Skip to main content

 

ถอดรหัสไอเอสขู่จีน จับตาเขย่าประเด็นชาติพันธุ์ และโดรนก่อการร้าย

 

ดร.มาโนชญ์ อารีย์

ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

ในภาพอาจจะมี หนึ่งคนขึ้นไป และ สถานที่กลางแจ้ง

 

นับเป็นการข่มขู่ครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง เมื่อสมาชิกกลุ่มไอเอสเชื้อสายชาวอุยกูร์จากเขตปกครองตนเองซินเจียงของจีน ประกาศผ่านทางคลิปวิดีโอว่าพวกเขาจะเดินทางกลับบ้านเกิด เพื่อปฏิบัติการครั้งใหญ่ที่จะทำให้ “เลือดไหลนองดั่งสารธาร” เนื้อหาหลัก ๆ ที่ปรากฏในวิดีโอจะประกอบด้วยภาพกิจกรรมที่เด็ก ๆ ที่มีรูปพรรณคล้ายคนจีนกำลังฝึกอาวุธและการป้องกันตัว การทำพิธีทางศาสนาและการสังหารบุคคลต้องสงสัยว่าเป็นผู้ส่งสารคนหนึ่ง

ใจความตอนหนึ่งที่สะท้อนเหตุผลของการข่มขู่ระบุว่า “ถึงจีนที่ไม่เคยจะเข้าใจในสิ่งที่ประชาชนพูด พวกเราเป็นทหารของคอลีฟะห์ เรากำลังจะไปหาคุณเพื่อทำให้คุณได้เข้าใจมันด้วยอาวุธของเรา ที่จะทำให้เลือดไหลนองดั่งสารธารและล้างแค้นให้กับผู้คนที่ถูกกดขี่ (ตามการรายงานของกลุ่มติดตามข่าวกรองการก่อการร้าย SITE ของสหรัฐ)

เหตุใดไอเอสอุยกูร์จึงประกาศข่มขู่และกำลังเตรียมตัวเดินทางกลับมาก่อเหตุที่จีนในจังหวะเวลานี้ ทั้ง ๆ ที่ปัญหามุสลิมอุยกูร์กับรัฐบาลจีนมีมานานแล้ว โดยประเด็นปัญหาหลักคือการที่ชาวจีนเชื้อสายฮั่นจำนวนมากได้เข้าไปตั้งรกรากในเขตปกครองซินเจียงซึ่งเป็นถิ่นฐานเดิมของมุสลิมชาวอุยกูร์ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ รัฐบาลจีนมีนโยบายผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจในซินเจียงและสนับสนุนชาวฮั่นอย่างมาก ในขณะที่ดำเนินมาตรการควบคุมชาวอุยกูร์อย่างเข้มงวด ชาวอุยกูร์มองว่าพวกเขาถูกรัฐบาลจีนเอาเปรียบและจำกัดสิทธิในหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการนับถือศาสนา การเลือกปฏิบัติ การกีดกันทางเศรษฐกิจ การจับกุมชาวอุยกูร์คุมขังพวกเขาโดยไม่มีเหตุอันควร หรือกรณีที่เป็นข่าวดังไปทั่วโลกว่าพวกเขาถูกห้ามถือศีลอดในเดือนรอมฏอน เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นเหตุให้เกิดปัญหาหลาย ๆ อย่างตามมา เช่น ปัญหาความขัดแย้งและการจลาจลระหว่างชาวอุยกูร์กับชาวฮั่น การปราบปราบชาวอุยกูร์อย่างหนักโดยรัฐบาลจีน จนทำให้ชาวอุยกูร์บางส่วนหลบหนีออกนอกประเทศ บางส่วนติดอาวุธ บางส่วนเข้าร่วมกับกลุ่มไอเอสเพื่อหวังกลับมาต่อสู้กับรัฐบาลจีน อันเป็นที่มาของการข่มขู่ครั้งล่าสุด

ทางการจีนเชื่อมาตลอดว่า ชาวอุยกูร์ที่ลี้ภัยในต่างแดนมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายสากลอย่างไอเอส และกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวอุยกูร์ก็อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุรุนแรงหลายครั้งในแคว้นซินเจียง โดยเฉพาะกลุ่มขบวนการอิสลามเตอร์กีสถานตะวันออก (East Turkestan Islamic Movement) ที่ทางการจีนบอกว่ามีความเชื่อมโยงกับกลุ่มอัลกออิดะห์

การข่มขู่ครั้งนี้อาจมีนัยและข้อสังเกตุหลายประการ ดังนี้

1. ในแคว้นซินเจียงมีประชากรทั้งหมดประมาณ 21 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นมุสลิมชาวอุยกูร์ 10 ล้านคน (ในขณะที่ชาวฮั่นมี 8 ล้านคน) แต่ชาวอุยกูร์เชื่อว่าตัวเลขที่แท้จริงของพวกเขาคือ 15 ล้านคน ทั้งนี้มุสลิมอุยกูร์ส่วนใหญ่รักสันติ ไม่นิยมควารุนแรง ประกอบธุรกิจและใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจมีบางส่วนเข้าร่วมกับกลุ่มไอเอสในตะวันออกกลาง

2. ผู้เขียนมีโอกาสได้รับเชิญเข้าพบปะพูดคุยกับคณะผู้แทนจากแคว้นซินเจียงในช่วงกลางปี 2559 ณ สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย นำโดยนาง Mubalake Mugaiti รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการต่างประเทศแห่งซินเจียง และรองประธานสมาคมมิตรภาพประชาชนซินเจียง นาง Mugaiti ยืนยันว่าโดยภาพรวมชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ มีชีวิตอยู่อย่างปกติสุข มีมัสยิด 24,000 กว่าแห่ง ซึ่งเป็นสัดส่วนค่อนข้างสูงต่อจำนวนประชากรมุสลิมที่มีอยู่เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ มีบุคลากรดำรงตำแหน่งทางศาสนา 29,000 คน ผู้ที่มีหน้าที่ทางศาสนาจะได้รับการอบรมจากสถาบันและได้รับการอนุญาตจากสมาคมของมุสลิมของซินเจียง การบริหารกิจการศาสนาก็จะมีกลไกการบริหารขององค์กรศาสนาอิสลามเป็นผู้ดูแล แต่สิ่งที่รัฐบาลจีนจะไม่ยอมคือการเผยแพร่แนวคิดทางศาสนาแบบสุดโต่งหรือลัทธิก่อการร้าย ทั้งนี้ เป็นข้อมูลที่มาจากผู้บริหารซินเจียงโดยตรง

3. การข่มขู่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่กลุ่มไอเอสพุ่งเป้าโจมตีจีนโดยตรง ที่ผ่านมาไอเอสแทบจะไม่เคยพูดหรือแสดงท่าที่ใด ๆ ต่อจีนและปัญหาในซินเจียงเลย นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกที่เผยให้เห็นว่ามีชาวอุยกูร์บางคนเข้าร่วมกับกลุ่มไอเอส

4. การที่ไอเอสอุยกูร์ขู่จะเดินทางกลับเข้าจีนในช่วงนี้ อาจมีสาเหตุมาจากสถานการณ์ความระส่ำระส่ายของกลุ่มไอเอสในตะวันออกกลางที่กำลังเสียฐานที่มั่นสำคัญทั้งที่เมืองโมซุลคืนให้กับให้อิรัก และเมืองพัลไมราคืนให้กับรัฐบาลซีเรีย ไอเอสกำลังถูกรุกหนักมากในสองสมรภูมินี้ทำให้ส่วนหนึ่งต้องหนีกระเจิดกระเจิง ในสถานการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เฉพาะจีนเท่านั้นแต่นักรบจากภูมิภาคอื่นก็อาจต้องกลับสู่ประเทศเทศแม่ แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มติดอาวุธท้องถิ่นเดิมจะยอมให้ไอเอสเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคของพวกเขาซึ่งจะทำให้ปัญหายิ่งซับซ้อนและอิทธิพลของเจ้าถิ่นลดลง อีกทั้งยังมีปัจจัยด้านอุดมการณ์ที่แตกต่างกันซึ่งจะเป็นความขัดแย้งและความพยายามที่จะปีนเกลียวระหว่างกัน กรณีเช่นนี้เคยเกิดขึ้นแล้วระหว่างไอเอสกับอัลกออิดะห์ในซีเรีย ซึ่งไอเอสพยายามเข้าไปควบรวมกลุ่มอัลนุสราห์ฟรอห์น กรณีตอลิบันในอัฟกานิสถานที่ใกล้ชิดอัลกออิดะห์ไม่ยอมรับอิทธิพลของไอเอส กรณีของ ETIM ในซินเจียนก็น่าจะคล้ายกัน หากไม่มีเงื่อนไขใหม่ที่บีบให้ต้องสวามิภักดิ์ต่อกลุ่มไอเอส

5. หากไอเอสสูญเสียหรือกำลังจะสูญเสียที่มั่นสำคัญในอิรักและซีเรีย หากแผนการส่งกลุ่มอุยกูร์ที่ไปร่วมรบกับไอเอสในตะวันออกกลางกลับจีน เป็นผลมาจากการที่ไอเอส (กำลัง) สูญเสียที่มั่นในอิรักและซีเรีย อาจเป็นการส่งสัญญาณการปรับกลยุทธครั้งสำคัญที่ต้องจับตามอง ไอเอสอาจกำลังหันมาเคลื่อนไหวในประเด็นที่เป็นปัญหาของกลุ่มมุสลิมชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในทั่วทุกภูมิภาคของโลก ทั้งนี้เพื่อพยายามแทรกซึมเข้าไปมีอิทธิพลและสร้างเครือข่ายก่อการร้ายระหว่างประเทศรุ่นใหม่ ไอเอสเคยประกาศแล้วว่าจะสถาปนาสาขาของตัวเองในภูมิภาคอื่น ๆ อย่างยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านอุดมการณ์ของของตน แต่ทว่ามุสลิมส่วนใหญ่ไม่อาจรับความรุนแรงแบบสุดโตงของไอเอสได้ ดังนั้น ไอเอสจึงหันมาเคลื่อนไหวในประเด็นชาติพันธุ์มากขึ้นซึ่งในแง่ของจิตวิทยามวลชนอาจได้รับการสนับสนุนมากกว่า ทั้งนี้ ในอดีตอัลกออิดะห์ก็สร้างเครือข่ายกับขบวนการต่าง ๆ ขึ้นมา ไม่ใช่เพราะมีอุดมการณ์เดียวกันทั้งหมด แต่อาศัยการเข้าไปสนับสนุนกลุ่มขบวนการชาตินิยมหรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่ถูกรัฐกดขี่หรือพยายามปราบปรามโดยเฉพาะตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 9/11 หลายกลุ่มหรือกลุ่มย่อยของขบวนการเข้าร่วมกับอัลกออิดะห์เพราะสถานการณ์หลังชนฝา ดังนั้น จึงน่าจับตามองว่าไอเอสกำลังอาศัยสถานการณ์ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในการแทรกซึมเข้ามามีอิทธิพลในภูมิต่าง ๆ ของโลก เช่น ปัญหาของมุสลิมอุยกูร์ในจีน โรฮิงยาในพม่า เป็นต้น ปัญหาชาติพันธุ์อาจเป็นช่องว่างที่ไอเอสกำลังใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่ รัฐบาลต่าง ๆ ควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่ระเอียดอ่อนทางชาติพันธุ์เพื่อปิดช่องว่างและสกัดกั้นการเข้ามามีอิทธิพลของกลุ่มไอเอสที่กำลังเสียฐานที่มั่นในตะวันออกกลาง การปราบปรามหรือกวาดล้างทางชาติพันธ์เหมือนที่เกิดขึ้นในพม่าอาจกลายเป็นชนวนดึงไอเอสเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เหมือนที่กำลังจะเข้าจีน ในขณะที่การเจรจาพูดคุยระหว่างทางการไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างเพื่อแสวงหาสันติภาพร่วมกันใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งแนวคิด “พื้นที่ปลอดภัย” ถือเป็นแนวทางที่ถูกต้องเหมาะควรแล้วในแง่ของการป้องกันการแทรกแซงจากภายนอก แม้จะยังไม่สามารถบรรลุผลเสียที่เดียว แต่ก็ควรประคับประคองต่อไป

6. จีนหรือประเทศอื่น ๆ อาจต้องเจอกับความท้าทายใหม่ คือ การรับมือกับอาวุธเด็ดของไอเอสที่ใช้เทคโนโลยีโดรนในการโจมตีทางอากาศ (Drone Strikes) กองทัพอิรักถึงกับยอมรับว่าโดรนของไอเอสสร้างความปั่นป่วนต่อภารกิจของพวกเขามาก ทั้งนี้ โดรนของไอเอสสามารถทำความสูงได้ในระดับที่สูงมากและสามารถบรรทุกระเบิดนำวิถี ซึ่งควบคุมได้จากระยะไกลถึง 100 กิโลเมตร มีความแม่นยำสูง ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเทคโนโลยีโดรนของไอเอสมีความล้ำสมัยมาก มีประสิทธิภาพสูงกว่าโดรนที่ใช้งานอยู่ในกองทัพของหลาย ๆ ประเทศด้วยซ้ำไป โดรนของไอเอสเป็นรุ่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับโดรนรุ่นที่เรียกว่า “Skywalker Black X8 Flying Wing ซึ่งไม่ใช่โดรนพาณิชย์ธรรมดาทั่ว ๆ ไป แต่เป็นโดรนที่มีประสิทธิภาพสูง มีปีกในคล้ายเครื่องบินทั่วไปกว้าง 2.12 เมตร ทำความเร็วได้ 55-110 กม/ชม. บินได้ยาวนาน 3 ชั่วโมง สามารถรับน้ำหนักได้ถึง 2.3 กิโลกรัม แปลว่าติดระเบิดขนาด 40 มม. ได้ที่ละ 2 ลูก ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือเป็นระบบบังคับด้วยเซิร์ฟเวอร์คอมพิวเตอร์ควบคุมอัตโนมัติ มือสังหารเพียงแค่กำหนดพิกัดล่วงหน้าเท่านั้นเอง ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 3 มีนาคนที่ผ่านมา ไอเอสได้ใช้โดรนทิ้งระเบิดเคมีที่เมืองโมซุลในอิรัก โดยองค์กรกาชาดเชื่อว่าไอเอสได้ใช้ระเบิดที่มีสารเคมีเป็นครั้งแรก

โดยสรุป จากการข่มขู่จีนครั้งล่าสุดของกลุ่มไอเอส อาจมีนัยและสัญญาณบางอย่างที่ต้องเฝ้าระวัง ไม่เฉพาะจีนแต่รวมไปถึงสังคมระหว่างประเทศที่อาจต้องรับมือกับการกระจายตัวกลับถิ่นของนักรบไอเอสพร้อมกับการเขย่าประเด็นชาติพันธุ์ และภัยคุกคามใหม่ของเทคโนโลยีโดรนเพื่อการก่อการร้าย

 

ในภาพอาจจะมี 1 คน, กำลังยืน และ ข้อความ