Skip to main content

 

 
ณรรธราวุธ เมืองสุข
ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง
กองบรรณาธิการสำนักข่าวอามาน

          ‘ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ’ พารูปร่างสูงใหญ่เดินเข้ามาภายในห้องผู้โดยสาร VIP ของท่าอากาศยานนครศรีธรรมราชในอิริยาบถสบายๆ ที่แม้ว่าเพิ่งละจากเวทีการประชุมนานาชาติ AMRON (ASEAN Muslim Research Organization Network : เปลี่ยนแปลงจากภายในผ่านการศึกษา) ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 2-3 ตุลาคม 2553 ที่ผ่านมาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อเดินทางต่อไปยังกรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยียมในการเข้าร่วมการประชุมร่วมเอเชีย-ยุโรป(ASEM) ในฐานะ ‘เลขาธิการอาเซียน’ คนปัจจุบันแต่ก็ยังให้เวลาในการสัมภาษณ์ครั้งนี้เกือบหนึ่งชั่วโมงเต็ม
 

          ประเด็นที่พูดคุย  ยังเป็นการเก็บตกจากเวทีการประชุม AMRON ในเรื่องของการศึกษามุสลิม และการปรับตัวของสังคมมุสลิมต่อกระแสโลกาภิวัตน์ แต่สิ่งที่ขยายเพิ่มเติมกว่านั้น คือทัศนะที่ว่าด้วยการเตรียมความพร้อมของสังคมไทยและสังคมมุสลิมก่อนการก่อตั้งประชาคมอาเซียนในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งดูเหมือนเป็นงานหลักของอดีตว่าที่โต๊ะครูจากปอเนาะบ้านตาลที่จับผลัดจับผลูมาเล่นการเมืองจนก้าวขึ้นมาเป็นเลขาธิการอาเซียนในปัจจุบัน รวมทั้งมุมมองที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาภาคใต้ ซึ่งอดีตนักการเมืองหนุ่มใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ที่หันมาเล่นการเมืองระดับภูมิภาคเลือกใช้คำว่า “ผมคิดว่านั่นคือดวงตาเห็นธรรม”

เหตุใดจึงนำเอาเวที AMRON มาจัดที่จังหวัดนครศรีธรรมราชของประเทศไทยได้?

ดร.สุรินทร์: เพราะว่าทางภาคใต้ตอนกลางมีสถาบันการศึกษาอยู่หลายแห่งเป็นที่รู้จัก เป็นที่ยอมรับ แต่ว่าบุคลากรในส่วนนี้ของตอนกลางทางภาคใต้ของไทยลงไปยังไม่มีโอกาสไม่เวทีในการที่จะแลกเปลี่ยนกับนักวิชาการในระดับภูมิภาค ระดับประเทศซึ่งเค้ามีบทบาทกันทั่วโลก ฝ่ายที่เค้าจัดตั้งขึ้นมามีความต้องการที่จะมีเครือข่าย สร้างเครือข่ายเพื่อหาประสบการณ์จึงช่วยกันผลักดัน ปรากฏว่ามีนักวิชาการจากหลายประเทศในอาเซียน มีบรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์สนใจ เค้าก็รับทราบ มุสลิมในประเทศไทยมาก็มีโอกาสร่วม วลัยลักษณ์ขอร่วมเป็นเจ้าภาพและยกสถานที่ เครื่องมือต่างๆรวมถึงบุคลากรให้มาช่วย ต่อมารัฐมนตรีช่วยถาวร เสนเนียมมาเปิด และจุฬาราชมนตรีมาร่วม

เป้าหมายที่แท้จริงของ AMRON คืออะไร?

ดร.สุรินทร์: คือความพยายามที่จะสร้างเครือข่าย นักวิจัย นักวิชาการที่สนใจเรื่องปัญหาสังคมมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ในกรอบของอาเซียน ขับเคลื่อนที่จะสร้างไปในทางเดียว เป็นตลาดเดียว เป็นประชาคมเดียว เป็นสนามลงทุนเดียว เพราะฉะนั้นมันจะมีความเปลี่ยนแปลง มีการพัฒนาเกิดขึ้น เป็นประชาคมทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องที่นับถือศาสนาต่างๆมากมายในภูมิภาคนี้ต้องขยับตัว ปรับตัวเพื่อที่จะสร้างเครือข่ายไม่ว่าจะเป็นคาทอลิกจากฟิลิปปินส์ จีนในสิงคโปร์ มุสลิมในหลายๆประเทศในประเทศสมาชิกอาเซียน พี่น้องชาวพุทธ คนแผ่นดินใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเขตสุวรรณภูมิให้เข้ามามีส่วนร่วมสร้าง ร่วมเป็นเจ้าของ ร่วมกำหนดทิศทางและมอบให้รัฐบาลหรือผู้แทนหรือกระทรวงต่างประเทศ เพราะฉะนั้นทุกภาคส่วนต้องขับเคลื่อน กลุ่มนี้ก็คือกลุ่มปัญญาชนมุสลิม

มีการตกลงเรื่องปฏิญญาด้วยใช่ไหม ในรายละเอียดของปฏิญญามีการตกลงเรื่องใดบ้าง?

ดร.สุรินทร์: ใช่ครับ มีการตกลงปฏิญญาด้วย โดยตกลงกันให้ AMRON ซึ่งย่อมาจาก Muslim Research Organization Network เป็น platform เวทีแลกเปลี่ยนผลของการวิจัย การศึกษา เฉพาะแยกส่วนการค้นคว้าวิจัยในพื้นที่ประเทศมุสลิม สองคือ มีการแลกเปลี่ยนบุคคลากรระหว่างกันเพื่อมีโอกาสเรียนรู้ในปัญหาของกันและกัน มีส่วนในการเข้าร่วม วิเคราะห์ข้อกำหนด คัดเลือกนโยบายในประชาคมอาเซียน พยายามที่จะผลักดันประชาคมอาเซียนให้เหมือนกับกฎบัตรของอาเซียนเอง ให้เป็นเวทีสำหรับทุกภาคส่วนทุกสังคม ให้ทั้งสิบประเทศสมาชิกได้มีส่วนร่วม ร่วมกันสร้าง ร่วมกำหนดทิศทาง  ร่วมกันประคับประคองเพื่อไปมีผลประโยชน์ร่วมกัน นี่คือสิ่งที่จะแสดงออกว่าพวกเราเป็นเจ้าของประชาคมนี้

ในเวทีวิชาการครั้งนี้ AMRON จับเรื่องการศึกษาของประเทศมุสลิมในอาเซียน เรื่องของปอเนาะ คำถามคือทำไม AMRON ถึงจับเรื่องการศึกษาเป็นประเด็นสำคัญ?

ดร.สุรินทร์: เพราะว่าการศึกษาเป็นปัจจัยหลักที่จะเตรียมความพร้อมของประชากร พัฒนาประชากรให้มีความสามารถไปแข่งขันกับชุมชนทุกชุมชน พูดง่ายๆว่าเวทีและกรอบของอาเซียนนั้นเปิดกว้างแต่ต้องมีการแข่งขัน การปรับตัว ปรับบางอย่างเพื่อที่จะ ต่อไปนี้อาเซียนจะเปิดตลาดเองผลิตที่ไหนขายได้สิบตลาด ซึ่งจะขายได้หรือไม่ได้มันขึ้นอยู่กับคุณภาพ ความสามารถในการแข่งขันเทคโนโลยีในการผลิต ต้นทุนในการผลิต ชุมชนกลุ่มใดก็ตามแต่ที่ไม่พร้อมจะเข้าไปแข่งขันก็ต้องถูกทอดทิ้ง ไม่ใช่ถูกทอดทิ้งเพราะไม่มีใครเอาใจใส่ แต่ถูกคนอื่นเค้าล้ำหน้า ถ้าหากล้ำหน้ากันมากเกินไป มีช่องว่างมากเกินไป ระหว่างรวยกับจนเนื่องจากความไม่พร้อม ไม่สามารถในการแข่งขัน เราสามารถจินตนาการได้เลยว่ามีปัญหาแน่ เพราะว่าความเหลื่อมล้ำในสังคมฝ่ายรวยก็รวยเต็มที่ ฝ่ายจนก็ไม่มีอะไรจะกินเพราะว่าไม่พร้อม ไม่มีความสามารถที่แข่งขัน ไม่สามารถที่จะมีปฏิสัมพันธ์ ทำได้อย่างเดียวคือขายแรงงาน คนอื่นเค้ามีเทคโนโลยี มีความรู้ในการจัดการ มีความสามารถที่จะเอานวัตกรรมใหม่ๆมาใช้ในกระบวนการผลิต ก็สู้เค้าไม่ได้ พอสู้เค้าไม่ได้ก็รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง ถูกละเลย สังคมไม่เป็นธรรม ประชาคมไม่ให้ความสนใจ แน่นอนว่าจะต้องมีความขัดแย้ง และท้ายที่สุดต้องมีความรุนแรง

ประเด็นที่พูดถึงหมายถึงการเตรียมพร้อมสังคมมุสลิมให้พร้อมก่อนที่จะเกิดประชาคมอาเซียนหรือไม่ และ ทำไมจึงต้องเตรียมความพร้อมกันล่วงหน้าขนาดนี้?

ดร.สุรินทร์: เพราะเป็นประชาคมที่พร้อมน้อยที่สุด และมีโอกาสที่จะมีปัญหามากที่สุด

เพราะว่าแต่ละประเทศความพร้อมไม่เหมือนกัน?

ดร.สุรินทร์: ใช่ ทางใต้ฟิลิปปินส์ และทางใต้ของไทยมีปัญหา ทางเหนือมาเลเซียมีปัญหาไหม อาเจ๊ะห์ล่ะ คือถ้าแปลกแยกก้าวไม่ทัน ตามไม่ทัน อย่างที่ว่ามันจะถูกก้าวล้ำ ถูก Buy pass (ก้าวข้าม) แล้วจะเกิดปัญหา

เมื่อพูดถึงการศึกษาของสังคมมุสลิมในยุคที่ต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับประชาคมอาเซียน หัวใจสำคัญที่ต้องพูดเลย คืออะไร?

ดร.สุรินทร์: ความพร้อมในเรื่องที่จะเปิดกว้างโอกาสในการศึกษา ไม่จำกัดโดยปอเนาะ เราเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้อื่นๆ สถาบันอื่น งานค้นคว้าวิจัย วิทยาศาสตร์ วิทยาการ เทคโนโลยี ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สถาบันปอเนาะยังถือว่าอ่อนด้านความพร้อมในด้านวิชาการ อย่างน้อยก็ต้องเริ่มโดยการเปลี่ยนอุสตาซ  เปลี่ยนในความหมายที่ว่าคือความพร้อมที่จะเปิดกว้าง และก็เข้าใจว่าชีวิตในอนาคตต้องมีการแข่งขันในภูมิภาค ประชาคมโลก ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่จะไปแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ วิทยาการ เทคโนโลยี ภาษาก็ยาก


ที่อินโดนีเซียเรียนภาษาอังกฤษในปอเนาะแล้ว คือในโลกมุสลิมมันขยับแล้วแต่ในไทยมีปัญหาความขัดแย้งอยู่ แล้วปอเนาะก็มีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีในสายตาของฝ่ายความมั่นคง เหตุผลตรงนี้จะทำให้เกิดการปรับตัวได้ไหม?

ดร.สุรินทร์: ถ้าพูดเรื่องภาษาอังกฤษประเทศไทยอ่อนสุด ไม่เฉพาะในสี่จังหวัดภาคใต้แต่ทั้งประเทศ ผมคิดว่ามันเป็นประเด็นที่คิดอย่างจริงจัง เป็นวาระแห่งชาติที่สำคัญยิ่ง เพราะเราไม่สามารถแข่งขันกับคนอื่นได้ เพราะเราไม่สามารถที่จะไปสื่อสารกับเค้าในการที่จะได้มาซึ่งแหล่งข้อมูล ในการที่จะค้นคว้าวิจัยต่อ ผลิต ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมใหม่ๆในธุรกิจ แม้แต่ในเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) จะเอาอะไรมาใส่เข้าไปในสิ่งที่เราผลิต สิ่งที่เราจินตนาการ สิ่งที่เราเขียนประดิดประดอยขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาพยนตร์ ศิลปะ หรือแม้แต่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต สิ่งเหล่านี้คือสิ่งซึ่ง Creative Economy คือ Economy ที่ต้องการความรู้ แหล่งความรู้ถ้าต้องจำกัดเฉพาะภาษาไทย แต่ว่าคนอื่นเค้าสามารถที่จะได้แหล่งความรู้จากทั่วโลก ผ่านภาษาต่างประเทศ เราไม่สามารถที่จะไปแข่งขันเอาความรู้เหล่านั้นมาใช้พัฒนา สู้เค้าไม่ได้ ซึ่งควรเป็นวาระที่สำคัญแห่งชาติ

ในฐานะเลขาฯอาเซียนซึ่งเป็นมุสลิมด้วยมองว่าสังคมมุสลิมในอาเซียนปัจจุบันต้องปรับตัวเองมากแค่ไหนเมื่อเผชิญกับกระแสโลกาภิวัฒน์?

ดร.สุรินทร์: บางประเทศเช่นอินโดฯ มาเลย์ แต่สิงคโปร์เค้าก็ทำได้ดี เพราะรัฐบาลเค้าสนใจและเป็นกลุ่มที่เปิดกว้าง เข้าใจและตระหนักดีว่าต้องแข่งขันกับคนอื่นเค้า อย่างสิงคโปร์เป็นสังคมเปิด ไม่เฉพาะต้องแข่งขันกับคนสิงคโปร์แต่คนทั่วโลกที่จะเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ลงทุนทำธุรกิจกับสิงคโปร์ได้ คนมลายูมุสลิม อาหรับมุสลิม หรืออินเดีย ปากีฯมุสลิมที่อยู่ในสิงคโปร์จะต้องปรับตัวเพื่อแข่งขันกับคนอื่นๆอย่างจริงจัง ประเทศไทยก็เหมือนกัน ในฟิลิปปินส์กับไทยจะล้าหลังกว่าคนอื่นเค้า ในอินโดนีเซียก็กำลังตระหนักในเรื่องนี้

หากประเทศไทยแบ่งมุสลิมเป็นสองส่วน ระหว่างมุสลิมข้างบนกับทางใต้ ซึ่งถ้ามองบริบทของการเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกระแสโลกาภิวัฒน์ ทั้งสองกลุ่มนี้ทำได้มากน้อยหรือต่างกันแค่ไหน?

ดร.สุรินทร์: ที่ใดก็ตามแต่ที่มีความขัดแย้งความรุนแรงยากที่จะนำไปสู่การพัฒนา รัฐจะต้องให้ความสนใจมากขึ้น เข้าใจช่วยกันมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน  ตัวท่านเองมีบทบาทในการลดความขัดแย้งในภูมิภาคนี้อย่างไร?

ดร.สุรินทร์: ส่วนใหญ่เรื่องความขัดแย้งภายในมอบให้เป็นเรื่องภายใน เรายังไม่ใช่ Union ยังไม่ใช่สหพันธ์ ไม่มีกฎหมู่อาเซียน แล้วก็ไม่มีสภาอาเซียน รัฐบาลอาเซียน มีแต่ประเทศสมาชิก สิบรัฐบาล สิบประเทศ จะเข้ามาก้าวก่ายมากนักก็หาว่ามาแทรกแซง สิ่งที่ทำได้คือกำหนดนโยบายให้กำลังใจกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน เช่นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียมาเยือนไทย ลงไปเยือน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงไปรับฟังปัญหาพร้อมที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาเรื่องการศึกษา การว่างงาน เรื่องการลงทุน เรื่องส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน อันนี้จะทำให้อาเซียนเข้ามามีบทบาทโดยตรงเป็นเรื่องภายในไม่ได้ คอยให้กำลัง ประสานเป็นช่องทางได้พยายามทำในหลายๆเรื่อง

ทีนี้มันจะมีเรื่องของประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในภูมิภาค เมื่อพูดเรื่องการศึกษา อาเซียนจะเข้าไปมีส่วนในการสร้างแบบเรียนขึ้นใหม่ หรือชำระประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ ให้แต่ละประเทศในภูมิภาคนี้ลดความขัดแย้งระหว่างกัน แนวทางนี้เป็นไปได้หรือไม่?

ดร.สุรินทร์: ส่งเสริมให้ทำบทเรียนเกี่ยวกับอาเซียน วิสัยทัศน์ของอาเซียน ปฏิบัติตามกฎต่างๆของอาเซียนเพื่อช่วยให้ประชากรมีความพร้อม มีความรู้ และตระหนักว่าอาเซียนไปในทิศทางใด เพราะว่าในที่สุดแล้วคนของอาเซียนจะต้องได้ประโยชน์จากอาเซียน มีส่วนร่วมในการทราบปัญหาของอาเซียน ถ้าไม่มีส่วนร่วมเราจะเสียเปรียบคนในเวที นอกขอบเวที ซึ่งจะไม่เป็นประชาคมที่ราบรื่นต่อไปในอนาคต ทุกประเทศต้องมีหลักสูตรร่วมกันง่ายๆ อาเซียนเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อาเซียนต้องการที่จะทำอะไรด้วยกัน ร่วมมือกันในหลายๆภูมิภาค หลายๆประเทศคู่เจรจา

ในฐานะที่เป็นเลขาอาเซียนและกำลังผลักดันให้เกิดประชาคมอาเซียนในอีกห้าปีข้างหน้า เป้าหมายของประชาคมอาเซียนคืออะไร ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่แต่ละประเทศว่าความพร้อมยังต่างกัน?

ดร.สุรินทร์:

ประชาคมของอาเซียนจะแบ่งเป็นสามประชาคมย่อย อันที่หนึ่งคือเรื่องของการเมือง ความมั่นคง พยายามประคับประคองไม่ให้เกิดความขัดแย้งพยายามสร้างความปรองดอง สนับสนุน ทุกคนมีความเป็นห่วงในเรื่องของการแข่งขันซึ่งจะมากระทบเรา จีนกับสหรัฐ ญี่ปุ่นกับจีน จีนกับอินเดีย อาเซียนเป็นตัวที่จะปรับความสมดุลในภูมิภาคทุกคนก็ยอมรับ

อันที่สองเรื่องเศรษฐกิจ ให้ประชาคมอาเซียนเป็นเขตเศรษฐกิจเดียวกัน ลงทุนครั้งเดียวได้สิบประเทศ เรื่องภาษี ลดการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี ลดความเหลื่อมล้ำ ให้มีการแข่งขันกัน ยืนอยู่บนโลกของการแข่งขัน อาเซียนมีผลผลิตรวมหนึ่งจุดล้านล้านบาท อาเซียนมีสิบประเทศค้ากับโลกหนึ่งจุดเจ็ดล้านดอลลาร์ ค้ากับโลกมากกว่าที่เราผลิต จีดีพีของเรา ในหนึ่งจุดเจ็ดล้านล้านนั้นเราค้าขายกันเองแค่ 23% เรายังเป็นตลาดที่เรียกได้ว่ามีการบูรณาการอย่างจำกัด 25% ในการค้าระหว่างกันถือว่ายังต่ำแต่ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ส่งเสริมให้มีการลงทุนระหว่างกันมากยิ่งขึ้น SMEไทยลงทุนในสิงคโปร์ มาเลเซียก็ลงทุนในสิงคโปร์และอินโดนีเซียมากขึ้น มันจะทำให้ความสัมพันธ์ ความเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจเป็นไป ต่อไปหวังว่าการเคลื่อนย้ายประชากร ผู้ประกอบอาชีพ ด้านการแพทย์สามารถเคลื่อนย้ายไปในตั้งถิ่นฐานในประเทศอื่นๆได้ โลกคัดเลือก แพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิกสามารถที่จะเดินทางระหว่างประเทศในเขตการค้าเสรีอาเซียนได้ แต่ก็ต้องมีคุณภาพ นี่เป็นสิ่งท้าทายที่สถาบันการศึกษาจะเตรียมบุคลากรให้มีคุณภาพ เรื่องภาษาอังกฤษก็มีส่วน ถ้าพูดไม่ได้ก็ไม่ต้องไปอื่น

หากมองในภาพรวม  ตอนนี้ประเทศอื่นในอาเซียนเสถียรภาพเริ่มนิ่งแล้ว เหลือพม่า อาเซียนจะเอาอย่างไร?

ดร.สุรินทร์:

พม่ารู้ตัวดีเพราะเป็นปัญหาของเค้ามาโดยตลอด เค้าพยายามที่จะผลักดันให้เคลื่อนไปสู่การปฏิรูปการปกครอง เมื่อวันที่ 7 จะเป็นเริ่มต้นใหม่ด้านการเมือง จะไม่เป็นภาระของอาเซียนที่ต้องลดแรงเสียดทานจากทั่วโลก

แต่โลกก็ยังมองว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมอยู่ดีใช่หรือไม่?

ดร.สุรินทร์:

ทัศนคติของอาเซียนคิดว่าในประเทศไทยก็ไม่ได้บริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นเราอย่าไปตั้งมาตรฐานว่าอะไรบริสุทธิ์ไม่บริสุทธิ์ บางประเทศในอาเซียนยังไม่มีการเลือกตั้งเลย เพราะฉะนั้นอาเซียนจะไปทำอะไรได้ เราไม่ใช่ยูเอ็น ไม่ใช่สหพันธ์แบบยุโรป เราเป็นรัฐ เราเป็นสมาคมประชาแห่งชาติ ประชาธิปไตยก็เหมือนกัน บางประเทศชัดเจนว่าไม่แบ่งให้ใครเลย
 
วาระบทบาทของท่านกำลังจะหมดลงในอีกสองปีสามเดือน  จะทำอะไรต่อไปหลังจากนั้น กลับมาเล่นการเมืองเหมือนเดิมหรือไม่?

ดร.สุรินทร์:

(หัวเราะ) สองปีสามเดือนนี่อีกนานนะ คงกลับมาอยู่บ้าน ตั้งเป็นองค์กรเอกชน ช่วยเหลือ แก้ไขความยากจน สอนภาษา

คำถามสุดท้าย  , มีหลายคนฝากถามมาว่าเลขาฯ อาเซียนมีความเห็นอย่างไรกับปอเนาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รัฐทุกรัฐบาลที่ผ่านมามองว่าเป็นแหล่งเพาะขบวนการก่อความรุนแรง?

ดร.สุรินทร์: ข้อแรกคือผมไม่ทราบ ข้อสองคิดว่ามูลเหตุแห่งความรู้สึกแปลกแยก ความรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม สุรยุทธ์(พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี)เข้ามาอยู่ปีกว่าๆพูดชัดถ้อยชัดคำ(ว่า)ปัญหารากเหง้าคือความยุติธรรม เมื่อไม่มีความยุติธรรมในสังคมไทย การถูกเอารัดเอาเปรียบ การถูกกลั่นแกล้ง การถูกกำจัดพื้นที่สิทธิเสรีภาพ เค้ามีเอกลักษณ์พิเศษ มีภาษาวัฒนธรรมของเขา มีศาสนาของเขา มีวิถีชีวิตของเขา ถ้าหากว่าเราทำให้เขารู้สึกเป็นเจ้าของและรักษาอัตลักษณ์ของตนไว้ได้ ในขณะเดียวกัน ประชาชนสามารถที่จะร่วมกันได้

ผมเป็นกรรมาธิการร่วมปรองดองแห่งชาติกับคุณอานันท์ ปันยารชุน ท่านบอกว่าไม่ใช่เราไปดึงเขาเข้ามา เราต้องเข้าใจว่าคนส่วนใหญ่ตรงนั้นอยู่ตรงนี้ก่อนคนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาสามสี่ร้อยปี มีคนอยู่ 59 คนในกรรมาธิการชุดนั้น คุณอานันท์ถามว่าพ่อผมเป็นมอญ แม่ผมเป็นเจ๊ก มีใครใน 59 คนเป็นไทยแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครกล้ายกมือ คุณอานันท์ก็ตอบไปว่าที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาสเขาอยู่ด้วยกัน กอดคอกันด้วยความเข้าใจ เพราะฉะนั้นเราคนไทยไม่ควรจะไปบอกเขาว่าวิถีชีวิตเขาต้องเป็นอย่างไร

 
ปัญหาคือมุมมองหรือนิยามของความเป็นไทยกำลังมีปัญหาหรือไม่?

ดร.สุรินทร์: soul searching ต้องกลับมาดูภายในจิตใจจิตวิญญาณ อะไรคือข้อกำหนด อะไรคือการที่จะไปให้คำนิยามว่าใครเป็นใคร อันนี้คือรากเหง้าของปัญหา คืออวิชชา ควรให้โอกาสให้พื้นที่ เพราะฉะนั้นสถาบันปอเนาะเป็นสถาบันหนึ่งที่สร้างความรู้สึกที่เป็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ จะสร้างไปในทิศทางใดขึ้นอยู่กับสังคม บริบทเศรษฐกิจ การเมืองว่ามันกำหนดอย่างไร ถ้าบริบทเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองไม่เสมอภาค ไม่เท่าเทียมไม่เป็นธรรม คุณสุรยุทธ์ขึ้นมาบริหารงานปีกว่าๆ ปัญหาที่เป็นรากเหง้าของความไม่เป็นธรรม ผมคิดว่านั่นคือดวงตาเห็นธรรม.