รายการ ก(ล)างเมือง ตอน "ห้องเรียนเพศวิถี" ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่องไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ซึ่งในแง่หนึ่งเป็นสิ่งที่น่ายินดีเพราะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนพูดคุยในประเด็นเรื่องเพศในสังคมไทยที่ยังมีปัญหาต้องขบคิดและแก้ไขร่วมกันอีกมาก ทว่าขณะเดียวกันก็มีความน่าวิตกกังวลเพราะการแสดงความคิดเห็นจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะที่ผ่านทางสื่อทางสังคม เช่น Facebook มีลักษณะเป็นการใช้คำพูดที่ก่อเกิดความเกลียดชัง (hate speech) และยุยงให้เกิดการใช้ความรุนแรงทั้งกับผู้จัดและผู้เข้าร่วมในกิจกรรมที่รายการดังกล่าวนำมาเผยแพร่ บนฐานที่ว่าได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงกับสังคมมุสลิมซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีวิถีชีวิตอยู่บนหลักการของศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) โดยเฉพาะในส่วนที่อยู่ในพื้นที่และรับรู้เรื่องราวมาแต่ต้น มีความรู้สึกห่วงใยในสถานการณ์ดังกล่าว เนื่องจากจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวและเปราะบางในประเด็นทางศาสนา ซึ่งสามารถถูกพลิกผันเป็นความขัดแย้งและกลายเป็นหนึ่งในเงื่อนไขและปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง พวกเราจึงขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในครั้งนี้ซึ่งเป็นประเด็นใหม่ในพื้นที่ด้วยเหตุด้วยผลบนหลักการทางศาสนา ความเป็นมนุษย์ และมิตรไมตรีที่มีต่อกัน เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งกลายเป็นเงื่อนไขซึ่งอาจบานปลายไปสู่ความรุนแรง ดังนี้
1) “เพศวิถี” เป็นประเด็นละเอียดอ่อนสำหรับสังคมมุสลิมเนื่องจากเป็นประเด็นที่มีการระบุไว้ในคำสอนของศาสนา กระนั้นคุณค่าประการสำคัญของจริยธรรมในศาสนาอิสลามคือการมีความอดทนอดกลั้น (ซอบัร หรือ Tolerance) ต่อผู้ที่มีความเห็นต่าง และการตักเตือนกันด้วยความสุภาพและความเมตตา (เราะฮ์มะฮ์ หรือ Compassion) ด้วยเหตุดังกล่าว พวกเราจึงใคร่ขอให้ยุติการติดตาม ไล่ล่า ข่มขู่และคุกคามผู้ที่มีความเห็นต่าง ซึ่งเป็นแนวทางที่ขัดกับคุณค่าประการสำคัญของจริยธรรมในศาสนาอิสลามดังกล่าวโดยสิ้นเชิง
2) “มนุษย์” มีสิทธิที่จะมีชีวิตโดยไม่ถูกละเมิดโดยมนุษย์ด้วยกัน และต่างมีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะมีความแตกต่างกันในเรื่องใดๆ ก็ตาม นอกจากนี้ แก่นคำสอนของทุกศาสนาต่างให้ความคุ้มครองและยืนหยัดอยู่บนหลักการพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ดังนั้น พวกเราจึงขอให้ทุกฝ่ายตระหนักและยึดมั่นในคุณค่าพื้นฐานของความเป็นมนุษย์โดยไม่พยายามที่จะมุ่งทำร้ายผู้อื่นที่มีความเห็นหรือการปฏิบัติที่ต่างออกไปจากตน
3) การแสดงความคิดเห็นของชาวมุสลิมต่อประเด็น “เพศวิถี” ในกรณีดังกล่าวมีความหลากหลาย และงานทางวิชาการจำนวนหนึ่งได้ชี้ให้เห็นว่า “เพศวิถี” เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นในทุกสังคมรวมทั้งในสังคมมุสลิม พวกเราจึงเห็นว่าหากสังคมมุสลิมได้มีการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันอย่างจริงจังฉันมิตรเกี่ยวกับประเด็น “เพศวิถี” ในทัศนะอิสลามกับกลุ่มศึกษาเรื่อง “เพศวิถี” ก็จะยังประโยชน์อย่างยิ่งทั้งในด้านองค์ความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกัน ตลอดจนแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมให้กับทุกฝ่าย
4) จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการยอมรับในความจำเพาะและความแตกต่างหลากหลายทางศาสนาและชาติพันธุ์ในบริบทของรัฐไทยมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ “เพศวิถี” เป็นความจำเพาะและความแตกต่างที่สำคัญอีกประการที่ควรต้องคำนึงถึง พวกเราจึงเห็นว่าหากผู้เกี่ยวข้องสามารถเชื่อมโยงการแลกเปลี่ยนพูดคุยในประเด็นนี้เข้ากับประเด็นหลักในพื้นที่ได้ ก็จะช่วยหนุนเสริมการเคลื่อนไหวเรียกร้องเรื่องความจำเพาะและความแตกต่างหลากหลายในพื้นที่ให้มีความเข้มแข็งและประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง จึงขอส่งสารข้างต้นมายังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วยความห่วงใยในสถานการณ์ความอ่อนไหวเปราะบางที่เกิดขึ้น และเชื่อมั่นว่าพวกเราจะสามารถก้าวพ้นสถานการณ์นี้ร่วมกันได้ด้วยแนวทางแห่งสันติ มิตรไมตรี และการเคารพซึ่งกันและกัน
ด้วยมิตรภาพ
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง
13 กุมภาพันธ์ 2560