Skip to main content

 

เจ้าหน้าที่ไทย: คณะพูดคุยสันติสุขเจรจากับมาราปาตานีสัปดาห์หน้า

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
กรุงเทพฯ และปัตตานี
 
 
 
 
 
    TH-girl-deepsouth-1000
    ญาติปลอบเด็กหญิงที่เศร้าโศก หลังจากที่พ่อแม่ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตในบ้าน ในอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560
     เอเอฟพี
     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

    ในวันอังคาร (21 กุมภาพันธ์ 2560) นี้ พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข กล่าว ในสัปดาห์หน้า ตนเองจะนำคณะฯ เดินทางไปพูดคุยกับกลุ่มมาราปาตานี ที่ประเทศมาเลเซีย โดยจะเป็นการหารือถึงการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกันในระดับเทคนิก และยังมีการหารืออย่างเป็นทางการอีกด้วย

    “ในสัปดาห์หน้าจะมีการพูดคุยนอกรอบกับกลุ่มผู้เห็นต่างที่ประเทศมาเลเซีย โดยจะเป็นการหารือถึงการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกันกับคณะพูดคุยและการหารืออย่างเป็นทางการ” พลเอกอักษรา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์ ที่กรุงเทพฯ

    อาบูฮาฟิซ อัลฮาคิมโฆษกกลุ่มปาตานี ในประเทศมาเลเซียได้กล่าวยืนยันวันนี้ว่า การพูดคุยระหว่างสองฝ่ายจะมีขึ้นในวันที่ 28 กุมภาพันธ์

    "จะเป็นการประชุมหนึ่งวัน เพื่อยืนยันกรอบการทำงานทั่วไป ในการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย โดยคณะพูดคุยด้านเทคนิคร่วมกัน และอาจจะมีคำแถลงการณ์ร่วมออกมา เมื่อสิ้นสุดการพูดคุยร่วมกัน" อาบูฮาฟิซ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ 

    ประเทศมาเลเซียได้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติสุข 4 ครั้งแล้ว ในปี 2560 ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยระหว่างคณะเทคนิคชุดเล็กหรือ คณะพูดคุยชุดใหญ่เต็มคณะของฝ่ายรัฐบาลไทย และกลุ่มมาราปาตานี ซึ่งการพูดคุยครั้งนี้จะเป็นการเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการ อีกรอบหนึ่ง ซึ่งเริ่มต้นโดยรัฐบาลทหาร หลังจากชะงักมาตั้งแต่ธันวาคม 2559 ภายใต้รัฐบาลพลเรือน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

    พลเอกอักษรา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ก่อนจะเดินทางหารือ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเรียกประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. เพื่อกำหนดกรอบและนโยบายอีกครั้งว่า จะหารือในกรอบใดและพื้นที่ใด ทั้งนี้ ต้องรอให้พลเอกประวิตร กำหนดนโยบายให้กับทางคณะพูดคุยฯ ซึ่งเชื่อว่าการหารือนอกรอบน่าจะส่งผลดีต่อคนในพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

    ในเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่ในคณะพูดคุยสันติสุขผู้ไม่ประสงค์ออกนามรายหนึ่ง กล่าวเพิ่มเติมแก่เบนาร์นิวส์ว่า จะมีการพูดคุยแบบเต็มคณะ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นี้

    “คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล จะเดินทางไปร่วมพูดคุยแบบเต็มคณะกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ มารา ปาตานี ที่ประเทศมาเลเซีย ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นี้ โดยหัวข้อหารือหลักจะเป็นการร่วมกันกำหนดพื้นที่ปลอดภัยระดับอำเภอ” เจ้าหน้าที่ท่านเดียวกันกล่าว

    ทั้งนี้ ข้อตกลงเรื่องการกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" คณะพูดคุยฯ ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบในหลักการร่วมกันตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และในช่วงที่ผ่านมา คณะทำงานเทคนิคร่วมฯ ได้หารือกันในรายละเอียด จนกระทั่งได้ข้อยุติร่วมกันว่า ในการพูดคุยแบบเต็มคณะ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ จะมีการหารือเพื่อกำหนดพื้นที่ร่วมกันเป็นครั้งแรก โดยจะกำหนดในระดับอำเภอ ด้วยการเลือกอำเภอใดอำเภอหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอำเภอนำร่อง "พื้นที่ปลอดภัย"

    “วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ จะเดินทางไปร่วมพูดคุยแบบเต็มคณะกับมารา ปาตานี ที่ประเทศมาเลเซีย จะกำหนดพื้นที่ปลอดภัยในระดับอำเภอ ด้วยการเลือกอำเภอใดอำเภอหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอำเภอนำร่อง ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย" เจ้าหน้าที่ท่านดังกล่าว กล่าวย้ำ

    เจ้าหน้าที่รายเดียวกันกล่าวว่า "แนวโน้มของการพูดคุยดีขึ้นมาก และเชื่อว่าจะสร้างสันติสุขได้ตามที่หลายฝ่ายตั้งความหวัง ช่วงหลังมีผู้แทนกลุ่มติดอาวุธเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยด้วย เป็นบุคคลที่มีหมายจับในคดีความมั่นคง และมีชื่ออยู่ในสารบบของเจ้าหน้าที่ว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบตัวจริงในระดับแกนนำ ถือว่าคณะพูดคุยฯ ที่นำโดยพลเอกอักษรา เกิดผล สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เห็นต่างจากรัฐได้ โดยเฉพาะกลุ่มติดอาวุธ”

    ด้านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันนี้ว่า “ก็ต้องการให้จบภายในรัฐบาลชุดนี้ แต่ก็ต้องไปสอบถามคนที่สร้างเหตุรุนแรงด้วย แล้วถ้าหากเขาเรียกร้องอะไรมาจะสามารถให้ได้หรือไม่ และถ้าขอปกครองตัวเองให้ได้หรือไม่ ซึ่งสถานการณ์ดีขึ้นก็ดีขึ้น ก็ต้องให้กำลังใจรัฐบาลทำต่อไป”

    สถานการณ์ดีขึ้นหรือ?

    เหตุการณ์รุนแรงล่าสุดเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ คนร้ายใช้อาวุธลอบสังหารประชาชนเสียชีวิต 4 ราย ในเขตพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี หนึ่งในผู้เสียชีวิตเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลปิยามุมัง และกลางดึกวันเดียวกัน ที่ยะลา คนร้ายบุกวางเพลิงโรงโม่หิน ส่งผลให้รถที่จอดอยู่ในบริเวณดังกล่าวเสียหาย 17 คัน

    เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้รายหนึ่งกล่าวว่า สถานการณ์ในพื้นที่ลดระดับความรุนแรงลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงสองเดือนแรกของปี 2560 ทั้งสถิติการก่อเหตุ และรูปแบบของความรุนแรง แม้ว่าในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่จะมีปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จนอาจทำให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงไม่สามารถเคลื่อนไหวก่อเหตุได้ง่ายนัก แต่หลังจากน้ำลดแล้ว สถานการณ์โดยรวมก็ยังเงียบสงบ

    "เราประเมินว่า มองเห็นสัญญาณความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญว่าสถานการณ์โดยรวมกำลังพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น คือ 1. การบ่มเพาะเยาวชนเพื่อไปเป็นนักรบรุ่นใหม่ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด 2. อาร์เคเค หรือกลุ่มติดอาวุธขนาดเล็กของขบวนการ ไม่มีเสรีในการปฏิบัติเหมือนเก่า ไม่สามารถก่อเหตุเชื่อมโยง ในแง่เวลาและสถานที่ได้เหมือนในอดีต คือ ลักษณะการก่อเหตุแบบพร้อมกันหลายจุด กระจายในหลายอำเภอ ไม่สามารถทำได้ 3. ความร่วมมือในการแจ้งข่าวสารของประชาชนมีมากขึ้น ส่งผลให้สามารถจับกุมอาร์เคเคได้เป็นจำนวนมาก" เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงรายดังกล่าว กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

    "จะเรียกว่าเป็นการปิดยุคบันได 7 ขั้น เพื่อแยกดินแดนรัฐปัตตานีก็คงพูดได้" เจ้าหน้าที่รายเดียวกันกล่าวเพิ่มเติม

    แต่แนวร่วมในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส รายหนึ่ง กล่าวว่า ทางสมาชิกขบวนการยังได้รับคำสั่งให้ปฏิบิตการเหมือนเดิม

    "ถ้าทุกอย่างสงบ ชาวบ้านต้องได้รับความเป็นธรรม จะสงบหรือไม่ ก็ยังตอบไม่ได้ รู้แค่ว่าตอนนี้ยังได้รับใบสั่งให้ก่อเหตุ การพูดคุยเรื่องพื้นที่ปลอดภัยก็ถือเป็นเรื่องดี แต่จะทำได้หรือไม่ก็อยู่ที่รัฐ เพราะปัญหาทั้งหมดที่ยังไม่จบ รัฐคือตัวแปรสำคัญ" แนวร่วมขบวนการผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

    * เพิ่มเติมข้อมูล ยืนยันวันที่และการจัดการพูดคุยที่ประเทศมาเลเซีย จากโฆษกกลุ่มมาราปาตานี