กอ.รมน.ภาค 4 ถอนแจ้งความ 3 นักสิทธิหมิ่นประมาท-พรบ.คอมฯ กรณีรายงานซ้อมทรมาน
กรุงเทพฯ
ในตอนเย็นของวันอังคาร (7 มีนาคม 2560) นี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาคที่ 4 ส่วนหน้า ได้แจ้งความประสงค์ต่อพนักงานสอบสวนสภานีตำรวจภูธรปัตตานี เพื่อขอถอนการแจ้งความดำเนินคดีกับสามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำการหมิ่นประมาทเจ้าหน้าที่ว่ามีการทารุณกรรมผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยในช่วงกลางวัน ที่โรงแรมสุโกศล กรุงเทพฯ พล.อ.มณี จันทร์ทิพย์ ผู้แทนคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.ต.ชินวัฒน์ แม้นเดช รองแม่ทัพภาคที่ 4 พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 พร้อมด้วยผู้ถูกแจ้งความสามราย คือ นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษามูลนิธิผสานวัฒนธรรม นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนางสาวอัญชนา หีมมีหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ ได้ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงกรณีนี้
ทั้งนี้ พ.ท.เศรษฐ์สิทธิ์ แก้วคูณเมือง เป็นผู้รับมอบอำนาจจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความดำเนินคดีกับนักสิทธิทั้ง 3 คน โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมาย พ.ศ. 2477 มาตรา 52 ในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยโฆษณา และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 หลังจากการเผยแพร่รายงาน “สถานการณ์การทรมาน และการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษย์ธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2557-2558” เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2559 ซึ่งเป็นความเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ในเว็บไซต์ https//voicefromthais.wordpress.com และจัดพิมพ์แจกจ่ายให้คนทั่วไปทราบ และภายหลังตำรวจเจ้าของคดี ที่สภ.ปัตตานี ได้ส่งสำนวนให้อัยการ เมื่อเดือนพฤษภาคม ปีที่ผ่านมา แต่อัยการยังไม่ได้สั่งฟ้อง
พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาคที่ 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า กองทัพไม่มีความต้องการที่จะเอาชนะทางคดีต่อนักสิทธิมนุษยชน จึงได้หารือร่วมกันและกำหนดข้อตกลงเพื่อทำงานร่วมกัน โดยมุ่งไปสู่เป้าหมายเพื่อการสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
“สำหรับการแจ้งความดำเนินคดีนั้น เพียงต้องการให้มีการตรวจสอบหาความจริงร่วมกัน เพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสมต่อไป กอ.รมน.ภาค 4 และเจ้าหน้าที่รัฐทุกนายถูกพาดพิง และกล่าวถึงในรายงานฉบับดังกล่าว ไม่ขอติดใจเอาความ และจะขอถอนแจ้งความดำเนินคดีกับ 3 เอ็นจีโอ ที่สภ.เมืองปัตตานี ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป กอ.รมน.ภาค 4 ในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐไม่มีเจตนาเอาชนะในทางคดี หรือให้ 3 เอ็นจีโอ ที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้รับโทษแต่อย่างใด” พ.อ.ปราโมทย์กล่าว
“องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต้องร่วมกันทำงานอย่างใกล้ชิด เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือสันติสุข ต้องเกิดขึ้นภายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ยินดีร่วมงานกับภาคเอกชนทุกองค์กร รวมทั้งองค์กรภาคประชาสังคมทั้งภายในและต่างประเทศ พร้อมให้สอบการทำงานของเจ้าหน้าที่” พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวเพิ่มเติม
บรรลุข้อตกลงร่วมกัน
พ.อ.ปราโมทย์ ระบุว่า หลังการหารือร่วมกัน กอ.รมน.ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกับนักสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ 1. จะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกันกรณีที่พบว่ามีรายงานหรือการร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2. จะต้องมีการจัดตั้งกลไกที่มีความเหมาะสมเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งมาตรการแก้ไขแล้วเมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปแล้ว เช่น สถานที่การควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยโดยจะมีการออกระเบียบในการซักถามพร้อม รวมทั้งซักซ้อมทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ และองค์กรสิทธิมนุษยชน 3. การจัดทำรายงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องผ่านความเห็นชอบจากกลไกต่างๆที่ร่วมกันตั้งขึ้น เพื่อร่วมตรวจสอบให้การรายงานเหตุการณ์ต่างๆหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นไปด้วยความถูกต้อง และไม่เกิดผลกระทบต่อใคร รวมทั้งเพื่อให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ และการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต
น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน
“ถือเป็นบทเรียนสำคัญในการทำงานตามบทบาทของนักสิทธิ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับแนวทางการทำงานร่วมกันถือเป็นผลประโยชน์กับประชาชน” น.ส.พรเพ็ญกล่าว
ทางด้านนางอัญชนา หีมมีหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจระบุว่า รู้สึกขอบคุณภาครัฐที่มีความเข้าใจและเคารพหลักสิทธิมนุษยชน แต่ยังยืนยันว่าจะทำหน้าที่ปกป้องสิทธิของประชาชนต่อไปด้วยจุดยืนเดิม
“ขอบคุณที่จะมีการถอนแจ้งความ และดีใจถือเป็นพัฒนาการที่ดีของทุกคนในการเคารพหลักสิทธิมนุษยชน จุดยืนของผู้ทำรายงานและองค์กร ยังยืนยัน ที่จะทำงานในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ จะต้องหาแนวทางต่อไปในอนาคตร่วมกันที่สำคัญต้องปกป้องเหยื่อที่เป็นพลเรือนทุกคนด้วย”
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของรัฐบาลครั้งนี้ ทำให้เห็นความตั้งใจในการแก้ปัญหา
“ทำให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในด้านงานยุติธรรมคุ้มครองสิทธิ และแสดงให้เห็นว่า รัฐไม่ปฏิเสธการทำรายงานตรวจสอบ ถือเป็นการยอมรับมากขึ้น ใช้กฎหมายแก้ปัญหามากขึ้น และจริงใจที่จะทำให้มีการเปิดพื้นที่การพูดคุยมากขึ้น ถือว่าเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่ดี” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว
การตอบรับขององค์การสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
การถอนแจ้งความครั้งนี้ได้รับการยกย่องจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNOHCHR) ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
"เราขอยกย่องทางการทหารในการตัดสินใจถอนแจ้งความกับนักนักสิทธิมนุษยชนที่กล้าหาญเหล่านี้ เราหวังว่าเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติตามขั้นตอนในทิศทางที่ถูกต้องโดยทันที และถอนคำร้อง และถอนแจ้งความ โดยไม่มีเงื่อนไข กับนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนคนอื่น ๆ" โจเซฟ เบเนดิคท์ รองผู้อำนวยการองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก กล่าว
"กรณีนี้แสดงให้เห็นถึงประมวลกฎหมายอาญาในคดีหมิ่นประมาทและกฎหมายปราบปรามอื่น ๆ ได้ถูกนำมาใช้โดยมีเป้าหมายในการจัดการกับนักเคลื่อนไหวในการใช้สิทธิ ในประเทศไทย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความไม่ยุติธรรมดังกล่าว เจ้าหน้าที่ควรปฏิรูปหรือยกเลิกกฎหมายปราบปรามและให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ"
นายโลรองต์ เมลลอง รักษาการผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิภาคของสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวยินดีเช่นกัน
"การพัฒนาที่มีขึ้นในวันนี้ เป็นสิ่งที่ดีมากและเราสนับสนุนให้รัฐบาลไทยดำเนินการเพิ่มเติมในการเสริมมาตรการเพื่อปกป้องนักเคลื่อนไหวที่ดำเนินการรายงานและติดตามเรื่องสิทธิมนุษยชน" นายเมลลอง กล่าว
"สำนักงานของเราสนับสนุนแผนข้อตกลงในวันนี้ ในการจัดตั้งกลไกเพื่อให้นักสิทธิมนุษยชน ทหารและผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ รวมตัวกันเพื่อทบทวน และตรวจสอบข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคใต้ เราพร้อมที่จะให้คำแนะนำด้านเทคนิคในกระบวนการนี้"