Skip to main content

 

กองทัพถอนแจ้งความ 3 นักสิทธิมนุษยชนภาคใต้

3 นักสิทธิมนุษยชนImage copyrightTUWAEDANIYA MERINGING/AFP/GETTY IMAGES

น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ หนึ่งในสามนักสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนใต้ ที่ถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาท จากการจัดทำและเผยแพร่รายงานเรื่องการซ้อมทรมาน เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า ได้รับทราบการแถลงข่าวของพันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ที่ระบุว่าไม่ติดใจเอาความและจะถอนการแจ้งความดำเนินคดีตนและนักสิทธิมนุษยชนอีกสองคน

ประธานกลุ่มด้วยใจไม่ทราบว่าการไม่เอาความครั้งนี้เป็นผลมาจากสิ่งใด แต่ที่ผ่านมามีการรณรงค์จากทั้งองค์กรในและระหว่างประเทศเพื่อผลักดันเรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (7 มี.ค.) พันเอกปราโมทย์ เปิดเผยหลังการประชุมร่วมกับนักสิทธิมนุษยชนเพื่อกำหนดแนวทางป้องกันการละเมิดสิทธิว่าไม่ติดใจเอาความ เนื่องจากไม่มีเจตนาให้ถูกดำเนินคดีตั้งแต่แรก

เด็ก ๆ รณรงค์ไม่ต้องการความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้Image copyrightAFP/GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพเหตุไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 6 พันคน

น.ส.อัญชนา บอกว่า การที่หน่วยงานรัฐไม่ติดใจเอาความถือได้ว่าเป็นพัฒนาการที่ดีในการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งการประชุมร่วมกันในวันนี้ ไม่ได้มีการต่อรองในเรื่องนี้ แต่ได้กำหนดแนวทางทำงานร่วมกันในอนาคต ซึ่งนักสิทธิมนุษยชนยังยืนยันว่าจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิด ผู้กระทำผิดต้องถูกลงโทษ และผู้ได้เสียหายต้องได้รับการเยียวยา

ก่อนหน้านี้ น.ส.อัญชนา พร้อมด้วย นายสมชาย หอมละออ และ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ถูกแจ้งความดำเนินคดีหมิ่นประมาทเจ้าหน้าที่รัฐ จากการจัดทำและเผยแพร่รายงานเรื่องการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนใต้ ระหว่างปี 2557-2558 ซึ่งระบุว่ามีคนกลุ่มหนึ่งไม่ต่ำกว่า 50 คนถูกซ้อมทรมานในช่วงเวลาดังกล่าว ต่างกรรม ต่างวาระกัน การเผยแพร่ข้อมูลยังทำให้มีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ด้วย

เจ้าหน้าที่บนถนนในภาคใต้Image copyrightMADAREE TOHLALA/AFP/GETTY IMAGES

ผู้นำกลุ่มด้วยใจเปิดเผยด้วยว่า จะยังเดินหน้าเก็บข้อมูลและป้องกันการละเมิดสิทธิ์ต่อไป อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าได้เรียนรู้กลไกการทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐมากขึ้น และเห็นว่านักสิทธิจะต้องปรับปรุงการจัดทำข้อมูลให้มีความเป็นกลางและน่าเชื่อถือมากขึ้น

"เราต้องปรับปรุงการเรียนรู้ ทำให้มีคุณภาพ ศักยภาพมากขึ้น เราได้เรียนรู้ว่าเวลาสื่อสารกับภาครัฐนั้นสั้นเกินไป เราไม่ได้ให้เวลาเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบ อาจจะขาดองค์ประกอบบางส่วนไป เช่น ไม่ได้เพิ่มเติมข้อคิดเห็นของหน่วยงานรัฐในการจัดทำรายงาน แต่ยืนยันว่าเราเก็บข้อมูลจากผู้เสียหายโดยตรงเป็นข้อเท็จจริงอยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องพัฒนาศักยภาพในการเขียนรายงานมากขึ้น โดยมีเป้าประสงค์คือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ป้องกันการซ้อมทรมานไม่ให้เกิดขึ้น" น.ส.อัญชนากล่าว

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.bbc.com/thai/39189349?ocid=socialflow_facebook