Skip to main content

 

วันสตรีสากล (3) "ผู้หญิงคือทุกๆ ความเป็นไปได้ แม้กระทั่งสร้างสันติภาพ"

 

ชายแดนใต้, มุสลิม, ผู้หญิง, เครือข่ายผู้หญิง, สามจังหวัด, ความขัดแย้ง, ฐิตินบ โกมลนิมิ, วันสตรีสากล,Image copyrightPIYASAK AUSAP

จังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้งทางกำลังอาวุธซึ่งสังคมไทยไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามีอยู่จริง และเหตุการณ์รุนแรงรอบใหม่ที่ปะทุขึ้นเมื่อปี 2547 ยังดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง แต่รากเหง้าปัญหาที่ซับซ้อน ทำให้ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมมุ่งหวังการแก้ไขเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบแตกต่างกัน สิ่งที่คาดหวังมีทั้งการยุติสถานการณ์ความรุนแรงไปสู่การสร้างสันติภาพเชิงบวก แต่กระบวนการนำไปสู่ปลายทางย่อมแตกต่างกันออกไป

"ฐิตินบ โกมลนิมิ" อดีตนักข่าวหนังสือพิมพ์จากส่วนกลาง ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ในฐานะคณะทำงานในคณะอนุกรรมการสิทธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) หลังเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อปี 2547 จากนั้นจึงผันตัวเป็นคนสนับสนุนการทำงานภาคประชาสังคมในพื้นที่มาจนถึงปัจจุบัน

จากที่เคยเป็นนักข่าวหัวสมัยใหม่ พกเครื่องไม้เครื่องมือเทคโนโลยี และยังเป็นชาวไทยพุทธ เมื่อลงไปที่จังหวัดชายแดนใต้ ตัวตนของฐิตินบถูกขัดเกลาใหม่ เธอลงไปปลุกให้ผู้หญิงสื่อสาร ด้วยทักษะนักข่าวของเธอ และยังเป็นกองหนุนให้เครือข่ายผู้หญิงชายแดนใต้ต่าง ๆ ส่งเสียงเพื่อสิ่งที่เรียกว่า "สันติภาพและการอยู่ร่วมกัน"

ชายแดนใต้, มุสลิม, ผู้หญิง, เครือข่ายผู้หญิง, สามจังหวัด, ความขัดแย้ง, ฐิตินบ โกมลนิมิ, วันสตรีสากล,Image copyrightJIRAPORN KUHAKAN/BBC THAI

ทำไมผู้หญิงจึงสำคัญ

ฐิตินบ บอกกับบีบีซีไทยว่า ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ทำให้เกิดวิกฤตแม่ม่าย เด็กกำพร้า จากการที่สามีได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต บ้างพิการ เธอจึงให้ความสำคัญกับการทำงานกับกลุ่มผู้หญิงที่ต้องแบกรับความเจ็บปวด ผลจากความสูญเสียนานาประการ

2547 เป็นปีที่ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปะทุขึ้น ฐิตินบตั้งคำถามต่อข่าวที่ไร้การอธิบายว่า "ทำไมความรุนแรงรอบใหม่จึงเกิดขึ้น" ซึ่งเป็นที่มาให้เธอเข้าไปเป็น "ข้อต่อ" เชื่อมให้นักวิชาการและสื่อมวลชนจากส่วนกลางลงมาอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งทางภาคใต้ เพื่อให้สามารถรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้านจากพื้นที่จริง

ทว่าเมื่อความขัดแย้งทางการเมืองส่วนกลางเกิดขึ้นช่วงปี 2549 ซึ่งมีการเคลื่อนไหวต่อต้านอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และมีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นการดึงให้สื่อกระแสหลักต้องกลับไปยังส่วนกลาง จุดนี้เธอจึงตระหนักได้ว่า คนในพื้นที่ต้องลุกมาเป็นคนสื่อสารเรื่องของพวกเขาเสียเอง

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ฐิตินบ ได้ร่วมจัดตั้ง 'เครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้' และส่งเสริมให้เกิดสื่อทางเลือก นักข่าวพลเมือง และก้าวมาเป็นผู้จัดกระบวนการสอนผู้หญิงเขียนหนังสือ ให้พวกเธอเล่าเรื่องที่เผชิญมา การก้าวข้ามอุปสรรค และเปลี่ยนผ่านสถานการณ์บีบคั้นสู่การเอาชีวิตรอดเป็นชีวิตใหม่ได้

ชายแดนใต้, มุสลิม, ผู้หญิง, เครือข่ายผู้หญิง, สามจังหวัด, ความขัดแย้ง, ฐิตินบ โกมลนิมิ, วันสตรีสากล,Image copyrightMADAREE TOHLALA/AFP/GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ทำให้เกิดวิกฤตแม่ม่ายและเด็กกำพร้า

เมื่อพวกเธอส่งเสียง-ก้าวแรกสู่ความหวัง

ฐิตินบ ระบุว่าองค์ความรู้เรื่องการเยียวยาผู้สูญเสียเพิ่งเริ่มต้นอย่างจริงจังเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา และแม้ว่ากลุ่มคนทำงานแรก ๆ จะเริ่มจากองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) และนักวิชาการ แต่กำลังหลักของคนที่ทำงานเยียวยาในพื้นที่ความขัดแย้งยาวนาน คือ "ผู้สูญเสีย" ที่ต้องลุกขึ้นมาดูแลกันเอง

ขณะเดียวกัน ฐิตินบเชื่อว่า "การอธิบายต้องมองจากมุมคนใน" และมีโอกาสได้ร่วมงานกับ "อาจารย์โซรยา จามจุรี" ผู้ก่อตั้งเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ซึ่งรวมตัวกันทำงานช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รุนแรงรอบใหม่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

เรื่องของผู้หญิง 19 คนแรกที่เขียนออกมาจากการจัดกระบวนการดังกล่าว ถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือ 'เสียงของความหวัง': เรื่องเล่าผู้หญิงในกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ เมื่อปี 2555 เป็นเรื่องของหญิงมลายูมุสลิมและไทยพุทธที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ เหตุรุนแรงรายวัน ผู้หญิงที่สมาชิกในครอบครัวถูกอุ้มหายไป จนถึงผู้ที่ถูกดำเนินคดีความมั่นคง

ชายแดนใต้, มุสลิม, ผู้หญิง, เครือข่ายผู้หญิง, สามจังหวัด, ความขัดแย้ง, ฐิตินบ โกมลนิมิ, วันสตรีสากล,Image copyrightTHITINOB KONALNIMI
คำบรรยายภาพกระบวนการขับเคลื่อนให้ผู้หญิงในจังหวัดชายแดนใต้เขียนหนังสือ เป็นส่วนหนึ่งของการใช้เรื่องเล่าสะท้อนความไม่เป็นธรรมและการเลือกปฏิบัติในพื้นที่

มองใหม่ "ผู้หญิงในชายแดนใต้"

การให้ผู้หญิงเล่าเรื่อง ไม่เพียงเป็นการเยียวยา แต่คือการเขียนเพื่อการต่อสู้ ทำให้พวกเธอค้นพบจุดแข็งของตัวเอง หลังจากที่ครั้งหนึ่ง พวกเธอถูกมองว่าเป็นเหยื่อก็สามารถลุกขึ้นมานิยามตัวเองได้มากขึ้น โดยฐิตินบยกตัวอย่าง "คำนึง ชำนาญกิจ" อดีตแม่ค้าขายข้าวแกงที่ช่วยเหลือสามีและลูกชายจนพ้นคดี หลังถูกกล่าวหาว่าเป็นคนวางระเบิด ทุกวันนี้ เธอกลายมาเป็นนักสิทธิมนุษยชนปกป้องผู้หญิงและครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากคดีความมั่นคงคนอื่น ๆ

หรือ "แยน๊ะ สะแลแม" ช่างเย็บผ้าคลุมผม การวิ่งช่วยเหลือลูกชายที่โดนข้อหาแกนนำชุมชนเหตุการณ์ตากใบ ก็กลายมาเป็นผู้ประสานงานจำเลย 58 คนในคดีตากใบจนอัยการสั่งถอนฟ้องคดี และได้รับรางวัลนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้หญิงเหล่านี้พิสูจน์ให้เราเห็นว่าความเป็นธรรมต้องสู้ถึงจะได้มา พวกเธอมักกล่าวเสมอว่า การเป็นผู้เรียกร้องเพื่อให้ได้ความยุติธรรมในพื้นที่นี้ เป็นอามานะห์ (หน้าที่) ที่อัลลอฮฺมอบหมายให้ทำ และจะต้องทำต่อไป

มากกว่านั้นเรื่องเล่าของผู้หญิงเล่านี้ยังช่วยสะท้อนความไม่เป็นธรรมและการเลือกปฏิบัติ

'เสียงของความหวัง' ทำให้เห็นประวัติศาสตร์การเยียวยาที่เดินขนานไปกับความรุนแรง เพราะตั้งแต่ปี 2547 รัฐเยียวยาเฉพาะคนเจ็บ คนตาย แต่พอให้ผู้หญิง 19 คนมาเล่าเรื่อง ทำให้รู้ว่าผู้ได้รับผลกระทบจากคดีความมั่นคงและครอบครัว หรือการละเมิดสิทธิอื่น ๆ ยังไม่ได้รับการดูแลสักเท่าใด ผู้แก้ไขปัญหายังไม่ตระหนักว่าการเยียวยาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการความขัดแย้ง นี่เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ระยะใกล้โดยผู้หญิง ความเจ็บ สูญเสีย ปลายทางที่พวกเธอต้องแบกหามความรับผิดชอบไว้เป็นความชอบธรรมของพวกเธอที่จะพูด"

ชายแดนใต้, มุสลิม, ผู้หญิง, เครือข่ายผู้หญิง, สามจังหวัด, ความขัดแย้ง, ฐิตินบ โกมลนิมิ, วันสตรีสากล,Image copyrightJIRAPORN KUHAKAN/BBC THAI
คำบรรยายภาพ"เราไม่ควรเป็นส่วนหนึ่งในการมองให้ผู้หญิงด้วยกันอ่อนแอ"

"ดิฉันเป็นไทยพุทธ"

ท่ามกลางเสียงชี้แนะจากนักมานุษยวิทยาว่าการไปยังพื้นที่ที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม จะต้องทำตัวให้กลมกลืนดั่งเป็น 'คนใน' ฐิตินบ ปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น และกล้าที่จะบอกว่า "ดิฉันเป็นไทยพุทธ"

"ความที่เป็นผู้หญิงไทยพุทธและทำงานในพื้นที่ความขัดแย้ง ทำให้ตัวเองได้เรียนรู้ความต่างด้วยเช่นกัน เพราะเราไม่สามารถเอาคนออกไปจากบ้าน หรือไล่ใครออกจากพื้นที่ได้ เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันบนฐานของความต่างกันให้ได้ ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกันก็ได้ แต่เราเคารพกัน"

และเธอมองว่า ความซับซ้อนของผู้หญิงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นสิ่งที่ท้าทายในสังคมไทย ผู้หญิงหัวก้าวหน้าในส่วนกลางอาจมองว่าศาสนาอิสลามกดทับผู้หญิงมุสลิม

"เราไม่ควรเป็นส่วนหนึ่งในการมองให้ผู้หญิงด้วยกันอ่อนแอ ในความเป็นจริง ผู้หญิงในสามจังหวัดจำนวนหนึ่งเข้มแข็งมาก เห็นได้จากผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือเสริมพลัง เยียวยา ทั้งตัวเอง ครอบครัว และสังคม ศาสนายังเป็นเครื่องมือต่อรองให้เธออยู่ในพื้นที่สาธารณะอย่างได้รับการยอมรับมากขึ้น อยากให้มองเห็นถึงการปะทะต่อรองความสัมพันธ์เชิงอำนาจของพวกเธออย่างค่อยเป็นค่อยไป"

ชายแดนใต้, มุสลิม, ผู้หญิง, เครือข่ายผู้หญิง, สามจังหวัด, ความขัดแย้ง, ฐิตินบ โกมลนิมิ, วันสตรีสากล,Image copyrightTHITINOB KONALNIMI
คำบรรยายภาพคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้เริ่มต้นเรียกร้องให้กำหนดพื้นที่ปลอดภัยในจังหวัดชายแดนใต้ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา

ผู้หญิงคือความเป็นไปได้ทุกอย่าง

ในความเห็นของฐิตินบ พื้นที่ความขัดแย้งชายแดนใต้จะเปลี่ยนไปอย่างช้า ๆ ด้วยพลังของผู้หญิงเมื่อได้ออกมาในพื้นที่สาธารณะ จากการเขียน พูด และการกล้าแสดงออก โดยเปรียบเทียบจากประสบการณ์ตรงในช่วงปีแรก ๆ ที่ลงไปในพื้นที่ชายแดนใต้ ในช่วงนั้นพื้นที่ทางสังคมของหญิงชายถูกแบ่งออกจากกันอย่างเข้มข้น และมองไม่เห็นว่าผู้หญิงอยู่ตรงไหน https://www.viagrasansordonnancefr.com/viagra-ou-cialis/ นอกจากในพื้นที่ครอบครัว แต่ 10 ปีต่อมา ผู้หญิงในจังหวัดชายแดนใต้ออกจากพื้นที่ครอบครัวมาสู่พื้นที่สาธารณะ จากการทำงานจิตอาสา งานเยียวยา การหาเลี้ยงครอบครัว การรวมกลุ่มอาชีพ และการมีบทบาทในพื้นที่ทางสังคมมากขึ้น

สิ่งที่เห็นเป็นรูปร่างว่าพลังของกลุ่มผู้หญิงในชายแดนใต้ได้พัฒนาขึ้นคือเมื่อปี 2558 กลุ่มและเครือขายผู้หญิงในพื้นที่ 23 องค์กรรวมตัวกันเป็น "คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้" (PAoW - Peace Agenda of Woman) เริ่มส่งสารกำหนดวาระทางสังคม ตั้งแต่การขอให้ยุติวงจรความรุนแรง ยุติการทำร้ายพลเรือน เป้าอ่อน เช่น ผู้หญิง เด็ก ฯลฯ และข้อเรียกร้องที่ส่งผลต่อการขยับของกระบวนการสันติภาพ คือ การเรียกร้องพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัย เช่น ตลาด ถนน โรงเรียน ศาสนาสถาน สู่โต๊ะพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขระหว่างตัวแทนรัฐไทยและกลุ่มผู้เห็นต่าง

"ผู้หญิงทำให้การเมืองของการพูดคุยสันติภาพใกล้ชิดกับคนในพื้นที่มากขึ้น ข้อเสนอของคณะทำงานวาระผู้หญิงฯ เรื่องพื้นที่สาธารณะปลอดภัย แม้จะเป็นจริงยาก แต่อย่างน้อยเมื่อผู้หญิงลุกมาตั้งคำถาม เปิดประเด็นทำให้เกิดการถกกันอย่างกว้างขวางว่า พื้นที่ปลอดภัยคืออะไร ต่างกันอย่างไรกับพื้นที่หยุดยิง สุดท้ายปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกโมเดลต้องมีพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยอยู่ด้วยเป็นข้อเรียกร้องพื้นฐาน" รวมทั้งการกำหนดเป็นวิสัยทัศน์ในอีก 10 ปีข้างหน้า "ผู้หญิงก้าวหน้า พัฒนาพื้นที่ปลอดภัย สร้างสังคมประชาธิปไตยและเป็นธรรม"

"ผู้หญิง คือ ความเป็นไปได้ทุกอย่าง และการเปลี่ยนแปลงต้องการพลังแบบนี้" ฐิตินบทิ้งท้าย

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.bbc.com/thai/thailand-39214855