน ซึ่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่เข้าไปขัดขวางสันติภาพ เพราะฉะนั้นเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย เธอจึงมีข้อเสนอให้ 2 ทางเลือกคือ แบบแรก กองทุนสื่อให้เงินแต่ละกลุ่ม แต่ต้องมีวิธีการที่ชัดเจนว่าจะต้องทำอย่างไร ซึ่งตนเคยได้ร่วมงานกับองค์กรที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งเคยมีรูปแบบนี้ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง Sasakawa กับองค์กรเอ็นจีโอ เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับกุล่มทำงานเครือข่ายภาคประชาสังคม โดยจัดตั้งเป็นกองทุนขึ้น ซึ่งมีเงินทุนจากข้างนอกเข้าไปให้เงินจำนวนมาก แต่เกิดปัญหาเมื่อทุนกระจุกตัวอยู่แต่จำเพาะองค์กรใหญ่ๆ ส่วนองค์กรเล็กๆ ไม่ได้รับความสนใจ

          “กรณีนี้จึงต้องมีกฎเกณฑ์เงื่อนไขในการให้ทุนอย่างชัดเจน มีการคุยกัน เช่น กิจกรรมแบบไหนบ้างที่ได้รับการสนับสนุน หรือ ไม่ได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรใหญ่ๆ ทำอย่างไรให้องค์กรเข้มแข็ง หรือให้มองว่า อีก 5 ปีข้างหน้าองค์กรของตนเองมีเป้าหมายอย่างไร หรือเดินไปถึงจุดนั้นอย่างไร” มาโฮ ซาโต ให้แนวทาง”

          ส่วนแบบที่สองเธอเสนอว่า เป็นลักษณะของการให้ทุนโดยมีจุดมุ่งมั่นเพื่อการพัฒนา(Training) คณะทำงานภายในองค์กรแต่ละองค์กร ซึ่งงบประมาณที่แต่ละองค์กรได้ไม่เยอะ ซึ่งตรงจุดนี้ ต้องมีการกำหนดพันธกิจที่ชัดเจน และมีเป้าหมายเป็นอย่างไร ซึ่งส่วนอื่นๆ เป็นรายละเอียดที่ต้องตกลงกันภายใน ส่วนการที่ Sasakawa เลือกทำงานกับ Deepsouthwatch ก็เหมือนกับทำงานกับองค์กรกลางที่ฟิลิปปินส์

          นอกจากนี้ เธอยังบอกว่า สำหรับเธอ มี 5 ข้อเสนอที่อยากให้ระบุลงไปในเงื่อนไขของการจัดตั้งกองทุนสื่อ คือ 1.จุดมุ่งหมายของกองทุนสื่อคืออะไร กิจกรรมแบบไหนที่จะได้รับการสนับสนุน 2.ใครบ้างจะสามารถเขียนโครงการส่งได้และ ถ้ามีองค์กรใหม่จะเข้ามาร่วมได้ไหม 3.ระบบการคัดเลือก ใครบ้างมีสิทธิที่จะเลือก และมีวิธีการคัดเลือกอย่างไร (เธอเสนอว่าอาจมีวาระ 1 ปี หมุนเวียนตามงบประมาณ) 4.เกณฑ์ในการคัดเลือกกิจกรรม ใครบ้างจะได้ ใครบ้างไม่ได้ และ 5. เธอบอกว่างบประมาณ ที่จะให้แต่ละองค์กรไม่มาก ดังตัวอย่างที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งหากกองทุนนี้สามารถจัดตั้งขึ้นได้ โครงการแรกจะเริ่มขึ้นในเดือนเมษายน ปี 2554 ถึง เมษายนปีถัดไป

          หลังจากตัวแทนแหล่งทุนของมูลนิธิ Sasakawa พูดถึงเงื่อนไขและข้อเสนอต่างๆ ในฐานะผู้ให้ทุน ‘ฐิตินบ โกมลนิมิ’ ในฐานะผู้ประสานงานโครงการจากโครงการจัดตั้งมูลนิธิเพื่อการสื่อสารสาธารณะ ก็บอกว่า หากสรุปใจความทั้งหมดที่แหล่งทุนนำเสนอ เธอบอกว่า ต้องแยกให้เห็นภาพว่าขาหนึ่งเราทำงานโดยมียุทธศาสตร์ร่วมกันอีกขาหนึ่งเรายังทำงานตนเองอยู่ “คำถามคือ เราจะทำอย่างไรให้ทั้งสองขาก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง” ฐิตินบตั้งคำถามขึ้นอย่างท้าทาย

          นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจสำหรับความพยายามจัดตั้งกองทุนสื่อภาคประชาสังคมชายแดนภาคใต้ เพียงแต่กว่าจะไปถึงจุดนั้น ก็ยังมีงานหนักของกลุ่มต่างๆ ที่เข้ามาร่วม ซึ่งนอกจากการวางแผนเป้าหมายและภารกิจร่วมให้เห็นภาพชัดกว่าที่เป็นอยู่ ยังมีรายละเอียดที่ต้องลงลึกไปให้เห็นว่า พวกเขาเหล่านี้จะทำอะไรร่วมกันเพื่อไปสู่สันติภาพได้บ้าง ทั้งนี้วันที่ 22-23 ตุลาคมนี้ จะเป็นการทำแผนงานเฉพาะหน้า ชวนเครือข่ายร่วมกันประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อร่วมพัฒนาแผนงานการทำงานด้วยกัน

          ด้าน ‘สุพจน์ จริงจิต’ สื่อมวลชนอาวุโส ตั้งคำถามว่า จะต้องคิดให้ไกลไปอีกหรือไม่ว่า หากจะจัดตั้งกองทุนเพื่อให้แต่ละกลุ่มทำงานร่วมกัน และจะดูแลคนทำงานแต่ละองค์กรเหล่านี้อย่างไรต่อไป เพราะเราเรียกร้องผลลัพธ์ของแต่ละงานสูง แต่ในขณะที่คนทำงานมีความยากลำบากมากที่จะต้องเข้ามาร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของกองทุน และจะต้องขยายกลุ่มเครือข่ายมากกว่านี้หรือไม่ ซึ่งตนมองว่า หากเริ่มลงมือทำ ต้องประสานให้คนทำงานในองค์กรต่างๆ มาเข้าร่วมมากกว่านี้หรือไม่

          นอกจากนี้ ‘สุพจน์’ ยังเสนอความเห็นว่า อยากให้คิดถึงหลักความจริงในการทำงาน อย่าโรแมนติค อย่างเรื่องเป็นกรรมการแล้วห้ามขอทุน ถ้าตั้งกติกานี้ อาจไม่มีคนเป็นกรรมการ หรืออาจมีตนคนเดียว เพราะไม่มีองค์กร เพราะทุกองค์กรต้องใช้เงิน สำหรับตนคิดว่ายังมีทางออก เช่น การตั้งคณะกรรมการพิจารณา ตั้งมาจากเครือข่าย หรือเอาสื่อที่รู้จักเราพอสมควร มาเป็นคณะกรรมการ หรืออาจมีกติกาที่ละเอียดซับซ้อนที่ป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

          ส่วน ‘มูฮำหมัดอายุบ ปาทาน’ สื่อมวลชนอาวุโสอีกรายบอกว่าโมเดลน่าสนใจ และมีความเป็นไปได้ ทุกอย่างมันอยู่ที่เราต้องออกแบบร่วมกันในระยะเวลาอันใกล้นี้

          “วิธีคิดแบบนี้ทำให้เราไม่รู้สึกว่าเราโดดเดี่ยวในสถานการณ์ความขัดแย้ง ผมเชื่อว่ามันไปได้ในความเป็นจริง แต่เราต้องมาคุยกัน ต้องมาคุยความคิดกัน ต้องหาวิธีการขับเคลื่อนร่วมกัน มันจะได้ยั่งยืน ถ้าอยากไปสู่สันติภาพได้จริง ต้องเคลื่อนออกไปเป็นทีม มียุทธศาสตร์ร่วมกัน แต่แยกกันทำงาน”

          มูฮำหมัดอายุบ ซึ่งอยู่ในฐานะบรรณาธิการอาวุโวของศูนย์เฝ้าระวังฯ ยังบอกอีกว่า ตนต้องการให้มีความชัดเจนว่า จะกำหนดเงื่อนไขกฎเกณฑ์ในการตั้งคณะกรรมการอย่างไร เพราะจะได้ไม่มีปัญหาลักษณะ “บางองค์กรได้ แต่องค์กรของเราไม่ได้” ในอนาคต พร้อมกับบอกอีกว่า ในส่วนของศูนย์เฝ้าระวังฯ เองไม่มีส่วนร่วมในคณะกรรมการกองทุนนี้ แต่เปรียบเสมือนเข้ามาเป็นเลขาให้กับทุกกลุ่ม

          ผู้สื่อข่าวอาวุโสของจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังกล่าวต่อไปอีกว่า “เราไม่มีพื้นที่ต่อรองทางการเมือง แต่การตั้งกองทุน เรามีพื้นที่การต่อรองทางการเมืองมากขึ้น หลักการทำงานของผมมองว่า โครงการนี้จะมีแรงขับสูงในการช่วยให้ทุกคนทำงานของตนเองได้ง่ายขึ้น”

          ส่วน ‘พัชรา ยิ่งดำนุ่น’ นักจัดรายการวิทยุในจังหวัดปัตตานีให้ความเห็นว่า ในฐานะตนเป็นคนทำงานสื่อวิทยุ มองเห็นว่ามันมีพลัง และมีส่วนช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้คนทำงานสื่อ การทำงานในรูปกองทุน ทำให้เราไม่โดดเดี่ยว มีเป้าหมาย และมีพลัง ในความเห็นของตน เห็นด้วยกับ “Spirit working together”

          ด้าน ‘สุไบด๊ะ มะมิง’ จากลุ่มข้าวยำการละคร ของกลุ่มนักศึกษา มอ.ปัตตานี บอกว่าอยากจะให้มองไปที่องค์กรต่างๆ ที่ยังไม่ได้รับทุน หรือเข้าไม่ถึงทุน ซึ่งการตั้งกองทุนตรงนี้ขึ้นในพื้นที่ตนก็มองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะเป็นพลังในการขับเคลื่อนสันติภาพร่วมกัน

          ทางด้าน ‘มูฮำหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ’ จากกลุ่มบุหงารายา ก็ให้มุมคิดที่น่าสนใจว่า การจัดตั้งกองทุนนี้เราพูดกันถึงสื่อ หรือสื่อในลักษณะที่เป็นสากลกันมาก แต่เราหลงลืมคนที่ไม่ได้ทำสื่อหรือไม่ ยังมีองค์กรต่างๆ ที่ไม่ได้ทำเรื่องสื่อเลย เราจะเข้าไปสนับสนุนพวกเขาได้หรือไม่ หรือเรามองแต่สื่อกระแสหลัก แต่ยังมีสื่อภาคประชาชนในพื้นที่อย่าง วายังกูเล๊ะ หรือ ดิเกร์ฮูลู ซึ่งก็นับว่าเป็นสื่ออีกแขนงหนึ่งที่กองทุนสามารถขยายขอบเขตเข้าไปสนับสนุนได้หรือไม่

          ทั้งหมดนี้ยังเป็นการพูดคุยถึงแนวคิดเบื้องต้นของการตั้งกองทุนสื่อภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคำถามจำนวนมากที่ต้องการให้เกิดการตกผลึกทางความคิดร่วมกัน เพื่อให้การจัดตั้งกองทุนในท้ายที่สุดเกิดขึ้นโดยมีจุดบกพร่องน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

          เพราะอย่างน้อยที่สุด ทุกๆ ก้าวที่ทุกฝ่ายกำลังพยายามประคองเดินไปสู่จุดนั้น กำลังกลายเป็นความหวังที่เพิ่มขึ้นของคนทำงานสื่อภาคประชาสังคมและกลุ่มคนทำงานองค์กรต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกๆ วัน พวกเขาพร้อมจะเป็นผีเสื้อตัวน้อยที่ร่วมกันกระพือปีกในวันข้างหน้า

          ปีกน้อยๆ ที่จะพร้อมจะพัดไปถึงดาวดวงหนึ่งที่เรียกว่า ‘สันติภาพ’

 

source: http://thai.amannews.org/view/view.php?id=776