รอมฎอน ปันจอร์
เห็นคนแชร์บทความของ อ.ชัยวัฒน์ เรื่องกรณีเจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง ในวาระที่ครบรอบ 10 มีนาคม ซึ่งเป็นวันลงนามในสนธิสัญญาแองโกล-สยามในปี 1909 ที่ขีดเส้นแบ่งปันอาณาเขตที่ยังผลให้ “ปาตานี” เป็น “ปัตตานี” เช่นทุกวันนี้ นึกถึงงานเขียนของผมเองที่ถูกตัดออกตอนทำวิทยานิพนธ์ (เพราะยาวไป) มีข้อสังเกตที่น่าสนใจตรงที่ว่า หลังจากใช้ “การทหาร” วัดกำลังกันอย่างหนักมาตลอดหลายทศวรรษก่อนหน้า (ปราบกบฎหัวเมืองมลายู) ช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อในรัชสมัย ร.5 นี่เองที่ “การเมือง” ของสยามนำ “การทหาร” อย่างจริงจัง และเป็นการนำผ่านการประสานอย่างสอดคล้องต้องกันระหว่างกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการต่างประเทศในยุคหลังปฏิรูปการปกครอง
เสนาบดีสองพระองค์นี้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้ปัญหาชายแดนทางใต้ “เชื่อง” ลง ผ่านกลยุทธ์ในการปกครองหัวเมืองชายแดนของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (กระทรวงมหาดไทย) ผสานกับงานการทูตของกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ (กระทรวงการต่างประเทศ) อย่างใกล้ชิด ความอิหลักอิเหลื่อระหว่าง “ปัญหาภายใน” กับ “ปัญหาภายนอก” นั้นดำรงอยู่มาเนิ่นนาน และกรุงเทพฯ ก็จัดการมันได้มาโดยตลอด
แม้ว่าปัญหาของเส้นแบ่งทั้งสองยังคงมีอยู่ต่ออีกหลายทศวรรษ หลายช่วงเวลา หลังยุคนี้ (1900s) ก็มีอีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (1940s) และในช่วงสงครามเย็น (1970s-1980s) กระทั่งถึงปัจจุบัน
ทางการไทยในปัจจุบันก็ใช้งานการเมือง (ระหว่างประเทศ) ที่เดินควบคู่กันไปกับการเมืองภายในและการทหาร และบางครั้งอย่างแรกก็กุมทิศทางหลักเสียมากกว่า โดยที่เราๆ ไม่ค่อยสังเกตเห็นเท่าไหร่นั่นเอง
หมายเหตุ: ดูบทความ กรณีเจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง : การเริ่มต้น “ความจริง” เกี่ยวกับปัตตานี ด้วยประวัติศาสตร์แห่งการลวง* ที่นี่ และดูหนังสือที่มาจากงานวิจัยของ อ.ชัยวัฒน์ในเรื่อง ความรุนแรงกับการจัดการ “ความจริง”: ปัตตานีในรอบกึ่งศตวรรษ ที่นี่