Skip to main content

 

ฮาฟิซกุรอานช่วยพัฒนาความจำทั้งป้องกันโรคสมอง 

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน

 

ในภาพอาจจะมี หนึ่งคนขึ้นไป และ ภาพระยะใกล้

 

เมื่อภรรยาขอให้ซื้อของกลับบ้าน 5 อย่าง ได้แก่ ไข่หนึ่งโหล ขนมปังหนึ่งแถว นมสองกล่อง หัวหอมสองขีด ข้าวหนึ่งถุง วิธีจดจำง่ายๆคือลองสร้างภาพห้องน้ำพื้นสกปรกเพราะถูกปาด้วยไข่สิบสองฟอง ต้องใช้นมสองกล่องล้าง จากนั้นเช็ดด้วยขนมปังหนึ่งแถว แล้วดับกลิ่นด้วยหัวหอมสับสองขีด ก่อนจะโรยพื้นด้วยข้าวหนึ่งถุง วิธีการประหลาดอย่างนี้ทำให้ง่ายต่อการจดจำ เทคนิคเช่นนี้เรียกว่า “Loci” พัฒนาขึ้นมานานเกือบ 2,100 ปีแล้วในแผ่นดินกรีก นิยมใช้กันมาจนทุกวันนี้

นักวิจัยทางจิตวิทยาชื่อ M Dresler ฝึกความจำเนมอนิก (Mnemonic Training) แก่คนปกติ 17 คนนาน 6 สัปดาห์ โดยใช้เทคนิค Loci จากนั้นให้จดจำสิ่งของต่างๆ 72 ชิ้น ปรากฏว่าคนปกติสามารถพัฒนาความจำจากเดิมที่จำได้ 40 ชิ้นเพิ่มเป็น 71 ชิ้น เทียบเท่าแชมเปี้ยนความจำ 10 คนที่นำมาเป็นคู่เทียบ สรุปว่าเทคนิค Loci ช่วยจดจำได้จริง งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Neuron ต้นมีนาคม 2017 นี้เอง

ในโลกอิสลาม 1,400 ปีมาแล้วมีวิธีการที่เรียกว่า “ฮาฟิซ” ซึ่งหมายถึงการจดจำอัลกุรอานซึ่งมีความยาว 114 บท 6,236 วรรค 77,449 คำและ 320,015 ตัวอักษร ได้ทั้งเล่ม ฝึกกันมาตั้งแต่เด็ก ถึงอายุมากแล้วก็ยังฝึกได้ เริ่มต้นด้วยการฝึกอ่านอัลกุรอานภาษาอาหรับให้คล่องชนิดมองปุ๊บอ่านได้ปั๊บ

แต่ละวันหลังละหมาดมักริบเวลาค่ำ ฝึก “ซาบัค” หรือการจดจำบทเรียนใหม่ทุกวัน เริ่มด้วยญุซอัมมาซึ่งเป็นบทสั้นๆท้ายอัลกุรอานตั้งแต่บทที่ 79 ถึงบทที่ 114 โดยเริ่มทีละบท เมื่อจดจำได้แล้ว ตอนเช้าหลังละหมาดซุบฮิเวลาเช้า อ่านให้ครูฟัง เพื่อช่วยแก้ไขคำอ่าน หากไม่มีครูจริงลองฝึกกับครูทูบ (ยูทูบ) ก็ได้ ตัวอย่างเช่นครูทูบบ้านอัซชัยยิดะห์ นะฟีซะห์ ชัมส์ https://www.youtube.com/watch?v=9a2R_cbPo18 อย่าอ่านคำแปล การอ่านอัลกุรอานโดยไม่เข้าใจความหมายให้ผลดีต่อการจดจำมากกว่า นี่คือความมหัศจรรย์ของอัลกุรอาน

ฝึกกับครูทูบไม่สะดวก ลองทบทวนการอ่านกับครูไซต์ (เว็บไซต์) ก็ได้โดยเลือก Alquran Explorer ที่เว็บไซต์ http://www.quranexplorer.com/quran/ โดยซ่อนคำแปลไว้ เลือกผู้อ่าน (Reciter) เป็น Mishari-Rashid ซึ่งเป็นคนเดียวกับครูทูบที่ยกตัวอย่างไว้ข้างต้น ฟังซ้ำไปซ้ำมาทีละบทกระทั่งมั่นใจว่าอ่านถูกต้อง จากนั้นจึงอ่านเองโดยไม่มีครู อย่าลืมใช้หนังสืออัลกุรอานในการอ่านจริงก็แล้วกัน

คนยุคนี้ครูสอนฮาฟิซบอกอาจไม่เชื่อต้องให้งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ออกมายืนยันจึงเชื่อ งั้นบอกให้ก็ได้ว่างานวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่าฮาฟิซช่วยให้ระบบความจำในเรื่องต่างๆของผู้ฝึกดีขึ้นจริง ทำให้สมองเสื่อมช้าลง เป็นอัลไซเมอร์ยากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันโรคซึมเศร้าได้อีกต่างหาก งานวิจัยของ Ozturk O และคณะตีพิมพ์ในวารสาร Psychiatr Danub เดือนธันวาคม 2016 ยืนยันไว้อย่างนั้น

งานเมาลิดกลาง ฮ.ศ.1438 วันที่ 8 เมษายน จะได้พบกับฮาซัน สาเมาะ เด็กหนุ่มจากปัตตานีที่ได้รางวัลชนะเลิศในการประกวดท่องจำอัลกุรอานรายการ Khartoum International Holy Quran Award ประเทศซูดาน ต้นปี 2017 นี้เอง