องค์กรสากลแนะยูเอ็นจัดกลุ่มก่อเหตุภาคใต้เป็น "ผู้ละเมิดสิทธิเด็ก" ขั้นร้ายแรง
เครือข่ายองค์กรเฝ้าระวังเด็กและพื้นที่ความขัดแย้งทางอาวุธ Watchlist on Children and Armed Conflict (Watchlist) เรียกร้องให้เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติจัดกองกำลัง 11 กลุ่มทั่วโลกเป็น "ผู้ละเมิดสิทธิเด็กขั้นร้ายแรง" รวมถึงกลุ่ม BRN ซึ่งเคลื่อนไหวในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ขณะที่นักวิชาการสนับสนุนข้อเสนอนี้ โดยระบุว่าอาจทำให้กลุ่มก่อเหตุในพื้นที่มีความระมัดระวัง ไม่ทำให้กลุ่มเปราะบางหรือผู้อ่อนแอได้รับผลกระทบ
องค์กรวอทช์ลิสต์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครนิวยอร์กของสหรัฐฯ เสนอรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิเด็กในพื้นที่ขัดแย้ง ประจำปี 2017 แก่นายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN) เมื่อวันที่ 1 มี.ค. โดยอ้างอิงข้อมูลที่รวบรวมจากพื้นที่ความขัดแย้งในหลายประเทศทั่วโลกตลอด 2 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีความคืบหน้าด้านการปลดประจำการทหารเด็กมากกว่า 100,000 คนทั่วโลก แต่การใช้อาวุธโจมตีโรงเรียนและพื้นที่สาธารณะอื่นๆ มีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทำให้เด็กเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
เนื้อหาในรายงานของวอทช์ลิสต์ระบุว่าประเทศที่เด็กได้รับผลกระทบร้ายแรงจากความขัดแย้งที่ใช้กำลังอาวุธ ได้แก่ ซีเรีย สาธารณรัฐแอฟริกากลาง และซูดานใต้ ทั้งยังมีพื้นที่อื่นๆ ที่ต้องเฝ้าระวังเพิ่มเติม โดยวอทช์ลิสต์ได้เสนอให้นายกูแตร์เรสเพิ่มรายชื่อกองกำลัง 11 กลุ่มจากทั่วโลกลงไปในภาคผนวกของรายงานประจำปีของเลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ ในฐานะที่กลุ่มเหล่านี้เป็นผู้ก่อเหตุละเมิดสิทธิเด็กขั้นร้ายแรง โดยรวมถึงกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนท (BRN) ซึ่งเคลื่อนไหวในจังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทย
วอทช์ลิสต์ยื่นข้อเสนอให้เลขาธิการใหญ่แห่งยูเอ็นดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กองกำลังทั้ง 11 กลุ่มถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งยังเรียกร้องให้ยูเอ็นยึดมั่นในหลักการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาละเมิดสิทธิเด็กอย่างจริงจัง ไม่ปล่อยให้แรงกดดันทางการเมืองส่งผลกระทบต่อการทำงานของยูเอ็น โดยวอทช์ลิสต์อ้างถึงกรณีที่นายบัน คี มูน อดีตเลขาธิการใหญ่ยูเอ็น สั่งถอนรายชื่อกองกำลังป้องกันตนเองของอิสราเอลและกองกำลังฝ่ายพันธมิตรของรัฐบาลซาอุดิอาระเบียที่นำการต่อสู้กับเครือข่ายก่อการร้ายในประเทศเยเมนออกจากรายชื่อผู้ละเมิดสิทธิเด็กขั้นร้ายแรงในรายงานประจำปีของเลขาธิการใหญ่ยูเอ็นเมื่อปี 2015-2016
ทั้งนี้ การก่อเหตุซึ่งวอทช์ลิสต์และยูเอ็นถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิเด็กขั้นร้ายแรง ได้แก่ การสังหาร การทำให้บาดเจ็บหรือพิการ การจัดหาทหารเด็กหรือนักรบเด็กเข้าร่วมการต่อสู้ในความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ การข่มขืนและการล่วงละเมิดทางเพศ การโจมตีโรงเรียนและโรงพยาบาล รวมถึงการลักพาตัว
ส่วนแหล่งข่าวในรัฐบาลไทยซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ ระบุว่ากรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เป็นผู้รับผิดชอบในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิเด็กของไทย ซึ่งจะรวมถึงเด็กในพื้นที่ขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และจะมีการรายงานที่สหประชาชาติประมาณกลางเดือน มี.ค.นี้
ด้าน ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า ข้อเสนอของวอทช์ลิสต์จะส่งผลดีต่อประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ เพราะกลุ่มก่อเหตุจะต้องระมัดระวังในการเคลื่อนไหวมากขึ้น เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อเด็กและกลุ่มเปราะบาง ที่ผ่านมา การก่อเหตุที่กระทบต่อเด็กหรือผู้อ่อนแอเป็นเรื่องที่ถูกต่อต้านอยู่แล้วทั้งจากคนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่ การเพิ่มแรงกดดันจากองค์กรระหว่างประเทศจะยิ่งช่วยให้กลุ่มก่อเหตุต้องควบคุมตัวเองมากขึ้น
ผศ.ดร.ศรีสมภพ ระบุด้วยว่าถ้ามีการบรรจุชื่อกลุ่ม BRN ลงในภาคผนวกรายงานประจำปีของเลขาธิการใหญ่ยูเอ็นจริง จะส่งผลกระทบต่อการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยและกลุ่มมาราปาตานีอย่างแน่นอน แต่รายชื่อดังกล่าวปรับปรุงแก้ไขได้ ถ้ากลุ่มที่ติดอยู่ในรายชื่อดังกล่าวไม่ก่อเหตุละเมิดสิทธิเด็กอีก ทางยูเอ็นก็จะต้องเอาชื่อออก แต่จะต้องมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันว่ากลุ่มใดละเมิดสิทธิเด็ก โดยใช้กลไกคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งอาจเป็นความร่วมมือกันระหว่างองค์กรระหว่างประเทศกับองค์กรอิสระภายในประเทศที่เป็นกลางและได้รับการยอมรับจากคนในและนอกพื้นที่ ภาครัฐต้องมีส่วนร่วมรับรู้ และต้องตรวจสอบทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน
ข้อเรียกร้องของวอทช์ลิสต์ต่อเลขาธิการใหญ่ยูเอ็นเกิดขึ้นไล่เลี่ยกับเหตุการณ์ลอบยิงรถกระบะของผู้ใหญ่บ้านในอำเภอรือเสาะ จ.นราธิวาส ทำให้เด็กนักเรียนและญาติเสียชีวิต 4 ราย รวมถึงเหตุยิงทหารพรานเสียชีวิต 3 นายที่ตลาดบ้านตาแบะ อ.มายอ จ.ปัตตานี เมื่อวานนี้ (2 มี.ค.) และเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นหลังจากที่คณะพูดคุยสันติภาพของไทยและกลุ่มมาราปาตานี เพิ่งบรรลุข้อตกลงกำหนดพื้นที่ปลอดภัยขึ้นใน 5 อำเภอของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จากการพูดคุยระหว่างทั้งสองฝ่ายที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียเมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา
เหตุยิงรถกระบะที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ซึ่งทำให้เด็กเสียชีวิต ถูกประณามอย่างรุนแรงจากหลายฝ่าย ทั้งทางการ เครือข่ายสิทธิมนุษยชนและเครือข่ายชาวพุทธ (โดยพลโทปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ประณามว่าเป็นการกระทำที่โหดร้าย ป่าเถื่อน ขี้ขลาด และไม่ใช่วิธีการของนักรบที่มีอุดมการณ์ ขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กลุ่มมาราปาตานี เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และกลุ่มด้วยใจ ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของกลุ่มก่อเหตุเช่นกัน และเรียกร้องให้ทางการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ)
ด้านนายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยวันนี้ (3 มี.ค.) ว่า เหตุการณ์ลอบยิงผู้ใหญ่บ้านและทหารพรานในนราธิวาสและปัตตานี เป็นการกระทำกับกลุ่มเป้าหมายที่นับถือศาสนาพุทธ "เพราะมีการสั่งสอนว่าการฆ่าผู้นับถือศาสนาพุทธไม่บาป" และ "ศอ.บต.พยายามทำความเข้าใจว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องผิดต่อหลักศาสนา" โดยนายศุภณัฐระบุด้วยว่าภาพรวมเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่เมื่อปี 2559 มีเพียง 259 ครั้ง ถือว่าลดลงจากก่อนหน้านี้อย่างมาก แต่ไม่ได้แจกแจงว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเป็นการก่อเหตุประเภทใดบ้าง
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวต่อสื่อมวลชนว่าเหตุการณ์ยิงทหารพรานเที่ตลาดบ้านตาแบะ จ.ปัตตานี คาดว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว เพราะมีการนัดแนะกันระหว่างนายสิบและทหารพรานที่ถูกยิง ส่วนเหตุรุนแรงที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ยังไม่มีรายงานเข้ามา แต่เชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการพูดคุยสันติสุขแต่อย่างใด และผู้นำศาสนาได้ออกมาประณามการกระทำดังกล่าวเช่นกัน
ส่วน น.ส.สุภาภรณ์ พนัสนาชี คณะทำงานฐานข้อมูลเหตุการณ์ชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSID) เผยกับบีบีซีไทยว่าในรอบปี 2559 มีเหตุการณ์เกิดขึ้นทั้งหมด 807 เหตุการณ์ในพื้นที่ 4 จังหวัด ทั้งยะลา ปัตตานี นราธิวาส และบางอำเภอในสงขลา แบ่งเป็น เหตุระเบิด 197 ครั้ง การก่อเหตุยิง 370 ครั้ง และเหตุการณ์อื่นๆ 240 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 307 คน บาดเจ็บ 628 คน แบ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายเปราะบาง ทั้งพลเรือน ผู้หญิง และนักเรียนนักศึกษา 230 ราย (เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี 9 ราย) ส่วนผู้บาดเจ็บ 347 ราย เป็นเยาวชน 50 ราย
ในรอบปี 2559 มีเหตุการณ์เกิดขึ้นทั้งหมด 811 เหตุการณ์ในพื้นที่ 4 จังหวัด ทั้งยะลา ปัตตานี นราธิวาส และบางอำเภอในสงขลา แบ่งเป็น เหตุระเบิด 198 ครั้ง การก่อเหตุยิง 372 ครั้ง และเหตุการณ์อื่นๆ 241 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 308 คน บาดเจ็บ 630 คน แบ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายเปราะบาง ทั้งพลเรือน ผู้หญิง และนักเรียนนักศึกษา 231 ราย (เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี 9 ราย) ส่วนผู้บาดเจ็บ 348 ราย เป็นเยาวชน 50 ราย
เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.bbc.com/thai/thailand-39153261?ocid=socialflow_facebook