Skip to main content

การปฎิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร จ.ยะลา จำนวน 30 นาย ในการบุกเข้าควบคุมตัวชาวปากีสถาน 15 คน ได้ที่กลางโรงแรมหรูกลางเมืองยะลา เมื่อช่วงเช้าวันที่ 12 ตุลาคม 2553 ที่ผ่านมา หลังจากพบความผิดปกติของกลุ่มคนดังกล่าวในการทำธุรกรรมทางการเงินที่ธนาคารพาณิชย์ สาขาหนึ่งของ จ.ยะลา

 
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเที่ยงกว่าๆ ของวันที่ 11 ตุลาคม 2553  ได้มีชาวปากีสถาน 1 ใน 15 คน ได้เดินทางไปยังธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งของ จ.ยะลา เพื่อที่จะโอนเงินไปยังบัญชีในต่างประเทศ ซึ่งในขณะที่พนักงานของธนาคารกำลังให้บริการทำรายการ “แบล็คลิสต์กลุ่มก่อการร้าย” ก็ได้ฟ้องขึ้นหน้าจอคอมพิวเตอร์ของพนักงานท่านนั้น  และเมื่อพนักงานคนนั้นเห็นข้อความ จึงได้ปฎิเสธในการโอนเงินไปยังบัญชีนั้นกับชาวปากีสถานคนดังกล่าว โดยอ้างว่าการติดต่อระหว่างธนาคารล้มเหลว ไม่สามารถให้บริการโอนเงินได้ ซึ่งหลังจากไม่สามารถโอนเงินได้ชาวปากีสถานคนนั้นจึงได้เดินออกจากธนาคารไปทันที
 
เรื่องราวนี้จึงถูกนำไปเล่าให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่มาเฝ้ารักษาความปลอดภัยรับฟัง ซึ่งตำรวจนายนี้เพิ่งกลับเข้ามายังธนาคารหลังไปพักรับประทานอาหารกลางวัน  จึงได้วิทยุแจ้งไปยังตำรวจชุดสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองยะลาทันที
 
10 นาทีต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองยะลา ก็เดินทางมาถึงธนาคาร เพื่อขอรับฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดจากพนักงาน แต่ก็ถูกปฎิเสธการให้ข้อมูลเนื่องจากว่าเป็นความลับของลูกค้าธนาคาร ที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ธนาคารให้ข้อมูลเพียงเป็นชาวปากีสถานเท่านั้น  การล่าควานหาตัวชาวปากีสถาน ก็จึงได้เริ่มขึ้นทันที
 
จนกระทั่งในช่วงเย็น หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองยะลา และเจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจยะลา 11  รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจจากชุดสืบสวนคดีพิเศษ ศูนย์ปฎิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า ประสานกำลังค้นหา ก็พบว่ามีชาวปากีสถานจำนวน 15 คน เดินทางเข้ามาในพื้นที่ จ.ยะลา ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2553  มีพฤติกรรมเดินเท้าเรี่ยไรขอรับเงินบริจาคไปตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งทั้งหมดเปิดห้องพักจำนวน 4 ห้อง ในโรงแรมแห่งหนึ่งกลางเมืองยะลา แผนการปิดล้อมจึงต้องมีการวางแผนให้รัดกุม เนื่องจากโรงแรมดังกล่าวมีประชาชนเข้าพักจำนวนมาก หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด อาจจะส่งผลกระทบกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้ แผนการเข้าจับกุมในช่วงกลางคืนจึงต้องพับไป
 
 
9 โมงเช้าวันที่ 12 ตุลาคม 2553 หลังจากที่เฝ้าดูพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ทั้งคืนจนกระทั่งรุ่งเช้า ชาวปากีสถานทั้ง 15 คน ก็เริ่มทยอยเดินทางลงจากห้องพัก ซึ่งในระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้เข้าไปเชิญตัวชาวปากีสถานมาควบคุมตัวเอาไว้จนครบ 15 คน  จากนั้นจึงได้เชิญตัวทั้งหมดไปยังสถานีตำรวจภูธรเมืองยะลา เพื่อเข้ากระบวนการซักถาม โดยในเบื้องต้นได้แจ้งข้อหา เป็นบุคคลต่างด้าวประกอบอาชีพ(เรี่ยไร)โดยไม่ได้รับอนุญาต   พร้อมนำพาสปอร์ตของทั้ง 15 คนไปตรวจสอบ
 
ในขณะที่เจ้าหน้าที่ กำลังทำความเข้าใจเพื่อที่จะขอความร่วมมือในการเก็บหลักฐานบุคคล เพื่อที่จะใช้ยืนยันตัวบุคคลที่ถูกต้องนายมูฮัมหมัด  จาฟาร์ (Mr.Muhummand Jafar) อายุ 27 ปี ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งพอจับใจความได้ว่า พวกเขามีความบริสุทธิ์ใจ  เดินทางเข้ามาเมืองไทยอย่างถูกกฎหมาย  มีหนังสือเดินทาง  วีซ่า  และพาสปอร์ต  ที่ถูกต้อง   เดินทางมาที่ จ.ยะลา เพื่อขอรับเงินบริจาคเพื่อไปช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่เด็กกำพร้า และช่วยเหลือเหตุอุทกภัยที่ปากีสถาน  โดยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายแต่อย่างไร โดยพวกเขาได้ขอล่ามที่สามารถพูดภาษา อูรดู  ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นของชาวปากีสถาน  จึงจะพูดคุยด้วยและจะได้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น
 
กระบวนการตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายตำรวจจรวจคนเข้าเมือง (ตม.)   ข้อมูลจาก สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) รวมทั้งฝ่ายข่าวกรอง และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า  ได้ร่วมกันตรวจสอบเกี่ยวข้องกับการเข้ามาจากนอกประเทศ การทำธุรกรรมทางการเงิน ที่เกี่ยวข้อง  โดยมีข้อมูลพบว่าชาวปากีสถานกลุ่มนี้จำนวน 4 คน มีรายชื่อและนามสกุล พ้องกับฐานข้อมูลผู้ที่ต้องเฝ้าระวังในการทำธุรกรรมทางการเงินของสหประชาชาติ(ยูเอ็น) คือ นาย IMRAN MUHUMMAD   นาย NADEEM MUHUMMAD   นาย ILYAS   MUHUMMAD และ นาย JAHANGIR MUHUMMAD
 
“เราได้ควบคุมตัวไว้โดยแจ้งข้อกล่าวหาเป็นบุคคลต่างด้าวร่วมกันประกอบอาชีพ(เรี่ยไร) โดยไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลาได้แจ้งให้ทราบว่ากิจกรรมของกลุ่มบุคคลดังกล่าวมิใช่กิจกรรมทางศาสนา และในระหว่างการควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบรายชื่อบุคคลดังกล่าว จำนวน 4 คน มีรายชื่อและนามสกุล พ้องกับฐานข้อมูลผู้ที่ต้องเฝ้าระวังในการทำธุรกรรมทางการเงินของสหประชาชาติ” พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ให้ข้อมูล  
 
ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจาก แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ฯ ที่ระบุว่า สำหรับบุคคล 4 คน ที่มีชื่อพ้องกับบุคคลเฝ้าระวังการทำธุรกรรมทางการเงินของยูเอ็น นั้น ก็พบว่ามีชื่อพ้องกันจริง แต่หมายเลขพาสปอร์ตไม่ตรงกันชัดเจน
 
 
“เพราะฉะนั้นในเรื่องการตรวจสอบพาสปอร์ตจะปลอมหรือไม่นั้นคงไม่ใช่หน้าที่ของหมอ คงจะเป็นหน้าที่ของตำรวจที่จะตรวจสอบกันต่อไป ทางทีมงานของหมอมีหน้าที่ตรวจสอบทางด้านนิติวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว” หมอพรทิพย์ บอก
 
กระบวนการตรวจสอบบุคคลทั้ง15 คนนี้ ก็คงจะต้องดำเนินต่อไปเพื่อค้นหาความจริงว่า กลุ่มคนกลุ่มนี้เดินทางมาพื้นที่ จ.ยะลา เพื่อการอะไรระหว่าง “รับเงินบริจาค” หรือ “ก่อการร้าย” กันแน่!!! ซึ่งอีกไม่นานก็จะได้รู้กัน