โดย.........อิมรอน โสะสัน
(ภาพจาก https://newrepublic.com/article/107674/tariq-ramadan-islam-arab-awakening)
“... “ความเข้าใจ” “ความมั่นใจ” “ความมีอิสระ” “ความคิดเชิงวิพากษ์” เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับความรับผิดชอบต่อตัวเองในมิติด้านจิตวิญญาณและต่อชุมชนในมิติการทำงานร่วมกันที่ชุมชนพึงมี จากนั้นจึงจำเป็นต้องเข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่เรียกว่า “ความตระหนักในการลำดับความสำคัญต่อภารกิจของทุกคน”....”
อิสลามเป็นรากฐานที่สำคัญ
ศ.ดร.ฏอริก รอมฎอนมีความเชื่อว่า ไม่มีอะไรเป็นที่น่าสงสัย คำสอนอิสลามคือรากฐานความเชื่อของเรา แต่กระนั้นการเปิดกว้างก็มีความจำเป็น ท่านกล่าวว่า เราควรเปิดรับความรู้ต่างๆจากวัฒนธรรม ศาสนาอื่นๆ ไม่ว่าจะมาจากศาสนาคริสต์ ศาสนายิว ไม่เพียงเท่านั้น ท่านบอกว่า ยังมีค่านิยมทางปรัชญาต่างๆหรือแม้แต่นักคิดที่สามารถช่วยให้เราเข้าใจหลักคำสอนของเราได้ เราเองก็ควรจะเรียนรู้จากพวกเขาด้วยเช่นกัน
“ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องรู้ว่า เรามาจากไหน? เรากำลังใช้ชีวิตร่วมกับใคร? และเรามีอะไรที่จะร่วมแลกเปลี่ยนกับพวกเขา? คำถามเหล่านี้ไม่ได้หมายถึงว่า เรากำลังหลงลืมหลักการของความเชื่อที่เรายึดมั่น แต่หลักการของเราจะต้องไม่เป็นหลักการที่ปิดกั้น” ศ.ดร.ฏอริก รอมฎอน เน้นย้ำหลักการนี้อีกครั้ง
ภาวะผู้นำ: ความเป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเอง
เมื่อเราพยายามที่จะพูดเกี่ยวกับผู้นำและภาวะผู้นำจากมุมมองของอิสลาม ศ.ดร.ฏอริก รอมฎอน กล่าวว่า เราจะต้องมีความเข้าใจต่อการมีอิสระ (independence ) และการเป็นตัวของตัวเอง (autonomy) โดยทั้งสองสิ่งได้นำเราให้กลับไปสู่การพิจารณาหลักการของอิสลามอย่างมีนัยสำคัญอีกครั้ง เช่น ขณะที่เราสอนลูกๆ เพื่อให้พวกเขามีการศึกษา ในทางกลับกัน เรากำลังสอนตัวเอง เพราะว่าวันหนึ่งเราจะต้องกลับไปพบกับพระผู้เป็นเจ้าเพียงลำพัง ผมพยายามให้การศึกษาแก่ลูกชาย ลูกสาวของผม เพราะพวกเขาจะต้องกลับไปสู่เบื้องหน้าพระผู้เป็นเจ้าโดยลำพังเหมือนๆกับเรา ผมกำลังหมายถึงว่า เราจะต้องเผชิญกับภาระความรับผิดชอบของเราเองในฐานะปัจเจกบุคคลหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในบางกรณี “ภาวะผู้นำ” มีความหมายรวมกับสิ่งที่กล่าวมา “ภาวะผู้นำ” จะต้องตระหนักถึงความเป็นอิสระและการเป็นตัวของตัวเอง วันหนึ่งเราต้องตอบสนองการเรียกร้องจากผู้ทรงสร้าง “โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย” มันเป็นการเรียกร้องที่ส่งผลต่อมโนธรรมสำนึกของเรา ส่งผลถึงสติปัญญาและหัวใจของเราอย่างถึงที่สุด
วุฒิภาวะ มีอิสระ และสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง
ในทางปรัชญา เราควรเป็นผู้ซึ่งเปี่ยมไปด้วยวุฒิภาวะ มีอิสระ และสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ภาวะผู้นำหมายถึงสามสิ่งนี้ ย้อนกลับไปสู่สมัยของท่านศานทูตมูฮัมมัด (ขออัลลอฮ์โปรดประทานเมตตาและสันติแก่ท่าน) ทำไมท่านคือผู้นำ? หากพิจารณาจะพบว่าบรรดากัลยาณมิตร (ซอฮาบะฮ์) ของท่าน (ทุกคนคือผู้นำที่ตามผู้นำของพวกเขา) จะพบว่า คนที่พวกเขาตามนั้นมีคุณลักษณะของครู/ผู้ถ่ายทอดอยู่ในตัวของผู้นำ ใครก็ตามหากปราศจากความเป็นตัวเองทางด้านปัญญา เขาจะขาดคุณลักษณะความเป็นครู/ผู้ถ่ายทอด บรรดาซอฮาบะฮ์จึงเป็นผู้นำเพราะพวกเขาคุณลักษณะเหล่านั้น พวกเขามีความรู้ สติปัญญาที่เป็นตัวของตัวเอง พวกเขาสามารถคิด วิเคราะห์จากสติปัญญาที่พวกเขามีผ่านการถ่ายทอดจากครูของพวกเขา ด้วยเหตุนี้ เราจึงให้ความเคารพและให้เกียรติพวกเขา
บ้านของเรา
ครั้นเมื่อศาสนทูตมูฮัมมัด (ขออัลลอฮ์โปรดประทานเมตตาและสันติแก่ท่าน) ถูกต่อต้านและปฏิเสธจากบรรดาพวกพ้องของท่าน เฉกเช่นเดียวกันกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัยในบรรดาศาสนทูตก่อนหน้าท่าน ประเด็นนี้น่าสนใจ เพราะมันสื่อถึง “อะไรก็ตามที่พวกเขากล่าวถึงฉัน พวกเขาคือประชาชนของฉัน” นั่นคือแนวคิดของผู้นำ แนวคิดที่ได้มาจากชีวประวัติของบรรดาศาสนทูตของผู้ทรงสร้าง
ศ.ดร.ฎอริก รอมฎอน เสริมในประเด็นนี้ว่า บรรดาพวกประชานิยม กลุ่มขวาจัด หรือแม้แต่บรรดาคนที่กลัวอิสลามโดยที่ไม่ได้ศึกษาอิสลามอย่างถ่องแท้ อะไรก็ตามที่พวกเขากล่าวหามุสลิม (ในโลกตะวันตก) จงบอกพวกเขาไปว่า “นี่คือบ้านของเรา” มุสลิมต้องคิดบวกและเป็นผู้ให้กับสังคมอย่างสร้างสรรค์ หากว่าเรายังปลูกฝังความคิดในการแบ่งแยก “พวกเขา” “พวกเรา”ให้เกิดขึ้นในสังคมที่เราอาศัยอยู่ ความคิดเชิงบวกย่อมเกิดขึ้นได้ยาก กล่าวในทางจิตวิทยาเราจะค้นพบว่า ระหว่างการช่วยเหลือเกื้อกูล (ลงมือทำ) กับวิสัยทัศน์เพียงอย่างเดียวย่อมต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ขณะที่เรากำลังฝึกอบรมผู้นำ ศ.ดร.ฎอริก รอมฎอน ได้ตั้งคำถามสำคัญๆแก่ผู้นำไว้ว่า ท่านจงบอกข้าพเจ้าถึงความเป็นตัวของตัวเองว่าเป็นอย่างไร? อะไรบ้างที่ท่านต้องการนำเสนอให้แก่สังคม? มีแนวทางใดบ้างที่ผู้นำต้องการมอบให้เป็นขวัญแก่สังคมนี้ ? (ท่านอธิบายว่า...ผู้นำคือของขวัญที่ดีที่สุดของสังคม) มีใครบ้างที่ท่านกำลังนึกถึง? ท่านจะเชื่อมโยงกับสังคมที่ท่านอาศัยอยู่อย่างไร? แน่นอน ไม่ใช่แค่การเชื่อมโยงเฉพาะเพื่อนบ้านใกล้เคียง แต่จะต้องคิดถึงการเชื่อมโยงที่กว้างไกลออกไปด้วยเช่นกัน ท่านกล่าวต่อไปว่า “เราไม่สามารถที่จะเชื่อถื่อข่าวสารข้อมูลที่ได้มาจากสื่อทางโทรทัศน์ หรือวิทยุเพียงอย่างเดียว แต่เราจะต้องค้นหาความจริงจากชุมชน สังคมรอบๆตัวด้วย”
(ภาพจาก http://www.mcb.org.uk/british-muslims/)
ใช้คุณภาพให้ถูกที่ถูกเวลา
เมื่อกล่าวถึงคุณลักษณะและคุณภาพของผู้นำ ศ.ดร.ฎอริก รอมฎอน เน้นย้ำว่า ผู้นำไม่ใช่ผู้ให้เท่านั้น แต่ผู้นำจะต้องสามารถรับฟังผู้อื่น (รับฟังชุมชนและสังคมด้วย) ในมิติหนึ่งจากภาวะผู้นำของศาสนทูตของเรา ท่านได้ยอมรับคุณภาพของบรรดากัลยาณมิตรของท่านเพื่อนำมาปรับใช้ให้ถูกที่ถูกเวลาเสมอ หากท่านต้องการมอบหมายภารกิจท่านจะพิจารณาถึงภารกิจและมองหาบุคคลที่เหมาะสมต่อภารกิจเหล่านั้น เช่น เมื่อท่านต้องการผู้ที่มีคุณลักษณะที่เข้มแข็ง น่าเกรงขาม ท่านอุมัร บิน อัล-ค็อฏฏอบ คือตัวเลือกที่สำคัญ หรือคนที่เปิดกว้างและเข้าใจความรู้สึกของประชาชน ท่านอบูบักร อัศศิดดีก คือตัวเลือกที่เหมาะสม ด้วยเหตุนี้ ควรใช้ “คุณภาพ” ในการคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมให้เข้ามาทำหน้าที่รับใช้สังคม เพราะท่านศาสนทูตของเราจะคัดเลือกบุคคลด้วย“คุณภาพของพวกเขา”
แน่นอน....เรารู้ดีว่าสังคมของเรากำลังเผชิญกับปัญหาอะไร (context) และเราก็รู้ดีว่าบุคคลที่มีคุณลักษณะแบบใดที่เหมาะสมสำหรับภารกิจ ท้ายที่สุด เราจะรู้ว่าใครในสังคมของเราที่มีคุณภาพเพียงพอต่อความรับผิดชอบเพื่อให้ภารกิจของเราลุล่วงไปได้
“ผู้นำคือผู้รับใช้ หากผู้นำต้องการนำ เขาต้องรับใช้ ผู้นำต้องใช้ความรู้ ความสามารถ เข้ามาช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาของประชาชน” ศ.ดร.ฎอริก รอมฎอน กล่าวไว้
(อ่านต่อฉบับหน้า...อินชาอัลลอฮ์)
(หมายเหตุ บทความนี้แปลและเรียบเรียงจากเนื้อหาที่ Dr. Mozammel Haque เขียนสรุปไว้จากการบรรยายของ ดร.ฎอริก รอมฎอน ศาสตราจารย์ด้านอิสลามศึกษาร่วมสมัย มหาวิทยาลัย Oxford ประเทศอังกฤษ เรื่อง Vision and Leadership in the Muslim Communities of Britain ในการประชุมที่ the Muslim Council of Britain’s MCB LDP Alumni Dinner, จัดขึ้น ณ the Muslim Cultural Heritage Centre, London เมื่อวันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน 2011)